ข้ามไปเนื้อหา

มวยปล้ำอาชีพ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Ladder match)
นักมวยปล้ำบนเวทีมวยปล้ำ (ในภาพเป็น จอห์น ซีนา และ เดอะ ร็อก)

มวยปล้ำอาชีพ(อังกฤษ: professional wrestling) หมายถึง รูปแบบหนึ่งของกีฬามวยปล้ำที่นักมวยปล้ำได้รับค่าตอบแทน มวยปล้ำอาชีพในสมัยใหม่ โดยส่วนใหญ่แล้ว จะมีการโจมตีคู่ต่อสู้ด้วยการใช้ส่วนแข็งของร่างกาย, การเข้าปะทะ, และการโจมตีคู่ต่อสู้ในแบบอื่นๆ ที่ไม่มีในศาสตร์มวยปล้ำดั้งเดิม

มวยปล้ำอาชีพ เป็นทั้งการแสดงศิลปะการต่อสู้, ความแข็งแรงของร่างกายมนุษย์ และการแสดงท่ากายกรรมต่างๆ ในรูปแบบของกีฬาต่อสู้

มวยปล้ำอาชีพเริ่มเป็นที่นิยมในทวีปยุโรปช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 และในภายหลัง ได้รับการเผยแพร่เข้ามาในแถบทวีปอเมริกาทั้งหมด ไปจนถึงหมู่เกาะบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก, ทวีปออสเตรเลีย, และทวีปเอเชีย ในวงการมวยปล้ำอาชีพของโลก มีนักมวยปล้ำอาชีพ, บุคคลในวงการ, และผู้รับชม มากที่สุดในสหรัฐอเมริกา, ประเทศแคนาดา, ประเทศเม็กซิโก, และ ประเทศญี่ปุ่น

ปัจจุบัน มวยปล้ำอาชีพยังคงได้รับความนิยมจากผู้ชมทั่วโลก โดยมีกลุ่มผู้ชมมากที่สุดตั้งแต่ช่วงปลายคริสต์ศตววรษที่ 20 เป็นต้นมา แม้จะมีการยืนยันว่ามวยปล้ำอาชีพในยุคสมัยใหม่นั้น เป็นเพียงการแสดงเพื่อความบันเทิงของผู้รับชมแล้วก็ตาม

