ข้ามไปเนื้อหา

ปราสาท

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Castle)
ปราสาทคาร์คาโซนในฝรั่งเศส

ปราสาท คือสิ่งก่อสร้างที่ใช้ในการป้องกันข้าศึกซึ่งเป็นสัญลักษณ์หลักของสมัยกลาง ความหมายของคำว่าปราสาทยังเป็นที่ถกเถียงกันในหมู่นักวิชาการถึงความหมายที่แท้จริง แต่โดยทั่วไปแล้วปราสาทมีความหมายต่างจากคำว่า “ป้อม” (fort) และ “ป้อมปราการ” (fortress) ตรงที่ปราสาทเป็นที่ประทับหรือที่พำนักของพระมหากษัตริย์หรือขุนนางในบริเวณที่เป็นจุดที่ต้องมีการป้องกันจากข้าศึก

สิ่งก่อสร้างที่เป็นที่มาของปราสาทคือป้อมโรมัน (Roman fort) และ ป้อมเนิน (Hill fort) ที่สร้างกันทั่วยุโรปที่มาจากคริสต์ศตวรรษที่ 9 ในสมัยจักรวรรดิการอแล็งเฌียง แต่การวิวัฒนาการของปืนใหญ่และดินปืนในคริสต์ศตวรรษที่ 13 เป็นการเปลี่ยนลักษณะการสงครามในยุโรปและทำให้สมรรถภาพของปราสาทในการใช้เป็นสิ่งป้องกันการโจมตีจากข้าศึกลดลง และทำให้การสร้างป้อมเป็นที่นิยมกันมากขึ้น

สิ่งก่อสร้างในรัสเซียที่เรียกว่า “เคร็มลิน” (Kremlin) หรือในญี่ปุ่นที่เรียกว่า “ชิโร” (Shiro) ก็ถือว่าเป็นปราสาท

คำจำกัดความ

[แก้]

ที่มาของความหมาย

[แก้]
“หอขาว” ของนอร์มัน, ตัวตึกหลักของปราสาท (keep) ของหอคอยแห่งลอนดอนเป็นตัวอย่างของการใช้ปราสาทในการเป็นสถานที่ในการป้องกันข้าศึก, ในการเป็นที่อยู่อาศัย และในการเป็นที่หลบภัยในยามที่เกิดวิกฤติกาล
อาลัมบราแบบมัวร์ในสเปนเป็นตัวอย่างของปราสาทที่วิวัฒนาการมาเป็นวังหลังจากการเรกองกิสตา (Reconquista)

คำว่าปราสาทในภาษาอังกฤษ “Castle” มาจากภาษาละติน “Castellum” แปลงเป็น “castrum” ที่แปลว่า “สิ่งก่อสร้างที่สร้างเสริม” ในภาษาอังกฤษเก่า ปราสาทใช้คำว่า “castel”, ภาษาฝรั่งเศส “château”, ภาษาสเปน “castillo”, ภาษาอิตาลี castel “castello” และภาษายุโรปอื่น ๆ ต่างก็มาจากคำว่า “castellum”[1] คำว่า “castle” เข้ามาในภาษาอังกฤษไม่นานก่อนที่นอร์มันจะได้รับชัยชนะต่ออังกฤษ ที่หมายถึงสิ่งก่อสร้างที่เป็นป้อมที่ในขณะนั้นยังใหม่สำหรับอังกฤษ เป็นคำที่นำเข้ามาใช้โดยขุนนางนอร์มันที่สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดผู้สารภาพนำตัวเข้ามาในอังกฤษและส่งไปแฮรฟอร์ดเชอร์เพื่อต่อต้านการรุกรานของเวลส์

