แอนดี มาร์รี
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
มาร์รีในปี 2016 | |
ชื่อเต็ม | แอนดรูว์ บาร์รอน มาร์รี |
---|---|
ประเทศ (กีฬา) | บริเตนใหญ่ |
ถิ่นพำนัก | อ็อกซ์ชอตต์, เซอร์รีย์, อังกฤษ |
วันเกิด | [1] กลาสโกว์, สกอตแลนด์ | 15 พฤษภาคม ค.ศ. 1987
ส่วนสูง | 1.91 m (6 ft 3 in) |
เทิร์นโปร | 2005[2] |
การเล่น | มือขวา (แบ็กแฮนด์สองมือ) |
ผู้ฝึกสอน | เจมี เดลกาโด (2016–2021), อิวาน เลนเดิล (2022–ปัจจุบัน) |
เงินรางวัล | 63,195,934 ดอลลาร์สหรัฐ |
เว็บไซต์ทางการ | andymurray.com |
เดี่ยว | |
สถิติอาชีพ | 717–232 (75.6%) |
รายการอาชีพที่ชนะ | 46 (อันดับที่ 14 ในยุคโอเพน) |
อันดับสูงสุด | 1 (7 พฤศจิกายน ค.ศ. 2016) |
อันดับปัจจุบัน | 50 (14 พฤศจิกายน 2565)[3] |
ผลแกรนด์สแลมเดี่ยว | |
ออสเตรเลียนโอเพน | รองชนะเลิศ (2010, 2011, 2013, 2015, 2016) |
เฟรนช์โอเพน | รองชนะเลิศ (2016) |
วิมเบิลดัน | ชนะเลิศ (2013, 2016) |
ยูเอสโอเพน | ชนะเลิศ (2012) |
การแข่งขันอื่น ๆ | |
Tour Finals | ชนะเลิศ (2016) |
Olympic Games | เหรียญทอง (2012, 2016) |
คู่ | |
สถิติอาชีพ | 79–78 (50.3%) |
รายการอาชีพที่ชนะ | 3 |
อันดับสูงสุด | อันดับ. 51 (17 ตุลาคม 2011) |
อันดับปัจจุบัน | 139 (12 กรกฎาคม 2564)[4] |
ผลแกรนด์สแลมคู่ | |
ออสเตรเลียนโอเพน | 1R (2006) |
เฟรนช์โอเพน | 2R (2006) |
วิมเบิลดัน | 2R (2019) |
ยูเอสโอเพน | 2R (2008) |
การแข่งขันคู่อื่น ๆ | |
Olympic Games | 2R (2008) |
รายการเหรียญรางวัล |
เซอร์ แอนดรูว์ บาร์รอน มาร์รี[a] OBE (อังกฤษ: Andrew Barron Murray;[5] เกิด: 15 พฤษภาคม ค.ศ. 1987) เป็นอดีตนักเทนนิสอาชีพชายชาวสกอตแลนด์[6] และอดีตมือวางอันดับ 1 ของโลก ปัจจุบันเป็นผู้ฝึกสอนเทนนิส เขาชนะเลิศรายการแกรนด์สแลมในประเภทชายเดี่ยว 3 รายการ (วิมเบิลดัน 2 สมัย ใน ค.ศ. 2013 และ 2016) และ ยูเอสโอเพน 1 สมัย (ค.ศ. 2012) และชนะเลิศการแข่งขันประเภทชายเดี่ยวโดยสมาคมนักเทนนิสอาชีพรวม 46 รายการ รวมถึงแชมป์เอทีพี มาสเตอร์ 14 สมัย และเอทีพี ไฟนอล 1 สมัย และคว้าเหรียญทองโอลิมปิกฤดูร้อนประเภทชายเดี่ยว 2 สมัย มาร์รีได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในนักกีฬาจากสหราชอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล[7][8][9]
มาร์รีได้รับการฝึกสอนเทนนิสโดยจูดี มาร์รี และ เจมี มาร์รี มารดาและพี่ชายของเขา มาร์รีย้ายไปบาร์เซโลนาเพื่อฝึกฝนในระดับเยาวชนเมื่ออายุ 15 ปี มาร์รี และ นอวาก จอกอวิช ต่างก็โด่งดังขึ้นมาในยุคที่ โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ และ ราฟาเอล นาดัล เป็นสองผู้เล่นที่ขับเคี่ยวกันเพื่อแย่งการเป็นอันดับหนึ่งของโลก โดยมาร์รีขึ้นสู่ 10 อันดับแรกของโลกได้ใน ค.ศ. 2007 ในวัย 19 ปี ก่อนที่ทั้งมาร์รีและจอกอวิชจะก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในยอดผู้เล่นของวงการ และได้รับการยกย่องร่วมกับเฟเดอเรอร์และนาดัลให้อยู่ในกลุ่ม Big 4[10] หรือ 4 นักเทนนิสชายที่เก่งที่สุดในช่วงทศวรรษ 2010[b] โดยหากนับตั้งแต่ ค.ศ. 2008–2017 มาร์รีสามารถรักษาอันดับติด 1 ใน 4 อันดับแรกของโลกได้ถึง 8 จาก 9 ปี มาร์รีเข้าชิงชนะเลิศแกรนด์สแลมได้ 11 รายการ โดยแพ้เฟเดอเรอร์และจอกอวิชในการชิงชนะเลิศ 4 ครั้งแรก ก่อนจะคว้าแชมป์ครั้งแรกในยูเอสโอเพน ค.ศ. 2012 โดยเอาชนะจอกอวิช ส่งผลให้เขาเป็นนักเทนนิสจากสหราชอาณาจักรคนแรกในรอบ 35 ปีที่ได้แชมป์แกรนด์สแลม และในปีนั้นเขายังคว้าเหรียญทองประเภทชายเดี่ยวในโอลิมปิกฤดูร้อน 2012 โดยเอาชนะเฟเดอเรอร์[11] และคว้าเหรียญเงินในประเภทคู่ผสมจับคู่กับ ลอรา ร็อบสัน
มาร์รีเข้าชิงชนะเลิศแกรนด์สแลมได้อีก 6 รายการระหว่าง ค.ศ. 2013–2016 โดยคว้าแชมป์วิมเบิลดันสองสมัยใน ค.ศ. 2013 และ 2016 โดยถือเป็นนักเทนนิสจากสหราชอาณาจักรคนแรกในรอบ 77 ปีที่ได้แชมป์รายการนี้[12] เขายังเข้าชิงชนะเลิศแกรนด์สแลมอีก 4 ครั้ง โดยแพ้จอกอวิชทุกครั้ง และใน ค.ศ. 2016 ถือเป็นฤดูกาลที่ดีที่สุดของมาร์รี[13] เขาเข้าชิงชนะเลิศแกรนด์สแลม 3 รายการ และรายการเอทีพีมาสเตอร์อีก 5 รายการ และคว้าเหรียญทองโอลิมปิกฤดูร้อน 2016 ส่งผลให้เขาเป็นผู้เล่นคนเดียวในประวัติศาสตร์ที่คว้าเหรียญทองโอลิมปิกประเภทชายเดี่ยว 2 สมัย[14] ก่อนจะปิดท้ายฤดูกาลด้วยแชมป์เอทีพี ไฟนอล ด้วยการชนะจอกอวิช และขึ้นสู่ตำแหน่งมือวางอันดับ 1 ครั้งแรก[15] ถือเป็นผู้เล่นจากสหราชอาณาจักรคนแรกที่ครองตำแหน่งอันดับ 1 ได้ในยุคโอเพน[16][c] อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ ค.ศ. 2016 มาร์รีประสบปัญหาการบาดเจ็บ และไม่สามารถคว้าแชมป์รายการใหญ่ได้อีก เขาหลุดจาก 100 อันดับแรกใน ค.ศ. 2018 และแม้จะกลับขึ้นสู่ 50 อันดับแรกใน ค.ศ. 2020 ทว่าฟอร์มการเล่นนับจากนั้นก็ไม่ดีนัก เขาประกาศเลิกเล่นอาชีพใน ค.ศ. 2024 โดยลงแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน 2024 เป็นรายการสุดท้าย
เขาได้รับเกียรติให้มีรูปอยู่ในแสตมป์ของรัฐบาลอังกฤษสองครั้ง ครั้งแรกใน ค.ศ. 2012 หลังจากคว้าเหรียญทองโอลิมปิค และครั้งที่สองในปีต่อมาหลังคว้าแชมป์วิมเบิลดันสมัยแรก[17] ซึ่งราชวงศ์อังกฤษยังได้มอบเครื่องอิสริยาภรณ์ของจักรวรรดิบริติชรวมทั้งพระราชทานยศอัศวินให้แก่เขาใน ค.ศ. 2017[18][19] โดยเขาถือเป็นนักเทนนิสคนที่สองที่ได้รับเกียรตินี้ต่อจากเซอร์ นอร์แมน บรูค (ค.ศ. 1939)[20] มาร์รีเป็นผู้เล่นที่เล่นได้ดีในทุกพื้นสนาม มีจุดเด่นในด้านการเล่นเกมป้องกันที่เหนียวแน่นและการรีเทิร์นลูกเสิร์ฟ และเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่ตีลูกแบคแฮนด์สองมือได้ดีที่สุด[21] ในการแข่งขันนานาชาติ นอกเหนือจากเหรียญทองโอลิมปิก มาร์รีและเจมีพี่ชายของเขาพาทีมสหราชอาณาจักร[d] คว้าแชมป์เดวิส คัพ[e] ได้ใน ค.ศ. 2015[22] มาร์รีมีอุดมการณ์ด้านคตินิยมสิทธิสตรี[23][24] และเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศให้กับเพื่อนร่วมอาชีพ ไม่นานหลังประกาศวางมือจากการเล่นอาชีพ มาร์รีผันตัวไปเป็นผู้ฝึกสอนเทนนิส โดยในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2024 เขาตอบรับการเป็นผู้ฝึกสอนให้แก่คู่แข่งอย่างจอกอวิช โดยจะเริ่มรายการแรกในออสเตรเลียนโอเพน ค.ศ. 2025
ชีวิตส่วนตัว