กฎกติกาของมวยปล้ำอาชีพ

[แก้]
  1. แบบปล้ำเดี่ยว (Single Match) - เป็นกติกาพื้นฐาน และเป็นกติกาหลักของมวยปล้ำอาชีพ นั่นคือ นักมวยปล้ำทั้งสองคน จะต้องต่อสู้กันบนเวทีมวย โดยใช้การโจมตีด้วยการใช้กำปั้นทุบ, การเตะ, การฟันด้วยสันมือ, การฟันศอก, การตีเข่า, การวิ่งเข้าปะทะ, การเด้งตัวกับเชือกกั้นเวทีมวยแล้ววิ่งเข้าปะทะ, การเหวี่ยงตัวคู่ต่อสู้ให้ตกเวทีมวย, การเหวี่ยงคู่ต่อสู้ให้เด้งกับเชือกกั้นเวทีมวยแล้วโจมตี หรือ จับทุ่ม หรือเข้าปะทะ, การเหวี่ยงอัดด้วยท่อนแขนหรือท่อนขา, การพุ่งเข้าปะทะจากบนเสามุมเวทีมวย, การกระโดดทับตัวของคู่ต่อสู้และการซ้ำคู่ต่อสู้ด้วยการทิ้งท่อนแขน, ท่อนขา, ศอก, ส่วนท้าย, เข่า, ฝ่าเท้า (จากบนพื้นเวทีหรือจากบนเสามุมเวทีมวยก็ได้) และ การจับทุ่มคู่ต่อสู้ การปล้ำจะจบลงพร้อมผลแพ้ชนะเมื่อมีนักมวยปล้ำฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกดไหล่ของนักมวยปล้ำอีกฝ่ายหนึ่งที่หงายตัวอยู่ให้แตะติดพื้นบนเวทีมวย (ในภาษาอังกฤษเรียกว่าเป็นการ "พิน (Pin)") จนกระทั่งกรรมการผู้ห้ามเข้ามาแล้วนับ 1 ถึง 3 หากกรรมการนับครบถึงเลข 3 ไปแล้ว ไหล่ของผู้ที่ถูกกดไหล่ยังคงถูกอีกฝ่ายซึ่งเป็นผู้กดไหล่ กดติดพื้นเวทีมวยอยู่ จะถือว่าการกดไหล่ของผู้กดไหล่ครั้งนั้นสำเร็จ การปล้ำก็จะยุติลง และผู้ที่กดไหล่คู่ต่อสู้ได้สำเร็จเป็นผู้ชนะ แต่ถ้าหากผู้ที่ถูกกดไหล่นั้นยกตัวหรือยกไหล่ขึ้นมาจากการกดได้ หรือ ไหล่ของผู้ที่ถูกกดไหล่นั้นได้หลุดออกไปจากการกดไหล่ไปก่อนที่กรรมการผู้ห้ามจะนับได้ถึงเลข 3 ไม่ว่าจะกรณีใดก็ตาม จะถือว่าการกดไหล่ของผู้กดไหล่ครั้งนั้นยังไม่สำเร็จ และจะต้องต่อสู้กันไปจนกว่าจะสามารถกดไหล่อีกฝ่ายได้สำเร็จ อีกหนึ่งวิธีการเอาชนะคือการล็อกหรือรัดตัวคู่ต่อสู้ให้ยอมแพ้ นักมวยปล้ำสามารถใช้ท่าล็อกที่จะขัดขวางการเคลื่อนไหวของอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อให้อีกฝ่ายแสดงสัญญาณการขอยอมแพ้ โดยกรรมการจะเข้าไปถามว่า ยอมแพ้ไหม? ("กิฟอัพ? (Give up?)") หากฝ่ายที่ถูกล็อกแสดงการยอมจำนนโดยการตบพื้นอย่างต่อเนื่อง หรือ แตะส่วนของร่างกายที่ถูกล็อกอย่างต่อเนื่อง (ในภาษาอังกฤษจะเรียกว่าเป็นการ "แท็ป เอาต์ (Tap Out)") กรรมการผู้ห้ามจะหยุดการปล้ำ และให้ฝ่ายที่ใช้ท่าล็อก เป็นผู้ชนะทันที ในกรณีที่ผู้ถูกล็อกต้องการยอมจำนนแต่ไม่สามารถแสดงการยอมจำนนโดยการตบพื้นอย่างต่อเนื่องหรือแตะส่วนของร่างกายที่ถูกล็อกอย่างต่อเนื่องได้ ผู้ถูกล็อกสามารถกล่าวขอยอมจำนนกับกรรมการผู้ห้ามด้วยวาจาให้กรรมการผู้ห้ามรับทราบได้ หากผู้ถูกล็อกเกิดสลบไปในระหว่างที่อยู่ในท่าล็อกของผู้ใช้ท่าล็อก ซึ่งทำให้ไม่สามารถโต้ตอบกับกรรมการผู้ห้ามได้ กรรมการผู้ห้ามสามารถยุติการปล้ำ และผู้ที่ใช้ท่าล็อกจะเป็นผู้ชนะน็อกไปในทันที ผู้ถูกใช้ท่าล็อกสามารถดิ้นออกจากล็อก เพื่อหลบหนีออกจากการถูกล็อกได้ หรือ เข้าไปจับเชือกกั้นเวทีมวยเพื่อ "โรพ เบรก" (Rope Break) ให้คู่ต่อสู้หยุดใช้ท่าล็อกได้ ในขณะที่มีการใช้ท่าล็อก, การรัดตัว, หรือการกดไหล่ หากนักมวยปล้ำฝ่ายที่เสียเปรียบจากการถูกใช้ท่าล็อก, ถูกรัดตัว, หรือถูกกดไหล่ สามารถเข้าไปจับหรือสัมผัสเชือกกั้นเวทีมวยได้ จะถือว่าเป็นการ "โรพ เบรก" (Rope Break) นักมวยปล้ำที่เป็นฝ่ายได้เปรียบจะต้องผละตัวออกจากฝ่ายที่เสียเปรียบให้ความได้เปรียบของทั้งสองฝ่ายเสมอตัวกันและดำเนินการปล้ำต่อไป มิเช่นนั้น กรรมการผู้ห้ามจะเตือนนักมวยปล้ำฝ่ายที่ได้เปรียบให้ผละออกจากนักมวยปล้ำฝ่ายที่เสียเปรียบ และจะนับหนึ่งถึงห้าเพื่อให้เวลาฝ่ายที่ได้เปรียบผละออกจากฝ่ายที่เสียเปรียบ หากยังไม่ผละออกก็จะถูกปรับแพ้ หากมีนักมวยปล้ำฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตกลงไปจากเวทีหรือเดินลงไปจากเวทีทั้งๆ ที่การแข่งขันยังไม่มีผลแพ้ชนะ กรรมการผู้ห้ามจะนับ 1 ถึง 10 ด้วยความเร็วปานกลาง เป็นการนับให้นักมวยปล้ำกลับขึ้นมาเมื่อออกจากเวทีมวย (ในภาษาอังกฤษเรียกว่าเป็นการนับ "ริง เอาท์ เคาท์" Ring Out Count) (ในบางการแข่งขันก็จะนับ 1 ถึง 20) เพื่อให้เวลานักมวยปล้ำที่ตกลงไปจากเวทีได้กลับขึ้นมา หากไม่กลับขึ้นมาเมื่อครบจำนวนตัวเลขที่ทางกรรมการผู้ห้ามได้นับ ก็จะถูกปรับแพ้ นักมวยปล้ำที่อยู่บนเวทีจะชนะทันที หากกลับขึ้นมา การปล้ำก็จะถูกดำเนินต่อไป จนกระทั่งมีผลแพ้ชนะ หากนักมวยปล้ำทั้งสองฝ่ายลงไปต่อสู้กันด้านล่างเวทีมวย แม้จะไม่ถือว่าผิดกติกา แต่กรรมการก็จะนับให้กลับขึ้นเวทีมวย เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายกลับขึ้นมา หากฝ่ายที่ลงเวทีมวยก่อนกลับขึ้นมา แล้วอีกฝ่ายที่ลงเวทีมวยไปทีหลังไม่ขึ้นมา กรรมการจะเริ่มการนับใหม่ เพื่อให้ฝ่ายที่ลงเวทีมวยทีหลังได้ขึ้นมา แต่หากฝ่ายที่ลงเวทีมวยไปก่อนยังไม่ขึ้น แต่ฝ่ายที่ลงเวทีมวยไปทีหลังขึ้นมาก่อน กรรมการจะนับให้กลับขึ้นเวทีมวยไปจนถึงที่ได้กำหนดไว้ หากไม่กลับขึ้นมาก็จะแพ้ทันที หากทั้งสองฝ่ายล้มลงนอนบนเวทีทั้งคู่ ไม่ว่าจะสาเหตุใดก็ตาม กรรมการจะนับ 1 ถึง 10 ด้วยความเร็วปานกลาง เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้มีเวลาลุกขึ้นมา เมื่อนักมวยปล้ำคนใดคนหนึ่งลุกขึ้นมาแล้ว กรรมการผู้ห้ามจึงจะหยุดนับและให้ดำเนินการปล้ำต่อไปจนกว่าจะมีผลแพ้ชนะ หากไม่ลุกขึ้นมาทั้งคู่ กรรมการผู้ห้ามจะยุติการแข่งขัน และจะให้ผลออกมาเสมอกัน หากลุกขึ้นมาทั้งคู่ การปล้ำก็จะดำเนินต่อไป จนกว่าจะมีผลแพ้ชนะออกมา การกดไหล่เอาชนะด้านล่างเวทีมวยนั้นกรรมการจะไม่นับให้ ต้องกดไหล่กันบนเวทีมวยเท่านั้น กรรมการถึงจะนับ 1 ถึง 3 และตัดสินผลแพ้ชนะได้ ยกเว้นการปล้ำอยู่ในแบบที่นักมวยปล้ำสามารถเอาชนะกันจากด้านล่างเวทีมวยได้ เช่นเดียวกับการใช้ท่าล็อกให้คู่ต่อสู้ยอมแพ้ การยอมแพ้ของคู่ต่อสู้จะเป็นผลการปล้ำได้ก็ต่อเมื่ออยู่ด้านบนเวทีมวยเท่านั้น ยกเว้นการปล้ำอยู่ในแบบที่นักมวยปล้ำสามารถเอาชนะกันจากด้านล่างเวทีมวยได้ ส่วนการนำเอาสิ่งของจากด้านล่างเวทีมวยมาใช้เป็นอาวุธบนเวทีมวยและการนำอาวุธระยะประชิดมาใช้บนเวทีมวยนั้นเป็นสิ่งที่ผิดกติกา (หากการปล้ำไม่ได้เป็นแบบที่ใช้อาวุธบนเวทีมวยได้) ผู้ที่ใช้อาวุธเข้าโจมตีคู่ต่อสู้บนเวทีมวยจะถูกปรับแพ้ และให้ผู้ที่ถูกโจมตีด้วยอาวุธเป็นฝ่ายชนะไป การนำสิ่งของมาใช้เป็นอาวุธและการใช้อาวุธระยะประชิดชนิดใดก็ตามจะต้องกระทำ ณ บริเวณด้านล่างเวทีมวยเท่านั้น จึงจะทำได้ (ในบางสมาคมมวยปล้ำอาชีพก็ไม่มีการอนุญาตให้ใช้อาวุธทั้งด้านบนและด้านล่างเวทีมวย) ส่วนการชกคู่ต่อสู้ด้วยหมัดนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำในการต่อสู้แบบมวยปล้ำอาชีพ แม้จะไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องผิดกติกาอย่างร้ายแรง แต่กรรมการผู้ห้ามจะพูดเตือนให้นักมวยปล้ำหยุดยั้งการชกคู่ต่อสู้ด้วยหมัด หรือพยายามเข้าระงับการใช้หมัดชกคู่ต่อสู้อย่างต่อเนื่องของนักมวยปล้ำ เว้นเสียแต่ว่าจะเป็นหมัดจากที่ตัวผู้ใช้ลอยอยู่กลางอากาศ จึงจะไม่ใช่เรื่องผิดกติกา เช่น หมัดจากท่า "ซูเปอร์แมนพันช์ (Superman Punch)" หรือ การกระโดดทิ้งหมัดลงมาใส่คู่ต่อสู้ เป็นต้น การทิ้งหมัดลงมาใส่คู่ต่อสู้ (หรือที่เรียกว่า "ฟิสต์ดร็อป (Fist Drop)") นั้นไม่ผิดกติกา ส่วนการโจมตีส่วนของร่างกายบริเวณ"ใต้เข็มขัด"ของนักมวยปล้ำเพศชายโดยตรงนั้นเป็นสิ่งที่ผิดกติกาอย่างยิ่ง หากการปล้ำครั้งนั้นไม่ได้มีกติกาที่อนุญาตให้โจมตีส่วน"ใต้เข็มขัด"โดยตรงได้ นักมวยปล้ำผู้ที่โจมตีส่วน"ใต้เข็มขัด"ของคู่ต่อสู้โดยตรงจะถูกปรับแพ้ (อย่างไรก็ตาม การโจมตีด้วยท่าอย่าง อะตอมมิค ดรอป แบบกลับด้าน หรือ "อินเวอร์เต็ด อะตอมมิค ดรอป (Inverted Atomic Drop)" นั้น ถือว่าเป็นท่าทุ่มแบบหนึ่ง ไม่ได้ถือว่าผิดกติกาแต่อย่างใด)