ภาษาฝรั่งเศสเรียกปราสาทว่า “Château-Fort” ถ้าเรียกใช้เพียงคำว่า “Château” ก็จะเป็นเพียงสิ่งก่อสร้างที่เป็นวัง หรือคฤหาสน์ชนบทที่ตั้งอยู่กลางบริเวณใหญ่ที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยของชนชั้นปกครองหรือผู้มีอันจะกินเท่านั้นโดยไม่มีประโยชน์ในการใช้สอยทางการทหารแต่อย่างใด ต่อมาปราสาทในยุโรปวิวัฒนาการและขยายให้ใหญ่โตขึ้นเพื่อใช้ในการเป็นที่อยู่อาศัยอย่างหรูหราในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 ฉะนั้นบางปราสาทก็ยังรักษาชื่อว่าเป็นปราสาทอยู่ ทั้ง ๆ ที่การต่อเติมใหม่เป็นการทำให้ไม่มีประโยชน์ทางการทหารแล้ว ในสเปนขณะที่ “Castile” ใช้สำหรับปราสาท แต่สิ่งก่อสร้างที่สร้างเสริมสำหรับการป้องกันข้าศึกยังคงใช้ชื่อมัวร์ว่า “alcázar” ขณะที่ “ชิโร” เป็นคำที่ใช้กันในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นที่เป็นที่พำนักของไดเมียว ในเยอรมนีคำสำหรับปราสาทมีสองคำ “burg” และ “schloss” “burg” หรือปราสาท เป็นสิ่งก่อสร้างจากสมัยกลางที่มีประโยชน์ทางการทหาร ขณะที่ “schloss” หรือวังหมายถึงสิ่งก่อสร้างหลังยุคกลางเป็นที่อยู่อาศัยโดยไม่มีประโยชน์ทางการทหาร

ลักษณะของปราสาท

[แก้]

ตามความหมายอย่างกว้าง ๆ ความหมายของคำว่าปราสาทที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปในบรรดานักวิชาการคือเป็น “ที่อยู่อาศัยส่วนบุคคลที่มีการสร้างเสริมระบบป้องกัน”[2] ซึ่งไม่เหมือนกับค่ายของแองโกล-แซ็กซอน หรือ กำแพงเมือง เช่นที่คอนสแตนติโนเปิล และ อันติโอคในตะวันออกกลาง ปราสาทมิใช่ระบบการป้องกันของประชาคม แต่เป็นสิ่งก่อสร้างที่สร้างและเป็นของลอร์ดของระบบเจ้าขุลมูลนาย ที่อาจจะเป็นของตนเองหรือปกครองในนามของพระมหากษัตริย์[3] ระบบเจ้าขุลมูลนายเป็นระบบของความสัมพันธ์ระหว่างเจ้านายและผู้อยู่ในฐานะบริวาร (vassal) ผู้ทำหน้าที่เป็นทหารเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับการได้รับที่ดินที่ใช้ในการทำมาหากิน[4] ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 ก็มีแนวโน้มที่จะสร้างคำจำกัดความของปราสาทกันขึ้นใหม่ที่รวมทั้งกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับระบบเจ้าขุลมูลนายเพื่อที่จะให้ลงตัวกับความเป็นอยู่และระบบของยุคกลาง แต่คำจำกัดความดังว่าก็มิได้สะท้อนถึงสิ่งที่ผู้คนในยุคกลางเรียกว่าปราสาท ระหว่างสงครามครูเสดครั้งที่ 1 (ค.ศ. 1096ค.ศ. 1099) กองทัพแฟรงค์เรียกที่ตั้งถิ่นฐานที่ล้อมรอบด้วยกำแพง หรือ ป้อมว่าปราสาท ที่เมื่อใช้กฎเกณฑ์ตามหลักที่วางไว้ในปัจจุบันแล้วก็จะไม่ถือว่าเป็นปราสาท[2]

