ข้ามไปเนื้อหา

ไฟนอลแฟนตาซี VII

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Final Fantasy VII)
ไฟนอลแฟนตาซี VII
ผู้พัฒนาสแควร์
ผู้จัดจำหน่าย
กำกับโยะชิโนะริ คิตะเซะ
อำนวยการผลิตฮิโระโนะบุ ซะกะงุชิ
โปรแกรมเมอร์เค็น นะริตะ
ศิลปินยุซุเกะ นะโอะระ
เขียนบทคะซุชิเงะ โนะจิมะ
โยะชิโนะริ คะตะเซะ
แต่งเพลงโนะบุโอะ อุเอะมะสึ
ชุดไฟนอลแฟนตาซี
เครื่องเล่น
วางจำหน่าย
31 มกราคม 1997
    • เพลย์สเตชัน
      • JP: 31 มกราคม 1997
      • NA: 7 กันยายน 1997
      • EU: 17 พฤศจิกายน 1997
      นานาชาติ
      • JP: 2 ตุลาคม 1997
      วินโดวส์
      • NA/EU: 25 มิถุนายน 1998
      • JP: 16 พฤษภาคม 2013
      ไอโอเอส
      • ทั่วโลก: 19 สิงหาคม 2015
      เพลย์สเตชัน 4
      • ทั่วโลก: 5 ธันวาคม 2015
      แอนดรอยด์
      • ทั่วโลก: 7 กรกฎาคม 2016
      สวิตซ์, เอกซ์บอกซ์วัน
      • ทั่วโลก: 26 มีนาคม 2019
แนวเกมเล่นตามบทบาท
รูปแบบผู้เล่นคนเดียว

ไฟนอลแฟนตาซี VII (ญี่ปุ่น: ファイナルファンタジーVII; อังกฤษ: Final Fantasy VII) เป็นเกมแนว RPG สร้างขึ้นโดยบริษัท สแควร์อีนิกซ์ (Square-Enix) (ชื่อเดิม บริษัทสแควร์) ในปี พ.ศ. 2540 ถือเป็นเกมภาคแรกในชุด ไฟนอลแฟนตาซี สำหรับเล่นในเครื่องเกม เพลย์สเตชัน ของ โซนี่ และ พีซี รวมทั้งได้มีการเชิญ โนบุโอะ อุเอมัตสึ มาแต่งเพลงอีกด้วย นอกจากนี้ ยังเป็นภาคแรกที่ทำในรูปแบบกราฟิกสามมิติ ทั้งตัวละครและฉาก จากการสำรวจที่ผ่านมา ไฟนอลแฟนตาซีภาคนี้ถือเป็นภาคที่ถูกยกให้เป็นภาคที่ขายดีที่สุดในตระกูล ไฟนอลแฟนตาซี ซึ่งขายได้มากกว่า 9.72 ล้านชุดทั่วโลก (สำรวจเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2549)

เนื้อเรื่องของเกมเป็นเรื่องเกี่ยวกับการผจญภัยของกลุ่มๆหนึ่ง ทำการต่อสู้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีชื่อว่า "ชินระ คัมพานี" โดยบริษัทนี้ได้ทำการดูดพลังชีวิตของโลกเพื่อเอาไปแปรรูปเป็นแหล่งพลังงาน ดังนั้นการปกปักษ์รักษาโลกโดยกลุ่มคนกลุ่มนี้จึงบังเกิดขึ้น

ลักษณะการเล่น

[แก้]
ไฟล์:FFVIIfieldmapexample.jpg
ลักษณะการเล่นภายในเมือง จะเป็นการนำตัวละครสามมิติเดินสำรวจฉากเมืองที่เป็นภาพจำลองสองมิติ

การเล่นในภาคนี้ยังคงเป็นการเดินบนแผนที่โดยประกอบไปด้วยเมืองต่างๆ เหมือนๆกับภาคที่ผ่านมาของตระกูลไฟนอลแฟนตาซี ภาคนี้ประกอบไปด้วยลักษณะการเล่นขั้นพื้นฐานอยู่สามแบบ: แผนที่โลก, ภายในเมืองหรือดันเจี้ยน, ฉากต่อสู้