2. แบบแท็กทีม (Tag Team Match) - นักมวยปล้ำทั้งสองฝ่ายจะต้องมาแบบทีม หนึ่งทีมจะมี 2 คน นักมวยปล้ำทั้งสองทีมต้องส่งตัวแทน 1 คน ไปต่อสู้กับตัวแทนอีก 1 คน ของฝ่ายตรงข้าม ในบริเวณลานต่อสู้ของเวทีมวย ส่วนอีกคนหนึ่งจะต้องยืนเกาะเชือกเวทีมวยไว้ เพื่อรอเปลี่ยนตัวบริเวณด้านข้างมุมเสาเวทีมวยอยู่ทางด้านนอก การที่อีกคนหนึ่งจะเข้าไปต่อสู้ได้นั้น จะต้องถูกแตะมือ หรือถูกสัมผัสโดยนักมวยปล้ำร่วมทีมของตัวเองที่ได้ออกไปต่อสู้ก่อน (เรียกว่าเป็นการ "แท็ก (Tag)") จึงจะเข้าไปสู้แทนได้ ส่วนนักมวยปล้ำผู้ร่วมทีมที่ได้ออกไปต่อสู้ก่อนหน้านี้ เมื่อได้เข้าไปแตะมือ หรือสัมผัสตัวของผู้ร่วมทีมอีกคนหนึ่งซึ่งกำลังยืนเกาะเชือกเวทีมวยเพื่อรอเปลี่ยนตัวแล้ว ก็จะต้องไปยืนเกาะเชือกเวทีมวยรออยู่บริเวณมุมเสาเวทีมวยทางด้านนอกแทน (แต่ก็ยังสามารถอยู่ภายในบริเวณลานต่อสู้ก่อนได้ เพียงชั่วขณะหนึ่ง) จนกว่าจะถูกแตะมือหรือถูกสัมผัสโดยผู้ร่วมทีมของตัวเองที่เข้าไปต่อสู้ในบริเวณลานต่อสู้แทน จึงจะเข้าไปสู้อีกได้ ทั้งสองทีมจะต่อสู้กันรูปแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีผลแพ้ชนะ ผลแพ้ชนะของการปล้ำจะตัดสินแบบเป็นทีม ทีมที่ชนะคือทีมที่นักมวยปล้ำคนใดคนหนึ่งของทีมสามารถเอาชนะนักมวยปล้ำคนใดคนหนึ่งของอีกฝ่ายไปได้ ส่วนกติกาหลักของการปล้ำแบบแท็กทีมก็เป็นกติกามวยปล้ำอาชีพแบบพื้นฐาน เอาชนะกันด้วยการกดไหล่ของคู่ต่อสู้ให้กรรมการผู้ห้ามนับหนึ่งถึงสาม หรือการใช้ท่าล็อกให้คู่ต่อสู้ยอมแพ้ เช่นกัน ในการปล้ำแบบแท็กทีม นักมวยปล้ำในทีมที่ได้รับการเปลี่ยนตัวเข้ามาต่อสู้ในลานบนเวทีมวยแล้วสามารถจู่โจมนักมวยปล้ำฝ่ายตรงข้ามที่กำลังรอเปลี่ยนตัวอยู่ได้ และนักมวยปล้ำที่กำลังรอเปลี่ยนตัวอยู่ก็สามารถโจมตีนักมวยปล้ำฝ่ายตรงข้ามได้ ณ จุดที่รอเปลี่ยนตัวอยู่หรือในบริเวณด้านนอกเวทีมวย สำหรับการปล้ำแบบแท็กทีมในรูปแบบที่มีจำนวนสมาชิกในทีมมากกว่าสองคน นักมวยปล้ำจะแท็กผู้ร่วมทีมเพื่อเปลี่ยนตัวให้ผู้ร่วมทีมของตนที่ได้รอเปลี่ยนตัวอยู่บริเวณมุมเสาเวทีมวยด้านนอกนั้นเข้ามาต่อสู้แทนกันได้หนึ่งครั้งการแท็กต่อผู้ร่วมทีมหนึ่งคนในทีมเท่านั้น

2.1 แบบแท็กทีมหกคน (6-Man Tag Team Match) - เป็นการปล้ำแบบแท็กทีมที่ทั้งสองฝ่ายจะมาเป็นทีมที่มีสมาชิกทีมละ 3 คน

2.2 แบบแท็กทีมแปดคน (8-Man Tag Team Match) - เป็นการปล้ำแบบแท็กทีมที่ทั้งสองฝ่ายจะมาเป็นทีมที่มีสมาชิกทีมละ 4 คน

2.3 แบบแท็กทีมสิบคน (10-Man Tag Team Match) - เป็นการปล้ำแบบแท็กทีมที่ทั้งสองฝ่ายจะมาเป็นทีมที่มีสมาชิกทีมละ 5 คน

2.4 แบบแท็กทีมสิบสองคน (12-Man Tag Team Match) - เป็นการปล้ำแบบแท็กทีมที่ทั้งสองฝ่ายจะมาเป็นทีมที่มีสมาชิกทีมละ 6 คน

2.5 แบบแท็กทีมสิบสี่คน (14-Man Tag Team Match) - เป็นการปล้ำแบบแท็กทีมที่ทั้งสองฝ่ายจะมาเป็นทีมที่มีสมาชิกทีมละ 7 คน

2.6 แบบแท็กทีมสิบหกคน (16-Man Tag Team Match) - เป็นการปล้ำแบบแท็กทีมที่ทั้งสองฝ่ายจะมาเป็นทีมที่มีสมาชิกทีมละ 8 คน

