ข้ามไปเนื้อหา

นกหัวโตกินปู

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Crab Plover)
นกหัวโตกินปู
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Aves
อันดับ: Charadriiformes
วงศ์: Dromadidae
GR Gray, 1840
สกุล: Dromas
Paykull, 1805
สปีชีส์: D.  ardeola
ชื่อทวินาม
Dromas ardeola
Paykull, 1805

นกหัวโตกินปู (ชื่อวิทยาศาสตร์: Dromas ardeola; อังกฤษ: Crab-plover หรือ Crab Plover) เป็นนกชนิดเดียวในวงศ์ Dromadidae

ลักษณะ

[แก้]

นกหัวโตกินปูมีความยาวจากปลายปากถึงปลายหาง 38–41 เซนติเมตร ลำตัวค่อนข้างอวบ คอสั้น หัวโตและทุย ตาโต ปากสั้นกว่าหัว แต่มีขนาดใหญ่ ขายาว ดูไม่ได้สัดส่วนกับลำตัว ลักษณะเด่นชัดของนกชนิดนี้คือ ปากสีดำของมัน เพราะมีขนาดใหญ่ และดูยาว แม้ว่าปากจะสั้นกว่าหัว แต่ปลายปากแหลม ใช้ประโยชน์ในการทิ่มแทงปูและขบกระดองปูให้แตกหัก ปากแบนข้าง แข็งแรง และตรงอย่างกับท่อนไม้ และปากล่างหักมุม ขณะยืนหรือเดิน ปลายปีกยาวพอ ๆ กับปลายหางหรือยาวกว่าเล็กน้อย นิ้วเท้าแข็งแรง ค่อนข้างสั้นเมื่อเทียบกับขาอันยาวของมัน มีข้างละ 4 นิ้ว ยื่นไปข้างหน้า 3 นิ้ว และยื่นไปข้างหลัง 1 นิ้ว แต่นิ้วเท้าหน้าทั้ง 3 นิ้วมีแผ่นพังผืดขึงระหว่างโคนนิ้วเล็กน้อย และนิ้วเท้าหลังใหญ่ผิดกับนกชายเลนชนิดอื่น จึงทำให้เท้าของมันแข็งแรงมาก ทั้งนี้อาจเป็นเพราะต้องใช้นิ้วเท้าช่วยในการขุดทรายเพื่อทำโพรงรัง

นกหัวโตกินปูมีลักษณะเท้าเป็นพังพืด

สีสัน

[แก้]

สีของทั้งเพศผู้และเพศเมียเหมือนกัน แต่ตัวเมียมีปากเล็กกว่าและสั้นกว่าตัวผู้เล็กน้อย ขนส่วนใหญ่ของลำตัวเป็นสีขาว แต่หลังคอตอนล่าง ไหล่ และหลังเป็นแถบขนาดใหญ่สีดำ ขนปลายปีกสีน้ำตาลไหม้จนดำหรือสีดำเช่นกัน ซึ่งแลเห็นได้ชัดเจนในขณะที่นกกำลังบิน ขนหางสีเทาจาง ๆ นกบางตัวมีลายขีดสีเทาหรือสีดำที่ท้ายทอยและหลังคอ ในขณะที่นกกำลังยืนหรือเดิน ซึ่งปลายปีกจะยาวพอๆ กับปลายหาง หรือยาวกว่าเล็กน้อย จะแลเห็นเป็นแถบสีดำอยู่ 2 แถบ พาดอยู่บนหลัง 1 แถบ และที่ขนปลายปีก 1 แถบ จนดูคล้ายนกปากงอนมาก แต่ปากใหญ่สีดำเด่นชัดมาก จึงแยกความแตกต่างจากนกปากงอนได้ง่าย

ลักษณะทางกายภาพของนกหัวโตกินปู

สถานภาพ

[แก้]

นกอพยพย้ายถิ่นนอกฤดูผสมพันธุ์ หายาก

การแพร่กระจาย

[แก้]

ภาคใต้ เคยพบที่บ้านอู่ตะเภา จังหวัดชุมพร แหลมปะการัง จังหวัดพังงา เกาะลิบง จังหวัดตรัง และหาดบางศิลา จังหวัดสตูล

แหล่งที่อยู่อาศัย

[แก้]

ส่วนใหญ่มักพบตามชายฝั่งและเกาะต่างๆ บริเวณเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนของมหาสมุทรอินเดีย ไม่พบบริเวณห่างไกลจากทะเลเกินกว่า 1 กิโลเมตร อาจเป็นเพราะแหล่งหากินของมันคือ หาดทราย หาดโคลน และหาดปะการังที่มีน้ำทะเลท่วมถึง

