ข้ามไปเนื้อหา

นากเล็กเล็บสั้น

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Aonyx cinerea)
นากเล็กเล็บสั้น
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Carnivora
วงศ์: Mustelidae
วงศ์ย่อย: Lutrinae
สกุล: Aonyx
สปีชีส์: A.  cinereus
ชื่อทวินาม
Aonyx cinereus
(Illiger, 1815)
ชนิดย่อย[2]
  • A. c. cinereus (Illiger, 1815)
  • A. c. concolor Rafinesque, 1832
  • A. c. nirnai Pocock, 1940
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ของนากเล็กเล็บสั้น
ชื่อพ้อง[2]
  • Amblonyx cinereus (Illiger, 1815)
  • Aonyx cinerea (Illiger, 1815)

นากเล็กเล็บสั้น (อังกฤษ: oriental small-clawed otter, Asian small-clawed otter; ชื่อวิทยาศาสตร์: Aonyx cinereus) เป็นนากขนาดเล็กที่สุดในโลก ตัวผู้มีขนาดใหญ่กว่าตัวเมียเล็กน้อย ขนตามลำตัวมีสีเทาเข้มหรือสีน้ำตาล แต่สีขนบริเวณท้องจะอ่อนกว่า แต่สามารถเปลี่ยนสีขนได้ตามฤดูกาล ลักษณะเด่นคือ พังผืดบริเวณนิ้วตีนจะมีขนาดเล็กลง ช่วยให้นิ้วเคลื่อนไหวได้คล่องตัวมากขึ้น ใต้คอมีสีขาว มีจมูกที่สั้นมากกว่านากชนิดอื่น ๆ ตัวที่ยังไม่โตเต็มวัยจะมีจมูกยาว และโค้งกว่า เมื่ออายุได้ 5 สัปดาห์จมูกก็จะหดสั้นลง

มีความยาวลำตัวและหางประมาณ 45-55 เซนติเมตร ความยาวหาง 25-35 เซนติเมตร น้ำหนัก 1-3 กิโลกรัม

พบกระจายพันธุ์อย่างกว้างขวางทั้งในทวีปแอฟริกาและในทวีปเอเชีย ในทวีปเอเชียพบตั้งแต่ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย, เนปาล, บังกลาเทศ, ภาคใต้ของจีน, พม่า, ไทย, ลาว, กัมพูชา, เวียดนาม, เกาะสุมาตรา, เกาะบอร์เนียวและเกาะชวา (แบ่งเป็น 3 ชนิดย่อย ดูในตาราง[2])

นากเล็กเล็บสั้นมีความสามารถปรับตัวให้อยู่ในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ในธรรมชาติจะอาศัยอยู่ใกล้แหล่งน้ำ เช่น ลำธารขนาดเล็ก, ป่าชายเลน, ริมทะเลสาบ, ห้วย, หนอง, คลอง, บึง หรือแม้แต่ในพื้นที่ชุ่มน้ำที่เป็นเขตเกษตรกรรมของมนุษย์ เช่น ตามท้องร่องสวนต่าง ๆ อาหารหลักได้แก่ สัตว์น้ำชนิดต่าง ๆ แต่ชอบกินปูมากที่สุด มักอาศัยอยู่เป็นฝูงเล็ก ๆ นากเล็กเล็บสั้นไม่ได้ใช้หนวดเป็นประสาทสัมผัสในการรับรู้เหมือนนากชนิดอื่น ๆ เพราะมีประสาทสัมผัสอยู่ที่ขาหน้า ออกลูกตามโพรงไม้หรือโพรงหินที่มีอยู่แล้ว เพราะขาหน้าไม่แข็งแรงพอจะขุดโพรงริมตลิ่งได้เหมือนนากชนิดอื่น ๆ ออกหากินในเวลากลางคืน บางครั้งอาจพบได้ตั้งแต่ช่วงพลบค่ำจนถึงรุ่งเช้า

นากเล็กเล็บสั้นหากนำมาเลี้ยงตั้งแต่ยังเล็ก จะเชื่องและสามารถทำตามคำสั่งของมนุษย์ได้ จึงมีการนำมาแสดงโชว์ตามสวนสัตว์ต่าง ๆ เช่น ซาฟารีเวิลด์ เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาค[3] แม้แต่กระทั่งพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยพบในพื้นที่แถบคลองบางมด เขตทุ่งครุ ฝั่งธนบุรี เป็นนากเล็กเล็บสั้นที่อาศัยอยู่รวมเป็นฝูง มีพฤติกรรมขโมยกินปลาของเกษตรกรในพื้นที่ตามท้องร่องสวนในเวลากลางคืน[4]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Hussain SA & de Silva PK (2008). Aonyx cinerea. In: IUCN 2008. IUCN Red List of Threatened Species. Downloaded on 6 May 2008.
  2. 2.0 2.1 2.2 "Aonyx cinereus". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.
  3. "นากเล็กเล็บสั้น". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-03-08. สืบค้นเมื่อ 2009-03-11.
  4. จุดประกาย 2, นากเมืองกรุง. "โลกในมือคุณ" โดย สรณรัชฏ์ กาญจนะวนิชย์. กรุงเทพธุรกิจปีที่ 30 ฉบับที่ 10332: วันพฤหัสบดีที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2560

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
  • ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Aonyx cinereus ที่วิกิสปีชีส์