3. แบบ แบทเทิล รอยัล (Battle Royal) - เป็นการปล้ำในแบบที่นักมวยปล้ำทั้งหมดบนเวทีมวยจะต้องเข้าตะลุมบอนกันเอง จนกระทั่งเหลือนักมวยปล้ำอยู่บนเวทีมวยเพียงแค่คนเดียว ในการปล้ำแบบ แบทเทิล รอยัลหนึ่งครั้งนั้น จะมีนักมวยปล้ำที่ต่อสู้อยู่บนเวทีมวย ตั้งแต่ 4 คน ขึ้นไป (โดยทั่วไปแล้ว จะปล้ำกันไม่เกิน 20 ถึง 30 คน ต่อหนึ่งเวที) นักมวยปล้ำแต่ละคนจะต้องเอาชนะคู่ต่อสู้บนเวทีมวยให้มากที่สุด จนกระทั่งเหลือตนอยู่คนเดียว หลักของการเอาชนะคู่ต่อสู้แต่ละคนในการปล้ำแบบ แบทเทิล รอยัล นั้น คือการเหวี่ยง, โยน, หรือดันคู่ต่อสู้ให้หล่นลงจากด้านบนเวทีมวยผ่านเหนือด้านบนของเชือกกั้นเวทีมวยเส้นที่สาม หรือ เส้นด้านบนสุดของเวทีมวย ให้เท้าทั้งสองข้างของคู่ต่อสู้มาสัมผัสกับพื้นด้านล่างเวทีมวย นักมวยปล้ำที่ถูกคู่ต่อสู้เอาชนะได้ก็จะตกรอบ ส่วนนักมวยปล้ำที่ยังไม่ตกรอบก็จะทำการปล้ำต่อไป จนกระทั่งเหลือนักมวยปล้ำที่ยังไม่ตกรอบอยู่บนเวทีมวยจำนวนหนึ่งคน การปล้ำจึงจะยุติลง และนักมวยปล้ำคนเดียวคนนั้นก็จะเป็นผู้ชนะ

4. แบบ แฮนดิแคป (Handicap Match) - เป็นการปล้ำในแบบที่นักมวยปล้ำแต่ละฝ่ายมีจำนวนคนไม่เท่ากัน เช่น ฝ่ายหนึ่งมีเพียงคนเดียว แต่อีกฝ่ายมีสองคน, ฝ่ายหนึ่งมีสองคน แต่อีกฝ่ายมีสามคน, หรือฝ่ายหนึ่งมีสามคน แต่อีกฝ่ายมีจำนวนคนมากกว่า เป็นต้น การปล้ำแบบแฮนดิแคปมีทั้งแบบที่นักมวยปล้ำทั้งหมดต่อสู้กันบนเวทีมวย และการปล้ำที่นักมวยปล้ำคนเดียวเจอกับนักมวยปล้ำฝ่ายตรงข้ามที่มาแบบแท็กทีมหรือปล้ำแบบแท็กทีมในแบบที่จำนวนสมาชิกของแต่ละทีมไม่เท่ากัน

5. การปล้ำแบบให้ยอมจำนน (Submission Match) - เป็นการปล้ำในแบบที่การล็อกคู่ต่อสู้หรือรัดตัวคู่ต่อสู้ให้ยอมแพ้ คือหนทางเดียวสำหรับการเป็นผู้ชนะ

กติกาการปล้ำแบบพิเศษในมวยปล้ำอาชีพ

[แก้]
  1. การปล้ำแบบไม่มีสังเวียนจำกัด (Falls Count Anywhere Match) - มักเรียกว่าเป็นการปล้ำแบบการต่อสู้ข้างถนน หรือ แบบสตรีตไฟต์ (Street Fight) เป็นการปล้ำในรูปแบบที่นักมวยปล้ำสามารถเอาชนะกันได้ ณ บริเวณด้านล่างเวทีมวย ด้วยการกดไหล่คู่ต่อสู้ให้กรรมการผู้ห้ามนับหนึ่งถึงสาม หรือการใช้ท่าล็อกให้คู่ต่อสู้ยอมแพ้ และจะไม่มีการนับให้ขึ้นเวทีมวย นั่นหมายความว่า นอกจากด้านบนเวทีมวยแล้ว การปล้ำในรูปแบบนี้สามารถดำเนินไปได้ทุกจุดในบริเวณใกล้กับเวทีมวย นักมวยปล้ำสามารถนำสิ่งของมาใช้เป็นอาวุธเพื่อโจมตีคู่ต่อสู้ในระยะประชิดได้ทั้งในบริเวณด้านบนและด้านล่างเวทีมวย สิ่งของที่มักจะถูกนำมาเป็นอาวุธ เช่น เก้าอี้พับ, โต๊ะไม้, ขั้นบันไดเหล็ก, บันไดปีน, ถังขยะโลหะและฝาของถังขยะ, ไมโครโฟน, ระฆังมวย, ค้อนเคาะระฆังมวย, ไม้เบสบอล, ไม้เคนโด้, ฯลฯ (ซึ่งสิ่งที่นักมวยปล้ำมักนำขึ้นมาเป็นอาวุธนั้นจะเป็นอุปกรณ์ที่ถูกออกแบบมาอย่างดีเพื่อใช้ในการแสดงเท่านั้น และมีการซักซ้อมการแสดงการต่อสู้กันมาเป็นอย่างดีแล้ว) การปล้ำในรูปแบบนี้ โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการปล้ำแบบเดี่ยว นักมวยปล้ำจะต่อสู้กันแบบตัวต่อตัว แต่ในบางครั้ง ก็มีการนำกติการูปแบบนี้ไปผสมกับการปล้ำแท็กทีมแบบธรรมดา เป็นการปล้ำแบบแท็กทีมที่ไม่มีสังเวียนจำกัด

2. การปล้ำแบบ ทอร์นาโด แท็กทีม (Tornado Tag Team Match) - เป็นการปล้ำแบบตะลุมบอนเป็นทีม นักมวยปล้ำแต่ละฝ่ายจะมาแบบเป็นทีม แต่ละทีมมีจำนวนสมาชิกเท่าๆกัน และเข้าตะลุมบอนทีมฝ่ายตรงข้ามเพื่อชัยชนะที่จะมีให้เพียงทีมเดียว นักมวยปล้ำทุกฝ่ายในการปล้ำรูปแบบนี้สามารถนำสิ่งของจากด้านล่างเวทีมวยมาใช้เป็นอาวุธบนเวทีมวยได้ และสามารถเอาชนะทีมฝ่ายตรงข้ามด้วยการกดไหล่สมาชิกคนใดคนหนึ่งของทีมฝ่ายตรงข้ามให้กรรมการผู้ห้ามนับหนึ่งถึงสามหรือการใช้ท่าล็อกให้สมาชิกคนใดคนหนึ่งของทีมฝ่ายตรงข้ามยอมแพ้ได้ในบริเวณด้านบนเวทีมวย ในบางครั้ง มีการนำรูปแบบการปล้ำนี้ไปผสมกับการปล้ำในกรงเหล็ก