[แก้]มาร์รีเกิดที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ เขาเริ่มเล่นเทนนิสเมื่ออายุได้สามปี โดยอยู่ในการดูแลของจูดี้ ผู้เป็นมารดา[25] ในวัยเด็กเขาได้รับการฝึกฝนการเล่นฟุตบอลที่โรงเรียนและเคยได้รับการเชิญชวนให้ไปทดสอบฝีเท้ากับสโมสร กลาสโกว์ เรนเจอร์ แต่เขาเลือกที่จะเป็นนักเทนนิสอาชีพแทน เขาเป็นแฟนฟุตบอลของสโมสรอาร์เซนอล[26] และฮิเบอร์เนียน เขามีพี่ชายหนึ่งคนคือ เจมี มาร์รี ซึ่งเป็นนักเทนนิสอาชีพเช่นเดียวกัน ไอดอลของเขาในกีฬาเทนนิสได้แก่ อานเดร แอกัสซี
มาร์รีเข้าเรียนที่โรงเรียนประถมดับเบลนและอยู่ในเหตุการณ์สังหารหมู่ "Dunblane Massacre" ในปี 1996 ซึ่งฆาตกรคือ โธมัส ฮามิลตัน ที่ฆ่าตัวตายหลังจากสังหารเหยื่อไป 17 ราย โดยวันนั้นมาร์รีซ่อนตัวอยู่ในห้องเรียนและเด็กเกินกว่าที่จะเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นและกลายเป็นประเด็นที่เขาถูกถามบ่อยครั้งในการให้สัมภาษณ์ของเขาจนถึงปัจจุบัน
มาร์รีเข้าพิธีสมรสกับ คิม เซียร์ ภรรยาของเขาในปี 2015 โดยปัจจุบันทั้งคู่มีบุตร-ธิดารวม 4 คน เขาถือเป็นหนึ่งในนักกีฬาระดับโลกที่ออกมาเคลื่อนไหวและเรียกร้องสิทธิมนุษยชนและสนับสนุนด้านสิทธิสตรีทั่วโลก มาร์รีชื่นชอบการรับประทานซูชิหรือข้าวปั้นญี่ปุ่นมากเนื่องจากรสชาติถูกปากและยังเป็นอาหารที่ให้พลังงานสูง โดยทีมงานของเขาจะต้องตระเวนหาซูชิในปริมาณมาก ๆ ให้เขาได้ทานก่อนการแข่งขันทุกครั้ง[27]
การเล่นอาชีพ
[แก้]ช่วงเริ่มต้น
[แก้]มาร์รีเริ่มเล่นเทนนิสเมื่ออายุ 5 ปี ก่อนเริ่มเล่นอาชีพอย่างเป็นทางการในปี 2005 ในระดับชาเลนเจอร์ และคว้าแชมป์เอทีพีทัวร์ รายการแรกได้สำเร็จ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2006 ที่ซาน โฮเซ่ ประเทศสหรัฐฯ จากนั้น เขาผ่านเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศแกรนด์สแลมเป็นครั้งแรกในศึกยูเอสโอเพน ปี 2008 แต่พ่ายให้กับ โรเจอร์ เฟเดเรอร์ ยอดผู้เล่นสวิตเซอร์แลนด์
อย่างไรก็ตามเขาสามารถสร้างชื่อเสียงด้วยการคว้าแชมป์ระดับมาสเตอร์ได้อย่างต่อเนื่อง ก่อนจะเข้าชิงแกรนด์สแลมได้เป็นรายการที่สองในออสเตรเลียนโอเพนปี 2010 แต่แพ้เฟเดอเรอร์ไปอีกครั้ง ตามด้วยการแพ้ นอวาก จอกอวิช ในออสเตรเลียนโอเพน 2011 ซึ่งเป็นการเข้าชิงชนะเลิศแกรนด์สแลมรายการที่ 3 ตามด้วยการเข้าชิงแกรนด์สแลมครั้งที่ 4 ในวิมเบิลดันปี 2012 และแพ้เฟเดอเรอร์ไปอีกครั้ง
แชมป์แกรนด์สแลม, เหรียญทองโอลิมปิก และแชมป์เดวิส คัพ (2012–15)
[แก้]ในช่วงเวลาต่อมาเส้นทางอาชีพของเขาก็ก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุด เมื่อเขาคว้าเหรียญทองโอลิมปิกให้แก่ทีมสหราชอาณาจักรได้ในโอลิมปิกฤดูร้อน 2012[28] ก่อนจะคว้าแชมป์แกรนด์สแลมสมัยแรก โดยชนะจอกอวิชในยูเอสโอเพน 2012 โดยมาร์รีเป็นนักเทนนิสจากสหราชอาณาจักรคนแรกในรอบกว่า 76 ปี ที่คว้าแชมป์แกรนด์สแลมได้[29]
ในปี 2013 มาร์รียังคงทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม ด้วยการเข้าชิงชนะเลิศแกรนด์สแลมเป็นครั้งที่ 6 ก่อนจะแพ้จอกอวิชในออสเตรเลียนโอเพนไปอีกครั้ง[30] เขาถือเป็นผู้เล่นคนที่สองในยุคโอเพนต่อจาก สเตฟาน เอ็ดเบิร์ก ที่ได้รองแชมป์ออสเตรเลียนโอเพนในประเภทชายเดี่ยว 3 สมัย เขาคว้าแชมป์รายการมาสเตอร์ 1000 ที่ไมแอมีได้เป็นสมัยที่สองหลังจากเอาชนะ ดาวิต เฟร์เรร์ และขึ้นสู่มือวางอันดับสองของโลก[31] เขาต้องถอนตัวจากการแข่งขันเฟรนช์โอเพนเนื่องจากบาดเจ็บ[32] ก่อนจะสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการคว้าแชมป์วิมเบิลดันโดยเอาชนะจอกอวิชสามเซตรวด[33] ถือเป็นนักเทนนิสจากสหราชอาณาจักรคนแรกในรอบ 77 ปีที่ชนะเลิศวิมเบิลดันนับตั้งแต่ เฟร็ด เพอร์รี่ ในปี 1936 แต่มาร์รีตกรอบ 8 คนสุดท้ายในยูเอสโอเพนโดยแพ้สตาน วาวรีงกา[34] ก่อนจะลงแข่งขัน เดวิส คัพ ให้กับสหราชอาณาจักร แต่หลังจากนั้นเขาได้ตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัดบริเวณหลัง[35]
มาร์รีเริ่มต้นฤดูกาล 2014 ในรายการที่โดฮา ประเทศกาตาร์ แต่ตกรอบที่สองโดยแพ้ ฟลอเรียน ไมเออร์ 1–2 เซต[36] เขาผ่านเข้าถึงรอบก่อนรองชนะเลิศออสเตรเลียนโอเพนก่อนจะแพ้เฟเดอเรอร์ 1–2 เซต[37] และเขาได้หลุดจาก 5 อันดับแรกของโลกเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2008 ต่อมา เขาช่วยทีม เดวิส คัพ ของสหราชอาณาจักรผ่านเข้ารอบก่อนรองชนะเลิศได้ หลังจากลงแข่งขันในประเภทชายเดี่ยวและเอาชนะได้ทั้งสองนัด[38] แต่เขาตกรอบในรายการที่รอตเทอร์ดาม และเม็กซิกันโอเพน และในเดือนมีนาคม มาร์รีได้แยกทางกับ อิวาน เลนเดิล ผู้ฝึกสอนซึ่งได้รับการยกย่องว่ามีส่วนสำคัญในการพัฒนาฟอร์มการเล่นของเขาจนสามารถคว้าแชมป์แกรนด์สแลมได้[39] ตามด้วยการตกรอบก่อนรองชนะเลิศมาสเตอร์ 1000 ที่ไมแอมีโดยแพ้จอกอวิช[40] และสหราชอาณาจักรตกรอบ เดวิส คัพ โดยแพ้อิตาลี[41] และเขาไม่ประสบความสำเร็จในรายการมาสเตอร์ 1000 คอร์ตดินที่มาดริดและกรุงโรม[42]
เข้าสู่แกรนด์สแลมเฟรนช์โอเพน มาร์รีผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศ แต่แพ้ ราฟาเอล นาดัล แชมป์ในการแข่งขันครั้งนั้นอย่างขาดลอย 0–3 เซต[43] ภายหลังจบการแข่งขัน มาร์รีได้ว่าจ้างให้ เอมิลี โมเรสโม อดีตนักเทนนิสหญิงชื่อดังชาวฝรั่งเศสเข้ามาเป็นผู้ฝึกสอนคนใหม่ โดยโมเรสโมถือเป็นผู้ฝึกสอนหญิงคนแรกที่ได้เป็นผู้ฝึกสอนให้แก่นักเทนนิสชายมือวาง 10 อันดับแรกของโลก[44] เขาเริ่มต้นการป้องกันแชมป์วิมเบิลดันในฐานะมือวางอันดับสามของรายการ[45] เอาชนะ ดาวิด กอฟแฟง[46], บลาช โรลา[47], โรแบร์โต เบาติสตา อากุต และ เควิน แอนเดอร์สัน ก่อนจะตกรอบก่อนรองชนะเลิศ โดยแพ้ กริกอร์ ดีมีตรอฟ[48] ถือเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2008 ที่เขาไม่สามารถผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศ และอันดับโลกของเขาตกไปอยู่อันดับ 10 ซึ่งเป็นอันดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 6 ปี[49] ตามด้วยการตกรอบมาสเตอร์ 1000 แคนาดาและซินซินแนติ[50] และแพ้จอกอวิชในรอบก่อนรองชนะเลิศยูเอสโอเพน ถือเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2009 ที่มาร์รีไม่สามารถเข้าชิงชนะเลิศแกรนด์สแลมได้เลยจากการลงเล่นทั้ง 4 รายการในหนึ่งฤดูกาล และอันดับโลกของเขาหลุดจาก 10 อันดับแรก[51] แต่เขาคว้าแชมป์รายการเอทีพี 250 ที่เชินเจิ้นได้ ก่อนจะแพ้จอกอวิชในการแข่งขันที่ปักกิ่ง[52] และตกรอบที่สามรายการมาสเตอร์ 1000 ที่เซี่ยงไฮ้ แพ้ ดาวิต เฟร์เรร์[53] เขาคว้าแชมป์ที่สองของปี 2014 และแชมป์รายการที่ 30 ในอาชีพได้จากการเอาชนะเฟร์เรร์ที่กรุงเวียนนา[54] ต่อมา เขาคว้าแชมป์ที่บาเลนเซีย โดยเอาชนะ ทอมมี โรเบรโด[55] ตามด้วยการตกรอบก่อนรองชนะเลิศมาสเตอร์ 1000 ที่ปารีส โดยแพ้จอกอวิช[56] เขาปิดท้ายฤดูกาลด้วยการตกรอบแบ่งกลุ่ม เอทีพี เวิลด์ ทัวร์ ไฟนอล[57]
