ฟรีเมสัน
องค์กรฟรีเมสัน (อังกฤษ: Freemasonry) เป็นองค์กรภราดรภาพที่มีที่มาของเบื้องหลังอันลึกลับตั้งแต่ราวปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 จนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 องค์กรฟรีเมสันในปัจจุบันมีด้วยกันหลายรูปหลายแบบในประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยมีสมาชิกประมาณ 5 ล้านคนที่รวมทั้งเกือบ 2 ล้านคนในสหรัฐอเมริกา และราว 480,000 คนในอังกฤษ, สกอตแลนด์ และ ไอร์แลนด์[1][2] แต่ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดองค์กรฟรีเมสันจะถือปรัชญาจริยธรรม และอภิปรัชญาเดียวกันที่ในเกือบทุกกรณีก็จะเป็นการประกาศธรรมนูญของความเชื่อใน “ผู้เหนือสิ่งทั้งปวง” (Supreme Being)[3]
องค์กรฟรีเมสันจัดระบบบริหารเป็นหน่วยที่เรียกว่า “แกรนด์ลอดจ์” (Grand Lodges) หรือ “แกรนด์โอเรียนท์” (Grand Orients) แต่ละหน่วยก็จะมีอำนาจบริหารเครือข่ายของตนเอง ที่ประกอบด้วยหน่วยย่อยหรือ “Constituent Lodges” แกรนด์ลอดจ์บ่งตนเองระหว่างกันได้โดยกระบวนการที่เรียกว่า “บัญญัติเมสัน” (Masonic Landmarks) และ “ระเบียบเมสัน” (Regular Masonic jurisdictions) นอกจากนั้นก็ยังมี “องค์กรเมสันย่อย” (Masonic bodies) ที่มีความสัมพันธ์กันองค์กรหลักแต่มีระบบการบริหารของตนเอง
องค์กรฟรีเมสันใช้อุปลักษณ์ของเครื่องมือช่างหินและวิหารแห่งโซโลมอนที่ทั้งสมาชิกขององค์กรและผู้วิพากษ์กล่าวว่าเป็น “ระบบของจริยธรรมที่พรางอยู่เบื้องหลังอุปมานิทัศน์ ที่เผยออกมาในรูปแบบของสัญลักษณ์”[4][5]
องค์กรฟรีเมสัน เป็นองค์กรภราดรภาพ ที่มีประวัติความเป็นมายาวนานย้อนไปถึงต้นกำเนิดคือ สมาคมวิชาชีพของพวกช่างหิน ในช่วงปลายศตวรรษที่ 14 ที่มีหน้าที่คอยควบคุมดูแลมาตรฐานฝีมือการทำงานของช่างหิน และเป็นองค์กรกลางที่คอยประสานงาน กับผู้ปกครอง และนายจ้างของพวกเขา ระดับขั้นของฟรีเมสัน แบ่งออกเป็นสามระดับโดยสมาคมวิชาชีพช่างหิน (mason guild) ในยุคกลางของยุโรป ตามฝีมือโดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้ 1. ช่างฝึกหัด (Entered Apprentice) 2. ช่างฝีมือ (Journeyman or fellow of craft ปัจจุบันเรียกว่า Fellowcraft) เป็นช่างที่ผ่านการฝึก และได้รับการพิสูจน์ว่ามีฝีมือพอจะได้รับใบแสดงความสามารถและเดินทางไปทำงานในที่อื่นๆได้โดยอิสระ คล้ายๆกับใบรับรองของผู้ประกอบวิชาชีพต่างๆ ในปัจจุบัน) และ ระดับที่ 3. นายช่าง (Master Mason) เป็นผู้ที่มีฝีมือโดดเด่น และได้รับเลือกจากสมาชิกสมาคมให้เป็นผู้นำ ในปัจจุบันองค์กรฟรีเมสัน ที่เราเรียกว่า Blue Lodge ซึ่งเป็นองค์กรฐานรากของฟรีเมสัน เป็นผู้แต่งตั้งระดับเหล่านี้ให้กับสมาชิก นอกจากนี้ยังมี ระดับเพิ่มเติมไปอีกหลายระดับ แตกต่างกันไปตาม พื้นที่ปกครองของ Grand Lodge ต่างๆ โดยระดับเพิ่มเติมนี้มักจะตั้งองค์กรของตัวเองควบคุมขึ้นมาโดยเฉพาะ
โดยพื้นฐานแล้ว หน่วยที่เล็กที่สุดของฟรีเมสัน คือ สภาฟรีเมสัน หรือเรียกว่าลอดจ์ (Lodge) โดยจะถูกกำกับดูแลโดย สภาฟรีเมสันระดับภูมิภาค หรือประเทศ หรือเรียกว่า แกรนด์ลอดจ์ หรือ แกรนด์ โอเรียนท์ (Grand Lodge or Grand Orient) โดยมาก แบ่งพื้นที่เขตการปกครองเป็น ประเทศ จังหวัด แคว้น หรือมลรัฐ ยกตัวอย่างเช่นใน สหรัฐอเมริกา แบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็นมลรัฐ
