ข้ามไปเนื้อหา

จอกศักดิ์สิทธิ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Holy Grail)
How at the Castle of Corbin a Maiden Bare in the Sangreal and Foretold the Achievements of Galahad: ภาพวาดโดย Arthur Rackham ค.ศ. 1917

จอกศักดิ์สิทธิ์ (อังกฤษ: Holy Grail) เป็นภาชนะซึ่งเป็นแกนเรื่องสำคัญในวรรณกรรมอาเธอร์ ตำนานหลายเรื่องพรรณนาว่า เป็นถ้วย ชาม หรือศิลา ซึ่งมีอำนาจเหนือธรรมชาติบันดาลให้เกิดความสุข ความเยาว์วัยชั่วนิรันดร์ หรือชีวิตอมตะ คำว่า "จอกศักดิ์สิทธิ์" ยังมักใช้เรียกสิ่งของหรือเป้าหมายที่ไขว่คว้าหากันเพราะเชื่อว่า มีความสำคัญยิ่งยวด[1]

การกล่าวถึง "จอก" วิเศษ แม้ไม่ปรากฏชัดว่า ศักดิ์สิทธิ์ด้วยหรือไม่นั้น ปรากฏครั้งแรกในนิยายวีรคติอัศวินเรื่อง แปร์เซอวาลเลอกงต์ดูกราล (Perceval, le Conte du Graal; "แปร์เซอวาลตำนานจอก") ผลงานซึ่งเขียนไม่เสร็จของเครเตียง เดอ ทรัว (Chrétien de Troyes) ในราว ค.ศ. 1190[2] ในเอกสารนี้ ภาชนะดังกล่าวเป็น "ถาด" (salver) สำหรับเชิญอาหารในงานเลี้ยง[3] เอกสารของเครเตียงนำไปสู่การเล่าต่อ แปลความ และตีความ อีกมากมายในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 12 จนต้นคริสต์ศตวรรษที่ 13 ในจำนวนนี้รวมถึงผลงานของวอลฟรัม ฟอน เอสเชนบัค (Wolfram von Eschenbach) ซึ่งเข้าใจไปว่า "จอก" เป็น "ศิลา"[4] ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 12 นั้นเอง โรแบร์ เดอ โบรง (Robert de Boron) เขียนผลงานชื่อ โฌเซฟดารีมาตี (Joseph d'Arimathie) ว่า จอกนี้เป็นภาชนะที่พระเยซูทรงใช้เสวยพระกระยาหารมื้อสุดท้าย แล้วโยเซฟชาวอาริมาเธียใช้รองพระโลหิตของพระองค์ขณะทรงถูกตรึงกางเขน หลังจากนั้น เรื่องราวของจอกศักดิ์สิทธิ์ก็ผสมปนเปไปกับตำนานเรื่องถ้วยศักดิ์สิทธิ์ (Holy Chalice) อันเป็นภาชนะในพระกระยาหารมื้อสุดท้าย[5]

นักวิชาการสันนิษฐานกันมานานแล้วว่า เครเตียงไม่ใช่คนแรกที่คิดค้นเรื่องจอกศักดิ์สิทธิ์เป็นแน่ เพราะเนื้อเรื่องดูจะมีองค์ประกอบจากตำนานเรื่องหม้อกายสิทธิ์ในเทพปกรณัมเคลต์ประสมกับตำนานในศาสนาคริสต์ซึ่งเกี่ยวข้องกับพิธีมหาสนิท[6] โดยเฉพาะตำนานเรื่องหลังนี้พบมากในแหล่งข้อมูลจากคริสตจักรตะวันออก และแม้กระทั่งในแหล่งข้อมูลจากเปอร์เซีย[7]

ศัพทมูล

[แก้]

ในภาษาอังกฤษ คำว่า "grail" ที่แปลว่า จอก นั้น เดิมสะกด "graal" มาจากคำว่า "graal" หรือ "greal" ในภาษาฝรั่งเศสเก่า ซึ่งร่วมที่มากับคำว่า "grazal" ในภาษาอุตซิตาเก่า และ "gresal" ในภาษากาตาลาเก่า มีความหมายว่า "ถ้วยหรือชามทำจากดิน ไม้ หรือโลหะ" ในภาษาถิ่นอุตซิตายังสามารถหมายถึงภาชนะอย่างอื่นอีกหลายประเภท[8]