ในฤดูกาล 2015 มาร์รีเริ่มต้นด้วยการคว้าแชมป์รายการพิเศษที่อาบูดาบี[58] และพาทีมสหราชอาณาจักรลงแข่งขัน ฮอพแมน คัพ แต่ตกรอบแบ่งกลุ่ม[59] เขาเข้าชิงชนะเลิศแกรนด์สแลมออสเตรเลียนโอเพนเป็นครั้งที่ 4 และแพ้จอกอวิชไปอีกครั้ง 1–3 เซต[60] แต่เขากลับขึ้นสู่มือวาง 4 อันดับแรกของโลกเป็นครั้งแรกในรอบหนึ่งปี[61] ต่อมาเขาตกรอบในการแข่งขันที่ รอตเทอร์ดาม[62] และตกรอบที่ดูไบ โดยแพ้ดาวรุ่งอย่าง บอร์นา โชริช ทำให้เขาตกลงไปอยู่อันดับ 5 ของโลก[63] ตามด้วยการพาทีมสหราชอาณาจักรผ่านเข้ารอบก่อนรองชนะเลิศ (8 ทีมสุดท้าย) สองสมัยติดต่อกัน หลังจากเอาชนะสหรัฐ 3–2 นัด[64]
มาร์รีผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศมาสเตอร์ 1000 ที่อินเดียนเวลส์ สหรัฐ และเป็นการคว้าชัยชนะนัดที่ 496 ในประเภทชายเดี่ยว ทำสถิติเป็นผู้เล่นจากสหราชอาณาจักรที่ชนะในการแข่งขันประเภทเดี่ยวมากที่สุดในยุคโอเพน แซงหน้าสถิติเดิมของ ทิม เฮนแมน[65] แต่เขาแพ้จอกอวิชไปอีกครั้งสองเซตรวด[66] ต่อมา เขาเข้าชิงมาสเตอร์ที่ไมแอมี ซึ่งถือเป็นการชนะนัดที่ 500 ในอาชีพ ทำสถิติเป็นผู้เล่นสหราชอาณาจักรคนแรกในประวัติศาสตร์ยุคโอเพนที่ชนะครบ 500 นัด[67] แต่ก็แพ้จอกอวิช 1–2 เซต[68] เขาคว้าแชมป์ในรายการคอร์ตดินที่มิวนิค (บีเอ็มดับเบิลยู โอเพน) ซึ่งเป็นครั้งแรกในอาชีพที่คว้าแชมป์การแข่งขันคอร์ตดิน[69] และคว้าแชมป์มาสเตอร์ 1000 คอร์ตดินที่มาดริดได้โดยเอาชนะผู้เล่นราชาคอร์ตดินอย่างนาดัล ถือเป็นแชมป์รายการมาสเตอร์ 1000 จากคอร์ตดินรายการแรกของเขา และเป็นการชนะนาดัลบนคอร์ตดินเป็นครั้งแรก[70] เขาชนะบนคอร์ตดินติดต่อกัน 15 นัดในทุกรายการ ก่อนที่สถิติจะหยุดลงเมื่อเขาแพ้จอกอวิชในรอบรองชนะเลิศเฟรนช์โอเพนในการแข่งขัน 5 เซต[71]
มาร์รีคว้าแชมป์การแข่งขันรายการ ควีนส์ ที่กรุงลอนดอนเป็นสมัยที่ 4 เอาชนะ เควิน แอนเดอร์สัน[72] และเข้ารอบรองชนะเลิศก่อนจะแพ้เฟเดอเรอร์สามเซตรวด[73] แต่เขาพาทีมสหราชอาณาจักรเข้าสู่รอบรองชนะเลิศ เดวิส คัพ เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1981 หลังจากเอาชนะฝรั่งเศส 3–1[74] แต่เขาตกรอบแรกที่วอชิงตัน ดี.ซี. อย่างเหนือความคาดหมาย[75] แต่แก้ตัวได้ด้วยการคว้าแชมป์มาสเตอร์ 1000 ที่แคนาดา เอาชนะจอกอวิช 2–1 เซต หยุดสถิติเลวร้ายในการแพ้จอกอวิช 8 นัดติดต่อกันทุกรายการ และเขาแซงเฟเดอเรอร์ขึ้นสู่มือวางอันดับสองของโลก แต่เขาก็แพ้เฟเดอเรอร์ในรอบรองชนะเลิศมาสเตอร์ที่ซินซินแนติ และทำได้เพียงเข้ารอบที่ 4 ในยูเอสโอเพน แพ้เควิน แอนเดอร์สัน 1–3 เซต[76] หยุดสถิติเข้ารอบก่อนรองชนะเลิศ (8 คนสุดท้าย) ในการแข่งขันแกรนด์สแลมจำนวน 18 รายการติดต่อกัน แต่สหราชอาณาจักรผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ เดวิส คัพ เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1978 หลังจากเอาชนะออสเตรเลีย 3–2 นัด[77]
มาร์รีตกรอบรองชนะเลิศมาสเตอร์ 1000 ที่เซี่ยงไฮ้โดยแพ้จอกอวิช และได้รองแชมป์มาสเตอร์ที่ปารีส โดยแพ้จอกอวิชในรอบชิงชนะเลิศอีกครั้ง เขาตกรอบแบ่งกลุ่มเอทีพี ไฟนอล ที่ลอนดอนอีกครั้ง แต่จากการที่เฟเดอเรอร์ไม่สามารถคว้าแชมป์ได้ ส่งผลให้มาร์รีจบฤดูกาลด้วยการเป็นมือวางอันดับสองเป็นครั้งแรก และยังพาทีมสหราชอาณาจักรคว้าแชมป์ เดวิส คัพ เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 1936 และเป็นแชมป์สมัยที่ 10 หลังจากเอาชนะเบลเยียม 3–1 นัด[78]
สร้างประวัติศาสตร์ในโอลิมปิก และฤดูกาลที่ดีที่สุดในอาชีพ (2016)
[แก้]ในปี 2016 ถือเป็นฤดูกาลที่ดีที่สุดของมาร์รี เขาเข้าชิงชนะเลิศแกรนด์สแลมได้ถึง 3 รายการ โดยแม้จะแพ้จอกอวิชในรอบชิงชนะเลิศออสเตรเลียนโอเพนและเฟรนช์โอเพน[79] แต่มาร์รีชนะเลิศวิมเบิลดันได้เป็นสมัยที่ 2 และเป็นการชนะเลิศแกรนด์สแลมสมัยที่ 3 ในอาชีพ และในการแข่งขันโอลิมปิก 2016 ณ กรุงรีโอเดจาเนโร มาร์รีได้สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการคว้าเหรียญทองในประเภทชายเดี่ยวได้เป็นสมัยที่ 2 ซึ่งเขาถือเป็นผู้เล่นคนเดียวที่ทำสถิตินี้ได้ มาร์รียังได้รับเกียรติให้เป็นผู้ถือธงชาติสหราชอาณาจักรในพิธีเปิดการแข่งขันอีกด้วย[80][81] นอกจากนี้เขายังคว้าแชมป์รายการมาสเตอร์ 1000 ได้ถึงสามรายการ (กรุงโรม, เซี่ยงไฮ้ และปารีส)
เขาปิดท้ายฤดูกาลด้วยการคว้าแชมป์ เอทีพี เวิลด์ ทัวร์ ไฟนอล โดยเอาชนะจอกอวิช ก่อนจะขึ้นสู่ตำแหน่งมือวางอันดับ 1 ของโลกเป็นครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน และด้วยวัย 29 ปี ส่งผลให้เขาเป็นผู้เล่นที่ขึ้นสู่ตำแหน่งอันดับ 1 ครั้งแรกที่มีอายุมากที่สุดเป็นอันดับสองต่อจาก จอห์น นิวคอมบ์ ชาวออสเตรเลีย (30 ปี, ค.ศ. 1974) และยังสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นผู้เล่นคนเดียวที่ชนะเลิศรายการแกรนด์สแลม, รายการมาสเตอร์ 1000, คว้าเหรียญทองโอลิมปิก และจบฤดูกาลด้วยการเป็นมือวางอันดับ 1 ได้ภายในปีเดียวกัน
บาดเจ็บ และช่วงขาลงในอาชีพ (2017–2023)
[แก้]นับตั้งแต่ฤดูกาล 2017 มาร์รีคว้าแชมป์แกรนด์สแลมเพิ่มไม่ได้เลย และเสียตำแหน่งอันดับ 1 ให้แก่นาดัลในช่วงกลางปี 2017 โดยเขาเริ่มมีอาการบาดเจ็บสะโพกซึ่งเรื้อรังมานาน และอาการกำเริบขึ้นจนส่งผลต่อการเล่นในวิมเบิลดัน โดยมาร์รีแพ้ให้กับ แซม แควร์รี่ย์ ในรอบ 8 คนสุดท้ายในการแข่งขัน 5 เซต โดยเขามีอาการบาดเจ็บตั้งแต่เซตที่ 3 เขาพลาดลงแข่งขันในรายการที่เหลือ ได้แก่ มาสเตอร์ 1000 สามรายการที่มอนทรีออล, ซินซินแนติ และปารีส รวมทั้งยูเอสโอเพน และเอทีพี เวิลด์ ทัวร์ ไฟนอล
มาร์รีเข้ารับการผ่าตัดสะโพกสองครั้งในปี 2018[82] และ 2019[83] และไม่สามารถเรียกฟอร์มการเล่นที่ดีกลับมาได้อีกเลย[84] เขาประกาศเลิกเล่นหลังจบรายการออสเตรเลียนโอเพนใน ค.ศ.2019 แต่ได้ตัดสินใจลงทำการแข่งขันต่อ แต่ก็ยังกลับมาคว้าแชมป์รายการใดเพิ่มไม่ได้ ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2021 เขาถูกตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนา ทำให้พลาดลงแข่งขันออสเตรเลียนโอเพนและได้พักไปอีกหลายเดือนก่อนจะกลับมาอีกครั้งในรายการคอรต์หญ้า "ควีนส์" (Queen’s Club Championships) ณ กรุงลอนดอน[85] แต่ตกรอบที่ 2 โดยแพ้ มัตเตโอ แบร์เรตตีนี เขากลับมาลงแข่งขันแกรนด์สแลมในรอบหนึ่งปีที่วิมเบิลดันในฐานะผู้เล่นที่ได้รับสิทธิ Wild Card (ผู้เล่นที่ไม่ได้รับการจัดอันดับแต่ได้สิทธิลงแข่งขันเป็นกรณีพิเศษ) โดยผ่านเข้าถึงรอบที่สามและแพ้ เดนิส เชโปวาลอฟ[86]