ปราสาทใช้ประโยชน์ได้หลายประการ แต่ประโยชน์ที่สำคัญที่สุดคือในทางการทหาร, ในการเป็นสถานที่สำหรับการบริหาร, และในการเป็นที่อยู่อาศัย นอกจากการเป็นสถานที่ใช้ในกันป้องกันจากการโจมตีของข้าศึกแล้ว ในขณะเดียวกันปราสาทก็ใช้เป็นที่มั่นในการบริหารเมื่อตั้งอยู่ในดินแดนของศัตรูด้วย การใช้ปราสาทเป็นเครื่องมือทั้งในการป้องกันและโจมตีข้าศึกจะเห็นได้จากการสร้างปราสาทโดยนอร์มันเมื่อมารุกรานอังกฤษ ในการกำราบประชากรของชนชาติที่ทำการพิชิตจากการก่อความไม่สงบได้[5] เมื่อสมเด็จพระเจ้าวิลเลียมที่ 1 แห่งอังกฤษทรงเดินทัพคืบหน้าเข้าไปในดินแดนอังกฤษหลังจากที่ทรงพิชิตดินแดนในปี ค.ศ. 1066 ได้แล้ว พระองค์ก็จำเป็นต้องก่อสร้างปราสาทในจุดสำคัญทางยุทธศาสตร์ตามขึ้นไปเป็นระยะ ๆ เพื่อสร้างความมั่นคงในดินแดนที่ทรงยึดมาได้ภายในครอบครอง ระหว่างปี ค.ศ. 1066 ถึง ค.ศ. 1087 พระเจ้าวิลเลียมก็ทรงก่อสร้างปราสาททั้งหมดราว 36 ปราสาทที่รวมทั้งปราสาทวอริคซึ่งเป็นปราสาทที่ก่อสร้างขึ้นเพื่อใช้ในการป้องกันการก่อความไม่สงบในบริเวณอังกฤษมิดแลนด์ส (English Midlands) [6][7]

ปราสาทของนอร์มันไม่เหมือนค่าย (Burh) ของแองโกล-แซ็กซอน ที่เป็นชุมชนที่มีสิ่งก่อสร้างรอบที่ใช้ในการป้องกันต้นเอง แต่เป็นปราสาทเป็นสิ่งก่อสร้างที่เป็นของเจ้าของปราสาทเท่านั้นไม่ใช่ของชุมชนที่มาพำนักอาศัยอยู่ภายใน[8] เมื่อมาถึงปลายยุคกลางประโยชน์ของปราสาททางการทหารก็ลดถอยลงไปเป็นลำดับเพราะการวิวัฒนาการของปืนใหญ่ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น[9] แต่ความสำคัญในการเป็นที่พำนักอาศัย และ ในการแสดงฐานะของผู้เป็นเจ้าของเพิ่มมากขึ้น[10]

บางครั้งคำว่าปราสาทก็ใช้กันในความหมายที่ไม่ถูกต้องนักกับโครงสร้างเช่นระบบการป้องกันของยุคเหล็ก เช่น ปราสาทเมดเดน, ดอร์เซ็ท ในอังกฤษ[11] ปราสาทอาจจะใช้เป็นที่มั่นหรือที่จำขังนักโทษด้วยเช่นในหอคอยแห่งลอนดอน[12] แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นสถานที่ที่เจ้าของปราสาทใช้ในการเลี้ยงรับรองแขกด้วย การใช้ปราสาทในกิจการต่าง ๆ ดังกล่างทำให้ปราสาทต่างจากป้อมตรงที่ป้อมมักจะใช้ในทางการป้องกันทหารเท่านั้น แม้ว่าความหมายของปราสาทจะเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป แต่คำว่า “ปราสาท” บางครั้งก็จะหมายถึง “เนินปราสาท” (Citadel) หรือปราสาทสมัยใหม่ที่จงใจสร้างในรูปทรงของปราสาทในยุคกลางด้วยก็ได้เช่นปราสาทนอยชวานชไตน์ในบาวาเรียที่สร้างโดยพระเจ้าลุดวิกที่ 2 แห่งบาวาเรีย ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้น