ฟรีเมสันไม่มีองค์กรกลางระดับนานาชาติที่เข้ามาควบคุมหรือเป็นตัวแทนของฟรีเมสันทั้งหมด โดยแต่ละแกรนด์ลอดจ์มีอิสระที่จะกำหนดข้อกำหนดกฎบัตรของตนเอง และมีสิทธิ์ที่จะรับรองการมีอยู่ของแกรนด์ลอดจ์ อื่นๆ โดยอิสระ
ในปัจจุบันองค์กรฟรีเมสัน มีอยู่สองรูปแบบ ด้วยกัน คือ องค์กรฟรีเมสันแบบปกติ (Regular Freemason) เป็นองค์กรฟรีเมสันที่เมื่อมีการประกอบพิธีการประชุมของสภาฟรีเมมสัน ต้องเปิดธรรมบัญญัติอันศํกดิ์สิทธิ์ (Volume of Sacred Law) คือ คัมภีร์ทางศาสนา กลางห้องประชุมเสมออีกทั้งทุกคนที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกต้องเชื่อในสิ่งที่ดำรงอยู่สูงสุด (นับถือศาสนา) ไม่รับสมาชิกผู้หญิง และการพูดคุยถกเถียงกันใน เรื่องการเมืองและศาสนาในที่ประชุมสภาฟรีเมสันเป็นเรื่องต้องห้าม อีกรูปแบบหนึ่งคือ องค์กรฟรีเมสันแบบภาคพื้นทวีป(ยุโรป) (Continental Freemason) หรือเรียกกันว่า ฟรีเมสันแบบเสรีนิยม โดยสภาฟรีเมสันที่เป็นฟรีเมสันแบบเสรีนิยมจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบบ้างส่วน ที่เป็นหลักยึดถือขององค์กรฟรีเมสันแบบปกติ เช่นการรับผู้หญิงเข้าเป็นสมาชิก ยอมรับผู้ไม่นับถือศาสนาเข้าเป็นสมาชิก และบางที่ก็ อนุญาตให้สามารถพูดคุยเรื่อง ศาสนา และการเมืองในสภาฟรีเมสันได้ เป็นต้น โดยองค์กรฟรีเมสันลักษณะนี้เกิดขึ้นในภาคพื้นยุโรป คือประเทศฝรั่งเศส
สภาฟรีเมสันแรกในประเทศไทยตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ.1911/พ.ศ.2454 คือ สภาเซนต์จอห์น ลำดับทะเบียน 1072 ตามธรรมนูญสก็อตแลนด์ (Lodge Saint John No.1072 S.C.) สังกัด Grand Lodge of Scotland (GLoS)
สภาฟรีเมสันตามธรรมนูญไอร์แลนด์แห่งแรกในประเทศไทยตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1995/พ.ศ.2538 คือ สภามรกต ลำดับทะเบียน 945 ตามธรรมนูญไอร์แลนด์ (Morakot Lodge No.945 I.C.) สังกัด Grand Lodge of Ireland
สภาฟรีเมสันตามธรรมนูญอังกฤษแห่งแรกในประเทศไทยตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 2001/พ.ศ.2544 คือ สภาจุฬา ลำดับทะเบียน 9745 ตามธรรมนูญอังกฤษ (Chula Lodge No.9745 E.C.) สังกัด United Grand Lodge of England (UGLE)
และ สภาฟรีเมสันแรกในประเทศไทยที่ใช้ภาษาไทยในการประชุมทั้งหมดก่อตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ.2006/พ.ศ.2549 คือ สภารัตนโกสินทร์ ลำดับทะเบียน 1833 ตามธรรมนูญสก็อตประเทศ (Lodge Ratanakosin No. 1833 S.C.) สังกัด Grand Lodge of Scotland (GLoS)
สภาฟรีเมสัน
