ข้ามไปเนื้อหา

มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Australian National University)
มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย
ชื่อย่อANU
คติพจน์Naturam Primum Cognoscere Rerum
("First, to learn the nature of things")
(ไทย: "เหนือสิ่งอื่นใด จงเรียนรู้ธรรมชาติของสรรพสิ่ง")
ประเภทมหาวิทยาลัยรัฐ
สถาปนาค.ศ. 1946
นายกสภาฯDr Allan Hawke
ที่ตั้ง
เว็บไซต์www.anu.edu.au

มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (อังกฤษ: The Australian National University หรือ ANU) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1946 ตั้งอยู่ ณ กรุงแคนเบอร์รา เมืองหลวงของประเทศออสเตรเลีย มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียมีความโดดเด่นในด้านวิชาการและการวิจัยเป็นหลัก และถูกจัดให้เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่ดีที่สุดในทวีปออสเตรเลียและในซีกโลกใต้[1] นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มมหาวิทยาลัยชั้นนำ 8 แห่งของออสเตรเลีย (Group of Eight), สมาคมมหาวิทยาลัยภาคพื้นแปซิฟิก (Association of Pacific Rim Universities) และ พันธมิตรมหาวิทยาลัยด้านการวิจัยระหว่างประเทศ (International Alliance of Research Universities)

ประวัติ

[แก้]

มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. 1946 โดยรัฐบาลออสเตรเลีย ในฐานะเป็นมหาวิทยาลัยของประเทศที่ทุ่มเทในด้านการวิจัยเป็นหลัก อันปรากฏอยู่ในภารกิจของมหาลัยที่จะพัฒนาการวิจัยระดับหลังปริญญาตรี เพื่อสนองตอบต่อและที่มีความเกี่ยวข้องกับสาขาที่มีความสำคัญต่อออสเตรเลียในด้านต่างๆ ในปี ค.ศ. 1960 มหาวิทยาลัยได้ขยายการเรียนการสอนให้ครอบคลุมระดับปริญญาตรี โดยควบรวมกับ Canberra University College อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยคงแยกการดำเนินงานของทั้งสองส่วนต่อไป โดยให้สถาบันการศึกษาขั้นสูง (Institute of Advanced Studies) เน้นการวิจัยและการศึกษาระดับหลังปริญญาตรีต่อไป และให้คณะต่าง ๆ จัดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรีเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนั้น ยังจัดตั้งวิทยาลัย และศูนย์การศึกษาเฉพาะทางขึ้นอีกหลายแห่งในภายหลังเช่นกัน มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียเป็นมหาวิทยลัยแห่งเดียวในประเทศที่มีธรรมนูญและโครงสร้าง ซึ่งกำหนดตามพระราชบัญญัติแห่งสภาเครือจักรภพ (Act of the Commonwealth Parliament) ซึ่งต่างจากมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งอื่นที่จัดตั้งตามรัฐบัญญัติของแต่ละรัฐหรือสภารัฐเท่านั้น

โครงสร้างการจัดการศึกษา

[แก้]

โครงการการจัดหน่วยการเรียนการสอนและการศึกษาวิจัยของ ANU มีความซับซ้อนพอสมควร[1] เนื่องมาจากประวัติศาสตร์การพัฒนาการของมหาวิทยาลัย เดิมทีมหาวิทยาลัยจัดการศึกษาเป็น 3 ส่วนหลัก คือ สถาบันการศึกษาขั้นสูง (บัณฑิตวิทยาลัยการวิจัยต่าง ๆ) คณะ และหน่วยการศึกษาอื่น ๆ (เช่น บัณฑิตวิทยาลัย ศูนย์วิจัย ศูนย์ศึกษาต่าง ๆ) อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2006 เป็นต้นมา มหาวิทยาลัยได้พยายามจัดหมวดหมู่หน่วยการเรียนการสอนและการวิจัยต่าง ๆ ทั่ว ANU ที่เน้นศึกษาและสอนในสาขาวิชาใกล้เคียงหรือในอาณาบริเวณศึกษาเดียวกัน ที่มีอยู่อย่างกระจัดกระจายทั้งในสถาบันการศึกษขั้นสูง คณะ และหน่วยการศึกษาอื่น ๆ เพื่อให้เกิดการประสานงานและร่วมมือกันในการดำเนินงานทางการศึกษาวิจัยในทุกระดับให้เป็นเอกภาพ และเป็นไปในทิศทางที่เหมาะสมต่อการแข่งขันในโลกปัจจุบันมากยิ่งขึ้น ด้วยการจัดตั้งระบบสหวิทยาลัย[2]ขึ้น เพื่อเป็นหน่วยการบริหารงานที่นำเอาหน่วยการศึกษาวิจัยต่าง ๆ มาร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด

สหวิทยาลัย

[แก้]

การก่อตั้งระบบสหวิทยาลัย (Colleges) เพิ่งริเริ่มได้ไม่นานมานี้ โดยค่อย ๆ เริ่มการประสานงานกันตั้งแต่ปี 2006 จนเป็นรูปธรรมมากขึ้นในปีถัดมา และมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารใหม่อีกครั้งในปี 2017[3][4] ในปัจจุบัน มีสถาบันวิจัย คณะ และศูนย์ต่าง ๆ เข้ามาอยู่ภายในสหวิทยาลัยทั้ง 7 แห่ง และคาดว่าระบบสหวิทยาลัยนี้จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการบริหารการศึกษาต่อไป เพื่อให้การวิจัยและการเรียนการสอนในสาขาวิชาที่ใกล้เคียงกันมีการร่วมมือ และแบ่งสรรการใช้ทรัพยาการร่วมกัน โดยเฉพาะบุคลากรทางวิชาการ ให้มีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางวิชาการและมุ่งสู่ความเป็นเลิศต่อไป ปัจจุบันประกอบด้วย

  • สหวิทยาลัยสุขภาพและการแพทย์ (ANU College of Health and Medicine) ประกอบด้วย สำนักวิชาแพทยศาสตร์ สำนักวิชาการวิจัยด้านการแพทย์ จอห์น เคอร์ติน ศูนย์ระบาดวิทยาและสุขภาพประชากรแห่งชาติ และสำนักวิชาการวิจัยด้านจิตวิทยา
  • สหวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ (ANU College of Science) ประกอบด้วย ศูนย์ความตระหนักสาธารณะทางวิทยาศาสตร์แห่งชาติ สำนักวิชาสิ่งแวดล้อมและสังคมเฟนเนอร์ สถาบันวิจัยทางคณิตศาสตร์ สำนักวิชาการวิจัยด้านดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์ สำนักวิชาการวิจัยด้านชีววิทยา สำนักวิชาการวิจัยด้านเคมี สำนักวิชาการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ และสำนักวิชาการวิจัยด้านฟิสิกส์
  • สหวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาการคำนวณ และไซเบอร์เนติกส์ (ANU College of Engineering, Computing and Cybernetics) ประกอบด้วย สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ สำนักวิชาวิทยาการคำนวณ และสำนักวิชาไซเบอร์เนติกส์
  • สหวิทยาลัยธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ (ANU College of Business and Economics เก็บถาวร 2021-01-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน) ประกอบด้วย สำนักวิชาการวิจัยด้านการจัดการ สำนักวิชาการวิจัยด้านการเงิน คณิตศาสตร์ประกันภัย และสถิติ สำนักวิชาการวิจัยด้านการบัญชี และสำนักวิชาการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์
  • สหวิทยาลัยเอเชียและแปซิฟิก (ANU College of Asia and the Pacific) ประกอบด้วย สำนักวิชานโยบายสาธารณะครอว์ฟอร์ด สำนักวิชากิจการเอเชียแปซิฟิกคอรัลเบลล์ สำนักวิชาวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และภาษา สำนักวิชาการควบคุมและธรรมภิบาลโลก และศูนย์ออสเตรเลียว่าด้วยจีนในโลก
  • สหวิทยาลัยศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์ (ANU College of Arts and Social Sciences) ประกอบด้วย สำนักวิชาการวิจัยด้านสังคมศาสตร์ และสำนักวิชาการวิจัยด้านมนุษยศาสตร์และศิลปศาสตร์

นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานด้านวิชาการอื่นๆ (Other Academic Units) ประกอบด้วย ศูนย์ชนพื้นเมืองศึกษาแห่งชาติ (National Centre for Indigenous Studies) สำนักวิชาศึกษาทั่วไป (ANU Wide), สำนักโครงสร้างพื้นฐานด้านการคำนวณแห่งชาติ (National Computational Infrastructure) ศูนย์การศึกษา การเรียนรู้ และการสอนในระดับอุดมศึกษา (Centre for Higher Education, Learning and Teaching) สถาบันเพศภาวะ (Gender Institute) และสถาบันระดับโลกด้านภาวะผู้นำของสตรี (Global Institute for Women’s Leadership) อีกทั้งยังมีสถาบัน ศูนย์ สำนักวิชา และหน่วยย่อยๆ ในแต่ละสหวิทยาลัยอีกนับสิบแห่ง เพื่อขับเคลื่อนและส่งเสริมคุณภาพของการวิจัยเฉพาะทางในแต่ละสาขาวิชา

อันดับมหาวิทยาลัย

[แก้]

การจัดอันดับโดยสถาบันต่างๆ ได้พิจารณาความสำเร็จทั้งในด้านวิชาการ การวิจัย การเรียนการสอน การยอมรับจากสังคมทั้งวงการวิชาการและตลาดแรงงาน และความพร้อมในการบริการการศึกษา ซึ่งผลการจัดอันดับ สามารถกล่าวได้ว่ามหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียเป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของออสเตรเลีย และทั้งเป็นสถาบันการศึกษาระดับสูงชั้นแนวหน้าทั้งในภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิก และระดับระหว่างประเทศ ทั้งนี้แยกตามหน่วยงานที่ทำการจัดลำดับที่เป็นที่นิยมในการอ้างอิง ตัวอย่างเช่น

  • คอกโครัลลีไซมอนส์ จัดให้ ANU อยู่ในอันดับที่ 20 ของโลก ในปี ค.ศ. 2018 และเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของประเทศออสเตรเลีย[5] โดยมีสาขาวิชาที่ถูกจัดอันดับให้อยู่ใน 20 อันดับสูงสุดของโลกเป็นจำนวนมาก ได้แก่ มานุษยวิทยา รัฐศาสตร์ การศึกษาการพัฒนา วิทยาศาสตร์พื้นพิภพและวิทยาศาสตร์ทางทะเล ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ นิติศาสตร์ สังคมวิทยา กายวิภาคศาสตร์และสรีรศาสตร์ โบราณคดี สังคมศาสตร์และการจัดการ ศิลปศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สังคมสงเคราะห์และนโยบายสังคม เกษตรศาสตร์และวนศาสตร์ และปรัชญา[6]
  • วารสาร ไทมส์ไฮเออร์เอดูเคชันซัปพลีเมนต์ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้จัดอันดับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ของโลก จัดให้ ANU อยู่ในลำดับที่ 48 ของโลกในปี ค.ศ. 2018 และเป็นมหาวิทยาลัยอันดับที่ 2 ในประเทศออสเตรเลีย โดยในแต่ละสาขาต่างก็อยู่ใน 100 อันดับแรกของโลกทั้งสิ้น (สาขาสังคมศาสตร์ลำดับที่ 23, สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพลำดับที่ 31, สาขาศิลปศาสตร์และมนุษยศาสตร์ลำดับที่ 33, สาขาธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ลำดับที่ 36, สาขาชีววิทยาศาสตร์ลำดับที่ 45, สาขาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีลำดับที่ 66, สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพชั้นคลินิกและปรีคลินิกลำดับที่ 73)[7]
  • นิตยสารนิวส์วีค (Newsweek) ในปี ค.ศ. 2006 ได้จัดให้มหาวิทยาลัยอยู่ในอันดับที่ 38 จาก 100 อันดับมหาวิทยาลัยทั่วโลก
  • มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียวทง ในปี ค.ศ. 2007 ได้จัดลำดับให้มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียอยู่ในอันดับที่ 57 จาก 500 อันดับทั่วโลก ทั้งนี้ ANU เคยได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับที่ 54, 56, 53 และ 49 ในปี ค.ศ. 2006, 2005, 2004 และ 2003 ตามลำดับ

อ้างอิง

[แก้]
  1. http://info.anu.edu.au/discover_anu/About_ANU/University_Structure/
  2. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-17. สืบค้นเมื่อ 2008-01-24.
  3. http://imagedepot.anu.edu.au/mo/college-org-chart-20092017.pdf
  4. http://www.anu.edu.au/about/academic-colleges
  5. https://www.topuniversities.com/university-rankings/world-university-rankings/2018
  6. https://www.topuniversities.com/universities/australian-national-university
  7. https://www.timeshighereducation.com/world-university-rankings/australian-national-university#ranking-dataset/629337