ข้ามไปเนื้อหา

การบูร (พรรณไม้)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Cinnamomum camphora)
การบูร
การบูร (อบเชยญวน,พรมเส็ง)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
ไม่ได้จัดลำดับ: Angiosperms
ไม่ได้จัดลำดับ: Magnoliids
อันดับ: Laurales
วงศ์: Lauraceae
สกุล: Cinnamomum
สปีชีส์: C.  camphora
ชื่อทวินาม
Cinnamomum camphora
(L.) J.Presl.

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

[แก้]
  • ลำต้น เป็นไม้ยืนขนาดใหญ่ สูงได้ถึง 30 เมตร ทุกส่วนมีกลิ่นหอม โดยเฉพาะที่รากและโคนต้น ทรงพุ่มกว้าง ทึบ ลำต้นมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางถึง 1.5 เมตร
  • เปลือกต้น มีสีน้ำตาล ผิวหยาบ เปลือกกิ่งสีเขียว หรือน้ำตาลอ่อน ลำต้นและกิ่งเรียบ ไม่มีขน เนื้อไม้สีน้ำตาลปนแดง
  • ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปรี หรือรูปรีแกมรูปไข่ กว้าง 2.5-5.5 เซนติเมตร ยาว 5.5-15 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลม โคนใบป้านหรือกลม ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบค่อนข้างเหนียว ด้านบนสีเขียวเข้ม เป็นมัน ด้านล่างสีเขียวอมเทาหรือนวล ไม่มีขน เมื่อขยี้จะมีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นการบูร เส้นใบขึ้นตรงมาจากโคนใบประมาณ 3-8 มิลลิเมตร แล้วแยกออกเป็น 3 เส้น ตรงมุมที่มีเส้นใบแยกออกนั้นมีต่อม 2 ต่อม และตามเส้นกลางใบอาจมีต่อมเกิดขึ้นตรงมุมที่มีเส้นใบแยกออกไป ก้านใบยาว 2-3 เซนติเมตร ไม่มีขน ตาใบมีเกล็ดซ้อนเหลื่อมหุ้มอยู่ เกล็ดชั้นนอกเล็กกว่าเกล็ดชั้นในตามลำดับ
  • ดอก ลักษณะของดอก เป็นช่อแบบแยกแขนงออกตามเป็นกระจุกบริเวณง่ามใบ ดอกเล็กสีขาวอมเหลืองหรืออมเขียว ก้านดอกสั้นมาก กลีบรวมมี 6 กลีบ เรียงเป็น 2 วง วงละ 3 กลีบ รูปรี ปลายมน ด้านนอกเกลี้ยง ด้านในมีขนละเอียด เกสรเพศผู้มี 9 อัน เรียงเป็น 3 วง วงละ 3 อัน อับเรณูของวงที่ 1 และวงที่ 2 หันหน้าเข้าด้านใน ก้านเกสรมีขน ส่วนอับเรณูของวงที่ 3 หันหน้าออกด้านนอก ก้านเกสรค่อนข้างใหญ่ มีต่อม 2 ต่อมอยู่ใกล้โคนก้าน ต่อมรูปไข่กว้างและมีก้าน อับเรณูมีช่องเปิด 4 ช่อง เรียงเป็น 2 แถว แถวละ 2 ช่อง มีลิ้นเปิดทั้ง 4 ช่อง เกสรเพศผู้เป็นหมันมี 3 อัน อยู่ด้านในสุด รูปร่างคล้ายหัวลูกศร มีขนแต่ไม่มีต่อม รังไข่รูปไข่ ไม่มีขน ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ไม่มีขน ปลายเกสรเพศเมียกลม ใบประดับเรียวยาว ร่วงง่าย มีขนอ่อนนุ่ม ออกดอกราวเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม
  • ผล มีลักษณะเป็นรูปไข่ หรือกลม เป็นผลมีเนื้อ ยาว 6-10 มิลลิเมตร มีสีเขียวเข้ม เมื่อสุกเปลี่ยนเป็นสีดำ มีฐานดอกซึ่งเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นแป้นรองรับผล มีเมล็ด 1 เมล็ด

การนำไปใช้ประโยชน์

[แก้]

ประโยชน์ทางยา แก้ปวดท้องจุกเสียด ธาตุพิการ ขับลมในลำใส้ แก้ไอ

- สรรพคุณ

ตำรายาไทย เนื้อไม้ นำมากลั่นจะได้ “การบูร” รสร้อนปร่าเมา ใช้ทาถูนวดแก้ปวด แก้เคล็ดบวม ขัดยอก แพลง แก้กระตุก แก้ปวดข้อ แก้ปวดเส้นประสาท แก้รอยผิวหนังแตก แก้พิษแมลงต่อย และโรคผิวหนังเรื้อรัง เป็นยาระงับเชื้ออย่างอ่อน ขับเหงื่อ ขับเสมหะ ขับปัสสาวะ แก้ไข้หวัด และขับลม บำรุงธาตุ บำรุงกำหนัด ยากระตุ้นหัวใจ บำรุงหัวใจ เป็นยาชาเฉพาะที่ เป็นยาระงับประสาท แก้อาการชักบางประเภท ใช้ผสมเป็นยาเพื่อป้องกันแมลงบางชนิด เปลือกและราก กลั่นได้การบูร ใช้ 1-2 เกรน แก้ปวดขัดตามเส้นประสาท ข้อบวมเป็นพิษ แก้เคล็ดบวม เส้นสะดุ้ง กระตุก ขัดยอกแพลง แก้ปวดท้อง ท้องร่วง ขับน้ำเหลือง แก้เลือดลม บำรุงกำหนัด ขับเหงื่อ ขับเสมะหะ บำรุงธาตุ แก้โรคตา กระจายลม ขับผายลม นำมาผสมเป็นขี้ผึ้ง เป็นยาร้อน ใช้ทาแก้เพื่อถอนพิษอักเสบเรื้อรัง ปวดยอกตามกล้ามเนื้อ สะบักจม ทรวงอก ปวดร้าวตามเส้นเอ็น โรคปวดผิวหนัง รอยผิวแตกในช่วงฤดูหนาว แก้พิษสัตว์กัดต่อย

อ้างอิง

[แก้]

[1] [2]

  1. http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=12
  2. http://www.thaiherbarium.com/main.php?action=viewpage&pid=6