  • แผนที่โลก จะเป็นสามมิติโดยจะมีแผนที่แบบสองมิติแสดงอยู่ควบคู่ไปด้วยกัน โดยตัวละครจะเดินทางด้วยแผนที่โลกสามมิตินี้ ผ่านไปยังที่ต่างๆมากมาย เช่น เมือง, ถ้ำ เป็นต้น ส่วนการเดินทางอาจใช้วิธีเดินปกติ หรือใช้พาหนะเช่น ใช้โจโคโบะ, ใช้เรือเหาะ
  • ในเมืองหรือดันเจี้ยน จะเป็นภาพแบบพรีเรนเดอร์ หรือภาพสองมิติเป็นฉากหลัง และตัวละครจะเป็นสามมิติ
  • ฉากต่อสู้ จะเป็นสามมิติที่มีฉากหลังและตัวละครทางฝ่ายผู้เล่นและศัตรู โดยฉากนี้จะเป็นส่วนที่ผู้เล่นสามารถระบุคำสั่งต่างๆผ่านทางรายการคำสั่ง เพื่อทำการต่อสู้กับศัตรูที่ถูกควบคุมโดยคอมพิวเตอร์

ตอนช่วงแรกๆของเกม ตัวละครจะถูกจำกัดการเดินทางอยู่ภายในเมืองเมืองหนึ่ง แต่เมื่อเล่นไปได้ระยะหนึ่งแล้วผู้เล่นจะสามารถพาตัวละครไปยังที่ใหม่ๆได้ โดยลักษณะเกมจะปล่อยให้ผู้เล่นสำรวจที่ต่างๆได้อย่างอิสระ แต่จะมีเนื้อเรื่องปรากฏเป็นระยะหากผู้เล่นไปยังสถานที่ที่เป็นจุดของเนื้อเรื่อง และผู้เล่นต้องทำการผ่านเนื้อเรื่องเหล่านี้เพื่อดำเนินเกมต่อไป เนื้อเรื่องที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นการพูดกันของตัวละครหรือจะเป็นฉากดำเนินเนื้อเรื่องก็ได้

การต่อสู้

[แก้]
ไฟล์:FFVIIbattlexample.jpg
หนึ่งในฉากต่อสู้ภายในเกม

ในการต่อสู้ในเกมจะใช้ระบบผลัดกันรุกผลัดกันรับ โดยมีระบบ Active Time Battle (ATB) ดังเช่นภาคก่อนๆ เพื่อหาเวลาของตัวละครที่จะสามารถใส่คำสั่งได้ก่อน จุดหนึ่งที่แตกต่างจากภาคก่อนๆของไฟนอลแฟนตาซีคือ ภาคนี้จะอนุญาตให้มีตัวละครแค่สามตัวอยู่ในปาร์ตี้เพื่อใช้ตอนต่อสู้หรือตอนเดินทาง ภาคก่อนๆจะมีได้สี่ถึงห้าตัวละครเลยทีเดียว

ระบบสกิลหรือความสามารถจะถูกกำหนดด้วยมาทีเรีย (Materia) ซึ่งเป็นลูกแก้วเวทมนตร์ โดยที่เมื่อนำมาทีเรียไปใส่ในช่องของอาวุธหรือเสื้อเกราะแล้ว จะทำให้ตัวละครสามารถร่ายเวทมนตร์และความสามารถพิเศษอื่นๆ เช่น เรียกมนต์อสูร, สะท้อนการโจมตี เป็นต้น ความพิเศษของการใช้มาทีเรียอีกอย่างหนึ่งคือ การจับคู่มาทีเรียเพื่อเพิ่มความสามารถ เช่น จับคู่มาทีเรียเวทมนตร์ไฟกับมาทีเรียโจมตีกลุ่ม จะได้ผลลัพธ์คือ ความสามารถใช้เวทมนตร์ไฟโจมตีศัตรูได้ทั้งกลุ่ม เป็นต้น

รูปแบบความสามารถพิเศษหนึ่งของตัวละครที่คุณเท็ตสึยะ โนมูระพัฒนาจากไฟนอลแฟนตาซี VIก็คือ ลิมิท เบรก (Limit Break) โดยที่ทุกๆตัวละครที่เราบังคับได้ในเกมจะมีมาตรระดับอยู่อันหนึ่งซึ่งค่าในมาตรนี้จะเพิ่มขึ้นเมื่อถูกโจมตีหรือได้รับความเสียหายจากศัตรู และเมื่อค่าของมาตรนี้เต็ม ตัวละครนั้นๆจะสามารถใช้ ลิมิท เบรก ได้ ซึ่งมันก็คือความสามารถพิเศษชนิดหนึ่งที่อาจจะใช้โจมตีศัตรูด้วยความเสียหายที่มากกว่าการโจมตีปกติ หรือว่าอาจจะเป็นความสามารถพิเศษที่ใช้รักษาเพื่อนร่วมทีมของตัวละครนั้นๆก็ได้

คุณเท็ตสึยะ โนมูระยังได้ตัดสินใจที่จะให้มีการร่ายเวทมนตร์เรียกมนต์อสูรเข้ามาในเกม ซึ่งความคิดนี้ได้รับเสียงตอบรับที่ดีมากจากกลุ่มแฟนๆของไฟนอลแฟนตาซี และความคิดนี้ยังได้ถูกใช้ในการพัฒนาเกมภาคต่อๆมาอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม แฟนๆบางคนก็บ่นว่าฉากตอนเรียกมนต์อสูรนี้บางทีก็ค่อนข้างน่าเบื่อเลยทีเดียว อาจจะเป็นเพราะมันนานเกินไป

