ข้ามไปเนื้อหา

การดื้อแพ่ง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Civil disobedience)

การดื้อแพ่ง หรือ การขัดขืนอย่างสงบ (อังกฤษ: civil disobedience) หรือ "อารยะขัดขืน" เป็นรูปแบบการต่อต้านทางการเมืองอย่างสงบเพื่อกดดันให้รัฐบาลเปลี่ยนแปลงสถานภาพทางการเมืองที่เป็นอยู่[1] ในอดีต มีการใช้แนวทางดื้อแพ่งในการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านอังกฤษในประเทศอินเดีย ในการต่อสู้กับการแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้ ในการเคลื่อนไหวด้านสิทธิพลเมืองของอเมริกา และในยุโรป รวมถึงประเทศแถบสแกนดิเนเวียในการต่อต้านการยึดครองของนาซี แนวคิดนี้ริเริ่มโดยเฮนรี เดวิด ธอโร นักเขียนชาวอเมริกันในบทความชื่อดื้อแพ่ง ในชื่อเดิมว่า การต่อต้านรัฐบาลพลเมือง ซึ่งแนวคิดที่ผลักดันบทความนี้ก็คือการพึ่งตนเอง และการที่บุคคลจะมีจุดยืนที่ถูกต้องเมื่อพวกเขา "ลงจากหลังของคนอื่น" นั่นคือ การต่อสู้กับรัฐบาลนั้นประชาชนไม่จำเป็นต้องต่อสู้ทางกายภาพ แต่ประชาชนจะต้องไม่ให้การสนับสนุนรัฐบาลหรือให้รัฐบาลสนับสนุนตน (ถ้าไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล) บทความนี้มีอิทธิพลอย่างมากต่อผู้ที่ยึดแนวทางดื้อแพ่งนี้ ในบทความนี้ทอโรอธิบายเหตุผลที่เขาไม่ยอมจ่ายภาษีเพื่อเป็นการประท้วงระบบทาสและสงครามเม็กซิกัน-อเมริกัน

เพื่อที่จะแสดงออกถึงดื้อแพ่ง ผู้ขัดขืนอาจเลือกที่จะฝ่าฝืนกฎหมายใดเป็นการเฉพาะ เช่น กีดขวางทางสัญจรอย่างสงบ หรือเข้ายึดครองสถานที่อย่างผิดกฎหมาย ผู้ประท้วงกระทำการจลาจลอย่างสันติเหล่านี้ โดยคาดหวังว่าพวกตนจะถูกจับกุม หรือกระทั่งถูกทำร้ายร่างกายโดยเจ้าหน้าที่. ผู้ประท้วงมักจะได้รับการนัดแนะล่วงหน้า ว่าควรจะตอบสนองการจับกุมหรือทำร้ายร่างกายอย่างไร และจะขัดขืนอย่างเงียบ ๆ หรือไม่รุนแรง โดยไม่คุกคามเจ้าหน้าที่

สัตยาเคราะห์ในอินเดีย

[แก้]

มหาตมะ คานธี ผู้นำการเคลื่อนไหวดื้อแพ่ง เพื่อต่อต้านอังกฤษในประเทศอินเดีย เรียกแนวทางของตนว่า "สัตยาเคราะห์" (Satyagraha) หมายถึง การต่อสู้บนรากฐานของความจริงหรือสัจจะ

ในสมัยนั้นในประเทศอินเดียมีกฎหมายบังคับให้การผลิตและขายเกลือกระทำได้โดยรัฐบาลอังกฤษเท่านั้น การผูกขาดเกลือเป็นรายได้ที่สำคัญ ถึงแม้ว่าคนอินเดียที่อาศัยอยู่ชายฝั่งทะเลจะสามารถผลิตเกลือเพื่อบริโภคเองได้ ก็จำเป็นต้องซื้อจากอังกฤษ หากผู้ใดฝ่าฝืนก็มีโทษถึงจำคุกทีเดียว

