ข้ามไปเนื้อหา

วงศ์ปลาผีเสื้อ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Chaetodontidae)
วงศ์ปลาผีเสื้อ
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: 72–0Ma
ปลาผีเสื้อนกกระจิบ (Chelmon rostratus)
ปลาโนรีครีบยาว (Heniochus acuminatus)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้นใหญ่: Osteichthyes
ชั้น: Actinopterygii
ชั้นย่อย: Neopterygii
ชั้นฐาน: Teleostei
อันดับใหญ่: Acanthopterygii
อันดับ: Perciformes
อันดับย่อย: Percoidei
วงศ์ใหญ่: Percoidea
วงศ์: Chaetodontidae
สกุล
ชื่อพ้อง
  • Chaetodontinae

วงศ์ปลาผีเสื้อ (วงศ์: Chaetodontidae, อังกฤษ: Butterflyfish, Bannerfish, Coralfish) เป็นวงศ์ของปลาทะเลจำพวกหนึ่ง ในชั้นปลากระดูกแข็ง อันดับปลากะพง (Perciformes)

ประกอบไปด้วยสมาชิกแบ่งออกเป็นสกุลต่าง ๆ ได้ 10 สกุล พบประมาณ 114 ชนิด มีลักษณะโดยรวม คือ มีลำตัวสั้น แบนด้านข้าง ปากมีขนาดเล็กอาจยืดหดได้ ภายในปากมีฟันละเอียด ครีบหลังมีอันเดียว ประกอบด้วยก้านครีบแข็งอยู่ส่วนหน้าและก้านครีบอ่อนอยู่ถัดไป ครีบทวารมีก้านครีบแข็ง 3 อัน และแผ่นยื่นรับกับครีบหลัง มีนิสัยเฉื่อยชา ว่ายน้ำหรือเคลื่อนไหวไปอย่างช้า ๆ ไม่ว่องไว มีสีสันและลวดลายที่สดใสสวยงาม มีพฤติกรรมอาศัยเป็นฝูงหรือเป็นคู่ในแนวปะการัง พบแพร่กระจายพันธุ์ในมหาสมุทรแอตแลนติก, มหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิค

เป็นปลาที่ออกหากินในเวลากลางวัน โดยอาศัยการแทะกินสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ตามแนวปะการัง ส่วนในเวลากลางคืนจะอาศัยหลับนอนตามโพรงหินหรือปะการัง และจะเปลี่ยนสีตัวเองให้เข้มขึ้นเพื่ออำพรางตัวจากศัตรู ซึ่งในหลายชนิดและบางสกุล จะมีจุดวงกลมสีดำขนาดใหญ่คล้ายดวงตาอยู่บริเวณท้ายลำตัวเพื่อล่อหลอกให้ศัตรูสับสนได้อีกด้วยคล้ายกับผีเสื้อที่เป็นแมลง

มีการสืบพันธุ์วางไข่โดยการปล่อยไข่ให้ล่องลอยไปตามกระแสน้ำ ก่อนจะรอวันให้ลูกปลาฟักออกมาเป็นตัวและกลับไปอาศัยในแนวปะการังต่อไป ลูกปลาผีเสื้อแทบทุกชนิดมีรูปร่างหน้าตาแทบจะเหมือนกับตัวเต็มวัย โดยมักจะมีจุดบริเวณครีบหลัง และเมื่อลูกปลาโตขึ้นจุดที่ว่านี้ก็จะหายไปเช่นเดียวกับปลาในแนวปะการังอื่น ๆ อีกหลายชนิด

ด้วยความสวยงามและรูปร่างที่น่ารัก จึงทำให้นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม ซึ่งในบางชนิดสามารถฝึกให้กินอาหารสำเร็จรูปได้ หลายชนิดเลี้ยงได้ไม่ยากนัก ขณะที่บางชนิดที่เลี้ยงได้ยาก[1]

สำหรับในน่านน้ำไทยพบปลาในวงศ์ปลาผีเสื้อนี้ไม่ต่ำกว่า 40 ชนิด อาทิ ปลาผีเสื้อนกกระจิบ (Chelmon rostratus), ปลาผีเสื้อทอง (Chaetodon semilarvatus), ปลาผีเสื้อจมูกยาวขอบตาขาว (Forcipiger flavissimus), ปลาโนรีเกล็ด (Heniochus diphreutes) เป็นต้น[2] โดยจะพบในด้านทะเลอันดามันมากกว่าอ่าวไทย

ซึ่งปลาในวงศ์ปลาผีเสื้อนั้น ในอดีตเมื่อเริ่มมีการอนุกรมวิธาน ด้วยลักษณะปากที่ยื่นยาวทำให้มีความเข้าใจผิดว่า สามารถพ่นน้ำจับแมลงได้เหมือนเช่น ปลาเสือพ่นน้ำ (Toxotidae) ซึ่งเป็นปลาน้ำจืด โดยความผิดพลาดเกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1764 เมื่อมีการส่งตัวอย่างปลาในยังกรุงลอนดอนเพื่อลงรูปตีพิมพ์ลงในหนังสือ ปรากฏเป็นภาพของปลาผีเสื้อนกกระจิบ และถูกบรรยายว่าสามารถพ่นน้ำจับแมลงกินเป็นอาหารได้ จึงถูกกล่าวอ้างต่อมาอย่างผิด ๆ อีกนาน[3]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ปลาผีเสื้อ (BUTTERFLY FISH) ตอน 2". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-06-13. สืบค้นเมื่อ 2011-09-13.
  2. "ปลาผีเสื้อ (BUTTERFLY FISH) ตอน 1". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-06-13. สืบค้นเมื่อ 2011-09-13.
  3. ภวพล, คอลัมน์ Blue Planet จิ๊บ...จิ๊บ...นกกระจิบใต้ทะเล หน้า 102-106 นิตยสาร Aquarium Biz ปีที่ 1 ฉบับที่ 5: พฤศจิกายน 2010

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]