เค้าโครงของเกม

[แก้]

โครงเรื่อง

[แก้]

โครงเรื่องภาคนี้ก็ถือได้ว่าดำเนินรอยตามไฟนอลแฟนตาซี VI โดยวางเรื่องราวบนโลกที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีไฮเทค ต่างจากภาคหนึ่งถึงภาคห้าในตระกูลไฟนอลแฟนตาซี ภาพรวมของเทคโนโลยีและสังคมในเกมจะออกไปทางนิยายวิทยาศาสตร์แห่งอนาคต โลกของไฟนอลแฟนตาซีภาคนี้มีชื่อว่า "ไกอา" (Gaia) ซึ่งประกอบไปด้วยดินแดนใหญ่ๆสามส่วนด้วยกัน

  • ดินแดนทางตะวันออก เป็นที่ตั้งของเมืองขนาดใหญ่ที่ชื่อ มิดการ์ เมืองนี้ได้ชื่อว่าเป็นเมืองอุตสาหกรรมโดยมี ชินระ คัมพานี (Shin-Ra Company) เป็นศูนย์กลางและเป็นผู้ควบคุมระบบการเมืองของมิดการ์ ในดินแดนนี้ยังมีฐานที่มั่นทางการทหารหลักของชินระตั้งอยู่ด้วย มีชื่อว่า จูน่อน (Junon) ส่วนที่เหลือในดินแดนนี้จะเป็นฟาร์มโจโคโบะและหมู่บ้านเล็กๆสองสามแห่ง
  • ดินแดนทางตะวันตก ดินแดนนี้เป็นดินแดนที่ผู้เล่นจะใช้เวลาในการเล่นมากกว่าดินแดนอื่นๆ ดินแดนนี้ประกอบไปด้วย สวนพักผ่อน, รีสอร์ทริมทะเล, เมืองที่ตั้งบนที่ราบสูงที่มีชื่อว่า "คอสโม แคนยอน" (Cosmo Canyon) ซึ่งชาวพื้นเมืองของเมืองนี้มีความเชื่อมั่นในการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขกับธรรมชาติและสามารถอุทิศทุกอย่างเพื่อให้ความเป็นอยู่ของธรรมชาติดีขึ้น อีกทั้งยังมีการสอนปรัชญาที่มีชื่อว่า "การศึกษาชีวิตแห่งดวงดาว" (The Study of Planet Life) ให้กับผู้สนใจ โดยหลักของปรัชญานี้สอนว่า พึงมีสติรับรู้และให้ความเคารพสูงสุดแก่ธรรมชาติ และดวงดาวมีชีวิตแห่งตนเอง
  • ดินแดนทางเหนือ เป็นดินแดนที่ปกคลุมไปด้วยน้ำแข็งและหิมะ เป็นที่ตั้งของสถานที่สองสามแห่งที่เกี่ยวกับการขุดสำรวจ หรือการค้นคว้าวิจัย และยังมีรีสอร์ทสำหรับเล่นสกีอีกด้วย ส่วนอื่นๆที่ตั้งอยู่ที่ดินแดนนี้ก็คือสถานที่ใต้น้ำซึ่งสามารถมาได้โดยการใช้เรือดำน้ำ


ชินระ คัมพานี แรกเริ่มเป็นบริษัทเล็กๆที่ทำการค้นคว้าพัฒนาอาวุธ แต่ภายในหนึ่งชั่วอายุคน ชินระก็ได้กลายเป็นผู้มีอำนาจทางการเมืองระดับโลกเพราะว่าการค้นพบพลังงานมาโกะ (mako energy) ซึ่งเป็นพลังงานที่ได้มาจากการสกัดสสารสีเขียวที่เกิดขึ้นภายในแกนของดวงดาว (โลก) การนำมาโกะนี้มาใช้งานนั้นสามารถทำได้โดยใช้เตาปฏิกรณ์มาโกะ (mako reactors) ทางบริษัทได้ค้นพบหลังจากนั้นอีกไม่นานว่า มาโกะสามารถนำมาใช้งานได้สองอย่างคือ สร้างพลังงาน และสร้างวัตถุทรงกลมขนาดเล็กที่เรียกว่า "มาทีเรีย" (materia) ซึ่งทำให้มนุษย์มีพลังเวทมนตร์ และยิ่งไปกว่านั้น ชินระได้เรียนรู้อีกว่า ถ้านำพลังงานมาโกะมาถ่ายทอดเข้าไปโดยตรงในคนที่มีร่างกายแข็งแรงและสมบูรณ์ จะทำให้คนๆนั้นได้ครอบครองความสามารถเหนือมนุษย์อย่างถาวร