[แก้]สภาฟรีเมสัน (Masonic Lodges) เป็นหน่วยพื้นฐานที่สุดขององค์กรฟรีเมสัน สภาฟรีเมสันประชุมกันสม่ำเสมอ เพื่อจัดการกิจการต่างๆเช่นเดียวกับองค์กรอื่นๆ เช่น การจ่ายค่าน้ำค่าไฟ การจัดงานสังสรรค์ การจัดงานการกุศล การลงคะแนนเพื่อรับสมาชิกใหม่เข้าเป็นสมาชิก เป็นต้น นอกเหนือจากการประชุมเพื่อจัดการกิจการทั่วไปของสภาฯแล้วนั้น ในการประชุมบางครั้งยังมีการประกอบพิธีการของฟรีเมสัน คือ พิธีการยกระดับขั้นของสมาชิก หรือ การบรรยายความรู้เกี่ยวกับฟรีเมสัน เช่น ประวัติศาสตร์ หรือ รายละเอียดเกี่ยวกับบทเรียนของฟรีเมสัน และเมื่อประชุมกันเสร็จแล้ว มักจะมีการสังสรรค์จัดเลี้ยงอย่างเป็นทางการเสมอ ซึ่งเรียกกันในภาษาอังกฤษว่า Festive Board หรือในธรรมเนียมตามธรรมนูญสก็อตแลนด์ จะเรียกว่า Harmony ซึ่งจะมีการร้องเพลง และดื่มเพื่อให้เกียรติตามโอกาส พิธีการของฟรีเมสันมีมากมายผู้สมัคร (Candidate) เข้าร่วมเป็นฟรีเมสัน จะต้องผ่านพิธีการขั้นแรกคือพิธีสถาปนาเข้าสู่ฟรีเมสัน (initiated) ขึ้นเป็นระดับช่างฝึกหัด (Entered Apprentice) ซึ่งเป็นระดับแรก ต่อมาจะเข้าพิธีสถาปนาผ่านระดับ (passed) ขึ้นเป็นระดับช่างฝีมือ (Fellowcraft) ซึ่งเป็นระดับที่สอง และเข้าพิธีสถาปนายกขึ้น (Raised) ขึ้นเป็นระดับนายช่าง (Master Mason) ซึ่งเป็นระดับสาม และถือว่าเป็นระดับอันทรงเกียรติและสูงที่สุดที่ฟรีเมสันคนหนึ่งจะได้รับ ในพิธีการต่างๆข้างต้น ผู้สมัครจะได้เรียนรู้ และรับมอบรหัสผ่าน สัญญาณ และรหัสสัมผัสมือ ซึ่งแตกต่างไปในระดับต่างๆ นอกจากนี้ยังมีพิธีการที่จะจัดขึ้นเป็นประจำทุกๆปี เรียกว่าพิธีการสถาปนาประธาน และแต่งตั้งเจ้าหน้าที่สภาฟรีเมสัน ซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่ง 12 เดือน ส่วนมากแต่ละสภาฯ จะมีการจัดงานสังสรรค์ที่ไม่มีพิธีการเมสัน เพื่อเปิดโอกาสให้ชาวเมสันพาคู่ครองของตัวเองมาเข้าร่วมงานได้ด้วย ซึ่งส่วนมากจะเป็นงานที่จัดเพื่อวัตถุประสงค์ระดมทุนเพี่อการกุศล อันเป็นหลักการหนึ่งที่ชาวฟรีเมสันยึดถือเป็นหลัก ซึ่งการจัดงานในลักษณะนี้มีทั้งในระดับ สภาฯไปจนถึงระดับแกรนด์ลอดจ์ โดยการกุศลที่องค์กรฟรีเมสันมักจะบริจาค มีตั้งแต่การบริจาคเพื่อการศึกษา ไปจนถึงเพื่อการบรรเทาสาธารณภัย สภาฯระดับสามัญเหล่านี้ ถือเป็นกระดูกสันหลังขององค์กรฟรีเมสัน ซึ่งผู้ที่จะเข้าเป็นสมาชิกฟรีเมสันก็จะต้องเข้าเป็นสมาชิกในสภาฯเหล่านี้นี่เอง นอกจากนี้ยังมีสภาฯที่ตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์พิเศษอื่นๆอีก เช่น เพื่อการวิจัยศึกษาทางเมสัน สำหรับผู้ที่ได้ยกขึ้นเป็นระดับ นายช่าง (Master Mason) สามารถที่จะเข้าร่วมสภาฯต่างๆเหล่านี้ และเดินทางเพื่อศึกษาค้นคว้า หรือพบปะสังสรรค์กับเพื่อนชาวฟรีเมสันได้ทั่วโลก และสามารถเข้าร่วมกับฟรีเมสันระดับเพิ่มเติมอื่นๆ ซึ่งมีองค์กรที่กำกับดูแลแยกออกไปต่างหากจาก Blue Lodge ได้อีกด้วย ธรรมเนียมที่มีอย่างยาวนานของฟรีเมสัน ก็คือ เขตการปกครองเมสันแต่ละที่นั้นมีอิสระต่อกัน โดยในแต่ละเขตก็มีวิธีปฏิบัติที่แตกต่างกัน เช่น บทพิธีการ ระเบียบวิธีการ จำนวนขั้นต่ำของสมาชิกในที่ประชุม แผนผังห้องประชุม เป็นต้น เจ้าหน้าที่ผู้มีตำแหน่งในสภาฯที่ได้รับเลือกตั้ง หรือแต่งตั้ง มีวาระดำรงตำแหน่ง 1 ปี ทุกๆลอดจ์จะต้องมี ประธานสภา (Master) 1 คน และมีผู้ปกครอง (Wardens) 2 คน เลขานุการ เหรัญญิก และตำแหน่งผู้พิทักษ์ (Tyler) หรือผู้ระวังภัยภายนอกซึ่งมีหน้าที่เฝ้าประตูอยู่ภายนอกห้องประชุมเพื่อระวังภัยตลอดเวลาที่ประชุม 1 คน จึงถือได้ว่าเป็นการประชุมสภาฯที่สมบูรณ์ และสามารถเปิดประชุมได้ ส่วนตำแหน่งอื่นๆแตกต่างกันไปตามเขตการปกครองต่างๆที่มีธรรมเนียมประเพณีเป็นของตัวเอง แต่ละสภาฯที่ยังดำเนินการอยู่ จะยึดถือหลักการที่มีมาแต่โบราณกาลที่รู้จักกันว่า “บัญญัติเมสัน” (Masonic Landmarks) ซึ่งหลักการนี้ไม่สามารถถูกลบล้าง และเป็นที่ยอมรับกันในระดับสากล