อย่างไรก็ดี รากเหง้าซึ่งเป็นที่ยอมรับกันมากที่สุดสำหรับคำนี้ ได้แก่ คำนี้มาจากภาษาละตินว่า "gradalis" หรือ "gradale" โดยรับมาผ่านการสะกดแบบเดิม คือ "cratalis" ซึ่งแผลงมาจาก "crater" หรือ "cratus" ที่ยืมมาจากภาษากรีกว่า "krater" (κρατήρ) แปลว่า ภาชนะขนาดใหญ่ใช้ผสมเหล้า[8][9][10][11][12]

ข้อสันนิษฐานอื่นระบุว่า คำนี้แผลงมาจาก "cratis" ซึ่งเดิมแปลว่า ตระกร้าสาน และภายหลังใช้เรียก จานชาม[13] หรืออาจแผลงมาจาก "gradus" ในภาษาละติน ที่แปลว่า ทีละน้อย ทีละขั้น หรือเป็นช่วง ๆ โดยนำมาเรียกจานที่ค่อย ๆ นำมาวางบนโต๊ะเป็นช่วง ๆ ไปในระหว่างการรับประทานอาหาร[14]

นักประพันธ์ในปลายมัชฌิมยุคอย่างทอมัส แมเลอรี (Thomas Malory) เสนอแนวคิดอันน่าตื่นตาตื่นใจเกี่ยวกับที่มาของคำ "san-graal" หรือ "san-gréal" ในภาษาฝรั่งเศสเก่า ซึ่งแปลว่า จอกศักดิ์สิทธิ์นั้น ว่า มาจาก "sang real" ที่แปลว่า พระโลหิต[15]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Merium-Webster. "Definition of Holy Grail". Merium-Webster. สืบค้นเมื่อ December 18, 2017.
  2. Loomis, Roger Sherman (1991). The Grail: From Celtic Myth to Christian Symbol เก็บถาวร 2020-04-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Princeton. ISBN 0-691-02075-2
  3. Staines, David.(Trans.) The Complete Romances of Chrétien de Troyes. Indiana University Press, Bloomington & Indianapolis, 1990, page 380.
  4. Von Eschenbach, Wolfram. Parzival. Hatto, A.T. translator. Penguin Books, 1980, page 239.
  5. Campbell, Joseph. Transformations of Myth Through Time. Harper & Row Publishers, New York, 1990, page 210.
  6. Weston, Jessie L. From Ritual To Romance. Princeton University Press, Princeton, New Jersey, 1993 (originally published 1920) p.74 & p.129,
  7. Jung, Emma and von Franz, Marie-Louise. The Grail Legend, Sigo Press, Boston, 1980, p. 14.
  8. 8.0 8.1 Diez, Friedrich. An etymological dictionary of the Romance languages, Williams and Norgate, 1864, p. 236.
  9. Nitze, William A. Concerning the Word Graal, Greal, Modern Philology, Vol. 13, No. 11 (Mar., 1916), pp. 681-684 .
  10. Jung, Emma and von Franz, Marie-Louise. The Grail Legend, Princeton University Press, 1998, pp. 116-117.
  11. Skeat, Walter William. Joseph of Arimathie, Pub. for the Early English Text Society, by N. Trübner & Co., 1871, pp. xxxvi-xxxvii
  12. Mueller, Eduard. Etymologisches Wörterbuch der englischen Sprache: A-K, chettler, 1865, p. 461.
  13. Barber, Richard. The Holy Grail: imagination and belief, Harvard University Press, 2004, p. 93.
  14. Richard O'Gorman, "Grail" in Norris J. Lacy, The Arthurian Encyclopedia, 1986
  15. Barber, Richard, The Holy Grail: Imagination and Belief, Harvard University Press, 2004, p. 215.

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]