จอมโจรจักรยาน
จอมโจรจักรยาน (อังกฤษ: The Bicycle Thief, Bicycle Thieves; อิตาลี: Ladri di biciclette) เป็นภาพยนตร์ขาวดำสัญชาติอิตาเลียน ออกฉายในปี ค.ศ. 1949 กำกับโดย วิตตอริโอ เดอ ซิกา ความยาว 89 นาที
เนื้อเรื่อง
[แก้]กรุงโรม ประเทศอิตาลี ในปี ค.ศ. 1949 เศรษฐกิจกำลังตกต่ำอย่างหนัก ผู้คนตกงานเป็นทิวแถว อันโตนิโอ (ลุมแบร์โต แมกจิโอรานี) พ่อลูก 2 เพิ่งได้งานทำใหม่ เป็นงานติดโปสเตอร์ตามกำแพง ซึ่งงานนี้จำเป็นต้องมีจักรยานเท่านั้น หากไม่มี ก็คือ ตกงานได้เลย
อันโตนิโอ และ บรูโน่ (เอนโซ สตาอิโอลา) ลูกชายคนโต ได้ออกทำงานด้วยความมีความหวังที่จะลืมตาอ้าปากได้ แต่ทว่าเพียงเริ่มงานวันแรก จักรยานของอันโตนิโอก็ถูกขโมยไปทันที อันโตนิโอตามไป แต่ไม่อาจตามหัวขโมยได้ทัน เขาออกตามหาและขอความช่วยเหลือจากเพื่อน ๆ หลายคน แต่ก็ไม่มีร่องรอย กลับกันอันโตนิโอและบรูโนกลับถูกสังคมทำร้าย ทั้ง ๆ ที่เขาไม่ใช่คนพิการทุพพลภาพ ไม่เคยทำความดีงามให้ปรากฏ หรือสังคมไม่เคยติดหนี้เขา เขาเป็นเพียงคนธรรมดา ๆ ที่ไม่เคยเรียกร้องความเห็นใจจากสังคม เพราะรู้ตัวดีว่าไม่อาจทำเช่นนั้นได้หรือทำไปแล้วก็ไม่ได้ผล แต่เมื่อเขาประสบชะตากรรรม สังคมกลับไม่แยแสเขา
ปรากฏการณ์ภาพยนตร์
[แก้]The Bicycle Thief เป็นภาพยนตร์ขาวดำในสไตล์นีโอเรียลลิสต์ ที่ดำเนินเรื่องแบบสารคดี มีโดดเด่นในการกำกับภาพและดนตรีประกอบ ซึ่งดนตรีประกอบในเรื่องได้กลายมาเป็นดนตรีประกอบในภาพยนตร์หรือสารคดีหลายเรื่องในภายหลัง จนถึงปัจจุบัน ได้รับยกย่องว่าเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ดีที่สุดตลอดกาลของโลกเรื่องหนึ่ง และเป็นแรงบันดาลใจให้กับฉากหลายฉากในภาพยนตร์ชั้นหลัง
ภาพยนตร์ได้รับรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมในปี ค.ศ. 1949 แสดงโดยนักแสดงที่เป็นคนทั่วไปจริง ๆ ไม่ใช่นักแสดงอาชีพ
ระหว่างที่อันโตนิโอและบรูโน ออกตามหาจักรยาน ทั้งคู่ต้องเผชิญกับหลายสถานการณ์ ภาพยนตร์ได้วิพากษ์แง่มุมต่าง ๆ ในสังคม ทั้งความเฉยเมยของตำรวจ ความเข้มงวดจนไร้น้ำใจของศาสนา สภาพความเป็นอยู่ที่เหมือนไม่ใช่คนของคนแถบชานเมือง โดยให้ปฏิกิริยาต่าง ๆ มุ่งไปที่ปัญหาของชายคนเดียว ทั้ง ๆ เรื่องเริ่มต้นขึ้นมาอย่างง่าย ๆ แต่กลายเป็นโศกนาฏกรรมที่สะเทือนใจคนดูได้ อีกทั้ง ยังแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ทั้งความสัมพันธ์ระหว่างอันโตนิโอกับลูก จากความอบอุ่นที่มีให้กันจนถึงขั้นสุดท้ายที่บรูโนได้เติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ จากการตามหาจักรยานกับพ่อเพียงแค่ชั่วระยะเวลาสั้น ๆ เพราะได้เรียนรู้ถึงความจริงที่โหดร้ายของสังคม
นอกจากนี้แล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล สร้างภาพยนตร์ไทยเรื่อง ทองพูน โคกโพ ราษฎรเต็มขั้น ที่แสดงโดยจตุพล ภูอภิรมย์ เมื่อปี 2520 อีกด้วย
อ้างอิง
[แก้]- หนังสือ หนังคลาสสิก (The Great Movies) แปลและเรียบเรียงเป็นภาษาไทย โดย กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน
- ปัญหาในหนังสะท้อนปัญหาสังคมของท่านมุ้ย จากสารคดี