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม ค.ศ. 1930 มหาตมะ คานธี พร้อมกับผู้ร่วมเดินทางจำนวน 78 คน เริ่มเดินเท้าจากเมือง Sabarmati ไปยังเมือง Dansi เมืองชายฝั่งทะเลที่อยู่ห่างออกไป 240 ไมล์ เมื่อขบวนเดินผ่านเมืองใดก็จะมีชาวเมืองนับพันเข้ามาร่วมเดิน จนขบวนยาวหลายไมล์ มหาตมะ คานธี เดินเท้าใช้เวลา 23 วันก็ถึงที่หมาย เมื่อถึงแล้วก็เริ่มการกระทำ "ดื้อแพ่ง" โดยขุดดินที่เต็มไปด้วยเกลือ ต้มในน้ำทะเลเพื่อผลิตเกลือ บรรดาผู้ร่วมเดินทางก็ทำตาม ช่วยกันผลิตเกลือท้าทายกฎหมาย

การกระทำของคานธีกลายเป็นข่าวไปทั่วโลก ในขณะที่ชาวอินเดียพากันเลียนแบบ ผลิตและขายเกลือกันอย่างไม่กลัวกฎหมาย ในที่สุดมหาตมะคานธีก็ถูกจับพร้อมกับประชาชนนับหมื่นคน มหาตมะ คานธี ให้การต่อศาลว่า

".. การที่ข้าพเจ้ามิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่นั้น มิใช่เพราะข้าพเจ้าไม่เคารพกฎหมายบ้านเมือง แต่เป็นเพราะข้าพเจ้าต้องการปฏิบัติตามคำสั่งที่สูงยิ่งไปกว่านั้น นั่นคือคำสั่งแห่งความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของข้าพเจ้าเอง..."

เหตุการณ์ดื้อแพ่งของมหาตมะ คานธี ครั้งนั้นมีชื่อเรียกว่า "The Salt March" เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประวัติศาสตร์อินเดีย หลังจากคานธีได้รับการปล่อยตัวออกมา ก็เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ส่งผลให้คนอินเดียร่วมกันต่อสู้จนได้รับอิสรภาพใน ค.ศ. 1947 ในที่สุด

ดื้อแพ่งในสหรัฐอเมริกา

[แก้]

ช่วงระหว่าง ค.ศ. 1955-1968 ในสหรัฐอเมริกามีการต่อสู้เพื่อสิทธิความเท่าเทียมกันของคนผิวดำ ที่เรียกว่า ขบวนการสิทธิพลเมือง (Civil Rights Movement) ซึ่งก่อนหน้านี้คนผิวดำและผิวขาวต้องแยกใช้ห้องน้ำ ร้านอาหาร โรงเรียน โรงพยาบาล ย่านที่อยู่อาศัย รถประจำทาง โดยเฉพาะในรัฐทางใต้จะใช้งานร่วมกันไม่ได้

ในปี ค.ศ. 1955 โรซา พาร์กส์ (Rosa Parks) ปฏิเสธที่จะลุกให้ที่นั่งแก่คนผิวขาวบนรถประจำทางตามที่คนขับรถสั่ง ทั้งที่กฎหมายท้องถิ่นระบุว่าเมื่อโดยสารรถร่วมกัน เธอจะต้องสละที่ให้คนผิวขาวนั่ง เธอถูกจับขึ้นศาลและถูกตัดสินจำคุก จากนั้นกลุ่มคนผิวดำจึงพากันประท้วง จนกระทั่งรัฐบาลท้องถิ่นต้องยกเลิกกฎหมายนี้ กรณีประท้วงนี้มีชื่อเรียกว่า การคว่ำบาตรรถประจำทางมอนต์โกเมอรี (Montgomery Bus Boycott)[2]

