วิลเดอบีสต์
วิลเดอบีสต์ | |
---|---|
วิลเดอบีสต์เคราขาว (C. taurinus) | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ไฟลัมย่อย: | Vertebrata |
ชั้น: | Mammalia |
อันดับ: | Artiodactyla |
วงศ์: | Bovidae |
วงศ์ย่อย: | Alcelaphinae |
สกุล: | Connochaetes Lichtenstein, 1812 |
ชนิด[1] | |
|
วิลเดอบีสต์ (อังกฤษ: wilderbeast, wildebeest) หรือ นู (gnu) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประเภทหนึ่ง จำพวกแอนทีโลป ในวงศ์ Bovidae จัดอยู่ในสกุล Connochaetes
ศัพท์มูลวิทยาและลักษณะ
[แก้]คำว่า "วิลเดอบีสต์" เป็นภาษาดัตช์แปลว่า "สัตว์ป่า" หรือ "วัวป่า" ในภาษาอาฟรีกานส์ (เบียส = วัว) ในขณะที่ Connochaetes มาจากภาษากรีก คำ κόννος (Konnos) หมายถึง "เครา" และ χαίτη (khaítē) หมายถึง "ไหล่ผม" หรือ "แผงคอ" ขณะที่คำว่า "นู" มาจากภาษากอยกอยแปลว่า "สัตว์เหล่านี้"[2]
วิลเดอบีสต์มีส่วนสูงจากเท้าถึงหัวไหล่ประมาณ 1.3–1.5 เมตร ขนาดตัวเท่า ๆ กับวัวบ้าน มีความยาวลำตัวประมาณ 1.7–2.4 เมตร ความยาวหาง 75–100 เซนติเมตร ตัวผู้มีน้ำหนักเมื่อโตเต็มที่ 185–230 กิโลกรัม ตัวเมียมีน้ำหนักเมื่อโตเต็มที่ 150–180 กิโลกรัม มีเขาคล้ายเขากระทิง แต่เล็กกว่า มีเขาทั้งตัวผู้และตัวเมีย สีของลำตัวทั่วไปเป็นสีเทา แต่มีแถบสีดำที่ใบหน้า หางค่อนข้างยาวสีดำ และมีเคราสีขาวหรือดำบริเวณใต้คอ บนหลังคอมีแผงขนสีดำต่อไปถึงไหล่ อายุโดยเฉลี่ย 12–20 ปี พบสูงสุดถึง 40 ปี[1]
วิลเดอบีสต์ถือเป็นแอนทีโลปขนาดใหญ่ และจัดเป็นแอนทีโลปที่สามารถพบได้ง่ายที่สุดในทวีปแอฟริกา มีพฤติกรรมอาศัยอยู่รวมตัวกันเป็นฝูงใหญ่ บางฝูงอาจถึงหลักหมื่นตัว โดยมีตัวผู้ที่แข็งแรงเป็นจ่าฝูง [3]
การจำแนก
[แก้]แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ[1]
- วิลเดอบีสต์หางขาว (Connochaetes gnou)
- วิลเดอบีสต์สีน้ำเงิน หรือ วิลเดอบีสต์เคราขาว (Connochaetes taurinus)
การอพยพ
[แก้]ในทุกปี ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูแล้ง ที่อาหารหากินยาก ฝูงวิลเดอบีสต์จำนวนกว่า 1.8–2 ล้านตัว จะพากันอพยพจากทุ่งหญ้าเซเรงเกติ ในแทนซาเนีย เดินทางไกลเป็นระยะทางกว่า 1,500 กิโลเมตร เพื่อหาอาหาร ได้แก่ หญ้าที่ขึ้นใหม่ในทุ่งหญ้ามาไซมารา ของเคนยา ซึ่งเป็นเขตแดนติดต่อกัน และจะหากินอยู่ในทุ่งหญ้ามาไซมาราราว 2 เดือน จนถึงเดือนกันยายน–ตุลาคม ก็จะพากันอพยพกลับไปที่ทุ่งหญ้าเซเรงเกติที่จะมีหญ้าขึ้นใหม่เต็มท้องทุ่งเต็มไปหมด
โดยระหว่างการอพยพทั้งไปและกลับ จะมีวิลเดอบีสต์ล้มตายประมาณ 200,000 ตัว จากการเบียดเสียดกัน หรือจมน้ำจากการถูกจระเข้กิน ขณะข้ามแม่น้ำมารา ขณะที่ตัวที่อ่อนเพลียหรืออ่อนแรงก็จะถูกสัตว์กินเนื้อขนาดใหญ่ล่าเป็นอาหาร เช่น สิงโต, ไฮยีน่า, เสือดาว หรือเสือชีตาห์ ซึ่งภาพการอพยพนั้นเป็นภาพที่น่าประทับใจ และตื่นตาตื่นใจอย่างยิ่ง วิลเดอบีสต์จะเดินตามจ่าฝูงเป็นแถวยาวเป็นระเบียบ เมื่อถึงบริเวณที่มีทุ่งหญ้าอุดมสมบูรณ์ ก็จะแยกย้ายกันกินหญ้า ก่อนที่จะกลับมารวมตัวกันอีกครั้ง ก่อนที่วิลเดอบีสต์จะข้ามแม่น้ำนั้น จะหยุดอยู่ริมตลิ่งเพื่อกินน้ำก่อน ก่อนที่จ่าฝูงตัวที่แข็งแรงที่สุด จะกระโดดลงไปเป็นตัวแรก ก่อนจะตามมาด้วยตัวอื่น ๆ จนหมด
เมื่อกลับมาถึงเซเรงเกติ ลูกวิลเดอบีสต์จะเกิดใหม่ราว 500,000 ตัวในราวเดือนกุมภาพันธ์–มีนาคม และจะร่วมเดินทางอพยพประจำปีในเดือนพฤษภาคมต่อไป
วิลเดอบีสต์พบกระจายพันธุ์ในทวีปแอฟริกา ตั้งแต่ทางตอนเหนือของเคนยาจนถึงทางใต้ของแทนซาเนีย และจนถึงแอฟริกาใต้[3]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 "Wildebeest". National Geographic. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-02-03. สืบค้นเมื่อ 16 December 2010.
- ↑ Comparative Placentation: Wildebeest, Gnu
- ↑ 3.0 3.1 ปองพล อดิเรกสาร. สัตว์ป่าแอฟริกา. กรุงเทพฯ : เอเรียสบุ๊คส์, 2553. 272 หน้า. ISBN 978-616-90508-0-3
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Connochaetes ที่วิกิสปีชีส์