ข้ามไปเนื้อหา

แฮร์รอดส์

พิกัด: 51°29′58.51″N 00°09′48.66″W / 51.4995861°N 0.1635167°W / 51.4995861; -0.1635167
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Harrods)

51°29′58.51″N 00°09′48.66″W / 51.4995861°N 0.1635167°W / 51.4995861; -0.1635167

แฮร์รอดส์
Harrods
ประเภทเอกชน
อุตสาหกรรมค้าปลีก
รูปแบบห้างสรรพสินค้า
ก่อตั้งพ.ศ. 2377
ผู้ก่อตั้งชาร์ลส์ เฮนรี แฮร์รอด
สำนักงานใหญ่ถนนบรอมพ์ตัน
ไนท์สบริดจ์ ลอนดอน สหราชอาณาจักร
ผลิตภัณฑ์สินค้าคุณภาพระดับหรูหรา
เจ้าของบริษัทกาตาร์ โฮลดิ้ง
พนักงาน
5000+
บริษัทแม่แฮร์รอด
เว็บไซต์www.harrods.com

แฮร์รอดส์ (อังกฤษ: Harrods) เป็นห้างสรรพสินค้าหรูหราบนถนนบรอมพ์ตันในเขตไนท์สบริดจ์ ลอนดอน สหราชอาณาจักร ตราแฮร์รอดส์ยังนำไปใช้กับวิสาหกิจอื่น ๆ ที่ดำเนินงานโดยกลุ่มบริษัทแฮร์รอดส์ รวมถึงธนาคารแฮร์รอดส์ แฮร์รอดส์เอสเตทส์ แฮร์รอดส์เอเวียชัน และแอร์แฮร์รอดส์

ห้างตั้งอยู่บนที่ดินขนาด 18,000 ตารางเมตร มีพื้นที่จำหน่ายสินค้ากว่า 90,000 ตารางเมตรในร้านค้ากว่า 330 ร้าน ห้างเซลฟริดจ์สบนถนนออกซฟอร์ดซึ่งเป็นห้างที่ใหญ่เป็นอันดับสองในสหราชอาณาจักร มีขนาดมากกว่าครึ่งหนึ่งของแฮร์รอดส์เล็กน้อย โดยมีพื้นที่จำหน่ายสินค้า 50,000 ตารางเมตร[1]

คติพจน์ของแฮร์รอดส์คือ Omnia Omnibus Ubique - ทุกสิ่งสำหรับทุกคนในทุกแห่ง ร้านค้าหลายร้านภายในห้างมีชื่อเสียงระดับโลก รวมถึงแผนกคริสต์มาสตามเทศกาลและศูนย์อาหาร

ภูมิหลัง

[แก้]
ภาพวาดเมื่อ พ.ศ. 2452 แสดงชนชั้นสูงชาวลอนดอนเดินอยู่หน้าแฮร์รอดส์

แฮร์รอดส์ก่อตั้งขึ้นโดย ชาร์ลส์ เฮนรี แฮร์รอด เมื่อ พ.ศ. 2377 โดยตั้งเป็นร้านขายส่งในเขตสเตปนีย์ ย่านอีสต์เอนด์ เนื่องด้วยความสนใจเกี่ยวกับชาเป็นพิเศษ ต่อมาใน พ.ศ. 2392 แฮร์รอดได้ซื้อร้านค้าขนาดเล็กแห่งหนึ่งในเขตไนท์สบริดจ์บนที่ตั้งของห้างในปัจจุบัน เพื่อหนีความวุ่นวายของเมืองชั้นใน และเพื่อโอกาสทำกำไรจากนิทรรศการใหญ่แสดงผลงานทางอุตสาหกรรมจากทุกพื้นทวีป ที่จัดขึ้นใน พ.ศ. 2394 ใกล้กับสวนสาธารณะไฮด์ โดยตอนแรกเริ่มต้นจากร้านค้าห้องเดียว มีผู้ช่วยสองคนและผู้ส่งสารอีกหนึ่งคน ต่อมาชาร์ลส์ ดิกบี แฮร์รอด ผู้เป็นบุตรชาย ได้ดำเนินกิจการจนกลายเป็นธุรกิจขายปลีกที่เฟื่องฟู จำหน่ายยา น้ำหอม เครื่องเขียน ผลไม้ และผัก แฮร์รอดส์ขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนกระทั่ง พ.ศ. 2423 ได้ซื้ออาคารที่อยู่ติดกันและจ้างพนักงานหนึ่งร้อยคน