องค์ประกอบโดยทั่วไปของปราสาท

[แก้]

เนินดิน

[แก้]
ปราสาทชิซอร์ (Château de Gisors) เป็นปราสาทเนินที่มีหอกลางหลายเหลี่ยมอยู่บนเนินล้อมรอบด้วยกำแพงสูงบนเนินดินที่สร้างขึ้น ในฝรั่งเศส

เนินดิน หรือ “Motte” เป็นเนินดินที่ตอนบนราบที่มักจะเป็นเนินดินที่สร้างขึ้น แต่บางครั้งก็อาจจะใช้ภูมิลักษณ์ธรรมชาติที่มีอยู่แล้วเป็นส่วนประกอบ การสร้างเนินดินทำให้เกิดร่องกว้างลึกรอบเนินซึ่งกลายเป็นระบบป้องกันขึ้นอีกชั้นหนึ่ง น้ำในคูก็อาจจะมาจากการเบี่ยงทิศทางของลำน้ำที่อยู่ใกล้เคียง “Motte” และ “Moat” (คู) ต่างก็แผลงมาจากภาษาฝรั่งเศสเก่าที่แสดงให้เห็นว่าองค์ประกอบทั้งสองอย่างนี้ขึ้นต่อกันในด้านการก่อสร้าง

คำว่า “Motte” มักจะเกี่ยวกับคำว่า “bailey” ที่หมายถึงลานที่มีกำแพงล้อมรอบ รวมกันแล้วเป็น “motte-and-bailey” หรือ ปราสาทเนิน แต่ก็ไม่เป็นความจริงเสมอไปเพราะบางครั้งปราสาทก็อาจจะมีแต่เนินดินโดยไม่มีลาน “Motte” หมายถึงเนินดินเท่านั้นแต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะมีสิ่งก่อสร้างที่ใช้ในการป้องกันข้าศึกอยู่บนยอดเนินเช่นหอกลาง และบางครั้งอาจจะล้อมรอบด้วยกำแพงระเนียด[13] โดยปกติแล้วทางเข้าปราสาทจะเชื่อมโดยสะพานชัก เช่นตัวอย่างที่ปรากฏในภาพบนผ้าปักบายูของปราสาทดินอง[14] บางครั้งปราสาทเนินก็อาจจะตั้งอยู่เหนือปราสาทเดิม หรือ ห้องโถง ที่กลายมาเป็นห้องเก็บของใต้ดิน หรือเป็นที่จำขัง ในหอกลางที่สร้างขึ้นใหม่บนเนิน[15]