จากการที่ชินระเป็นผู้ครอบครองพลังงานมาโกะและการสร้างมาทีเรีย ทำให้ชินระสามารถผลิตนักรบเหนือมนุษย์ขึ้นมาเรียกว่า "โซลเจอร์" (SOLDIER) ต่อมาได้มีการส่งกองกำลังทหารนี้ออกมาเพื่อยุติความขัดแย้งระดับโลกที่ยืดเยื้อมากกว่าสองสามปีได้อย่างรวดเร็ว และสภาพสังคมหลังสงครามนั้น ทำให้ชินระซึ่งมีทั้งพลังงานมาโกะและมารีเรีย ได้เป็นผู้ครอบครองโลกนี้ได้อย่างรวดเร็ว

เมืองเล็กๆที่อยู่ภายใต้การปกครองของชินระได้ถูกรวมกันเป็นเมืองเมืองเดียว เมืองใหม่นี้มีชื่อว่า มิดการ์ (Midgar) การประเคนความสุขต่างๆให้กับผู้เป็นใหญ่ของชินระนี้เอง ทำให้ชินระละเลยการเอาใจใส่ต่อประชาชนที่มีฐานะไม่สู้ดีของเมืองมิดการ์ ชินระได้มีการสร้างตึกสูงเสียดฟ้าเพื่อเป็นฐานทำการใหญ่และสร้างแผ่นโลหะขนาดยักษ์ปิดเหนือเมืองด้านล่างเพื่อให้เป็นที่ทำงานของคนผู้มีฐานะ ปล่อยให้เมืองด้านล่างหรือที่เรียกว่า สลัม (slums) ถูกบดบังแสงอาทิตย์และท้องฟ้าไปหมด และทำให้อากาศเป็นพิษอีกด้วย เพราะเหตุนี้เอง ผู้คนมากมายที่อาศัยอยู่ในสลัมมีสุขภาพที่ทรุดโทรมลงและพิกลพิการ โดยที่ชินระไม่ใส่ใจนักที่จะช่วยเหลือพวกชาวเมือง

ไฟล์:Midgartechdemoshot.jpg
ภาพตึกทำการใหญ่ของชินระและเตาปฏิกรณ์มาโกะทั้งแปดแห่งรอบๆ

การดำเนินการของชินระเริ่มที่จะพบกับอุปสรรคจากกลุ่มคนที่เชื่อว่าการใช้พลังงานมาโกะนั้นกำลังทำให้แก่นของจิตวิญญาณของโลกหมดไป การเติบโตขึ้นของแก่นจิตวิญญาณถูกเรียกว่า "ไลฟ์สตรีม" (Lifestream)ซึ่งระบุอยู่ในปรัชญาชื่อการศึกษาชีวิตแห่งดวงดาว ในปรัชญานี้ได้กล่าวว่ากระแสพลังงานนี้ไม่ได้เป็นเพียงพลังงานชีวิตของโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งพลังของทุกชีวิตที่อาศัยอยู่บนโลกด้วย เมื่อชีวิตใดๆได้เกิดขึ้นบนโลกนี้ พลังงานงานส่วนหนึ่งจากโลกจะถูกดึงไปเพื่อให้ชีวิตนั้นดำเนินต่อไป เมื่อชีวิตนั้นเติบโตขึ้น ประสบการณ์ต่างๆจะทำให้จิตวิญญาณของชีวิตนั้นเติบโตขึ้นด้วย ต่อมาหากชีวิตนั้นดับลง จิตวิญญาณที่เติบโตและเต็มไปด้วยประสบการณ์ของชีวิตนั้นจะกลับคืนสู่โลก ทำให้ไลฟสตรีมเติบโตขึ้น ดังนั้น ผู้ที่เชื่อหลักคำสอนของปรัชญานี้ได้โต้ตอบชินระว่า การกระทำของชินระที่กำลังทำอยู่คือการดูดพลังงานของโลกให้หมดไปอย่างช้าๆ ผลลัพธ์สุดท้ายจะทำให้ชีวิตทุกชีวิตบนโลกดับสลายลง