เมื่อต้นเดือนธันวาคม พ.ศ. 2426 ตัวอาคารได้เกิดเพลิงไหม้ ทำให้กิจการที่กำลังเจริญรุ่งเรืองต้องถดถอยลง แต่กระนั้น ชาร์ลส์ แฮร์รอด ยังคงบริการส่งสินค้าแก่ลูกค้าในเทศกาลคริสต์มาสในปีนั้น และทำกำไรได้อย่างดี อาคารใหม่ถูกสร้างขึ้นบนตำแหน่งเดิม และในเวลาไม่นานแฮร์รอดส์ก็ได้รับความเชื่อถือมากขึ้นจากลูกค้าชั้นนำ เช่น ออสการ์ ไวลด์ ลิลลี แลงทรี นักแสดงหญิงระดับตำนาน เอลเลน เทอร์รี Noël Coward ซิกมุนด์ ฟรอยด์ เอ. เอ. ไมลน์ และสมาชิกราชวงศ์อังกฤษหลายพระองค์

วันพุธที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2441 แฮร์รอดส์ได้เปิดตัวบันไดเลื่อนตัวแรกในอังกฤษในห้างที่ถนนบรอมพ์ตัน ซึ่งลักษณะเป็นอุปกรณ์คล้ายล้อตีนตะขาบจากหนังทอที่มีตับลูกกรงจากไม้มะฮอกกานีและกระจกฉาบเงิน[2] ลูกค้าที่ตื่นตระหนกจากการขึ้นบันไดเลื่อนจะได้รับบรั่นดีที่ด้านบนบันไดเพื่อช่วยกระตุ้นประสาท

เหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ของแฮร์รอดส์

[แก้]
  • พ.ศ. 2377 : ชาร์ลส์ เฮนรี แฮร์รอด (2342 - 2428) ก่อตั้งร้านขายส่งในเขตสเตปนีย์ ในลอนดอนด้านตะวันออก
  • พ.ศ. 2392 : แฮร์รอดส์ย้ายไปยังเขตไนท์สบริดจ์ของลอนดอน ใกล้กับสวนสาธารณะไฮด์
  • พ.ศ. 2404 : ชาร์ลส์ ดิกบี แฮร์รอด ผู้เป็นบุตรชาย ได้เข้าดำเนินกิจการ แล้วปรับเปลี่ยนกิจการใหม่
  • พ.ศ. 2426 : วันที่ 6 ธันวาคม อาคารของห้างเกิดเพลิงไหม้ ครอบครัวแฮร์รอดสร้างอาคารใหม่ให้มีขนาดใหญ่กว่าเดิม
  • พ.ศ. 2432 : ชาร์ลส์ ดิกบี แฮร์รอด วางมือจากกิจการ หุ้นของแฮร์รอดส์ถูกปล่อยขายในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอนภายใต้ชื่อ ห้างแฮร์รอดส์จำกัด (Harrod's Stores Limited)
  • พ.ศ. 2448 : อาคารที่เห็นในปัจจุบันสร้างเสร็จสมบูรณ์ตามการออกแบบโดยสถาปนิก ชาร์ลส์ วิลเลียม สตีเฟนส์ โดยเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2437
  • พ.ศ. 2457 : แฮร์รอดส์เปิดสาขาแรกและสาขาเดียวในต่างประเทศที่บัวโนสไอเรส อาร์เจนตินา และแยกตัวออกจากแฮร์รอดส์ในปลายทศวรรษที่ 1940 แต่ยังคงดำเนินกิจการภายใต้ชื่อ แฮร์รอดส์ บัวโนสไอเรส
  • พ.ศ. 2457 : แฮร์รอดส์ซื้อห้างสรรพสินค้าดิกคินส์แอนด์โจนส์บนถนนรีเจนท์
  • พ.ศ. 2462 : แฮร์รอดส์ซื้อห้างสรรพสินค้าเคนดัลส์ในแมนเชสเตอร์ และใช้ชื่อแฮร์รอดส์เป็นเวลาสั้น ๆ ในช่วงทศวรรษที่ 1920 ต่อมาถูกเปลี่ยนชื่อกลับเป็นเคนดัลส์ตามที่พนักงานและลูกค้าคัดค้าน
  • พ.ศ. 2502 : เฮาส์ออฟเฟรเซอร์ บริษัทห้างสรรพสินค้าอังกฤษผู้ถือหุ้นใหญ่ ได้ซื้อแฮร์รอดส์ไป
  • พ.ศ. 2512 : สิงโตชื่อ คริสเตียน ถูกซื้อมาโดยจอห์น เรนดัลล์ และแอนโธนี 'เอซ' บูร์ค ต่อมาถูกปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในเคนยาหลังจากโตเต็มที่แล้ว
  • พ.ศ. 2526 : กองกำลังสาธารณรัฐไอริชเฉพาะกิจ ได้ก่อวินาศกรรมที่ด้านนอกห้างที่ไนท์สบริดจ์ มีผู้เสียชีวิตหกราย
  • พ.ศ. 2528 : พี่น้องฟาเยดได้ซื้อห้างไปในราคา 615 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง
  • พ.ศ. 2533 : ร้านแฮร์รอดส์เปิดตัวบนเรือเดินสมุทร RMS ควีนแมรี ในเมืองลองบีช แคลิฟอร์เนีย ซึ่งต่อมาตกเป็นของบริษัท วอลท์ ดีสนีย์
  • พ.ศ. 2537 : ความสัมพันธ์ระหว่างเฮาส์ออฟเฟรเซอร์และแฮร์รอดส์เกิดแตกหัก แฮร์รอดส์ยังคงเป็นของครอบครัวอัล ฟาเยด ขณะที่เฮาส์ออฟเฟรเซอร์ถูกปล่อยขายในตลาดหลักทรัพย์
  • พ.ศ. 2540 : ศาลอังกฤษออกคำสั่งห้ามไม่ให้ห้างแฮร์รอดส์ในบัวโนสไอเรสทำการค้าภายใต้ชื่อแฮร์รอดส์อีก
  • พ.ศ. 2543 : ร้านแฮร์รอดเปิดตัวบนเรือเดินสมุทร RSM ควีนอลิซาเบธที่สอง ของคูนาร์ดไลน์
  • พ.ศ. 2549 : ร้าน "102" ของแฮร์รอดส์เปิดตรงข้ามกับอาคารของห้างบนถนนบรอมพ์ตัน ประกอบด้วยสัมปทานอย่างคริสปีครีม และโย่! ซุชิ รวมทั้งร้านขายดอกไม้ ร้านขายสมุนไพร ร้านนวด และสปาออกซิเจน
  • พ.ศ. 2549 : โอมาร์ ฟาเยด บุตรชายคนเล็กของโมฮัมเหม็ด เข้าร่วมคณะกรรมการของแฮร์รอดส์
  • พ.ศ. 2553 : นายโมฮัมหมัด อัล ฟายเอ็ด เจ้าของห้าง ขายกิจการให้กับบริษัทกาตาร์ โฮลดิ้ง เป็นมูลค่า 1,500 ล้านปอนด์[3]