มาร์รีลงแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 ทั้งในประเภทชายเดี่ยวและชายคู่ ก่อนจะถอนตัวในประเภทชายเดี่ยวเนื่องจากอาการบาดเจ็บ แต่ยังคงเล่นในประเภทคู่โดยจับคู่กับ โจ ซาลิสบิวรี เข้าถึงรอบ 8 คู่สุดท้าย และแพ้ คู่มาริน ซิลิช และ อีวาน ดอดิก จากโครเอเชีย[87] ต่อมา มาร์รีลงแข่งขันยูเอสโอเพนแต่ตกรอบแรกโดยแพ้ สเตฟาโนส ซิทซีปัส ในการแข่งขัน 5 เซต[88] ตามด้วยการตกรอบที่สามใน โอเพน เดอ แรนส์ ที่ฝรั่งเศส แพ้ โรมัน ซาฟิลิน[89] และเขายังคงลงแข่งที่ฝรั่งเศส รายการต่อมาคือ โมเซลล์ โอเพน แต่ก็แพ้ ฮูแบร์ต ฮูร์กัตช์ ชาวโปแลนด์[90] ต่อมา เขาลงแข่งขันที่แซนดีเอโกโอเพนที่สหรัฐ แต่ก็แพ้ กาสเปอร์ รืด ตามด้วยรายการมาสเตอร์ที่อินเดียนเวลส์ สหรัฐกลางเดือนตุลาคม แต่ไปแพ้ อเล็คซันเดอร์ ซเฟเร็ฟ ในรอบที่ 3 ก่อนจะตกรอบในอีกสี่รายการถัดมาในยูโรเปียนโอเพนที่เบลเยียม, เวียนนาโอเพนที่ออสเตรีย[91], รายการมาสเตอร์ที่ปารีส และสต็อกโฮล์มโอเพนที่สวีเดน[92] เขาปิดท้ายฤดูกาล 2021 ด้วยการคว้ารองแชมป์ที่อาบูดาบี แม้จะเอาชนะ ราฟาเอล นาดัล ได้ในรอบรองชนะเลิศ[93] ทว่าเขาแพ้ อันเดรย์ รูเบลฟ ในรอบชิงชนะเลิศ 2 เซตรวด[94]
เข้าสู่ฤดูกาล 2022 มาร์รีเริ่มต้นด้วยการลงแข่งขันระดับ เอทีพี 250 ที่เมลเบิร์น แต่ตกรอบแรกโดยแพ้ ฟาคันโด บักนิส[95] ตามด้วยการคว้ารองแชมป์รายการ เอทีพี 250 ที่ซิดนีย์ แพ้ อัสลัน คารัตเซฟ ในรอบชิงชนะเลิศ[96] ต่อมา เขาลงแข่งขันออสเตรเลียนโอเพนโดยได้สิทธิ์ Wild Card โดยผ่านเข้ารอบที่สองและแพ้ ทาโร แดเนียล สามเซตรวด[97] ต่อมา เขาตกรอบที่สองในรายการที่ รอตเทอร์ดาม โดยแพ้ เฟลิกซ์ โอเฌร์ อาลียาซีม[98] เขาตกรอบที่สองในการแข่งขันที่โดฮา โดยแพ้ โรแบร์โต เบาติสตา อากุต ขาดลอย 0–6, 1–6 โดยถือเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปีที่เขาแพ้คู่แข่งด้วยคะแนนเกม 0 ในเซต นับตั้งแต่แพ้จอกอวิชในรอบชิงชนะเลิศรายการมาสเตอร์ 1000 ที่ไมแอมีในปี 2015[99] ตามด้วยการตกรอบอีกสองรายการในการแข่งขัน เอทีพี 500 ที่ดูไบ และรายการมาสเตอร์ 1000 ที่อินเดียนเวลส์[100][101] มาร์รีลงแข่งขันคอร์ตดินในรายการมาสเตอร์ที่มาดริด โดยผ่านเข้าถึงรอบที่สามซึ่งเขามีกำหนดพบกับจอกอวิช แต่เขาถอนตัวเนื่องจากมีอาการบาดเจ็บ[102] และเขาถอนตัวจากมาสเตอร์ที่กรุงโรม และแกรนด์สแลมแฟรนช์โอเพน และกลับมาลงแข่งขันในฤดูกาลคอร์ตหญ้าที่ชตุทการ์ท โดยเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศก่อนจะแพ้ มัตเตโอ แบร์เรตตีนี 1–2 เซต แต่เขาได้่ขึ้นสู่อันดับ 47 ของโลกในวันที่ 13 มิถุนายน ค.ศ. 2022 ซึ่งเป็นการกลับสู่ 50 อันดับแรกของโลกเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2018 แต่อาการบาดเจ็บทำให้เขาต้องถอนตัวจากการแข่งขันที่ควีนส์ ณ กรุงลอนดอน ก่อนจะกลับมาลงแข่งวิมเบิลดันและแพ้มือวางอันดับ 20 อย่างจอห์น อิสเนอร์ ในรอบสอง ตามด้วยการตกรอบที่นิวพอร์ต (รัฐโรดไอแลนด์)[103] เขาลงแข่งขันช่วงสุดท้ายของฤดูกาลที่สหรัฐและแคนาดา เริ่มต้นจากการตกรอบแรก ซิตี โอเพน กรุงวอชิงตัน และแพ้เทย์เลอร์ ฟลิตซ์ในรอบแรกรายการมาสเตอร์ที่แคนาดา[104] และตกรอบที่สองในมาสเตอร์ที่ซินซินแนติ โดยแพ้ คาเมอรอน นอร์รี[105] ปิดท้ายฤดูกาลด้วยการเข้าถึงรอบสามในแกรนด์สแลมยูเอสโอเพนโดยแพ้แบร์เรตตีนี
ใน ค.ศ. 2023 มาร์รีลงแข่งขันแกรนด์สแลมออสเตรเลียนโอเพนในฐานะรองแชมป์ 5 สมัย เขาผ่านเข้าสู่รอบที่ 3 หลังจากเอาชนะคู่แข่งในสองรอบแรกได้แก่ แบเรตตินี จากอิตาลี และ ทานาซี ค็อคคินาคิสจากออสเตรเลีย การแข่งขันกับค็อคคินาคิสใช้เวลาไปถึง 5 ชั่วโมงและ 45 นาที ยาวนานที่สุดในอาชีพของมาร์รี และเป็นนัดการแข่งขันที่ยาวนานเป็นอันดับสองในประวัติศาสตร์ของรายการ เขาแพ้ต่อ โรแบร์โต เบาติสตา อากุต จากสเปนในรอบที่ 4[106] ต่อมา เขาลงแข่งขัน เอทีพี 500 ที่โดฮา และเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศแต่แพ้ดานีอิล เมดเวเดฟ สองเซตรวด ตามด้วยการแข่งขันมาสเตอร์ 1000 สองรายการที่สหรัฐได้แก่ อินเดียน เวลส์ และ ไมแอมี แต่ตกรอบที่สามและรอบแรกตามลำดับ[107][108] และตกรอบแรกทั้งสองรายการในฤดูกาลคอร์ตดิน รายการมาสเตอร์ 1000 ที่มงเต-การ์โล และ มาดริด[109][110] เขาลงแข่งขันในระดับชาเลนเจอร์ (รายการสำหรับผู้เล่นอันดับต่ำ) ที่ฝรั่งเศส และคว้าแชมป์รายการแรกได้ตั้งแต่ ค.ศ. 2019 โดยเอาชนะทอมมี พอล ในรอบชิงชนะเลิศ (2–6, 6–1, 6–2) แต่เขาถอนตัวจากแกรนด์สแลมเฟรนช์โอเพนเพื่อเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมสำหรับการลงแข่งวิมเบิลดัน[111] เขาคว้าแชมป์รายการชาเลนเจอร์ได้เป็นรายการที่สองในปีนี้ ในการแข่งขันที่ลอนดอน และยังทำผลงานได้ดีต่อเนื่อง ด้วยการชนะเลิศการแข่งขันที่นอตทิงแฮม มาร์รีลงแข่งขันวิมเบิลดันในปีนี้ 10 ปีหลังจากเขาคว้าแชมป์ที่นี่ได้เป็นครั้งแรกใน ค.ศ. 2013 ก่อนจะตกรอบที่สองโดยแพ้ซิทซีปัส[112] การแข่งขันใช้เวลากว่า 4 ชั่วโมง และ 40 นาที ซึ่งต้องลงแข่งขันกันต่อในวันถัดมา ก่อนที่ซิทซีปัสจะเอาชนะในการแข่งขันห้าเซต (7–6(3), 6–7(2), 4–6, 7–6(3), 6–4) มาร์รีลงแข่งขันแกรนด์สแลมสุดท้ายของปีในยูเอสโอเพน นิวยอร์ก และแพ้ดิมิทรอฟในรอบที่สอง[113]
ปีสุดท้ายในอาชีพ (2024)