ลานปราสาทและปราสาทชั้นใน

[แก้]
บริเวณปราสาทชั้นในรอบหอกลางที่แวงแซนน์

ลานปราสาท หรือ “bailey” หรือ “ward” เป็นบริเวณลานภายในปราสาทที่มีระบบป้องกันล้อมรอบและเป็นองค์ประกอบที่พบเสมอในการสร้างปราสาทที่อย่างน้อยก็จะมีอยู่หนึ่งบริเวณ หอกลางที่ตั้งอยู่บนเนินดินเป็นที่อยู่อาศัยของประมุขผู้ครองปราสาทและเป็นระบบป้องกันด่านสุดท้ายของปราสาท ขณะที่ลานรอบตัวปราสาทจะเป็นที่ตั้งของบ้านเรือนของผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับปราสาท และ เป็นบริเวณที่ได้รัการคุ้มครองจากอันตรายภายนอก ค่ายสำหรับทหาร, โรงม้า, โรงช่าง และ โรงเก็บเสบียงก็มักจะตั้งอยู่ในบริเวณนี้ น้ำใช้ก็จะมาจากบ่อหรือแหล่งเก็บน้ำใต้ดิน เมื่อเวลาผ่านไปความสำคัญของปราสาทก็ย้ายหอกลางมาเป็นบริเวณรอบตัวปราสาท ที่ทำให้เกิดการสร้างลานปราสาทขึ้นอีกชั้นหนึ่งที่มีระดับสูงกว่าสำหรับเป็นที่พักและชาเปลสำหรับลอร์ดแห่งปราสาท ที่ต่างจากสิ่งก่อสร้างอื่นเช่นค่ายทหาร หรือ โรงช่าง[16] ตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 12 ขุนนางก็เริ่มย้ายออกจากบ้านเรือนหรือที่พักอาศัยขนาดย่อมในบริเวณลานปราสาทไปตั้งที่อยู่ใหม่นอกตัวปราสาท ที่เป็นที่อยู่อาศัยที่มีระบบป้องกันของตนเอง (fortified house) ไกลออกไปในชนบท[17] แม้ว่าลานปราสาทมักจะเกี่ยวข้องกับเนินและปราสาท แต่บริเวณรอบตัวปราสาทก็อาจจะเป็นบริเวณอิสระที่มีระบบป้องกันเป็นของตนเอง ระบบป้อมปราการแบบง่าย ๆ ที่ว่านี้เรียกว่า “เนินวงแหวน” (Ringwork)[18] ปราสาทชั้นในเป็นระบบการป้องกันอันสำคัญของปราสาท ปราสาทหนึ่งอาจจะมี บริเวณภายในปราสาทหลายบริเวณ แต่อาจจะมีบริเวณรอบตัวหอกลางเพียงบริเวณเดียว แต่ปราสาทที่ไม่มีหอกลางที่ต้องพึ่งระบบป้องกันจากภายนอกบางครั้งก็จะเรียกว่า “enceinte castles”[19] ซึ่งเป็นลักษณะของการก่อสร้างปราสาทในสมัยแรก การสร้างหอกลางมาเริ่มกันในคริสต์ศตวรรษที่ 10[20]

หอกลาง

[แก้]
“หอกลาง” แบบนอร์มัน ของปราสาทรอเชสเตอร์ในอังกฤษ
กำแพงป้องกันเมืองคาร์คาโซนในฝรั่งเศสที่แสดงให้เห็นกำแพงระหว่างหอสองหอที่เรียกว่ากำแพงม่าน

คือหอใหญ่ที่มักจะเป็นสิ่งก่อสร้างที่ได้รับการป้องกันอย่างดีที่สุดของปราสาทก่อนที่จะมีการใช้ระบบการป้องกันแบบกำแพงวงซ้อน (concentric defence) “keep” หรือหอกลางมิใช่คำที่ใช้กันในยุคกลาง แต่มาเริ่มใช้กันตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา ก่อนหน้านั้นหอกลางมักจะเรียกว่า “donjon[21] หรือ “turris” ในภาษาละติน ในปราสาทแบบเนินดิน-และ-ลานปราสาท (motte-and-bailey castle) หอกลางจะตั้งอยู่บนเนิน[13] “Dungeon” ในภาษาอังกฤษเป็นคำที่แผลงมาจากคำว่า “donjon” ที่แปลว่าคุกที่มืดสกปรก[22] แม้ว่าหอกลางจะเป็นสิ่งก่อสร้างที่แข็งแรงที่สุดของตัวปราสาท และเป็นที่หลบภัยที่สุดท้ายเมื่อข้าศึกสามารถทลายกำแพงชั้นนอกเข้ามาได้ แต่หอกลางก็มิได้ถูกทิ้งไว้แต่จะใช้เป็นที่อยู่อาศัยของเจ้าของปราสาท หรือ แขก หรือ ผู้สำเร็จราชการ[23] เดิมหอกลางมักจะใช้กันเฉพาะในอังกฤษ หลังจากการพิชิตอังกฤษโดยนอร์มันในปี ค.ศ. 1066 ผู้พิชิตต้อง “ดำรงชีวิตอยู่ด้วยความหวั่นกลัวต่อภัยของการรุกรานอยู่เป็นเวลานาน”[24] ในภูมิภาคอื่นภรรยาของเจ้าของปราสาทอาจจะมีที่อยู่อาศัยต่างหากที่ไม่ไกลจากหอกลาง และ “donjon” ใช้เป็นค่ายทหารและศูนย์กลางของการบริหารปราสาท ในเวลาต่อมาการใช้สอยทั้งสองอย่างก็กลายมาทำด้วยกันในสิ่งก่อสร้างเดียวกัน และชั้นบนสุดอาจจะมีหน้าต่างกว้าง ซึ่งทำให้การบรรยายการใช้สอยของส่วนต่าง ๆ ยากที่จะบรรยาย[25] ในปัจจุบันหอกลางที่เห็นกันว่าเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ อันที่จริงแล้วซอยเป็นห้องย่อย ๆ โดยการใช้ฉากเช่นเดียวกับห้องโถงทำงานสมัยใหม่ แม้แต่ปราสาทใหญ่ ๆ บางแห่ง “โถงเอก” (great hall) ของปราสาทก็อาจจะแยกจากห้องนอนและห้องทำงานของเจ้าของปราสาทเพียงการใช้ฉากกั้น[26]