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- Freemasonry เก็บถาวร 2009-04-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน article from the 1911 (11th Ed.) Encyclopedia Britannica.
- Web of Hiram เก็บถาวร 2007-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน at the University of Bradford. A database of donated Masonic material.
- Masonic Books Online of the St. Louis Scottish Rite.
- Masonic Books Online of the Pietre-Stones Review of Freemasonry
- The Constitutions of the Free-Masons (1734), James Anderson, Benjamin Franklin, Paul Royster. Hosted by the Libraries at the University of Nebraska-Lincoln
- The Mysteries of Free Masonry, by William Morgan, from Project Gutenberg
- A Legislative Investigation Into Masonry (1832) on the Internet Archive, OCLC 1560509
- The United Grand Lodge of England's Library and Museum of Freemasonry เก็บถาวร 2012-12-24 ที่ archive.today, London
- The Centre for Research into Freemasonry เก็บถาวร 2010-02-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน at the University of Sheffield, UK
- A Page About Freemasonry เก็บถาวร 2011-09-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน the world's oldest Masonic website.
- Articles on Judaism and Freemasonry
- [1] ไทยฟรีเมสัน freemason in Thailland
- Chula Lodge 9745 E.C. was Thailand’s first UGLE, English Constitution Freemasons’ Masonic Lodge
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Hodapp, Christopher. Freemasons for Dummies. Indianapolis: Wiley, 2005. p. 52.
- ↑ "Frequently Asked Questions". United Grand Lodge of England. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-03-18. สืบค้นเมื่อ 2009-09-28.
- ↑ Griffin, Mark (2002). "Freemasonry and Religion". United Grand Lodge of England. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2004-01-30. สืบค้นเมื่อ 2007-05-08.
- ↑ Gruber, Hermann (1910-10-01). "Masonry (Freemasonry)". ใน Remy Lafort, Censor (บ.ก.). The Catholic encyclopedia: an international work of reference on the constitution, doctrine, discipline, and history of the Catholic Church. Vol. IX. New York: Robert Appleton Company. OCLC 1017058. สืบค้นเมื่อ 2009-09-28.
- ↑ Masonic Service Association - Short Talk Bulletin เก็บถาวร 2012-12-05 ที่ archive.today as reprinted on the website of the Grand Lodge of Louisiana.