หนึ่งในผู้ศรัทธาหลักปรัชญาได้ตัดสินใจว่ามีหนทางเดียวที่จะป้องกันการทำลายโลกของชินระ คือการต่อต้านชินระโดยใช้วิธีรุนแรง โดยมีการรวมกลุ่มและตั้งเป็นองค์กรขึ้นมาชื่อว่า "อะวาลานช์" (AVALANCHE) โดยองค์กรนี้เริ่มที่จะทำสงครามยืดเยื้อกับชินระ มุ่งเน้นไปที่การโจมตีเตาปฏิกรณ์มาโกะและความพยายามที่จะสังหารประธานของชินระด้วย ต่อมา ถึงแม้ว่ากลุ่มอะวาลานช์กลุ่มแรกๆได้ถูกกวาดล้างไปโดยทีมสังหารของชินระที่ชื่อ "เติกส์" (The Turks) แต่ก็ยังมีบุคคลคนหนึ่งของอะวาลานช์ที่ยังเหลืออยู่และมุ่งที่จะสานต่อจุดมุ่งหมายดั้งเดิม บุคคลนั้นชื่อ "บาร์เร็ต วอลเลซ" (Barret Wallace) ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวละครหลักของไฟนอลแฟนตาซีภาคนี้

ตัวละคร

[แก้]

ตัวละครหลัก

[แก้]
คลาวด์ สไตรฟ์
ตัวละครหลักในเกม ชายหนุ่มผู้สูญเสียความทรงจำ ปรากฏตัวในชุดทหารชั้นสูงของ ชินระ คัมพานี เพื่อรับจ้างทำงานบางอย่างให้ผู้ว่าจ้าง ซึ่งทราบภายหลังว่าได้รับการถ่ายทอดความทรงจำของแซ็คลงไป
บาร์เร็ต วอลเลซ
ชายร่างยักษ์ผู้มีมือขวาเป็นปืน ผู้นำกลุ่มต่อต้าน ชินระ คัมพานี ไม่ใช่เพราะเหตุผลในการปกป้องโลก แต่เป็นเพราะความหลังอันโหดร้ายที่ ชินระ คัมพานี เป็นผู้ก่อ
ทีฟา ล็อกฮาร์ท
หญิงสาวผู้รอคอยคำสัญญา ผู้เป็นส่วนหนึ่งในกลุ่ม อะวาลานช์ ที่ต่อต้านและคอยขัดขวางการสร้างเตาปฏิกรณ์พลังงานมาโกะ ของ ชินระ คัมพานี เพื่อดูดพลังงานจากแกนโลกขึ้นมาใช้ เธอเป็นผู้คืนความทรงจำบางส่วนให้กับคลาวด์
แอริธ เกนส์เบอรู
หญิงสาวผู้มีสายเลือดโบราณ ปรากฏตัวในฉากหนึ่งของสลัม ในขณะที่ คลาวด์ กำลังหาทางกลับไปรวมกลุ่มกับบาร์เร็ต เธอมีบทบาทสำคัญในการปกป้องโลกจากความพินาศเนื่องจากการที่ถูกดึงพลังงานมาโกะไปใช้มากจนเกินไป
แซ็ค แฟร์ (Zack Fair)
คนรักของแอริธ เป็นทหารระดับ first class มาจาก Gongaga ได้รับมอบหมายให้ไปตรวจสอบเตาปฏิกรของชินระ คัมพานี ร่วมกับ คลาวด์ ซึ่งในช่วงที่ทำภารกิจได้ช่วยชีวิตคลาวด์ จนตัวเองเสียชีวิตแทน
เรดXIII
สัตว์โบราณที่ถูกจับมาทดลองโดย ชินระ คัมพานี มีความเฉลียวฉลาดและสามารถพูดภาษามนุษย์ได้ ชื่อจริงชื่อว่า นานากิ แต่เขาไม่ใส่ใจว่าใครจะเรียกเขาว่าอย่างเรา(เรดเทอร์ธีนเป็นชื่อที่นักวิทยาศาสตร์ตั้งให้ตามรูปลักษณ์และหมายเลขที่เป็นตัวอย่างทดลอง) ปรากฏตัวครั้งแรกในห้องทดลองอาวุธชีวภาพของ ชินระ คัมพานี หลังจากได้เข้าร่วมกับกลุ่มของคลาวด์ แล้วจึงได้มีโอกาสกลับไปยังบ้านเกิดแก้ปมในจิตใจที่เกี่ยวกับพ่อของเขา หลังจากนั้นก็เลือกที่จะร่วมเดินทางไปถึงที่สุด