กำแพงม่าน

[แก้]

กำแพงม่านเป็นกำแพงป้องกันที่ล้อมรอบลานปราสาทภายใน กำแพงต้องมีความสูงพอที่ไม่ให้ข้าศึกปีขึ้นด้วยบันไดทำได้ง่าย และต้องมีความหนาพอที่จะทนทานแรงระเบิดของเครื่องมือกลไกต่าง ๆ ที่ใช้ในการทำลายกำแพงได้ ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมาอาวุธที่ใช้ก็รวมทั้งระเบิด โดยทั่วไปแล้วกำแพงก็จะหนาราว 3 เมตร และสูงราว 12 เมตร แต่ก็ต่างกันไปมากแล้วแต่ที่ตั้ง กำลังทรัพย์ และความสำคัญของปราสาท

การป้องกันจากการพยามระเบิดกำแพงจากภายใต้ของข้าศึก กำแพงม่านก็อาจจะเสริมด้วยฐานที่บานออกไปคล้าย “กระโปรง” ทางเดินบนกำแพงทำให้ผู้ป้องกันปราสาทสามารถใช้ในการป้องกันข้าศึกได้ด้วยการยิงด้วยศรลงมายังข้าศึกที่พยายามปีนขึ้นมา นอกนั้นตอนบนก็อาจจะสร้างเป็นเชิงเทินที่มีลักษณะเป็นใบสอ และมีป้อมเป็นระยะ ๆ ที่ใช้ในการระดมยิงข้าศึกตามแนวกำแพงได้สะดวก[27] ช่องธนูมิได้มีขึ้นจนกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 13 เพราะความกลัวที่ว่าอาจจะทำให้กำแพงไม่แข็งแรงเท่าที่ควร[28]

คูปราสาท

[แก้]
ปราสาท Caerlaverock ที่พรมแดนอังกฤษ/สกอตแลนด์มองจากอากาศ

คือร่องน้ำกว้างและลึกที่อาจจะเป็นคูแห้งหรือที่มีน้ำขังที่ขุดขึ้นรอบปราสาทก็ได้ ที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นระบบการป้องกันจากการโจมตีจากบุคคลภายนอก การมีคูทำให้ยากต่อการเข้าโจมตีกำแพง หรือการใช้อาวุธที่ช่วยในการปีนกำแพงเช่นหอล้อมเมืองเคลื่อนที่ (siege tower) หรือ ไม้กระทุ้งกำแพง (Battering ram) ซึ่งเป็นอาวุธที่ต้องนำมาจ่อที่กำแพงจึงจะใช้ได้ นอกจากนั้นคูที่เป็นน้ำยังทำให้ยากต่อการพยายามขุดอุโมงค์ภายใต้กำแพงเพื่อทำการระเบิดทลายกำแพงได่อย่างมีประสิทธิภาพ