มีร้านอาหารหลาย ๆ แห่งในรัฐทางใต้ ปฏิเสธที่จะให้บริการแก่คนผิวดำ จึงมีการดื้อแพ่งโดยใช้วิธี "ซิทอิน" (sit in) คือเข้าไปนั่งเฉย ๆ โดยนักศึกษาผิวดำพากันแต่งตัวเรียบร้อย ใส่สูทผูกไทเข้าไปนั่งในร้านอาหารที่ปฏิเสธคนผิวดำ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้าไปนั่งในทุกที่นั่ง จนไม่มีที่ว่างเหลือ จนกระทั่งร้านนั้นไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ มีการกระทำเลียนแบบไปทั่วทุกรัฐทางใต้ โดยมีคนผิวขาวส่วนหนึ่งที่เห็นใจคนผิวดำร่วมขบวนการด้วย มีการใช้วิธีซิทอินกับสถานที่สาธารณะต่าง ๆ ทั้งสวนสาธารณะ ห้องสมุด โรงภาพยนตร์ พิพิธภัณฑ์ เมื่อถูกเจ้าหน้าที่จับนักศึกษาเหล่านี้ก็ไม่ยอมประกันตัว ต้องการติดคุกเพื่อให้เป็นข่าว และให้เป็นภาระกับเจ้าหน้าที่

การต่อสู้เหล่านี้เพื่อกดดันรัฐบาลกลาง จนนำมาสู่การออกกฎหมายสิทธิเลือกตั้ง (Voting Rights Act) ค.ศ. 1965 และกฎหมายสิทธิพลเมือง (Civil Rights Act) ค.ศ. 1968 ที่ให้สิทธิเท่าเทียมกันระหว่างคนผิวขาวและคนผิวดำ

ดื้อแพ่งในสังคมไทย

[แก้]

แนวคิดดื้อแพ่งในทางการเมือง หรือที่นิยมใช้คำว่า "อารยะขัดขืน" นั้น เริ่มแพร่หลายในภาษาไทย ในบริบทของการประท้วงขับไล่นายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ในปี พ.ศ. 2549 อย่างไรก็ตาม คำว่า "อารยะขัดขืน" นั้นถูกนำมาใช้ครั้งแรกโดยชัยวัฒน์ สถาอานันท์[3] เมื่อกล่าวถึงสถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ โดยชัยวัฒน์อธิบายว่า

อารยะขัดขืนเป็นเรื่องของการขัดขืนอำนาจรัฐ ที่ทั้งเป้าหมายและตัววิธีการอันเป็นหัวใจของ Civil Disobedience ส่งผลในการทำให้สังคมการเมืองโดยรวมมี 'อารยะ' มากขึ้น... การจำกัดอำนาจรัฐนั้นเอง เป็นหนทาง 'อารยะ' ยิ่งการจำกัดอำนาจรัฐโดยพลเมืองด้วยวิธีการอย่างอารยะคือ เป็นไปโดยเปิดเผย ไม่ใช้ความรุนแรง และยอมรับผลตามกฎหมายที่จะเกิดขึ้นกับตัวผู้ใช้สันติวิธีแนวนี้ เพื่อให้สังคมการเมือง 'เป็นธรรม' ขึ้น เคารพสิทธิเสรีภาพของคนมากขึ้น และเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น[4]

และโดยได้อธิบายคุณลักษณะ 7 ประการของ "อารยะขัดขืน" ในฐานะของปฏิบัติการทางการเมือง คือ

  1. เป็นการละเมิดกฎหมาย หรือตั้งใจจะละเมิดกฎหมาย
  2. ใช้สันติวิธี (ไม่ใช้ความรุนแรง)
  3. เป็นการกระทำสาธารณะโดยแจ้งให้ฝ่ายรัฐรับรู้ล่วงหน้า
  4. ประกอบด้วยความเต็มใจที่จะรับผลทางกฎหมายของการละเมิดกฎหมายดังกล่าว
  5. ปกติกระทำไปเพื่อเปลี่ยนแปลงกฎหมายหรือนโยบายของรัฐบาล
  6. มุ่งเชื่อมโยงกับสำนึกแห่งความยุติธรรมของผู้คนส่วนใหญ่ในบ้านเมือง
  7. มุ่งเชื่อมโยงกับสำนึกแห่งความยุติธรรม ซึ่งโดยหลักแล้วเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายและสถาบันทางสังคม

ก่อนหน้านี้ ช่วงปี พ.ศ. 2543 สมชาย ปรีชาศิลปกุล ใช้คำว่า "สิทธิการดื้อแพ่งต่อกฎหมาย" เพื่ออธิบายแนวคิดเดียวกันนี้ ในหนังสือชื่อเดียวกัน[5][6] โดยเสนอว่า

civil disobedience ถือเป็นสิทธิที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย ด้วยเหตุว่า เวทีประชาธิปไตยไม่น่าจะคับแคบเพียงการเลือกตั้งที่เป็นทางการ เพราะการใช้สิทธิเช่นนี้ถือได้ว่า เป็นการใช้ประชาธิปไตยทางตรง และดังนั้น จึงมีสถานะเหนือกว่าประชาธิปไตยของนักเลือกตั้งในระบบตัวแทน

ส่วน ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร เสนอ[7] ว่า

สิทธิที่จะไม่เชื่อฟังรัฐเป็นช่องทางการเคลื่อนไหวเรียกร้องของผู้คนธรรมดาในระบอบประชาธิปไตย นอกเหนือช่องทางปกติ เป็นตัวสร้างสิ่งใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งกระทำไม่ได้ในระบบที่ดำรงอยู่ ถือเป็นคุณูปการที่เด่นชัดของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม/ประชาสังคมรูปแบบใหม่ในปัจจุบัน

ในวันที่ 2 เม.ย. พ.ศ. 2549 ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ฉีกบัตรเลือกตั้งของตนทิ้งให้สื่อมวลชนดูหลังจากที่ใช้สิทธิลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดแล้ว โดยเขายอมรับว่ากระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งและพร้อมสู้คดีในทางกฎหมายต่อไป อย่างไรก็ตามไชยันต์ยืนยันสิทธิของตนตามมาตรา 65 ของรัฐธรรมนูญว่าบุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธี หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เชิญตัวไปสอบสวน (อ้าง [1] เก็บถาวร 2007-03-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน และ [2]) หลังจากนั้น รัฐเอกราช ราษฎร์ภักดีรัช ได้ร่วมฉีกบัตรเลือกตั้งเช่นเดียวกัน โดยรัฐเอกราชได้กล่าวว่า ตนเห็นว่าการวางตำแหน่งของคูหาเลือกตั้งนั้นไม่ถูกต้อง จึงได้แต่งชุดดำประท้วงและฉีกบัตรเลือกตั้ง รัฐเอกราชกล่าวว่าตนมีอุดมการณ์เดียวกับไชยันต์ด้วย (อ้าง [3] เก็บถาวร 2006-04-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน) หลังจากเหตุการณ์นั้นศูนย์นิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ยืนยันว่าจะช่วยเหลือไชยันต์ในทางกฎหมาย (อ้าง [4] เก็บถาวร 2007-03-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน) นอกจากนั้น ในวันเดียวกัน ยศศักดิ์ โกศยากานนท์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ยังได้ใช้ไม้จิ้มฟันจิ้มนิ้วชี้ตนเองและใช้เลือดในการกากบาทในช่องลงคะแนนของบัตรเลือกตั้ง โดยเขายืนยันว่าได้ศึกษาข้อกฎหมายแล้วไม่ได้เป็นการกระทำผิดต่อกฎหมายแต่อย่างใด แม้ว่ายศศักดิ์จะกล่าวว่าเขาประท้วงตามแนวทางอารยะขัดขืน ถ้าพิจารณาในแง่ที่ว่าการกระทำดังกล่าวไม่ผิดกฎหมายของยศศักดิ์จึงไม่น่าจัดว่าเป็นอารยะขัดขืนหรือดื้อแพ่ง แต่เป็นการประท้วงแบบสันติวิธี