ยุฟฟี่ คิซารากิ
เด็กสาวนินจา ผู้ออกมาโดยไม่มีปี่มีขลุ่ย ใช้ชูริเคนขนาดยักษ์เป็นอาวุธ โดยถ้าเดินเรื่องผิดไปแม้แต่นิดเดียวจะไม่ได้เธอเข้ามาร่วมกลุ่มแต่จะโดนขโมยของแล้วก็หายไป บ้านเกิดของเธอเป็นหนึ่งในฉากสำคัญของเกม และถ้าผู้ที่เดินเรื่องไปถึงและอ่านรายละเอียดพอสมควร แล้วจะรู้ว่าการที่เธอเข้ามาร่วมเดินทางนั้น มีเหตุผลอะไร
ซิด ไฮวินด์
ตัวละครอมตะนิรันดร์กาลของเกม โดยในภาคนี้รับบทเป็นชายวัยกลางคนที่มีความสามารถในการขับเคลื่อนทุกอย่างที่คล้ายเครื่องบิน ใช้อาวุธยาวประเภทหอก หรือ ทวนเป็นอาวุธ ปรากฏตัวในเมืองที่ ชินระ คัมพานี เคยสร้างจรวดในการทดลองแต่เนื่องจาก ซิด ผู้ที่เป็นหัวหน้างานทำงานผิดพลาด จึงล้มเลิกโครงการนี้ไป
เคทซี
ตัวละครประหลาดในเกมที่ออกมาเป็นแพ็กเกจคู่ โดยมีแมวนั่งอยู่บนหัวของสัตว์อีกชนิดนึง เป็นสปายที่ ชินระ คัมพานี ส่งมาจับตาดูความเคลื่อนไหวของกลุ่มพระเอก ถ้าใครชอบท่าไม้ตายแปลกๆ ตลกๆ และเสี่ยง ก็อาจจะชอบตัวละครนี้
วินเซนต์ วาเลนไทน์
ชายหนุ่มผู้ที่ถูกชินระคัมพานีนำไปทดลองจนกลายเป็นมือปีศาจ คุณสามารถเลือกได้ว่าจะนำเขามาร่วมในกลุ่มหรือไม่ เขาเป็นอีกผู้นึงที่มีความเกี่ยวข้องเศษเสี้ยวความทรงจำของคลาวด์ แต่เศษเสี้ยวนั้นเป็นสิ่งที่เริ่มต้น และเชื่อมเหตุการณ์สำคัญที่สุดของคลาวด์
เซฟิรอธ (Sephroth)
วีรบุรุษผู้พังทลาย เจ้าของสมญานาม"เทวดาปีกเดียว"ผู้มาพร้อมเรือนผมยาวสีเงินงามอันย้อมไปด้วยไฟแค้นคลั่ง อดีตเป็นทหารมือหนึ่งระดับตำนานในฐานะทหารระดับFirst classที่แข็งแกร่งที่สุดของชินระคัมพานี อีกทั้งยังเคยเป็นชายหนุ่มผู้ได้รับความรักความโด่งดังจากมวลชนด้วยการได้ชื่อว่าเป็นวีรบุรุษของดวงดาว แต่ในช่วงที่สภาพจิตใจของเขากำลังย่ำแย่เขาก็ดันมาล่วงรู้ความลับของชินระคัมพานีที่เกี่ยวกับตัวตนของเขาซึ่งสร้างทั้งความตกใจปนเปกับความสับสนทั้งยังเพิ่มพูนความเจ็บปวดที่เดิมทีก็แย่อยู่แล้วให้กับเขาเป็นอย่างมาก เขาแบกรับความลับนั้นไว้คนเดียวไปสืบหาความจริงของความลับนั้นด้วยตัวเองแต่ความจริงที่เขาเจอนั้นกลับเป็นความจริงที่ก่อให้เกิดไฟแค้น เป็นไฟแค้นที่แผดเผาปีกเทวดาให้ร่วงลงมาสู่นรกความบ้าคลั่ง เป็นความบ้าคลั่งที่มากพอที่จะทำลายตัวตนของชายที่ได้ชื่อว่าเป็นวีรบุรุษของดวงดาวและให้กำเนิดศัตรูตัวฉกาจแสนหฤโหดของดวงดาว ผู้ที่กำความลับของจุดเริ่มต้นและจุดจบแห่งเรื่องราวทั้งหมด