ผลิตภัณฑ์และบริการ

[แก้]

ร้านค้า 330 ร้านในห้างมีผลิตภัณฑ์และบริการหลากหลายประเภท อย่างเช่น เครื่องแต่งกายสำหรับลูกค้าทุกประเภท (สตรี บุรุษ เด็ก และทารก) อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องเพชรพลอย อุปกรณ์กีฬา เครื่องแต่งกายสำหรับแต่งงาน สัตว์เลี้ยงและอุปกรณ์สำหรับสัตว์เลี้ยง ของเล่น อาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพและความงาม ของขวัญบรรจุหีบห่อ เครื่องเขียน เครื่องใช้ในบ้าน เครื่องเรือน ฯลฯ

ตัวอย่างของบริการในห้าง เช่น :

  • ร้านอาหาร 28 ร้านที่บริการอาหารทุกรูปแบบตั้งแต่ High tea, Tapas, Pub food ไปจนถึง Haute cuisine
  • รายการช่วยเลือกซื้อสินค้าเป็นส่วนตัวที่รู้จักในชื่อ "By Appointment"
  • บริการซ่อมนาฬิกาข้อมือ
  • ร้านตัดเย็บเสื้อผ้า
  • ร้านขายยา
  • ร้านเสริมสุขภาพและความงาม
  • ร้านทำผม
  • บริการทางการเงิน
  • ธนาคารแฮร์รอดส์
  • บริการวางแผนและออกแบบห้องน้ำโดย Ella Jade
  • บริการวางแผนและจัดเตรียมอาหารสำหรับงานเลี้ยง
  • บริการส่งอาหาร
  • บริการไวน์
  • ตะกร้าปิกนิกและกล่องของขวัญตามสั่ง
  • เค้กตามสั่ง
  • น้ำหอมตามสั่ง

วันที่มีลูกค้าคับคั่งที่สุด จะมีลูกค้ามากถึง 300,000 คน จำนวนนี้รวมจำนวนที่สูงที่สุดของลูกค้าจากประเทศที่ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษ มีพนักงานกว่าห้าพันคนจากกว่าห้าสิบประเทศที่ทำงานในแฮร์รอดส์