คูน้ำมักจะพบในบริเวณที่เป็นที่ลุ่มและมักจะเชื่อมกับแผ่นดินด้วยสะพานชัก ที่ต่อมามักจะสร้างแทนด้วยสะพานหิน นอกจากการสร้างคูแล้ว ปราสาทอาจจะตั้งอยู่บนเกาะเล็ก ๆ ที่มีน้ำล้อมรอบที่ก็ใช้เป็นระบบการป้องกันเช่นกัน[29] ต่อมาการสร้างคูน้ำก็ยิ่งวิวัฒนาการขึ้นอย่างสลับซับซ้อนเช่นระบบป้องกันของปราสาทแคร์ฟิลลีในเวลส์ หรือที่ปราสาทเคนิลเวิร์ธอันมีระบบคูน้ำป้องกันที่ใช้เขื่อนควบคุมการไหลเวียนของน้ำ

ปราสาทที่มีคูหรือล้อมรอบด้วยทะเลสาบเทียมเป็นสิ่งที่นิยมสร้างกันในอังกฤษ, สกอตแลนด์ และ เวลส์, กลุ่มประเทศแผ่นดินต่ำ, เยอรมนี, ออสเตรีย และเดนมาร์ก

ในสมัยต่อมาเมื่อปราสาทเปลี่ยนไปเป็นวังหรือคฤหาสน์ที่ไม่มีประโยชน์ใช้สอยทางด้านการป้องกันทางการทหารแล้ว แต่เป็นสถานที่สำหรับรับแขกและเป็นที่พำนักอาศัย คูรอบปราสาทหรือทะเลสาบก็กลายมาเป็นสิ่งตกแต่งแทนที่ แม้มาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 17 การก่อสร้างวังเพื่อความสำราญก็ยังคงสร้างให้มีคูล้อมรอบ เช่นคฤหาสน์โวซ์-เลอ-วิคงต์ที่ยังคงล้อมรอบด้วยคูน้ำแบบโบราณที่แยก “ประธานมณฑล” และเชื่อมด้วยสะพาน

อ้างอิง

[แก้]
  1. Creighton & Higham 2003, p. 6.
  2. 2.0 2.1 "a private fortified residence".Coulson 2003, p. 16.
  3. Liddiard 2005, pp. 15–17.
  4. Herlihy 1970, p. xvii–xviii.
  5. Friar 2003, p. 47.
  6. Liddiard 2005, p. 18.
  7. Stephens 1969, pp. 452–475.
  8. Liddiard 2005, pp. 15–17.
  9. Duffy 1979, pp. 23–25.
  10. Liddiard 2005, pp. 2, 6–7.
  11. Creighton & Higham 2003, pp. 6–7.
  12. Wilkinson, Philip (1997). Castles (Pocket Guides). DK Children. ISBN 0789420473.
  13. 13.0 13.1 Friar 2003, p. 214.
  14. Cathcart King 1988, pp. 55–56.
  15. Barthélemy 1988, p. 397.
  16. Friar 2003, p. 22.
  17. Barthélemy 1988, pp. 408–410, 412–414.
  18. Friar 2003, pp. 214, 216.
  19. Friar 2003, p. 105.
  20. Barthélemy 1988, p. 399.
  21. Friar 2003, p. 163.
  22. Cathcart King 1988, p. 188.
  23. Cathcart King 1988, p. 190.
  24. Barthélemy 1988, p. 402.
  25. Barthélemy 1988, pp. 402–406.
  26. Barthélemy 1988, pp. 416–422.
  27. Friar 2003, p. 86.
  28. Cathcart King 1988, p. 84.
  29. Friar 2003, p. 208.

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ปราสาท

ระเบียงภาพ

[แก้]