ข้ามไปเนื้อหา

นกคอพัน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Jynx torquilla)
นกคอพัน
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Aves
อันดับ: Piciformes
วงศ์: Picidae
วงศ์ย่อย: Jynginae
สกุล: Jynx
สปีชีส์: J.  torquilla
ชื่อทวินาม
Jynx torquilla
Linnaeus, 1758
ชนิดย่อย
ชนิดย่อย[2]
  • J. t. chinensis Hesse, 1911
  • J. t. himalayana Vaurie, 1959
  • J. t. mauretanica Rothschild, 1909
  • J. t. sarudnyi Loudon, 1912
  • J. t. torquilla Linnaeus, 1758
  • J. t. tschusii O. Kleinschmidt, 1907
     สถานที่พบในฤดูร้อน      สถานที่อยู่อาศัยประจำ      สถานที่อพยพหนีหนาว

นกคอพัน (อังกฤษ: Eurasian wryneck, Spotted woodpecker; ชื่อวิทยาศาสตร์: Jynx torquilla) เป็นนกชนิดหนึ่ง ในวงศ์นกหัวขวาน (Picidae)

มีรูปร่างเพรียว คอสั้น ปากสั้นและแบนข้างมาก สั้นปากบนโค้งลงมาเล็กน้อย ปลายปากแหลมคล้ายรูปกรวย รูจมูกค่อนข้างใหญ่อยู่เกลือบชิดสันปากบน ไม่มีขนใด ๆ แต่มีเยื่อปกคลุม ปีกมีลักษณะมนกลม

ด้านบนลำตัวเป็นลายจุดสีดำและน้ำตาล ด้านล่างลำตัวมีลายพาดระหว่าง สีขาวและน้ำตาล ดูระยะไกลจะเห็นเป็นสีน้ำตาลแกมเทากลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อม แต่นกคอพันไม่สามารถไต่ต้นไม้ในลักษณะแนวตั้งเหมือนนกหัวขวานทั่วไปได้ เพราะขนหางอ่อนนุ่มไม่สามารถค้ำยันตัวได้ โดยจะเกาะกิ่งไม้เหมือนนกเกาะคอน อีกทั้งยังไม่สามารถใช้จะงอยปากเจาะลำต้นของต้นไม้เพื่อหาแมลงกินได้อีกด้วย แต่นกคอพันก็มีลิ้นที่ยาวและมีน้ำลายที่เหนียวตวัดกินมดหรือหนอนตามต้นไม้เป็นอาหาร เหมือนนกหัวขวาน มีลำตัวยาวประมาณ 16-18 เซนติเมตร

เป็นนกที่อาศัยอยู่เพียงลำพัง หรือเป็นคู่ หากมีนกตัวอื่นหรือฝูงนกอื่นเข้ามาใกล้ จะบินหนี มักจะลงมาหากินตามพื้นดินมากกว่าบนต้นไม้ เนื่องจากกินมด ซึ่งเป็นแมลงอยู่ตามพื้นดินเป็นหลัก ด้วยการกระโดดไปมาบนพื้นแล้วหยุดมองหาตามร่องของพื้นดิน มีเสียงร้อง "ควี่ ๆ ๆ ๆ" ติดต่อกันราว 8-15 คำ ได้ยินกังวาลไปไกล[3]

นอกจากนี้แล้วยังสามารถที่บิดคอไปข้าง ๆ ได้เกือบ 180 องศาเหมือนงู จึงได้รับการตั้งชื่อสกุลว่า Jynx ซึ่งหมายถึง เวทมนตร์หรือการทำนายพยากรณ์ล่วงหน้า[4]

เหตุที่สามารถเลียนแบบส่วนคอได้เหมือนการเคลื่อนไหวของงู รวมถึงสามารถแลบลิ้นที่สำหรับใช้ตวัดกินแมลงได้เหมือนงูอีกด้วย ก็เพื่อป้องกันตัวเองและลูกวัยอ่อนที่อยู่ในโพรง จากนกตัวอื่นหรือสัตว์นักล่าชนิดอื่น [5]

พบกระจายพันธุ์ตามป่าโปร่ง, ชายทุ่ง, พื้นที่เกษตรกรรม ตลอดจนใกล้กับบ้านเรือนของมนุษย์ พบได้ตั้งแต่พื้นที่ราบจนถึงเหนือระดับน้ำทะเล 2,000 เมตร บนภูเขาสูง พบกระจายพันธุ์ตั้งแต่ทวีปยุโรปจนถึงเอเชียกลางและเอเชียตะวันออก (มีชนิดย่อย 6 ชนิด ดูในตาราง[2]) มีการอพยพหนีหนาวในช่วงฤดูหนาวไปในทวีปแอฟริกาตอนกลาง และประเทศไทย ซึ่งพบได้ทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ โดยไม่พบการวางไข่ขยายพันธุ์ในประเทศไทย และจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมาย[6] [3]

รูปภาพ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. BirdLife International (2012). "Jynx torquilla". IUCN Red List of Threatened Species. Version 2012.1. สืบค้นเมื่อ 16 July 2012.
  2. 2.0 2.1 "Jynx torquilla". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.
  3. 3.0 3.1 นกคอพัน[ลิงก์เสีย]
  4. "Online Etymology Dictionary: Jinx". Etymonline.com. สืบค้นเมื่อ 2010-10-11.
  5. "มหัศจรรย์สัตว์โลก: นกคอพัน". ช่อง 9. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2015-01-23.
  6. สัตว์ป่าคุ้มครอง

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Jynx torquilla ที่วิกิสปีชีส์