ในร้าน 'แฮร์รอดส์ 102' ที่อยู่ตรงข้ามกับห้างบนถนนบรอมพ์ตัน ยังมีร้านสัมปทานอีกจำนวนหนึ่ง อย่างเช่น เทิร์นบูลแอนด์อัสเซอร์ เอชเอ็มวี วอเตอร์สโตนส์ คริสปีครีม และ David Clulow Opticians

วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ธนาคารแฮร์รอดส์เริ่มจำหน่ายทองคำแท่งและเหรียญทองคำที่ลูกค้าสามารถหยิบจากชั้นวางได้ทันที และยังมีผลิตภัณฑ์ทองคำน้ำหนักตั้งแต่ 1 กรัมจนถึง 12.5 กิโลกรัม รวมทั้งบริการสำรองทองคำและรับซื้อทองคำคืนที่จะให้บริการในอนาคต[4]

แผนกและประเภทร้านค้าแยกตามชั้น

[แก้]
แผนกเครื่องแต่งกายตกแต่งแบบอียิปต์ หลายส่วนในห้างจะตกแต่งภายในแบบอียิปต์โบราณ

ชั้นใต้ดิน

[แก้]
  • เครื่องแต่งกายบุรุษ
  • ศูนย์อาหาร
  • สินค้าที่ระลึกของแฮร์รอดส์
  • กระเป๋าถือ
  • เครื่องเขียนและของขวัญ
  • บริการห่อของขวัญ
  • บริการบัตรสะสมแต้ม
  • ธนาคารแฮร์รอด
  • บริการหลังขายนาฬิกาข้อมือและเครื่องเพชรพลอย

Ground Floor

[แก้]
  • เครื่องแต่งกายบุรุษ
  • สินค้าเกี่ยวกับความงาม
  • ศูนย์อาหาร
  • สินค้าที่ระลึกของแฮร์รอดส์
  • กระเป๋าและเครื่องประดับ
  • บริการรับฝากของและห้องนิรภัย
  • บริการรับสั่งอาหารและจัดตะกร้าของขวัญ
  • บริการดอกไม้

ชั้นที่หนึ่ง

[แก้]
  • รองเท้าสตรี
  • เครื่องแต่งกายสตรี
  • บริการเลือกซื้อสินค้าอย่างเป็นส่วนตัว


ชั้นที่สอง

[แก้]
  • เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร
  • เครื่องตกแต่งบ้าน
  • เครื่องนอนและเครื่องใช้ในห้องน้ำ
  • เครื่องครัว
  • อุปกรณ์ในการเดินทาง
  • ร้านแฮร์รอด
  • บริการในงานแต่งงานและเฉลิมฉลอง

ชั้นที่สาม

[แก้]
  • เครื่องเรือน
  • ความบันเทิงในบ้าน
  • เครื่องตกแต่งบ้าน
  • บริการรับตกแต่งภายใน

ชั้นที่สี่

[แก้]
  • เครื่องแต่งกายและอุปกรณ์สำหรับเด็ก
  • ของเล่น
  • สัตว์เลี้ยง
  • เครื่องแต่งกายสตรี

ชั้นที่ห้า

[แก้]
  • อุปกรณ์กีฬาและสันทนาการ
  • สินค้าและบริการเกี่ยวกับความงาม
  • บริการด้านการเงิน
  • บริการบัตรสะสมแต้ม
  • เสื้อกันกระสุน

คำวิจารณ์

[แก้]

แฮร์รอดส์และโมฮัมเหม็ด อัล ฟาเยด ถูกวิจารณ์จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ขนสัตว์แท้ และเกิดการประท้วงในกรณีนี้เป็นประจำที่ด้านนอกห้าง[5] แฮร์รอดส์เป็นห้างสรรพสินค้าเพียงแห่งเดียวในสหราชอาณาจักรที่ยังคงจำหน่ายผลิตภัณฑ์ขนสัตว์[6] ใน พ.ศ. 2547 แฮร์รอดส์ถูกโจมตีจากชุมชนฮินดูในกรณีจำหน่ายชุดชั้นในสตรีที่มีภาพเทพีของเอเชียใต้ ซึ่งชุดชั้นในนี้ทางห้างได้เก็บออกและขอโทษอย่างเป็นทางการ[7]

งูเห่าอียิปต์

[แก้]

เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2545 แฮร์รอดส์ได้เช่างูเห่าอียิปต์หนึ่งตัวมาใช้รักษาความปลอดภัยของรองเท้าประดับทับทิม แซฟไฟร์ และเพชร ที่ออกแบบโดย Rene Caovilla มูลค่า 62,000 ปอนด์สเตอร์ลิง ที่จัดแสดงอยู่ที่แผนกรองเท้า[8]

อนุสรณ์

[แก้]
"เหยื่อผู้บริสุทธิ์" อนุสรณ์แห่งที่สองในแฮร์รอดส์

หลังจากไดอาน่า เจ้าหญิงแห่งเวลส์ สิ้นพระชนม์พร้อมกับโดดี ฟาเยด บุตรชายของโมฮัมเหม็ด อัล ฟาเยด ทางห้างได้สร้างอนุสรณ์ภายในห้างสองแห่งเพื่อรำลึกถึงบุคคลทั้งสองตามความต้องการของอัล ฟาเยด แห่งแรกเปิดเมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2541 ประกอบด้วยภาพถ่ายของทั้งสองอยู่ด้านหลังแท่นรูปพีระมิดที่ตั้งแก้วไวน์ที่ยังมีคราบลิปสติกจากพระกระยาหารค่ำมื้อสุดท้ายของเจ้าหญิงไดอาน่า และแหวนที่มีคำบรรยายว่าเป็นแหวนหมั้นที่โดดีซื้อก่อนวันที่เสียชีวิต[9]

อนุสรณ์แห่งที่สองเปิดเมื่อ พ.ศ. 2548 ตั้งอยู่ที่บันไดเลื่อนอียิปต์ที่ประตูสาม มีชื่อว่า "เหยื่อผู้บริสุทธิ์" เป็นรูปหล่อทองสัมฤทธิ์ของบุคคลทั้งสองในท่วงท่าเต้นรำบนชายหาดใต้ปีกของนกอัลบาทรอส ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สื่อถึง "จิตวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์"[10] รูปหล่อนี้สร้างขึ้นโดยบิลล์ มิทเชลล์ วัย 80 ปี ผู้เป็นเพื่อนสนิทกับอัล ฟาเยด และเป็นที่ปรึกษาด้านการออกแบบศิลป์ให้แก่แฮร์รอดส์มานาน 40 ปี อัล ฟาเยด กล่าวว่า เขาต้องการให้จิตวิญญาณของบุคคลทั้งสองยังคงมีชีวิตผ่านทางรูปหล่อนี้[11]

หลังการเสียชีวิตของไมเคิล แจ๊คสัน อัล ฟาเยด ประกาศว่า ได้มีการหารือถึงแผนการสร้างอนุสรณ์สำหรับศิลปินผู้ล่วงลับแล้ว[12]

ดูเพิ่ม

[แก้]
  • Chris Bennett and Colin Cameron (2000-02-07). Behind the Scenes at Harrods. Andre Deutsch. ISBN 0-233-99617-6.
  • Tim Dale (November 1986). Harrods: The Store and the Legend. Pan. ISBN 0-330-29800-3.

อ้างอิง

[แก้]

หมายเหตุ:

  1. Clegg, Alicia (13 December 2005). "Hot Shops: Retail Revamps". Businessweek.com. สืบค้นเมื่อ 2009-06-26.
  2. "The First Moving Staircase in England." The Drapers' Record, 19 Nov. 1898: 465.
  3. ขายห้างแฮร์รอดส์ให้กับบริษัทกาตาร์[ลิงก์เสีย]
  4. "Harrods Starts Selling Gold Bars". The London Insider. 16 October 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-07-01. สืบค้นเมื่อ 2009-10-16.
  5. "Harrods fur protests". Veggies.org.uk. 27 June 2009. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-24. สืบค้นเมื่อ 26 June 2009.
  6. "The Coalition to Abolish the Fur Trade". Caft.org.uk. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-06-20. สืบค้นเมื่อ 2009-06-26.
  7. "Harrods apology over Hindu bikinis". BBC.org.uk. สืบค้นเมื่อ 2004-06-09.
  8. "London's Harrods hires cobra to guard £62,000 shoes". Rawstory.com. 10 September 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-11. สืบค้นเมื่อ 2009-06-26.
  9. Rick Steves, Getting Up To Snuff In London, /www.ricksteves.com.
  10. Harrods unveils Diana, Dodi statue เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, CNN.com, 1 September 2005.
  11. Diana bronze unveiled at Harrods BBC 1 September 2005
  12. "Michael Jackson memorial statue planned for Harrods, says Mohamed Fayed". The Telegraph. 29 June 2009. สืบค้นเมื่อ 2009-06-26.

อ้างอิง:

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]