คำว่า "อารยะขัดขืน"

[แก้]

ชัยวัฒน์ได้อธิบายไว้ว่า ได้เลี่ยงที่จะใช้คำว่า "สิทธิการดื้อแพ่งต่อกฎหมาย" อย่างที่สมชายใช้ เนื่องจากคำว่า "ดื้อแพ่ง" ในภาษาไทยนั้นมีความหมายในนัยไม่สู้ดี และเสนอคำว่า "อารยะขัดขืน" ซึ่งเป็นคำที่มีอคติทางลบแฝงอยู่น้อยกว่า ขณะเดียวกัน ยังเป็นคำกิริยาที่คงคุณลักษณะความเป็นคำในเชิงปฏิบัติเอาไว้[8]

"สุดสงวน" คอลัมนิสต์ประจำนิตยสารสกุลไทย ให้ความเห็นว่า การนำ "อารยะ" ซึ่งเป็นคำสันสกฤต มาสมาสหรือสนธิกับ "ขัดขืน" ซึ่งเป็นคำไทยนั้น ไม่เข้าหลักเกณฑ์ทางภาษา แต่ขณะเดียวกันก็นึกไม่ออกว่าจะหาคำใดมาใช้แทนคำที่ชัยวัฒน์ใช้ได้[9]

แก้วสรร อติโพธิ ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการใช้คำว่า อารยะ ว่าแท้จริงแล้วคำว่า civil น่าจะหมายถึงคำว่าพลเมือง และเสนอว่าน่าจะแปลเป็นไทยว่า "การแข็งข้อไม่ยอมเป็นพลเมือง"[10]

อ้างอิง

[แก้]
  1. อารยะขัดขืน
  2. พัฒนายุ ทารส, แด่ 'โรซา ปาร์คส์' นักสู้เพื่อสิทธิคนผิวสี เก็บถาวร 2008-05-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เนชั่น สุดสัปดาห์, 28 ตุลาคม พ.ศ. 2548
  3. ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์. คอลัมน์หมายเหตุการณ์. เก็บถาวร 2006-05-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ 15 ฉบับที่ 718 วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2549.
  4. จากบทความใน รัฐศาสตร์สาร ปีที่ 24 ฉบับที่ 3, 2546, อ้างตาม ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์.
  5. สมชาย ปรีชาศิลปกุล, สิทธิการดื้อแพ่งต่อกฎหมาย : ศาสตร์แห่งการไม่เชื่อฟังรัฐ, สำนักพิมพ์ร่วมด้วยช่วยกัน พ.ศ. 2543. ISBN 9748768279
  6. วิรพา อังกูรทัศนียรัตน์, อ่านเอาเรื่อง : รัฐประหาร ทางออกสุดท้ายของการเมืองไทยยุคทักษิณ?[ลิงก์เสีย], นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 260 ปีที่ 22, ตุลาคม พ.ศ. 2549
  7. "ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ ขบวนการเคลื่อนไหวประชาสังคมในต่างประเทศ : บทสำรวจพัฒนาการ สถานภาพและนัยเชิงความคิด/ ทฤษฎีต่อการพัฒนาประชาธิปไตย" ISBN 9748539636 ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร พ.ศ. 2545.
  8. 'อารยะขัดขืน' กับการล้ม 'ระบอบทักษิณ' เก็บถาวร 2007-03-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2549.
  9. สุดสงวน, ภาษายุคสมัยขัดแย้งทางความคิด เก็บถาวร 2008-09-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, นิตยสารสกุลไทย, ฉบับที่ 2693 ปีที่ 52, 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2549
  10. คอลัมน์สยามภาษา เก็บถาวร 2007-03-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับ วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2549.

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]