พฤติกรรม

[แก้]

การเดิน เดินค่อนข้างช้า เดินไปนิดหนึ่ง แล้วก็หยุดเพื่อมองหาเหยื่อ แล้วจึงค่อยเดินต่อ ในเวลาที่มันแลเห็นเหยื่อคือ ปู และสัตว์ขาปล้องอื่น ๆ เช่น จำพวกกุ้ง-กั้ง-ปู (Crustacean) อื่น ๆ ท่าเดินของมันจะเปลี่ยนไปทันที

การวิ่ง ตามล่าเหยื่อรวดเร็วมาก ในเวลาที่น้ำทะเลเพิ่งลง ไม่ว่าจะเป็นบริเวณหาดทราย หาดโคลน แนวปะการังชายฝั่ง หรือบริเวณที่มีน้ำตื้นใด ๆ รวมทั้งป่าชายเลนด้วย ปูต่าง ๆ จะพากันออกมาจากรูเพื่อหากิน นกหัวโตกินปูจึงพากันออกไปหากินเป็นฝูงใหญ่ ต่างตัวต่างวิ่งไล่จับปูอย่างรวดเร็วอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยหรือหยุดหย่อนจนปูต่าง ๆ พากันแตกตื่นรีบวิ่งหนีลงไปในรูหรือฝังตัวในทรายหรือโคลนอย่างรวดเร็ว

การกิน นกแต่ละตัวในฝูง ซึ่งอยู่ห่างกันราว 2 ถึง 5 เมตร จะเดินอย่างช้า ๆ ไปในทิศทางเดียวกัน พอมองเห็นปูสักตัว มันจะวิ่งตรงไปยังปูตัวนั้นเพื่อใช้ปากคาบหรือกระทุ้งอย่างรวดเร็ว เนื่องจากโคนนิ้วหน้าทั้ง 3 มีแผ่นพังผืดขึงเล็กน้อย จึงทำให้มันวิ่งไปบนพื้นทรายหรือพื้นโคลนได้สะดวกและคล่องแคล่วมาก ในบางครั้ง มันก็ใช้ปากขุดคุ้ยปูหรือเหยื่ออื่น ๆ จากพื้นทรายหรือพื้นโคลน ไม่ว่าช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์หรือในฤดูผสมพันธุ์ นกหัวโตกินปูชอบออกหากินในเวลาโพล้เพล้และเวลากลางคืนมากที่สุด แต่ก็ออกหากินในเวลากลางวันด้วยเหมือนกัน ในช่วงฤดูผสมพันธุ์นั้น นกชนิดนี้ออกหากินในเวลาโพล้เพล้และเวลากลางคืนเป็นส่วนใหญ่ แต่จะหยุดหากินเมื่อถึงกลางดึกซึ่งมืดสนิท

นกชนิดนี้เลี้ยงชีวิตด้วยปู เป็นส่วนใหญ่และมันชอบกินปูที่ขุดรูอยู่ในทรายมากกว่าปูประเภทอื่น โดยใช้ปากอันใหญ่แข็งแรงและปลายแหลมไล่คาบอย่างรวดเร็ว ถ้าหากปูที่จับได้มีขนาดเล็ก มันจะกลืนกินทั้งตัวทันทีที่จับได้ แต่ถ้าปูที่จับได้มีขนาดใหญ่ มันจะใช้ปากของมันจับปูเหวี่ยงฟาดกับพื้นจนก้ามและขาหลุดออกเป็นชิ้น ๆ แล้วใช้ปลายปากกระทุ้งกระดองจนแตก แล้วมันจึงจิกกลืนกินทีละชิ้น โดยที่นกหัวโตกินปูจะเดินแล้วหยุดมองหาปูบนหาดทรายปนโคลน โดยเลือกจิกกินปูเฉพาะที่มีกระดองกว้างราว 1–7 ซม. เช่น ปู Portunus pelagicus และปูในวงศ์ Grapsidae อีกทั้งนกชนิดนี้สามารถหากินในน้ำลึกถึงขาท่อนล่างได้ด้วย นอกจากปู ซึ่งเป็นอาหารโปรดแล้ว มันยังกินสัตว์มีกระดองแข็งอื่นๆ หอยตัวเล็กๆ หนอนทะเล และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในทรายในบริเวณที่น้ำทะเลท่วมถึงด้วย ยิ่งกว่านั้น ที่หมู่เกาะอันดามัน นกชนิดนี้กินกั้ง (Mantis Shrimp) และที่ประเทศอิรัก เคยมีผู้เห็นมันกินปลาตีน (Mudskipper) อีกด้วย