[แก้]มาร์รีลงแข่งขันรายการเอทีพี 500 ที่ดูไบ และทำสถิติชนะครบ 500 นัดบนฮาร์ตคอร์ต (คอนกรีต) ด้วยการเอาชนะ เดนิส ชาโปวาลอฟก่อนที่เขาจะตกรอบที่สอง ต่อมา มาร๋รีได้รับบาดเจ็บข้อเท้าซ้ายในการแข่งขันมาสเตอร์ 1000 ที่ไมแอมี[114] เขาเข้ารับการผ่าตัดและกลับมาลงแข่งขันในวันที่ 15 พฤษภาคม ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 37 ปี ของเขา ในการแข่งขันระดับชาเลนเจอร์ที่บอร์โด ตามด้วยการตกรอบที่สองในรายการคอร์ตดิน จากนั้น มาร์รีลงแข่งขันแกรนด์สแลมเฟรนช์โอเพนและตกรอบแรกทั้งในประเภทชายเดี่ยวและชายคู่ มาร์รีลงแข่งขันรายการคอร์ตหญ้าที่ควีนส์ คลับ กรุงลอนดอน และคว้าชัยชนะครบ 1,000 นัดในอาชีพ ภายหลังชนะอเล็กซี พอพิรินจากออสเตรเลีย 2–1 เซต อย่างไรก็ตาม เขาได้รับบาดเจ็บซ้ำบริเวณหลังและสะโพกซึ่งเคยเข้ารับการผ่าตัด ส่งผลให้ต้องถอนตัวในเวตแรกจากการแข่งขันรอบที่สองที่พบจอร์แดน ทอมสัน จากออสเตรเลีย[115] มาร์รีถอนตัวจากการแข่งขันประเภทชายเดี่ยวในแกรนด์สแลมวิมเบิลดัน เนื่องจากปัญหาสภาพร่างกาย และลงแข่งในประเภทคู่ร่วมกับพี่ชายของเขาแทน นี่ถือเป็นการลงแข่งขันรายการวิมเบิลดันครั้งสุดท้ายของเขา ซึ่งเป็นรายการที่เขาคว้าแชมป์แกรนด์สแลมได้สองสมัย และเป็นการลงแข่งเทนนิสระดับแกรนด์สแลมครั้งสุดท้าย จากการประสบปัญหาการบาดเจ็บเรื้อรัง ส่งผลให้มาร์รีตัดสินใจประกาศเลิกเล่นอาชีพเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ค.ศ. 2024 โดยลงแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน 2024 เป็นรายการสุดท้าย แต่ได้ถอนตัวจากการแข่งขันในประเภทเดี่ยว และจับคู่กับ แดน อีแวนส์[116] ท้้งคู่ผ่านเข้าถึงรอบก่อนรองชนะเลิศก่อนจะแพ้คู่ของสหรัฐ โดยทอมมี พอล และ เทย์เลอร์ ฟลิตซ์[117]
รูปแบบการเล่น
[แก้]มาร์รีเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่มีรูปแบบการเล่นที่เน้นตั้งรับได้ดีที่สุดคนหนึ่ง เขามักจะไม่ผลีผลามบุกแต่จะตั้งรับและเน้นการตีโต้อย่างอดทนบริเวณหลังเส้นเบสไลน์เพื่อกดดันให้คู่ต่อสู้ตีพลาดเอง ในขณะเดียวกันก็มักจะฉวยโอกาสขึ้นบุกทำคะแนน เขาเน้นการตีด้วยความแน่นอนและไม่ชอบเล่นลูกที่เสี่ยงต่อการเสียแต้ม[118] มาร์รีเป็นผู้เล่นที่เล่นได้ดีบนทุกพื้นคอร์ต เขามีลูกกราวน์สโตรกที่หนักหน่วงและแม่นยำ[119] มีจุดเด่นคือแบ็กแฮนด์วินเนอร์ที่เฉียบคม และมักจะใช้ลูกแบ็กแฮนด์สไลด์ตีลูกให้เรียบต่ำลึกถึงเส้นเบสไลน์ซึ่งบีบให้คู่แข่งจำเป็นต้องตีงัดกลับขึ้นมาและมักจะไม่พ้นเน็ท ซึ่งจากการที่เขามีสไตล์การเล่นที่เน้นรับและใช้พละกำลังมากจนเกินไปนี้เอง ทำให้ร่างกายช่วงล่างของเขาได้รับผลกระทบ และเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาบาดเจ็บและเข้ารับการผ่าตัดสะโพกสองครั้ง ลูกเสิร์ฟของเขาถือเป็นจุดอ่อนมาหลายปี โดยเฉพาะเมื่อเขาเสริ์ฟแรกไม่ได้แต้ม และจำเป็นต้องเสริ์ฟลูกที่สอง[120] โดยเปอร์เซนต์การได้แต้มจากเสริ์ฟสองค่อนข้างต่ำหากเทียบกับผู้เล่นระดับโลกคนอื่น ๆ[121]
สถิติโลก
[แก้]"เซอร์ แอนดี มาร์รี" ครองสถิติโลกในวงการเทนนิส 10 รายการได้แก่:[122]
- เป็นหนึ่งในสองผู้เล่นชายที่ชนะเลิศรายการแกรนด์สแลม, รายการมาสเตอร์, คว้าเหรียญทองโอลิมปิก และจบฤดูกาลด้วยการเป็นมือวางอันดับ 1 ของโลกได้ภายในปีเดียวกัน (2016) ร่วมกับ ราฟาเอล นาดัล (2008)
- เป็นผู้เล่นชายคนเดียวที่คว้าเหรียญทองโอลิมปิกในการแข่งขันชายเดี่ยว 2 สมัย (2012 และ 2016)
- เป็นผู้เล่นคนเดียวที่คว้าเหรียญทองโอลิมปิกในการแข่งขันชายเดี่ยว 2 สมัยติดต่อกัน (2012 และ 2016)
- เป็นผู้เล่นชายคนเดียวที่ชนะเลิศแกรนด์สแลมยูเอสโอเพน และคว้าเหรียญทองโอลิมปิกได้ในปีเดียวกัน (2012)
- เป็นผู้เล่นชายคนเดียวที่คว้าเหรียญทองโอลิมปิกได้ 2 สมัย และชนะเลิศแกรนด์สแลมวิมเบิลดัน
- เป็นผู้เล่นคนที่ 3 ต่อจาก อานเดร แอกัสซี และ ราฟาเอล นาดัล ที่สามารถคว้าเหรียญทองโอลิมปิกและชนะเลิศแกรนด์สแลมได้ในรายการพื้นคอร์ตสองประเภท (คอร์ตหญ้าในวิมเบิลดัน และฮาร์ดคอร์ตหรือพื้นคอนกรีตในยูเอสโอเพน)
- เป็นผู้เล่นจากสหราชอาณาจักรคนแรกในรอบกว่า 77 ปีที่ชนะเลิศแกรนด์สแลมวิมเบิลดัน (2013)
- เป็นผู้เล่นที่คว้าตำแหน่งรองชนะเลิศแกรนด์ออสเตรเลียนโอเพนมากที่สุดในยุคโอเพน (5 สมัย)
- เป็นผู้เล่นจากสหราชอาณาจักรคนแรกที่ครองตำแหน่งอันดับ 1 ของโลกในยุคโอเพน
- เป็นผู้เล่นที่ขึ้นสู่ตำแหน่งอันดับ 1 ของโลกครั้งแรกที่มีอายุมากที่สุดอันดับสอง ในประวัติศาสตร์ต่อจาก จอห์น นิวคอมบ์ ชาวออสเตรเลียในปี 1974
อุปกรณ์แข่งขัน
[แก้]ในปี 2009 มาร์รีได้เซ็นสัญญาร่วมกับอาดิดาสแบรนด์กีฬาระดับโลกเป็นระยะเวลา 5 ปี ด้วยสัญญามูลค่า 30 ล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมถึงชุดแข่งขันและรองเท้าเทนนิส ต่อมาเขาได้เซ็นสัญญากับ อันเดอร์อาร์เมอร์[123] แบรนด์สัญชาติอเมริกันในเดือนธันวาคมปี 2014 ด้วยสัญญามูลค่า 25 ล้านดอลลาร์ ก่อนจะปิดท้ายด้วยการเซ็นสัญากับ Castore แบรนด์ดังจากสหราชอาณาจักรจนกระทั่งถึงช่วงที่เขาประกาศเลิกเล่น (ณ ขณะนั้น) ในรายการออสเตรเลียนโอเพนปี 2019[124] มาร์รีใช้ไม้เทนนิสของ "Head" แบรนด์ของประเทศออสเตรเลีย และมักปรากฏภาพเขาในโฆษณาของแบรนด์
ทรัพย์สิน
[แก้]มาร์รีทำเงินรางวัลรวมจากการแข่งขันไปทั้งสิ้น 62 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มากที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ในประเภทชายเดี่ยว โดยเป็นรองเพียงผู้เล่นในกลุ่ม Big 4 ด้วยกันเท่านั้น (นอวาก จอกอวิช, โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ และ ราฟาเอล นาดัล เป็นสามผู้เล่นที่ทำเงินรางวัลรวมสูงที่สุด) โดยหากนับรวมกับค่าตอบแทนจากสปอนเซอร์และการโฆษณาสินค้าต่างๆแล้ว มาร์รีมีทรัพย์สินรวม 100 ล้านดอลลาร์[125]
การกุศล
[แก้]ในการแข่งขันแกรนด์สแลมวิมเบิลดันปี 2016 มาร์รีนำชุดแข่งที่สวมใส่ในการแข่งขันเซ็นชื่อออกประมูลหารายได้ช่วยองค์กรการกุศล แชริตีสตาร์ส (CharityStars) โดยหน่วยงานดังกล่าวซึ่งมาร์รีสนับสนุนมาตั้งแต่ปี 2009 มุ่งเน้นขจัดและรักษาโรคร้ายซึ่งคร่าชีวิตผู้คน 43,800 รายต่อปี โดยผู้เคราะห์ร้ายมักเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ และสตรีมีครรภ์ในทวีปแอฟริกา[126]
ต่อมาในปี 2020 มาร์รีได้ลงแข่งขันเทนนิสรายการ Schroders Battle of the Brits ที่จัดโดยเจมี่ มาร์รี พี่ชายของเขา เพื่อระดมทุนไปมอบให้กับหน่วยงานสาธารณสุขแห่งชาติของอังกฤษ (NHS) โดยการแข่งขันรายการนี้จัดขึ้นที่ศูนย์กีฬาเทนนิสแห่งชาติ ที่กรุงลอนดอน ระหว่างวันที่ 23–28 มิถุนายนและยังมีนักเทนนิสชาวอังกฤษอย่าง ไคล์ เอ็ดมุนด์ และแดน อีแวนส์ เข้าร่วมการแข่งขันและมีการตั้งเป้าว่าจะรวบรวมเงินบริจาคให้ได้ราว 100,000 ปอนด์ (ประมาณ 4 ล้านบาท) เพื่อสมทบทุนให้กับเอ็นเอชเอส
เกียรติประวัติ
[แก้]- รางวัลบีบีซี สปอร์ตส์ เพอร์ซันนอลลิตี้ ออฟ เดอะ เยียร์ สาขานักกีฬาดาวรุ่งยอดเยี่ยมแห่งปี (BBC Young Sports Personality of the Year) ปี 2004
- รางวัล BBC Sports Team of the Year Award ปี 2012 และ 2015
