ซิกส์ซิกมา
ซิกส์ซิกมา (อังกฤษ: Six Sigma) หมายถึงระดับคุณภาพของกระบวนการผลิตที่ยอมให้มีของเสียในระบบได้เพียง 3.4 ชิ้นต่อการผลิตสินค้าล้านชิ้น และนอกจากนี้ยังเป็นเครื่องมือช่วยธุรกิจ ให้สามารถแก้ปัญหาคุณภาพของระบบของการปฏิบัติการได้อีกด้วย
ที่มาของนิยาม
[แก้]ซิกส์ซิกมามีที่มาจากการประยุกต์ความรู้ทางด้านสถิติมาใช้ โดยสมมติให้ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในระบบนั้นเป็นการแจกแจงปกติ (normal distribution) หรือการกระจายเป็นรูประฆังคว่ำทั้งหมด ค่าเฉลี่ยที่จุดกึ่งกลางของการกระจายตัวนั้นก็คือค่าที่ต้องการ ส่วนซิกมาคือหนึ่งช่วงของความเบี่ยงเบนมาตรฐานที่วัดจากจุดกึ่งกลางดังกล่าว และจะมีขอบเขตของการยอมรับได้อยู่ 2 ส่วนคือ ขอบเขตจำกัดบน (Upper Specific Limitation) และขอบเขตจำกัดล่าง (Lower Specific Limitation) ซึ่งในนิยามของซิกส์ซิกมานี้ ถ้าขอบเขตบนและล่างอยู่ห่างจากค่าเฉลี่ยเป็นระยะ 3 ซิกมา ก็จะเรียกว่า ระดับ 3 ซิกมา (3 Sigma Level) แต่ถ้าเป็นระยะ 4 ซิกมา ก็จะเรียกว่า ระดับ 4 ซิกมา (4 Sigma Level) ซึ่งในแต่ละระดับจะให้ค่าดังนี้
ระดับซิกมา | ค่าความน่าเชื่อถือ (Reliability) | DPMO |
---|---|---|
1.0 | 68.26894921% | 317,310.5078629140 |
2.0 | 95.44997361% | 45,500.2638963586 |
3.0 | 99.73002039% | 2,699.7960632598 |
4.0 | 99.99366575% | 63.3424836580 |
5.0 | 99.99994267% | 0.5733039985 |
6.0 | 99.99999980% | 0.0019731754 |
DPMO ในตารางข้างต้นนั้น หมายถึง จำนวนของเสียต่อการปฏิบัติการล้านครั้ง (Defects Per Million Opportunities)
ปรากฏการณ์ความคลาดเคลื่อน
[แก้]จากการทดลองในห้องปฏิบัติการ หรือจากการทดลองภาคสนามนั้น จะให้ค่าเฉลี่ยที่คงตัว แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป ค่าเฉลี่ยที่เคยวัดได้จะเกิดการแกว่งตัว เนื่องด้วยการเสื่อมสภาพตามกาลเวลา ทำให้ข้อมูลที่เคยวัดได้นั้นผิดเพี้ยนไป โดยค่าที่ได้จากการทดลองนี้ ถูกเรียกว่า "ระยะสั้น" (Short Term) แต่ค่าที่แกว่งตัวในภายหลังนี้เรียกว่า "ระยะยาว" (Long Term)
โมโตโรล่า แนะนำว่า ค่าที่แกว่งตัวนี้ควรจะอยู่ในช่วง 1.5 ซิกมา แต่ว่าค่าที่ได้มานี้มาจากประสบการณ์ของโมโตโรล่าเอง ซึ่งก็ได้มีการพิสูจน์ในเชิงคณิตศาสตร์โดย ดาววิส โบท ในภายหลังว่าค่า 1.5 นี้สมเหตุสมผล [1] ซึ่งค่าที่ได้จะเป็นดังนี้
ระดับซิกมา | ค่าความน่าเชื่อถือ (Reliability) | DPMO |
---|---|---|
1.0 | 30.23278734% | 697,672.1265997890 |
2.0 | 69.12298322% | 308,770.1678050220 |
3.0 | 93.31894011% | 66,810.5989420398 |
4.0 | 99.37903157% | 6,209.6843153386 |
5.0 | 99.97673709% | 232.6291191951 |
6.0 | 99.99966023% | 3.3976731335 |
และค่านี้คือค่าที่ยอมรับให้ใช้ในมาตรฐานระดับ 6 ซิกมานั่นเอง
การนำไปใช้
[แก้]อย่างไรก็ตาม ซิกส์ซิกมาเป็นหลักการที่ประยุกต์มาจากวิชาสถิติ ซึ่งแท้จริงแล้วก็มีการพัฒนามาแล้วราวๆ 7 ทศวรรษ และมีเครื่องมือต่างๆ มากมาย แต่วิธีที่นิยมที่สุดก็คือ DMAIC (ดีเมก) และ DMADV [2]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Davis R. Bothe, 2002, "Statistical Reason for the 1.5s Shift", Quality Engineering, issue 14, Vol 3, pp479-487
- ↑ Joseph A. De Feo & William Barnard. JURAN Institute's Six Sigma Breakthrough and Beyond - Quality Performance Breakthrough Methods, Tata McGraw-Hill Publishing Company Limited, 2005. ISBN 0-07-059881-9
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- 6 sigma เก็บถาวร 2006-03-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ที่ GotoKnow.org
- Yang, Kai and El-Haik, Basem, 2003, Design for Six Sigma: A Roadmap for Product Development, McGraw-Hill, NY, ISBN 0-07-141208-5