ข้ามไปเนื้อหา

การขยายในคอร์เทกซ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Cortical magnification)

การขยายในคอร์เทกซ์[1] (อังกฤษ: Cortical magnification) เป็นคำชี้บอกว่า นิวรอนกี่ตัวในคอร์เทกซ์สายตา มีหน้าที่แปลผลเกี่ยวกับตัวกระตุ้นขนาดหนึ่ง โดยเป็นฟังก์ชั่นของตำแหน่งในลานสายตา คือ ที่ตรงกลางลานสายตา ซึ่งตรงกับตำแหน่งรอยบุ๋ม (fovea) ของจอตา มีนิวรอนจำนวนมากที่แปลผลข้อมูลจากเขตเล็ก ๆ ในลานสายตา แต่ถ้าเห็นตัวกระตุ้นเดียวกันในส่วนรอบนอกของลานสายตา (คือห่างออกไปจากศูนย์กลาง) จะมีนิวรอนน้อยกว่ามากที่แปลผลข้อมูล การลดจำนวนนิวรอนแปลข้อมูลต่อเขตลานสายตาไปตามลำดับ ที่เริ่มต้นจากรอยบุ๋มจอตา (คือจากศูนย์กลางลานสายตา) ไปสุดที่ส่วนรอบนอกเช่นนี้ เกิดขึ้นตามจุดต่าง ๆ ตามวิถีประสาทของระบบสายตา เริ่มต้นตั้งแต่กระทั่งที่เรตินา

เพื่อการกำหนดจำนวน เราปกติใช้ ตัวคูณการขยายในคอร์เทกซ์ (อังกฤษ: cortical magnification factor) ซึ่งมีหน่วยเป็นมิลลิเมตรของพื้นที่ในคอร์เทกซ์ต่อองศาของมุมการเห็น ถ้ากำหนดหน่วยอย่างนี้ (คือตัวคูณสูงหมายถึงมีนิวรอนเป็นจำนวนมากที่ประมวลผลข้อมูลในเขตวงกลมกำหนดด้วยองศานั้น) ตัวคูณการขยายในคอร์เทกซ์ที่รอยบุ๋มจอตากับเขตส่วนรอบนอก มีความแตกต่างประมาณ 100 เท่าในคอร์เทกซ์สายตาปฐมภูมิ (V1) ในไพรเมต (Daniel and Whitteridge 1961)

การมีจำนวนนิวรอนที่ลดลงเพื่อประมวลผลสำหรับเขต ๆ หนึ่งของลานสายตา ก็จะหมายถึงว่า นิวรอนแต่ละตัวต้องมีลานรับสัญญาณ (receptive field) ที่มีขนาดใหญ่ยิ่งขึ้น และเนื่องจากว่านิวรอนแต่ละตัว ต้องทำการประมวลผลต่อเขตลานสายตาที่ใหญ่ขึ้น ความคมชัดในการเห็นจึงจะดีที่สุดตรงกลางลานสายตา และแย่ที่สุดในส่วนรอบนอก

ในคอร์เทกซ์สายตาปฐมภูมิ ตัวคูณการขยายในคอร์เทกซ์ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า M scaling (โดยที่ M หมายถึง "magnification การขยาย") เขตสายตาต่าง ๆ ในเปลือกสมองมีการให้ความสำคัญที่รอยบุ๋มจอตาที่ต่างกัน เขตที่มีหน้าที่วิเคราะห์รูปร่างและลักษณะผิว (เช่นเขตสายตา V4) มักจะมีตัวคูณการขยายในคอร์เทกซ์ที่สูงในเขตรอบ ๆ รอยบุ๋มจอตา และมีตัวคูณที่ต่ำในเขตรอบนอกลานสายตา โดยเปรียบเทียบกันแล้ว เขตสายตาอื่น ๆ ในคอร์เทกซ์ มีตัวคูณที่ค่อย ๆ ลดลง จากที่รอยบุ๋มจอตาไปสุดที่ส่วนรอบนอกของลานสายตา (เช่นเขต dorsomedial area หรือที่เรียกว่า V6)

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ศัพท์บัญญัติอังกฤษ-ไทย, ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (คอมพิวเตอร์) รุ่น ๑.๑", ให้ความหมายของ magnification ว่า "การขยาย"
  • Daniel PM, Whitteridge D (1961) The representation of the visual field on the cerebral cortex in monkeys. Journal of Physiology 159:203-21.

ดูเพิ่ม

[แก้]