3. การปล้ำในกรงเหล็ก (Steel Cage Match) - เป็นการปล้ำที่จะมีกำแพงตาข่ายเหล็กมาวางล้อมรอบเวทีมวยไว้ตลอดทั้งสี่ทิศ ซึ่งนั่นเรียกว่าเป็น "กรงเหล็ก" นักมวยปล้ำแต่ละฝ่ายจะต้องต่อสู้กันบนเวทีมวยซึ่งถูกล้อมรอบด้วยกำแพงตาข่ายเหล็กเวทีนั้น นักมวยปล้ำที่สามารถปีนข้าม "กรงเหล็ก" ให้เท้าทั้งสองข้างสัมผัสพื้นด้านล่างเวทีมวยได้เป็นฝ่ายแรกก็จะเป็นฝ่ายชนะ ในหลายๆคู่ นักมวยปล้ำสามารถเอาชนะได้ด้วยการนำตัวเองออกมาจากเวทีมวยผ่านทางประตูของกรงเหล็กให้เท้าทั้งสองข้างลงมาสัมผัสพื้นด้านล่างเวทีได้ก่อนคู่ต่อสู้เพื่อเป็นฝ่ายชนะ และในอีกหลายๆคู่ นักมวยปล้ำสามารถเอาชนะกันได้ด้วยการกดไหล่นับสาม และ การใช้ท่าล็อกให้คู่ต่อสู้ยอมแพ้ เช่นเดียวกับการปล้ำแบบทั่วไป อย่างไรก็ตาม โดยส่วนใหญ่แล้ว หลักของการเอาชนะคู่ต่อสู้ในการปล้ำในกรงเหล็กเช่นนี้ คือการออกมาจากกรงเหล็กลงมาให้เท้าทั้งสองข้างสัมผัสพื้นด้านล่างเวทีมวยให้ได้ก่อนคู่ต่อสู้ การปล้ำในกรงเหล็กอนุญาตให้นักมวยปล้ำใช้สิ่งของจากด้านล่างเวทีมวยเป็นอาวุธได้ การปล้ำในกรงเหล็กเป็นได้ทั้งการปล้ำแบบเดี่ยว นักมวยปล้ำต่อสู้กันตัวต่อตัวในกรงเหล็ก และการปล้ำในรูปแบบที่มีจำนวนนักมวยปล้ำในการปล้ำหนึ่งครั้งมากกว่าสองคน เช่น การปล้ำแบบแท็กทีม เป็นต้น

3.1 แบบแท็กทีมในกรงเหล็ก (Tag Team Steel Cage Match) - เป็นการปล้ำแบบแท็กทีมธรรมดาที่อยู่ภายในบริเวณกรงเหล็ก สำหรับการเอาชนะทีมของฝ่ายตรงข้ามด้วยการหลบหนีออกจากกรงเหล็กในการปล้ำรูปแบบนี้ นักมวยปล้ำคนใดคนหนึ่งที่ได้รับสิทธิ์ (หรือได้รับการ "แท็ก") ให้เข้ามาต่อสู้ในบริเวณลานต่อสู้ของเวทีมวย หากสามารถปีนออกจากกรงเหล็กหรือออกมาผ่านประตูทางออกของกรงเหล็กได้ก่อนคู่ต่อสู้ เขาและผู้ร่วมทีมของเขาก็จะเป็นทีมที่ชนะ

3.2 แบบทอร์นาโด แท็กทีม ในกรงเหล็ก (Tornado Tag Team Steel Cage Match) - เป็นการปล้ำแบบทีมตะลุมบอนภายในบริเวณกรงเหล็ก สำหรับการเอาชนะทีมของฝ่ายตรงข้ามด้วยการหลบหนีออกจากกรงเหล็กในการปล้ำรูปแบบนี้ ทีมใดที่สมาชิกทั้งหมดปีนออกมาจากกรงเหล็กได้หรือออกมาผ่านประตูทางออกของกรงเหล็กได้ก่อนทีมฝ่ายตรงข้าม ก็จะเป็นทีมที่ชนะ

4. การปล้ำในกรงเหล็กแบบ "เฮลล์ อิน อะ เซลล์" (Hell in a Cell Match) - เป็นการปล้ำในกรงเหล็กแบบมีเพดาน นักมวยปล้ำแต่ละฝ่ายจะต้องเริ่มต่อสู้กันบนเวทีมวยซึ่งมีกรงเหล็กแบบมีเพดานอยู่ด้านบน ในการปล้ำแบบ "เฮลล์ อิน อะ เซลล์" นักมวยปล้ำสามารถออกไปต่อสู้กันภายนอกกรงเหล็กได้ โดยจะไม่มีการนับให้ขึ้นเวทีมวย และสามารถนำสิ่งของจากด้านล่างเวทีมวยมาใช้เป็นอาวุธบนเวทีมวยได้ นักมวยปล้ำยังสามารถขึ้นไปต่อสู้กันบนเพดานของกรงเหล็กนี้ได้อีกด้วย ผลแพ้ชนะนั้นจะมาจากการกดไหล่คู่ต่อสู้ให้กรรมการผู้ห้ามนับถึงสามหรือการใช้ท่าล็อกให้คู่ต่อสู้ยอมแพ้จากด้านบนเวทีมวยเท่านั้น แต่ในบางการแข่งขัน ผลแพ้ชนะของการปล้ำสามารถมาจากการต่อสู้บนเพดานของกรงเหล็กได้ นั่นหมายความว่า ในบางการแข่งขัน นักมวยปล้ำสามารถกดไหล่คู่ต่อสู้ให้กรรมการผู้ห้ามนับถึงสามหรือใช้ท่าล็อกให้คู่ต่อสู้ยอมแพ้ได้ที่บนเพดานของกรงเหล็ก การปล้ำในกรงเหล็กแบบ "เฮลล์ อิน อะ เซลล์" นั้น เป็นที่รู้จักจาก สมาคมมวยปล้ำอาชีพ เวิลด์เรสต์ลิงเอ็นเตอร์เทนเมนต์ (World Wrestling Entertainment) หรือ ดับเบิลยูดับเบิลยูอี (WWE)

5. การปล้ำแบบใช้บันไดปีน (Ladder Match) - เป็นการปล้ำที่มีวิธีการเอาชนะคู่ต่อสู้อยู่วิธีเดียวเท่านั้น คือการปีนบันไดขึ้นไปเก็บสิ่งของสำคัญบางอย่างที่ทางผู้จัดห้อยไว้เหนือเวทีมวยลงมา (ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเข็มขัดแชมป์) ไม่สามารถใช้การกดไหล่นับสามและการใช้ท่าล็อกให้คู่ต่อสู้ยอมแพ้ได้ บันไดปีนสามารถนำมาใช้เป็นอาวุธช่วยต่อสู้ และนักมวยปล้ำสามารถนำสิ่งของอื่นๆมาเป็นอาวุธช่วยในการปล้ำแบบใช้บันไดปีนได้ นักมวยปล้ำสามารถใช้บันได้ปีนโจมตีคู่ต่อสู้ได้ทั้งบนและล่างเวทีมวย และจะไม่มีการนับให้ขึ้นเวทีมวย สำหรับบันไดปีนที่นักมวยปล้ำจะได้ใช้ในการปล้ำรูปแบบนี้นั้น มักจะถูกตั้งหรือพับไว้อยู่ด้านล่างเวทีมวย เมื่อการปล้ำเริ่มขึ้น นักมวยปล้ำจะไปหยิบและนำขึ้นมาใช้ด้วยตนเอง ปัจจุบัน ในการปล้ำรูปแบบนี้ มักจะมีบันไดปีนให้นักมวยปล้ำใช้มากกว่าสองตัวขึ้นไป การปล้ำแบบใช้บันไดปีนเป็นได้ทั้งการปล้ำแบบเดี่ยวและแบบหลายคน ทั้งแบบที่นักมวยปล้ำต่างฝ่ายหลายคนตะลุมบอนกันเองเพื่อปีนขึ้นไปเอาสิ่งของสำคัญแต่เพียงผู้เดียว และแบบเป็นทีมเข้าตะลุมบอนทีมตรงข้ามเพื่อให้สมาชิกในทีมของตนปีนขึ้นไปเอาสิ่งของสำคัญลงมาให้กับทางทีม