- รางวัลผู้เล่นที่ชนะเลิศการแข่งขันของเอทีพี ทัวร์ มากที่สุดต่อหนึ่งฤดูกาลในปี 2009 (6 รายการ) และ 2016 (9 รายการ)
- รางวัล Best ATP World Tour Match of the Year ปี 2010, 2011 และ 2012
- รางวัล BBC Sports Personality of the Year ปี 2013, 2015 และ 2016
- รางวัลบุคคลที่มีชื่อเสียง และมีผลงานอันโดดเด่นอย่างเป็นที่ประจักษ์ของประเทศสกอตแลนด์ (The Glenfiddich Spirit of Scotland Awards) ปี 2013
- เครื่องราชอิสริยาภรณ์ของจักรวรรดิบริติชชั้นพลเรือนรวมทั้งได้รับพระราชทานยศ "Sir" หรือยศอัศวินในปี 2017
สถิติอาชีพ
[แก้]แกรนด์สแลม
[แก้]เข้าชิงชนะเลิศ 11 รายการ (ชนะเลิศ 3, รองชนะเลิศ 8)
ผลลัพธ์ | ปี | รายการ | พื้นสนาม | คู่แข่ง | ผลการแข่งขัน |
---|---|---|---|---|---|
รองชนะเลิศ | 2008 | ยูเอสโอเพน | คอนกรีต | โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ | 2–6, 5–7, 2–6 |
รองชนะเลิศ | 2010 | ออสเตรเลียนโอเพน | คอนกรีต | โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ | 3–6, 4–6, 6–7(11–13) |
รองชนะเลิศ | 2011 | ออสเตรเลียนโอเพน | คอนกรีต | นอวาก จอกอวิช | 4–6, 2–6, 3–6 |
รองชนะเลิศ | 2012 | วิมเบิลดัน | หญ้า | โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ | 6–4, 5–7, 3–6, 4–6 |
ชนะเลิศ | 2012 | ยูเอสโอเพน(1) | คอนกรีต | นอวาก จอกอวิช | 7–6(12–10), 7–5, 2–6, 3–6, 6–2 |
รองชนะเลิศ | 2013 | ออสเตรเลียนโอเพน | คอนกรีต | นอวาก จอกอวิช | 7–6(7–2), 6–7(3–7), 3–6, 2–6 |
ชนะเลิศ | 2013 | วิมเบิลดัน(1) | หญ้า | นอวาก จอกอวิช | 6–4, 7–5, 6–4 |
รองชนะเลิศ | 2015 | ออสเตรเลียนโอเพน | คอนกรีต | นอวาก จอกอวิช | 6–7(5–7), 7–6(7–4), 3–6, 0–6 |
รองชนะเลิศ | 2016 | ออสเตรเลียนโอเพน | คอนกรีต | นอวาก จอกอวิช | 1–6, 5–7, 6–7(3–7) |
รองชนะเลิศ | 2016 | เฟรนช์โอเพน | ดิน | นอวาก จอกอวิช | 6–3, 1–6, 2–6, 4–6 |
ชนะเลิศ | 2016 | วิมเบิลดัน (2) | หญ้า | มิรอส ราวนิค | 6–4, 7–6(7–3), 7–6(7–2) |
เอทีพี มาสเตอร์ 1000
[แก้]รอบชิงชนะเลิศ 21 รายการ (ชนะเลิศ 14 , รองชนะเลิศ 7)
เอทีพี ไฟนอล
[แก้]ประเภทชายเดี่ยว: ชิงชนะเลิศ 1 ครั้ง (แชมป์ 1 สมัย)
[แก้]ผลลัพธ์ | ปี | รายการ | พื้นสนาม | คู่แข่ง | ผลการแข่งขัน |
---|---|---|---|---|---|
ชนะเลิศ | 2016 | เอทีพี ไฟนอล, ลอนดอน | คอนกรีต (ในร่ม) | นอวาก จอกอวิช | 6–3, 6–4 |
กีฬาโอลิมปิก
[แก้]ประเภทชายเดี่ยว: ชิงชนะเลิศ 2 ครั้ง (คว้าเหรียญทอง 2 สมัย)
ผลลัพธ์ | ปี | รายการ | พื้นสนาม | คู่แข่ง | ผลการแข่งขัน |
---|---|---|---|---|---|
เหรียญทอง | 2012 | โอลิมปิกฤดูร้อน 2012 ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร | หญ้า | โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ | ชนะ 6–2, 6–1, 6–4 |
เหรียญทอง | 2016 | โอลิมปิกฤดูร้อน 2016 ณ กรุงรีโอเดจาเนโร บราซิล | คอนกรีต | ฆวน มาร์ติน เดล ปอร์โต | ชนะ 7–5, 4–6, 6–2, 7–5 |
ประเภทคู่ผสม: ชิงชนะเลิศ 1 ครั้ง (คว้าเหรียญเงิน 1 สมัย)
ผลลัพธ์ | ปี | รายการ | พื้นสนาม | ผู้เล่นที่จับคู่ด้วย | คู่แข่งรอบชิงเหรียญ | ผลการแข่งขัน |
---|---|---|---|---|---|---|
เหรียญเงิน | 2012 | โอลิมปิกฤดูร้อน ปี 2012 ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร | หญ้า | ลอร่า ร็อบสัน | วิคตอเรีย อซาเรนกา แม็กซ์ เมิร์นยี่ |
6–2, 3–6, [8–10] |
การแข่งขันประเภททีม (ทีมสหราชอาณาจักร)
[แก้]เดวิส คัพ: เข้าชิงชนะเลิศ 1 สมัย (แชมป์ 1 สมัย)
ฮอพแมน คัพ: เข้าชิงชนะเลิศ 1 สมัย (รองชนะเลิศ 1 สมัย)
ผลลัพธ์ | ปี | รายการ | พื้นสนาม | สมาชิกทีม | คู่แข่งในรอบชิงชนะเลิศ | ผลการแข่งขัน | |
---|---|---|---|---|---|---|---|
รองชนะเลิศ | 2010 | ฮอพแมน คัพ, ออสเตรเลีย | คอนกรีต (ในร่ม) | ลอร่า ร็อบสัน | มาเรีย โฮเซ่ มาร์ติเนซ ซานเชซ ทอมมี โรเบรโด |
1–2 | [127] |
เงินรางวัล
[แก้]ปี | รายการ แกรนด์สแลม |
รายการ ATP |
รวม | เงินรางวัล ($) |
อันดับของ เงินรางวัล |
---|---|---|---|---|---|
2003 | 0 | 0 | 0 | $5,314 | 599 |
2004 | 0 | 0 | 0 | $10,275 | 731 |
2005 | 0 | 0 | 0 | $219,490 | 105 |
2006 | 0 | 1 | 1 | $677,802 | 26 |
2007 | 0 | 2 | 2 | $880,905 | 21 |
2008 | 0 | 5 | 5 | $3,705,650 | 4 |
2009 | 0 | 6 | 6 | $4,421,058 | 5 |
2010 | 0 | 2 | 2 | $4,046,805 | 4 |
2011 | 0 | 5 | 5 | $5,180,092 | 4 |
2012 | 1 | 2 | 3 | $5,708,232 | 3 |
2013 | 1 | 3 | 4 | $5,416,221 | 3 |
2014 | 0 | 3 | 3 | $3,918,244 | 8 |
2015 | 0 | 4 | 4 | $8,175,231 | 2 |
2016 | 1 | 8 | 9 | $16,349,701 | 1 |
2017 | 0 | 1 | 1 | $2,092,625 | 15 |
2018 | 0 | 0 | 0 | $212,866 | 166 |
2019 | 0 | 1 | 1 | $497,751 | 118 |
2020 | 0 | 0 | 0 | $249,361 | 139 |
2021* | 0 | 0 | 0 | $520,937 | 97 |
2022 | 0 | 0 | 0 | $5,200 | n/a |
Career* | 3 | 43 | 46 | $62,319,506 | 4 |
- * ข้อมูลเมื่อ 17 มกราคม ค.ศ. 2022[update].
เชิงอรรถ
[แก้]- ↑ ในสำเนียงบริติช หรือ แอนดี เมอร์รี ในสำเนียงอเมริกัน
- ↑ ทั้งสี่คนเป็นผู้เล่นชายที่ประสบความสำเร็จที่สุดในทศวรรษ 2010 โดยชนะเลิศการแข่งขันรายการสำคัญได้แก่ แกรนด์สแลมและรายการมาสเตอร์มากที่สุด รวมทั้งทำเงินรางวัลมากที่สุด และทำอันดับอยู่ในสี่อันดับแรกของโลกเป็นส่วนมากในช่วงเวลาดังกล่าว
- ↑ ยุคโอเพนในการแข่งขันเทนนิสทั่วโลกเริ่มต้นในปี 1968 แต่เริ่มมีการจัดอันดับมือวางผู้เล่นครั้งแรกในปี 1973
- ↑ ประเทศอังกฤษ, สกอตแลนด์, เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ ร่วมแข่งขันเทนนิสรายการนานาชาติได้แก่ เดวิสคัพ และกีฬาโอลิมปิก ในนามทีมสหราชอาณาจักร โดยไม่มีการแบ่งแยกประเทศ
- ↑ การแข่งขันเริ่มขึ้นในปี 1900 เป็นการแข่งขันรายการนานาชาติของทีมชายที่ใหญ่ที่สุดของสหพันธ์เทนนิสนานาชาติ เปรียบเสมือนการแข่งขันชิงแชมป์โลก ผู้จัดงานได้อธิบายไว้ว่าเป็น "World Cup of Tennis" และผู้ชนะจะเรียกว่าทีมแชมป์โลก
อ้างอิง
[แก้]- ↑ MURRAY, Andrew. ukwhoswho.com. Who's Who. Vol. 2015 (online Oxford University Press ed.). A & C Black, an imprint of Bloomsbury Publishing plc. (ต้องรับบริการ)
- ↑ อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ
<ref>
ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อatp_profile
- ↑ "Rankings Singles". ATP Tour.
- ↑ "Rankings Doubles". ATP Tour.
- ↑ "Andy murray Pronunciation". www.howtopronounce.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Andy Murray | Overview | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Sir Andy Murray: Is he Britain's greatest sportsperson of all time?". Sky Sports (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Most Successful British Tennis Players Of All-Time". Online Betting.
- ↑ "Murray's Olympic glory relived". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-07-31.
- ↑ Bullock, John. "The Different Eras of Tennis' Big Four". HowTheyPlay (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Andy Murray beats Roger Federer to win Olympic gold for Great Britain". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2012-08-05.
- ↑ "Fred Perry: the icon and the outcast". HistoryExtra (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "The story of Andy Murray's 2016 season". Sky Sports (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Tearful Murray wins second Olympic gold". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-11-28.
- ↑ "Andy Murray - Latest news, reaction, results, pictures, video - Daily Record". dailyrecord (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Profile". Andy Murray Official Site (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
- ↑ "Stamps mark Andy Murray's historic Wimbledon victory". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2013-07-18. สืบค้นเมื่อ 2021-11-28.
- ↑ https://www.atptour.com/en/news/andy-murray-knighted-2019
- ↑ "Sir Andy Murray collects his knighthood - CBBC Newsround" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-11-28.
- ↑ "THE NORMAN BROOKS TROPHY". Percy Marks (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2013-01-17.
- ↑ "Murray's tactics" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2008-06-09. สืบค้นเมื่อ 2021-11-28.
- ↑ "Murray wins Davis Cup for Britain". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-07-16.
- ↑ https://olympics.com/en/featured-news/andy-murray-the-voice-for-equality
- ↑ "Andy Murray: Women praise tennis star for role in fighting sexism". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2019-01-11. สืบค้นเมื่อ 2021-11-28.
- ↑ https://www.biography.com/athlete/andy-murray
- ↑ Tennis365 (2018-01-18). "Which teams do Nadal, Federer, Murray support?". Tennis365 (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "Players' love of sushi means raw fish is raw power on tennis circuit". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2010-06-29.
- ↑ "Murray wins Olympic tennis gold". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-06-07.
- ↑ "Djokovic: Murray deserves 'big-four' tag". ESPN.co.uk. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-10-30. สืบค้นเมื่อ 2022-01-18.
- ↑ "BBC Sport - Andy Murray v Novak Djokovic as it happened". web.archive.org. 2013-02-07. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-01-10. สืบค้นเมื่อ 2022-01-18.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "Andy Murray up to No 2 in world after hard slog against David Ferrer". The Independent (ภาษาอังกฤษ). 2013-03-31.
- ↑ "Murray withdraws from French Open". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-06-07.
- ↑ Murrells, Katy (2013-07-07). "Andy Murray beats Novak Djokovic to win Wimbledon – as it happened | Katy Murrells". The Guardian (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0261-3077. สืบค้นเมื่อ 2022-01-18.
- ↑ "Wawrinka ends Murray US Open defence". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-01-18.
- ↑ "Back surgery set to end Murray's season". ESPN.co.uk. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-10-14. สืบค้นเมื่อ 2022-01-18.
- ↑ "The Peninsula Qatar - Nadal, Murray start season at Qatar Open". archive.ph. 2013-12-13. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-13. สืบค้นเมื่อ 2022-04-08.
- ↑ "Australian Open 2014: Andy Murray unable to stop Roger Federer who". The Independent (ภาษาอังกฤษ). 2014-01-22.
- ↑ "Davis Cup - Tie details - 2014 - USA v Great Britain". web.archive.org. 2014-01-25. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-01-25. สืบค้นเมื่อ 2022-01-18.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "Murray splits with coach Lendl". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-01-18.
- ↑ "Andy Murray let down by umpire error in defeat to Djokovic". The Independent (ภาษาอังกฤษ). 2014-03-27.
- ↑ "Italy bounce back to defeat Great Britain in Davis Cup quarter-final". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2014-04-06.
- ↑ "Nadal beats Murray in Rome thriller". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-01-18.
- ↑ "Nadal hammers Murray in French semi". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-01-18.
- ↑ "Andy Murray appoints Amélie Mauresmo as his new coach". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2014-06-08.
- ↑ "Murray seeded third for Wimbledon". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-01-18.
- ↑ "Murray starts title defence in style". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-01-18.
- ↑ "Murray makes quick work of Rola". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-01-18.