ตัวละครอื่นๆ

[แก้]
  • กลุ่มชินระ
    • เพรสสิเด้นท์ ชินระ ประธานบริษัทของ ชินระ คัมพานี (เพรสสิเด้นท์ ที่ปรากฏในเกมสคือชื่อเจ้าตัวจริงๆ ไม่ใช่ตำแหน่ง)
    • รูฟัส ชินระ อดีตรองประธานบริษัท หลังจากที่ประธานชินระตายไป เขาก็ขึ้นรับตำแหน่งแทนอย่างไม่สะทกสะท้าน
    • ไฮเดกเกอร์ หัวหน้าฝ่ายกลาโหมของชินระ
    • รีฟ หัวหน้าโยธาธิการและผังเมืองของชินระ
    • พาลเมอร์ หัวหน้าโครงการอวกาศของชินระ
    • สการ์เล็ต หัวหน้าฝ่ายพัฒนาอาวุธของชินระ
    • โฮโจ หัวหน้าฝ่ายวิทยาศาสตร์ของชินระ
    • เส็ง หัวหน้ากลุ่มเติกส์ ตัวเขาเคยรู้จักกับแอริธและแซคเป็นการส่วนตัวมาก่อน
    • รู้ด สมาชิกกลุ่มเติกส์ ชายหัวล้านที่สวมแว่นกันแดดอยู่ตลอดเวลา เขาแอบรักทีฟาอยู่
    • เรโน สมาชิกกลุ่มเติกส์ หนุ่มผมแดงที่ไม่เคยแต่งตัวเรียบร้อยเลยสักครั้ง เขาและรู้ดเป็นสุดยอดคู่หูของกันและกัน
    • อิลิน่า สมาชิกกลุ่มเติกส์ เด็กใหม่ไฟแรงที่เพิ่งจบมาจากโรงเรียนทหาร เธอค่อนข้างจะพูดมากไปสักหน่อย
  • กลุ่มอะวาลานซ์และผู้เกี่ยวข้องกับตัวละครหลัก
    • มาร์ลีน วอลเลซ บุตรสาวบุญธรรมของบาร์เร็ต
    • บิ๊ก หนึ่งในสมาชิกของอะวาลานช์ เป็นคนง่าย ๆ สนุกสนาน สิ่งที่เขากลัวก็คือ บาร์เร็ต
    • เวดจ์ หนึ่งในสมาชิกของอะวาลานช์ เขาขี้ประหม่า อ้วน และกินจุ เขาโทษว่าเป็นเพราะอาหารของทีฟาอร่อยเกินไป
    • เจซซี่ หนึ่งในสมาชิกของอะวาลานช์ หน้าที่ของเธอคือทำ ID ปลอม, ลอบเข้าระบบ, วางระเบิด เป็นช่างเทคนิคสารพัดอย่างเลยทีเดียว
    • ไดน์ เพื่อนเก่าของบาร์เร็ต เขาเป็นพ่อแท้ ๆ ของมาร์ลีน
    • แซค อดีตโซลเจอร์-เฟิร์สคลาส เพื่อนที่ปรากฏในความทรงจำของคลาวด์ และเป็นคนรักคนแรกของแอริส
    • เอลมัยร่า แม่เลี้ยงของแอริธ สามีของเธอเสียไปในสงครามที่วูไท
    • บูเกนเฮเก็น ปู่ของเรดเธอร์ทีน มีอายุหลายร้อยปี
    • อิฟาลน่า เซทราเลือดบริสุทธิ์คนสุดท้าย เธอเป็นแม่แท้ ๆ ของแอริธ
    • กัสต์ ฟาเรมิส อดีตหัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของชินระ พ่อแท้ ๆ ของแอริธ
    • ชีร่า เป็นผู้ช่วยของซิด
    • ลูเครเซีย อดีตนักวิทยาศาสตร์หญิงของชินระ เธอคือหญิงสาวในดวงใจของวินเซนต์ และเป็นผู้ให้กำเนิดเซฟิรอธ
    • โกโด พ่อของยุฟฟี่ ผู้นำแห่งวูไท
  • กลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องอื่นๆ
    • เซียนโจโคโบะ ผู้เฒ่าที่อาศัยอยู่ในหุบเขาในแดนหิมะอันห่างไกล ผู้รอบรู้ทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับโจโคโบะ
    • ดอน คอลเนโอ ผู้มีอิทธิพลของวอลล์มาร์เก็ต ชายหนุ่มร่างกลมที่กำลังตามหาเจ้าสาว
    • โดมิโน่ นายกเทศมนตรีของมิดการ์
    • ดิโอ เจ้าของสวนสนุกกลางทะเลทราย
    • พรีเซล่า สาวน้อยที่เลี้ยงปลาโลมาในเมืองจูน่อน ผู้เสียเฟิร์สคีสให้กับคลาวด์
    • เจโนว่า สิ่งมีชีวิตที่ตกมาจากฟากฟ้าเมื่อสองพันปีก่อน และถูกกักขังไว้ในชั้นน้ำแข็ง

เวพอน

[แก้]

เวพอน เป็นสัตว์ประหลาดที่ไกอาสร้างขึ้นเพื่อปกป้องดวงดาว เมื่อภัยพิบัติเกิด เวพอนทั้งหลายจะตื่นขึ้น ในไฟนอลแฟนตาซี VII มีเวพอนปรากฏตัว ดังนี้