6. การปล้ำแบบ "ไอ ควิต" ("I Quit" Match) - เป็นการปล้ำที่นักมวยปล้ำต้องเข้าต่อสู้ให้ฝ่ายตรงข้ามเกิดอาการบาดเจ็บมากที่สุด จนกระทั่งมีนักมวยปล้ำฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งบอกกับกรรมการผู้ห้าม หรือ บอกกับผู้ชมผ่านไมโครโฟนว่า "ขอเลิก", "ฉันขอเลิก", หรือ "ไอ ควิต (I quit.)" ด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นการแสดงการยอมจำนนและมอบชัยชนะให้กับนักมวยปล้ำอีกฝ่ายหนึ่งไปในทันที การปล้ำแบบ ไอ ควิท นั้น ไม่มีการกดไหล่คู่ต่อสู้ให้กรรมการผู้ห้ามนับสามเพื่อเอาชนะ มีเพียงการแสดงการยอมจำนนจากคู่ต่อสู้ด้วยการพูดคำว่า "ขอเลิก", "ฉันขอเลิก", หรือ "ไอ ควิต (I quit.)" เท่านั้น แต่ก็จะไม่มีการนับให้ขึ้นเวทีมวย นักมวยปล้ำสามารถดำเนินการปล้ำได้ทั้งในบริเวณด้านบนและด้านล่างของเวทีมวย และสามารถนำสิ่งของมาใช้เป็นอาวุธได้

7. การปล้ำแบบ "ลัมเบอร์แจ็ค" (Lumberjack Match) - เป็นการปล้ำที่นักมวยปล้ำแต่ละฝ่ายปล้ำกันแบบปกติบนเวทีมวย เอาชนะกันด้วยการกดไหล่คู่ต่อสู้ให้กรรมการผู้ห้ามนับหนึ่งถึงสาม และการใช้ท่าล็อกให้คู่ต่อสู้ยอมแพ้ เช่นเดียวกับการปล้ำแบบธรรมดาทั่วไป แต่บริเวณด้านล่างเวทีมวย จะมีกลุ่มนักมวยปล้ำอยู่กลุ่มหนึ่งที่มีหน้าที่หลักคือการจับตัวนักมวยปล้ำที่หล่นลงจากบนเวทีมวยลงมา เพื่อส่งนักมวยปล้ำคนนั้นกลับขึ้นไปบนเวทีมวยในช่วงระหว่างการปล้ำ ตำแหน่งของนักมวยปล้ำกลุ่มนี้ เรียกว่า "คนตัดไม้" หรือ "เดอะ ลัมเบอร์แจ็คส์" (The Lumberjacks) หากเป็นนักมวยปล้ำหญิง จะเรียกว่าเป็น เดอะ ลัมเบอร์จิลส์ (The Lumberjills) ในหลายครั้ง นักมวยปล้ำกลุ่มนี้จะมีฝ่ายกับนักมวยปล้ำที่อยู่บนเวทีมวย และจะประจำตำแหน่งอยู่คนละฟากด้านล่างเวทีมวย เมื่อนักมวยปล้ำฝ่ายที่พวกเขาและเธอช่วยเหลือนั้นตกลงมาจากเวทีมวย พวกเขาและเธอจะพยุงขึ้นและส่งกลับขึ้นไปบนเวทีมวย พวกเขาและเธอยังสามารถเข้าไปขัดขวางหรือห้ามกลุ่มนักมวยปล้ำของฝ่ายตรงข้ามไม่ให้เข้าโจมตีนักมวยปล้ำของฝ่ายตนเองที่ตกลงมาจากเวทีมวย ในทางกลับกัน หากเป็นนักมวยปล้ำฝ่ายตรงข้ามที่ตกลงมาจากเวทีมวย พวกเขาและเธอจะรุมเข้าโจมตีก่อนจะส่งนักมวยปล้ำฝ่ายตรงข้ามกลับขึ้นไปบนเวทีมวย ในบางครั้ง นักมวยปล้ำบางคนในกลุ่มก็ทำการจู่โจมนักมวยปล้ำฝ่ายตรงข้ามที่อยู่บนเวทีมวย ซึ่งไม่ได้ถือว่าผิดกติกาในการปล้ำรูปแบบนี้ การปล้ำแบบลัมเบอร์แจ็คมีทั้งแบบการปล้ำธรรมดาและแบบที่สามารถใช้อาวุธบนเวทีมวยได้ และในบางครั้ง ก็มีการนำกติกาของมวยปล้ำอาชีพบางรูปแบบอื่นๆมาผสมกับการปล้ำแบบลัมเบอร์แจ็ค เช่น การปล้ำแบบแท็กทีม นำมาเป็น การปล้ำแบบแท็กทีมที่มีกลุ่มลัมเบอร์แจ็ค เป็นต้น

8. การปล้ำแบบใช้โต๊ะ (Tables Match) - เป็นการปล้ำที่นักมวยปล้ำต้องพิชิตคู่ต่อสู้ลงบนโต๊ะไม้ให้โต๊ะไม้หักลงมากับตัวของคู่ต่อสู้ เช่น การทุ่มฝ่ายตรงข้ามลงบนโต๊ะไม้ที่นำมาตั้งไว้ให้โต๊ะไม้หักลงมาเป็นสองท่อน หรือ การวางคู่ต่อสู้นอนลงบนโต๊ะไม้ที่นำมาตั้งไว้ แล้วกระโดดเข้าซ้ำคู่ต่อสู้ที่นอนอยู่บนโต๊ะไม้ให้โต๊ะไม้หักลงมาเป็นสองท่อน หรือ การพาดโต๊ะไม้ไว้ที่มุมเสาเวที แล้วเหวี่ยงหรือเข้าปะทะคู่ต่อสู้ให้เข้าไปชนกับโต๊ะไม้ที่พาดไว้ ให้โต๊ะไม้หักครึ่งลงมาเป็นสองท่อน เป็นต้น นักมวยปล้ำฝ่ายใดที่พิชิตอีกฝ่ายได้ด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งนี้ก็จะเป็นผู้ชนะ สำหรับโต๊ะไม้ที่ใช้ในการปล้ำแบบใช้โต๊ะนี้ จะเป็นโต๊ะไม้แบบพิเศษสำหรับใช้ในการปล้ำ ซึ่งทางผู้จัดจะได้จัดไว้ให้ ตั้งแต่สองถึงสามตัวขึ้นไป และจะถูกตั้งหรือพับไว้ด้านล่างเวทีมวย การปล้ำแบบใช้โต๊ะจะไม่มีการนับให้ขึ้นเวทีมวย ไม่มีการเอาชนะกันด้วยการกดไหล่นับสามและการใช้ท่าล็อกให้คู่ต่อสู้ยอมแพ้ นักมวยปล้ำสามารถนำโต๊ะไม้เหล่านั้นขึ้นมาเป็นอาวุธช่วยต่อสู้ได้ทั้งด้านบนและล่างเวทีมวย นั่นหมายความว่า นักมวยปล้ำสามารถพิชิตคู่ต่อสู้ลงบนโต๊ะไม้เพื่อเป็นฝ่ายชนะได้ในทุกจุดในบริเวณใกล้กับเวทีมวย สิ่งของอื่นๆสามารถนำมาเป็นอาวุธช่วยในการปล้ำแบบใช้โต๊ะได้ การปล้ำแบบใช้โต๊ะเป็นได้ทั้งการปล้ำแบบเดี่ยว, แบบตะลุมบอนกันเองหลายคน, และแบบเป็นทีม