ลักษณะการหาเหยื่อของนกหัวโตกินปูบริเวณชายหาด

การอยู่ นกหัวโตกินปูเป็นนกที่ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงและส่งเสียงร้องหนวกหู ไม่ว่าจะอยู่ในแหล่งทำรังวางไข่ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ หรือในขณะพักหากินระหว่างการบินอพยพย้ายถิ่นเดินทางไกล หรือในแหล่งหากินในช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์ เมื่อน้ำทะเลขึ้น ซึ่งไม่อาจหากินได้อีกต่อไป นกที่หากินอยู่ไกล ๆ จะมารวมฝูงกัน และนกที่หากินอยู่ในรัศมีไม่เกิน 20 กิโลเมตร จะมารวมกันเป็นฝูงใหญ่อยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งแน่นอน เช่น ในอ่าวคูช (Gulf of Kutch) เมื่อน้ำทะเลขึ้น นกหัวโตกินปูจะไปรวมกันอยู่บนเกาะไบดาร์ (Bhaidar) มากถึง 1,200 ตัวทีเดียว

นกหัวโตกินปู พบที่หาดตูบ จังหวัดตรัง

ในเวลาพักผ่อน มันจะยืนด้วยขาข้างเดียว โดยพับขาอีกข้างหนึ่งขึ้นแนบกับท้อง ทำนองเดียวกับนกหัวโต ในช่วงนี้ ถ้าหากมันจะเดินไปใกล้ๆ มันจะกระโดดไปด้วยขาข้างเดียวที่มันใช้ยืนอยู่ แทนที่จะเอาขาอีกข้างหนึ่งลงแล้วเดินไปตามปกติ ถ้าหากมันพักผ่อนโดยการยืนด้วยขาข้างเดียวไปนาน ๆ แล้วชักเมื่อยขา มันจะนั่งลง โดยการงอขาทั้งสองข้าง แล้วพักอยู่บนขาท่อนล่าง แต่ในบางครั้ง ถ้าหากเหน็ดเหนื่อยมาก มันจะหมอบลง แล้ววางตัวไว้กับขาท่อนล่างเลยทีเดียว ในขณะพักผ่อนนี้ ถ้าหากมันคันหัวขึ้นมามันจะยกขาข้างหนึ่งขึ้นเพื่อใช้เท้าเกาหัวอันโตของมัน โดยไม่ต้องยกเท้าข้ามปีกแบบนกชายเลนอื่นๆ นับว่ามันมีท่าทางแปลกไม่เหมือนนกชายเลนชนิดใด

การบิน มันบินได้ค่อนข้างช้า ซึ่งช้ากว่านกชายเลนส่วนใหญ่ ยกปีกขึ้นแข็งๆ ทำนองเดียวกับนกกระแตผี (Thick-knee) และมักบินต่ำๆ เหนือผิวน้ำทะเล ส่วนขาจะเหยียดตรงไปข้างหลังและเลยปลายหางออกไปมาก เพราะขาของมันยาว ดูเผิน ๆ จึงดูคล้ายกับว่ามันมีหางยาวกว่าปกติ ส่วนหัวและคอยื่นไปข้างหน้า หรืออาจหดมาอยู่ระหว่างไหล่ก็ได้ ถ้าหากไปกันเป็นฝูง มันจะบินชิด ๆ ติด ๆ กันเป็นกลุ่ม หรือไม่ก็บินเรียงเป็นแถวรูปตัววี (V) แม้ว่าบินเร็ว แต่นักดูนกสามารถบอกได้ง่ายว่าเป็นนกหัวโตกินปู แม้ว่าจะเป็นในขณะบิน เพราะจะแลเห็นขนปลายปีกสีดำ และแถบสีดำบนหลังแยกออกเป็น 2 แฉกยาวมาถึงตะโพก ตัดกับลำตัวสีขาวของมันได้ชัดเจน ส่วนใต้ของลำตัวเป็นสีขาวล้วน ถ้าหากมันบินอพยพย้ายถิ่น มันจะบินทั้งกลางวันและกลางคืน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเวลากลางคืน


เสียงร้อง

[แก้]

เสียงร้องหนวกหูมาก นอกฤดูผสมพันธุ์มักจะได้ยินมันส่งเสียงร้อง “ hahow “ หรือ “ crow-ow-ow “ ซึ่งดังไปไกลมากทีเดียว แต่บางทีก็ร้องเพราะ ๆ ดัง

“ prooit “ แต่ถ้าตกใจ มันจะส่งเสียงร้องดังมาก ดัง “ kjep” หรือ “ kiep” ติดต่อกัน 4 หรือ 5 ครั้ง[1]

อ้างอิง

[แก้]