โรตาไวรัส
Rotavirus | |
---|---|
Computer–aided reconstruction of a rotavirus based on several electron micrographs | |
การจำแนกชนิดไวรัส | |
Group: | Group III (dsRNA) |
อันดับ: | Unassigned |
วงศ์: | Reoviridae |
วงศ์ย่อย: | Sedoreovirinae |
สกุล: | Rotavirus |
ชนิดต้นแบบ | |
Rotavirus A | |
Species | |
|
โรตาไวรัส (อังกฤษ: Rotavirus) เป็นชื่อจีนัสของเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคลำไส้อักเสบจากเชื้อโรตาไวรัส ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะท้องร่วงรุนแรงในทารกและเด็กเล็กที่พบบ่อยที่สุด ไวรัสในจีนัสนี้เป็นไวรัสชนิดอาร์เอ็นเอสายคู่ อยู่ในแฟมิลีรีโอวิริดี เด็กแทบทุกคนบนโลกเมื่ออายุครบ 5 ปีจะเคยติดเชื้อนี้มาแล้วอย่างน้อยหนึ่งครั้ง แต่ละครั้งที่ติดเชื้อร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกัน ทำให้การติดเชื้อครั้งถัดๆ ไปมีความรุนแรงลดลง และทำให้โรคนี้พบได้น้อยในผู้ใหญ่ ไวรัสในจีนัสนี้มีสปีชีส์ย่อยอยู่ 8 สปีชีส์ ได้แก่ เอ บี ซี ดี อี เอฟ จี และเอช ที่พบบ่อยที่สุดคือโรตาไวรัสเอ ซึ่งเป็นสาเหตุของการติดเชื้อโรตาไวรัสในมนุษย์ถึง 90%
เชื้อนี้ติดต่อผ่านทางการกินอาหารที่ปนเปื้อนอุจจาระที่มีเชื้อ เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะทำให้เกิดการติดเชื้อในเซลล์เยื่อบุผนังลำไส้เล็ก ทำให้เกิดกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ (บางครั้งเรียก "ไข้หวัดใหญ่ลงกระเพาะ" แต่เชื้อนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกับไวรัสไข้หวัดใหญ่แต่อย่างใด)
อาการและอาการแสดง
[แก้]ผู้ป่วยโรคลำไส้อักเสบจากการติดเชื้อไวรัสโรตาสามารถมีอาการได้หลากหลาย ตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงรุนแรง โดยอาการที่พบบ่อยได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลวเป็นน้ำ และมีไข้ต่ำ ระยะฟักตัวตั้งแต่ได้รับเชื้อจนถึงเริ่มแสดงอาการมักอยู่ที่ประมาณ 2 วัน หลังจากนั้นจึงมีอาการเป็นขึ้นอย่างเฉียบพลัน อาการที่มักปรากฎขึ้นก่อนคืออาการอาเจียน หลังจากนั้นมักมีอาการถ่ายเหลวเป็นน้ำปริมาณมากอยู่ประมาณ 4-8 วัน ผู้ป่วยโรคลำไส้อักเสบจากการติดเชื้อไวรัสโรตามักพบว่ามีภาวะขาดน้ำได้บ่อยกว่าการติดเชื้อจากเชื้อแบคทีเรียอื่นๆ และภาวะขาดน้ำนี้เองที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่พบบ่อยที่สุดในบรรดาผู้ที่เสียชีวิตจากไวรัสโรตา
การติดเชื้อไวรัสโรตาชนิดเอสามารถพบได้ในทุกอายุ โดยการติดเชื้อครั้งแรกมักแสดงอาการให้เห็นอย่างชัดเจน แต่การติดเชื้อครั้งต่อๆ ไปอาจทำให้มีอาการเพียงเล็กน้อยหรือไม่แสดงอาการเลยก็เป็นได้ เนื่องจากร่างกายมีภูมิคุ้มกันแล้ว ด้วยสาเหตุนี้เองทำให้การติดเชื้อแบบแสดงอาการพบได้บ่อยในเด็กอายุไม่ถึง 2 ปี และโอกาสพบว่าติดเชื้อแล้วจะแสดงอาการจะลดลงเรื่อยๆ ตามอายุไปจนถึงอายุ 45 ปี ผู้ป่วยกลุ่มที่จะมีอาการรุนแรงที่สุดมักเป็นกลุ่มที่มีอายุ 6 เดือน - 2 ปี, กลุ่มผู้สูงอายุ, และกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ใหญ่โดยทั่วไปแล้วมักไม่ติดโรคจากเชื้อไวรัสโรตา และอาการท้องเสียลำไส้อักเสบที่พบในผู้ใหญ่ส่วนใหญ่จะเกิดจากสาเหตุอื่น แต่ผู้ใหญ่สามารถติดเชื้อไวรัสโรตาแล้วไม่แสดงอาการและสามารถแพร่เชื้อต่อไปในชุมชนได้ มีหลักฐานบางส่วนบ่งชี้ว่าชนิดกรุ๊ปเลือดของแต่ละคนสามารถมีผลต่อโอกาสติดเชื้อไวรัสโรตาได้