9. การปล้ำแบบ "ผู้ยืนหยัดคนสุดท้าย" หรือ "ลาสต์แมน สแตนดิ้ง" ("Last Man Standing" Match) - เป็นการปล้ำที่นักมวยปล้ำแต่ละฝ่ายต้องเข้าต่อสู้ฝ่ายตรงข้ามจนกระทั่งฝ่ายตรงข้ามล้มลงและไม่สามารถลุกขึ้นมายืนและต่อสู้ต่อได้ เมื่อมีนักมวยปล้ำฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งล้มลงไป กรรมการผู้ห้ามจะนับ 1 ถึง 10 ด้วยความเร็วปานกลาง ให้นักมวยปล้ำฝ่ายที่ล้มลงไปได้ลุกขึ้นมา หากนักมวยปล้ำฝ่ายที่ล้มลงไปไม่สามารถยืนอยู่กับพื้นหรือกลับขึ้นมาต่อสู้ต่อในช่วงเวลาที่กรรมการผู้ห้ามนับให้ลุกขึ้น นักมวยปล้ำฝ่ายที่ยังสามารถยืนอยู่กับพื้นได้ก็จะเป็นฝ่ายชนะ ในการปล้ำแบบ "ผู้ยืนหยัดคนสุดท้าย" หรือ "ลาสต์แมน สแตนดิ้ง" นี้ ก็มีวิธีการตัดสินผลแพ้ชนะคล้ายกับการตัดสินการชนะน็อกในกีฬามวยสากลและมวยไทยนั่นเอง ในการปล้ำรูปแบบนี้ นักมวยปล้ำสามารถดำเนินการปล้ำได้ทั้งในบริเวณด้านบนเวทีมวยและด้านล่างเวทีมวย โดยที่กรรมการผู้ห้ามจะไม่นับให้ขึ้นเวทีมวย และนักมวยปล้ำสามารถนำสิ่งของมาใช้เป็นอาวุธได้ ในบางครั้ง มีการนำรูปแบบการปล้ำนี้ไปผสมกับการปล้ำในกรงเหล็ก

10. การปล้ำแบบ เท็กซัส เดธ แมทช์ (Texas Death Match) - เป็นการปล้ำที่นักมวยปล้ำแต่ละฝ่ายต้องผ่านขั้นตอนการเอาชนะอย่างต่อเนื่องกันทั้งหมดสองขั้นตอนจึงจะเป็นผู้ชนะ ขั้นตอนแรกคือการกดไหล่คู่ต่อสู้ให้กรรมการผู้ห้ามนับหนึ่งจนถึงสามหรือล็อกคู่ต่อสู้ให้ยอมแพ้ เมื่อกดไหล่คู่ต่อสู้จนกรรมการผู้ห้ามนับถึงสามหรือคู่ต่อสู้ยอมแพ้จากการล็อกแล้ว ก็จะผ่านขั้นตอนแรก และเข้าสู่ขั้นตอนที่สองทันที นั่นคือการปล่อยให้คู่ต่อสู้คนนั้นกลับขึ้นมายืนอยู่กับพื้น ซึ่งหากคู่ต่อสู้นั้นไม่สามารถกลับขึ้นมายืนเพื่อต่อสู้ต่อได้ภายในช่วงเวลาที่กรรมการผู้ห้ามนับ 1 ถึง 10 ด้วยความเร็วปานกลาง นักมวยปล้ำฝ่ายที่ยืนหยัดอยู่ก็จะผ่านขั้นตอนที่สองซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายสำหรับชนะในการปล้ำแบบเท็กซัส เดธ แมทช์ และเป็นฝ่ายชนะ นักมวยปล้ำฝ่ายใดก็ตามที่ยังไม่สามารถผ่านขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งได้สำเร็จ ก็จะต้องดำเนินการปล้ำต่อไปและเริ่มต้นผ่านจากขั้นตอนแรกใหม่อีกครั้ง จนสามารถผ่านทั้งสองขั้นตอนอย่างต่อเนื่องกันได้สำเร็จ จึงจะเป็นฝ่ายชนะ การปล้ำแบบเท็กซัส เดธ แมทช์ ไม่มีการนับให้ขึ้นเวทีมวย นักมวยปล้ำสามารถนำสิ่งของมาใช้เป็นอาวุธได้ และสามารถดำเนินการปล้ำได้ทั้งในบริเวณด้านบนและด้านล่างเวทีมวย ในบางครั้ง มีการนำรูปแบบการปล้ำนี้ไปผสมกับการปล้ำในกรงเหล็ก

11. การปล้ำแบบ ชู้ต เรสต์ลิง (Shoot Wrestling Match) - เป็นการปล้ำที่จะมีสองหนทางหลักสำหรับการเป็นผู้ชนะ คือ การปล้ำหรือโจมตีคู่ต่อสู้เพื่อพิชิตให้ล้มลงไปจนไม่สามารถกลับขึ้นมายืนเพื่อต่อสู้ต่อได้ภายในช่วงเวลาที่กรรมการผู้ห้ามนับ 1 ถึง 10 ด้วยความเร็วปานกลางให้ลุกขึ้นมา และ การล็อกคู่ต่อสู้หรือรัดตัวคู่ต่อสู้ให้ยอมแพ้ นักมวยปล้ำฝ่ายใดที่สามารถเอาชนะคู่ต่อสู้ได้โดยทางใดทางหนึ่งก็จะเป็นฝ่ายชนะ ไม่มีการกดไหล่ของคู่ต่อสู้ให้กรรมการผู้ห้ามบนเวทีมวยนับหนึ่งจนถึงสาม การปล้ำรูปแบบนี้ได้รับการออกแบบให้มีกลิ่นไอของกีฬาต่อสู้ให้มากที่สุด จึงทำให้โดยทั่วไปแล้ว การปล้ำรูปแบบนี้จะเน้นดำเนินอยู่บนเวทีมวย ผลการปล้ำจะมาจากการเอาชนะบนเวทีมวยเท่านั้น และไม่มีการนำสิ่งของมาใช้เป็นอาวุธในการปล้ำ การปล้ำรูปแบบนี้ได้รับการคิดค้นและพัฒนาในประเทศญี่ปุ่นในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1970 เป็นที่รู้จักในวงกว้างและได้รับความนิยมผ่านสมาคมมวยปล้ำอาชีพ ที่มีชื่อว่า ยูนิเวอร์แซล เรสต์ลิง เฟเดอเรชัน (Universal Wrestling Federation) หรือ ยูดับเบิลยูเอฟ (UWF) จากประเทศญี่ปุ่น แม้ในปัจจุบัน สมาคมมวยปล้ำอาชีพ ยูดับเบิลยูเอฟ ได้ปิดตัวลงไปแล้ว แต่ก็ยังคงมีสมาคมมวยปล้ำอาชีพแห่งอื่นๆที่นำการปล้ำแบบชู้ตเรสต์ลิงไปใช้ต่อ และอาจมีการดัดแปลงรูปแบบกติกาให้แตกต่างไปจากเดิมเพื่อให้มีเอกลักษณ์หรือความแปลกใหม่ในการรับชมสำหรับผู้รับชม ในบางครั้ง ก็มีการนำรูปแบบการปล้ำนี้ไปผสมผสานกับการปล้ำแบบแท็กทีมธรรมดา รวมไปถึงการปล้ำในกรงเหล็ก