  • แซฟไฟร์ เวพอน เป็นวีพอนตัวแรกที่ปรากฏออกมา แต่ได้ถูกปืนใหญ่ซิสเตอร์เรย์ ที่เมืองจูนอน ยิงตาย ขณะที่มันพุ่งเข้ามาโจมตี
  • ไดมอนด์เวพอน เวพอนที่ขึ้นจากทะเลบริเวณใกล้หมู่บ้านโครงกระดูก (Bone Village) และมุ่งตรงมายังนครมิดการ์ เพื่อป้องกันมิให้ชินระทำการยิงปืนซิสเตอร์เรย์ที่ย้ายมาจากจูนอน ใส่หลุมอุกกาบาตทางตอนเหนือ (Northern Crater) ที่สุดไดมอนด์เวพอนถูกปืนใหญ่ยิงตาย และ กระสุนพุ่งทะลุไปทำลาย บาเรีย ป้องกันหลุมอุกกาบาตแตกออก
  • เอมเมอรัลด์เวพอน อยู่ในทะเล
  • รูบี้เวพอน อยู่ในทะเลทรายใกล้สวนสนุกโกลด์ ซอเซอร์
  • อัลติม่าเวพอน จะได้สู้กับเราครั้งแรกที่เมืองมีดีล ที่คลาวด์ไปรักษาตัว แล้วจะต้องตามไปสู้เรื่อยๆ

โจโคโบะ

[แก้]

โจโคโบะ เป็นนกในจินตนาการ รูปร่างคล้ายนกกระจอกเทศแต่น่ารักและฉลาดกว่า ในภาค 7 มีการเพาะพันธุ์เพื่อแข่งขันในโกลด์ซอเซอร์และใช้เดินทางเพื่อเก็บมาทีเรียสำคัญ เช่น มนต์อสูรตัวสุดท้าย เป็นต้น โดยแบ่งออกเป็น 5 สี ตามความสามารถในการเดินทาง ได้แก่ เหลือง ฟ้า เขียว ดำ และทอง นอกจากนี้ยังมีการแบ่งคลาสตามความสมบูรณ์เป็นคลาส D C B A และ S อีกด้วย

การพัฒนา

[แก้]

ช่วงเวลาการวางแผนสำหรับ ไฟนอลแฟนตาซี V ได้เริ่มขึ้นใน ค.ศ. 1994 ภายหลังจากการเปิดตัว ไฟนอลแฟนตาซี VI ซึ่งในขณะนั้น เกมดังกล่าวได้รับการวางแผนเป็นแบบ 2 มิติสำหรับระบบซูเปอร์ฟามิคอม[1]

การตอบรับ

[แก้]

การตอบรับในช่วงแรกและยอดจำหน่าย

[แก้]

ไฟนอลแฟนตาซี VII เป็นเกมที่ประสบความสำเร็จทั้งในด้านคำวิจารณ์รวมถึงการค้า และสร้างยอดจำหน่ายไว้เป็นจำนวนมาก โดยภายในสามวันนับจากเปิดตัวที่ประเทศญี่ปุ่นก็สามารถทำยอดจำหน่ายที่ 2.3 ล้านชุด[2] เกมนี้ยังมีอิทธิพลต่อร้านขายปลีกหลายพันแห่งในอเมริกาเหนือที่ได้รับการตอบรับจากประชาชนที่มีความต้องการเกมดังกล่าว[3] โดยในช่วงเปิดตัวสุดสัปดาห์ที่อเมริกาเหนือ เกมชุดนี้สามารถทำยอดจำหน่ายที่ 330,000 ชุด[4] และสามารถทำยอดจำหน่ายที่ 500,000 ชุด โดยใช้เวลาไม่ถึงสามสัปดาห์[5]

หมายเหตุ

[แก้]
  1. จัดจำหน่ายเวอร์ชันไอโอเอส, แอนดรอยด์, สตีม, เพลย์สเตชัน 4, นินเท็นโด สวิตช์ และ เอกซ์บอกซ์วัน

อ้างอิง

[แก้]
  1. Editors of Level magazine (2008). "Yoshinori Kitase interview". Level (ภาษาสวีเดน). Reset Media (25). {{cite journal}}: |author= มีชื่อเรียกทั่วไป (help)
  2. McLaughlin, Rus (April 30, 2008). "IGN Presents: The History of Final Fantasy VII". IGN. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-17. สืบค้นเมื่อ September 14, 2008.
  3. "Retailers Nationwide Break Official Release Date of PlayStation's "Final Fantasy VII" Videogame". Find Articles; originally published in Business Wire. 1997. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-08. สืบค้นเมื่อ July 16, 2008.
  4. "PlayStation's "Final Fantasy VII" Breaks Industry Records in Debut Weekend". Find Articles; originally published in Business Wire. 1997. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-08. สืบค้นเมื่อ July 16, 2008.
  5. "PlayStation's Final Fantasy VII Has Sold More Than Half a Million Copies to Date". Find Articles; originally published in Business Wire. 1997. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-08. สืบค้นเมื่อ July 16, 2008.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]