- ↑ "Champion Murray beaten by Dimitrov". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-01-18.
- ↑ "Murray at lowest ranking for six years". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-01-18.
- ↑ "Murray loses to Tsonga in Toronto". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-01-18.
- ↑ "Murray drops out of world's top 10". ESPN.co.uk.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "Djokovic downs Murray in Beijing". sports.yahoo.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "Murray beaten by Ferrer in Shanghai". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-01-18.
- ↑ "Andy Murray's ATP Tour Finals hopes boosted by win over David Ferrer". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2014-10-19.
- ↑ "Murray outlasts Robredo to win Valencia title". news.yahoo.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "Djokovic ends Murray's winning run". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-01-18.
- ↑ "Federer knocks out Murray in London". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-01-18.
- ↑ "Djokovic illness hands Murray title". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-01-18.
- ↑ "Great Britain too good for Australia in Hopman Cup". ABC News (ภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลีย). 2015-01-09. สืบค้นเมื่อ 2022-01-18.
- ↑ "Djokovic beats Murray in Melbourne". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-01-18.
- ↑ Jones, Gareth Iwan (2015-02-04). "Andy Murray returns to top four". Daily Record (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Simon Snaps 12-Match Losing Streak vs. Murray in Rotterdam - Tennis Now". www.tennisnow.com.
- ↑ "Andy Murray slips behind Kei Nishikori in the latest world rankings". Sky Sports (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Murray wraps up GB Davis Cup triumph". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-01-18.
- ↑ "Tennis - Murray sets new milestone on way to Indian Wells semi-finals - Yahoo Eurosport UK". web.archive.org. 2015-04-02. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-04-02. สืบค้นเมื่อ 2022-01-18.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "Djokovic beats Murray in semi-final". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-01-18.
- ↑ "Murray reaches 500 career wins". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-01-18.
- ↑ "Andy Murray loses Miami Open final to Novak Djokovic". www.telegraph.co.uk.
- ↑ Tennis.com. "Murray wins BMW Open for first clay-court title". Tennis.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Murray beats Nadal to Madrid title". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-01-18.
- ↑ "Djokovic beats Murray in five sets". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-01-18.
- ↑ "Murray wins fourth Queen's title". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-01-18.
- ↑ "Andy Murray vs Roger Federer, Wimbledon 2015 - as it happened: Swiss wins in straight sets". www.telegraph.co.uk.
- ↑ "Murray win puts GB into semi-finals". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-01-18.
- ↑ Reuters (2015-08-06). "Andy Murray stunned by Teymuraz Gabashvili at Citi Open in Washington". the Guardian (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Anderson stuns Murray at US Open". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-01-18.
- ↑ "Murray sends GB into Davis Cup final". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-01-18.
- ↑ "Murray wins Davis Cup for Britain". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-01-18.
- ↑ "Djokovic beats Murray to win title". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-01-18.
- ↑ "Andy Murray says carrying flag at Rio Olympics is 'proudest moment of career'". Sky Sports (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Murray picked as GB's Rio flag bearer". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-06-07.
- ↑ "Andy Murray has hip surgery and aims to return before Wimbledon". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2018-01-08.
- ↑ Tennis.com. "Andy Murray has surgery, gets metal implant with second hip operation". Tennis.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Rothenberg, Ben (2018-08-15). "After Hip Surgery, Andy Murray Struggles to Regain His Footing". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2021-06-08.
- ↑ "Murray makes winning return at Queen's". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-06-15.
- ↑ "Denis Shapovalov Shines To End Andy Murray's Wimbledon Campaign | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Murray & Salisbury out of men's doubles". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-07-31.
- ↑ Lutz, Tom (2021-08-30). "Stefanos Tsitsipas beats Andy Murray in five sets at US Open – as it happened". The Guardian (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0261-3077. สืบค้นเมื่อ 2021-08-31.
- ↑ www.eurosport.com https://www.eurosport.com/geoblocking.shtml.
{{cite web}}
:|title=
ไม่มีหรือว่างเปล่า (help) - ↑ "Tennis news - Andy Murray takes wildcard into Moselle Open in Metz, with Rennes and San Diego also this month". Eurosport UK (ภาษาอังกฤษ). 2021-09-14.
- ↑ "Carlos Alcaraz Earns Revenge Against Andy Murray In Vienna | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ https://www.bbc.com/sport/tennis/59242860
- ↑ VAVEL.com (2021-12-17). "Summary and highlights of Rafael Nadal 0-2 Andy Murray IN Abu Dhabi semifinals | 12/17/2021". VAVEL (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "Murray loses to Rublev in Abu Dhabi final". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-01-04.
- ↑ "Melbourne Summer Set: Osaka makes winning return, Murray ousted". ausopen.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Krejcikova, Karatsev soar as Sydney semis set". ausopen.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Australian Open 2022 - Andy Murray knocked out as impressive Taro Daniel reaches third round for first time". Eurosport (ภาษาอังกฤษ). 2022-01-20.
- ↑ "Murray knocked out by Auger-Aliassime". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-03-21.
- ↑ "Murray wins only one game in defeat". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-03-21.
- ↑ "Murray goes out in Dubai second round". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-03-21.
- ↑ "Murray loses to Bublik in second round". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-03-21.
- ↑ News, A. B. C. "Andy Murray withdraws from Novak Djokovic clash at Madrid Open". ABC News (ภาษาอังกฤษ).
{{cite web}}
:|last=
มีชื่อเรียกทั่วไป (help) - ↑ Tennis365 (2022-07-15). "Andy Murray goes down fighting in last eight loss at Hall of Fame Open". Tennis365 (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ Media, P. A. (2022-08-10). "Andy Murray out of Montreal Open but Cameron Norrie eases through". the Guardian (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Cameron Norrie Defeats Andy Murray In Cincinnati | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ Carayol, Tumaini (2023-01-21). "Andy Murray's Australian Open run ends in battling defeat to Bautista Agut". The Observer (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0029-7712. สืบค้นเมื่อ 2024-09-10.
- ↑ "Jack Draper Wins First Andy Murray Meeting To Extend Indian Wells Debut Run | ATP Tour | Tennis". ATP Tour (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Miami Open 2023 results: Andy Murray loses to Dusan Lajovic in straight sets". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2023-03-22. สืบค้นเมื่อ 2024-09-10.
- ↑ "Monte Carlo Masters: Andy Murray and Cameron Norrie lose in first round but Jack Draper through". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2023-04-10. สืบค้นเมื่อ 2024-09-10.
- ↑ "Madrid Open: Andy Murray loses to Andrea Vavassori, Kyle Edmund beaten by Dominic Thiem". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2023-04-27. สืบค้นเมื่อ 2024-09-10.
- ↑ "Andy Murray withdraws from French Open to prioritise Wimbledon". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2023-05-21. สืบค้นเมื่อ 2024-09-10.
- ↑ "Wimbledon 2023 results: Andy Murray loses to Stefanos Tsitsipas, Cameron Norrie and Liam Broady beaten". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2023-07-07. สืบค้นเมื่อ 2024-09-10.
- ↑ "US Open 2023 results: Andy Murray loses to Grigor Dimitrov in New York". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2023-08-31. สืบค้นเมื่อ 2024-09-10.
- ↑ "Andy Murray: No timescale for three-time Grand Slam champion's return after ankle injury". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2024-03-29. สืบค้นเมื่อ 2024-09-10.
- ↑ "Queen's 2024 results: Andy Murray hopes back injury will not affect Wimbledon". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2024-06-19.
- ↑ "Andy Murray withdraws from singles, still plans to play doubles at Olympics | ATP Tour | Tennis". ATP Tour (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Olympics Day Six: Murray's tennis career ends & Biles claims dazzling gold". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
- ↑ "The Changing Game of Andy Murray -". Essential Tennis (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2012-01-28.
- ↑ "Andy Murray Biography And Detailed Game Analysis". Online Tennis Instruction - Learn How To Play Your Best Tennis, Free Tennis Tips (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "ATP: the biggest strength and weakness of every top 10 player". Tennismash (ภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลีย). 2018-01-09.
- ↑ Li, J. "Andy Murray's Strengths, Weaknesses and Keys To Success". Bleacher Report (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Andy Murray | Bio | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ Tennis.com. "Tennis.com". Tennis.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Andy Murray & Castore - Castore Sportswear". web.archive.org. 2019-07-02. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-02. สืบค้นเมื่อ 2021-06-07.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "Andy Murray Net Worth". Celebrity Net Worth (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2010-02-23.
- ↑ ""เมอร์เรย์" ใจบุญ เปิดประมูลเสื้อแชมป์วิมฯ ต้านมาลาเรีย". mgronline.com (ภาษาอังกฤษ). 2016-07-24.
- ↑ "Andy Murray and Laura Robson beaten in Hopman Cup final". BBC Sport. 9 January 2010. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 January 2010. สืบค้นเมื่อ 9 January 2010.
- บทความที่มีลิงก์เสียตั้งแต่กันยายน 2024
- บทความที่มีข้อความที่อาจล้าสมัยตั้งแต่มกราคม 2022
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2530
- บุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่
- นักเทนนิสชาวสกอตแลนด์
- บุคคลจากกลาสโกว์
- นักเทนนิสในโอลิมปิกฤดูร้อน 2008
- นักเทนนิสในโอลิมปิกฤดูร้อน 2012
- นักกีฬาจากลอนดอน
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์โอบีอี
- นักกีฬาสหราชอาณาจักรที่ได้เหรียญทองโอลิมปิก