12. การปล้ำแบบชิงธง (Flag Match) - เป็นการปล้ำที่นักมวยปล้ำแต่ละฝ่ายจะมีผืนธงของฝ่ายตนเองอยู่ที่มุมตรงข้ามของเวทีมวย นักมวยปล้ำจะต้องฝ่าฟันการโจมตีหรือการขัดขวางจากคู่ต่อสู้ เพื่อไปนำผืนธงของฝ่ายตนเองมาถือไว้ให้กรรมการผู้ห้ามบนเวทีมวยเห็น หรือโบกสะบัดผืนธงของฝ่ายตนเองให้กรรมการผู้ห้ามบนเวทีมวยเห็น จึงจะเป็นผู้ชนะ

มวยปล้ำอาชีพในประเทศไทย

[แก้]

มวยปล้ำอาชีพเข้ามาแพร่ภาพในประเทศไทย ทาง โทรทัศน์ ตั้งแต่ช่วงต้นพุทธทศวรรษ 2530, ทางเคเบิลทีวี และทาง วิดีโอและวีซีดี โดยผู้ที่บรรยายเทปมวยปล้ำอาชีพคนแรกในเมืองไทย ได้แก่ เจือ จักษุรักษ์ ต่อมามวยปล้ำอาชีพกลับมาเป็นที่นิยมในช่วงต้นพุทธทศวรรษ 2540 โดยส่วนหนึ่งมาจากการบรรยายของ สุวัฒน์ กลิ่นเกษร หรือที่รู้จักกันในผู้ชมมวยปล้ำอาชีพในนาม "น้าติง"

สำหรับสมาคมมวยปล้ำอาชีพในไทยนั้น เคยมีชาวต่างชาติจัดตั้งค่ายมวยปล้ำอาชีพเกิดขึ้นในไทยในทศวรรษ 1990 ในชื่อค่าย "ไทย เรสต์ลิง เฟดเดอเรชั่น (Thai Wrestling Federation - TWF)[1] โดยจัดการปล้ำในพัทยา แต่ก็เป็นแค่ในระยะสั้นๆ จนในปี 2555 เอมิ ซากุระ (Emi Sakura) นักมวยปล้ำอาชีพหญิงชาวญี่ปุ่น ได้ก่อตั้งสมาคมมวยปล้ำอาชีพ นามว่า "กาโตห์ มูฟ โปรเรสต์ลิง" (Gatoh Move Pro Wrestling[2]) ในประเทศไทย พร้อมทั้งฝึกสอนนักมวยปล้ำชาวไทย และจัดการแสดงมวยปล้ำเป็นระยะ

ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2562 กาโตห์ มูฟ โปรเรสต์ลิง ยุติการดำเนินงานในประเทศไทย หลังจากนั้นก็ได้เกิดสมาคมมวยปล้ำที่แยกตัวออกมาหลังจากการยุติกิจการของกาโตห์ มูฟ ประเทศไทย 2 สมาคม ดังนี้

  1. เซทอัพ ไทยแลนด์ โปรเรสต์ลิง (Setup Thailand Pro Wrestling) ดำเนินงานโดยปรัชญ์ภูมิ บุญทัต - อดีตผู้จัดการทั่วไปของกาโตห์ มูฟ ประเทศไทย และปักษา - อดีตแชมป์ One And Only ของกาโตห์มูฟ ประเทศไทย
  2. ท๊อป โดโจ - ไทยแลนด์ ออริจินัล โปรเรสต์ลิง (TOP Dojo - Thailand Origin Pro Wrestling) ดำเนินงานโดยแท็กทีม "แบด คอมปานี" (ฺBad Company) อันประกอบด้วย "พี-นัทซ์" (P-Nutz) และ "โกเล็ม ไทย" (Golem Thai) อดีตแชมป์ Southeast Asia Tag Team ของสมาคม SPW ประเทศสิงคโปร์

รายชื่อบางส่วนของสมาคมมวยปล้ำอาชีพที่มีชื่อเสียง

[แก้]

สมาคมมวยปล้ำอาชีพจากสหรัฐอเมริกา

  • World Wrestling Entertainment หรือ WWE ในอดีตใช้ชื่อ World Wrestling Federation หรือ WWF
  • World Championship Wrestling หรือ WCW
  • All Elite Wrestling หรือ AEW

สมาคมมวยปล้ำอาชีพจากประเทศเม็กซิโก

  • ก็อนเซโค มุนดิอัล เดอ ลูชา ลิเบร (Consejo Mundial de Lucha Libre) หรือ เซ-เอเม-เอเล-เอเล (ซีเอ็มแอลแอล) (CMLL)
  • ลูชา ลิเบร ทริปเปิ้ลเอ เวิลด์ไวด์ (Lucha Libre AAA Worldwide)

สมาคมมวยปล้ำอาชีพจากประเทศญี่ปุ่น

  • นิว เจแปน โปรเรสต์ลิง (New Japan Pro Wrestling) หรือ เอ็นเจพีดับเบิลยู (NJPW)
  • ออล เจแปน โปรเรสต์ลิง (All Japan Pro Wrestling) หรือ เอเจพีดับเบิลยู (AJPW)
  • โปรเรสต์ลิง โนอาห์ (Pro Wrestling Noah)
  • ดรากอน เกท โปรเรสต์ลิง (Dragon Gate Pro Wrestling)
  • บิ๊ก เจแปน โปรเรสต์ลิง (Big Japan Pro Wrestling) หรือ บีเจดับเบิลยู (BJW)
  • ฟรอนเทียร์ มาร์เชียลอาร์ต เรสต์ลิง (Frontier Martial-Arts Wrestling) หรือ เอฟเอ็มดับเบิลยู (FMW)

สมาคมมวยปล้ำอาชีพจากประเทศไทย

  • กาโตห์ มูฟ โปรเรสต์ลิง (Gatoh Move Pro Wrestling)

อ้างอิง

[แก้]
  • Catch: The Hold Not Taken (DVD). 2005.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
  1. "[มนุษย์มวยปล้ำ] 'Thai Wrestling Federation' (TWF) สมาคมมวยปล้ำแห่งแรก? ของประเทศไทย". www.blockdit.com.
  2. https://www.facebook.com/GatohMoveProWrestling/