ไข้รากสาดน้อย
ไข้รากสาดน้อย (typhoid fever) | |
---|---|
ชื่ออื่น | ไข้รากสาด ไข้ช้า |
จุดแดง (rose spots) บนหน้าอกของผู้ป่วยไข้รากสาดน้อย ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Salmonella typhi | |
สาขาวิชา | โรคติดเชื้อ (การแพทย์เฉพาะทาง) |
อาการ | ไข้ที่เริ่มจากระดับต่ำและเพิ่มขึ้นทุกวัน อาจสูงถึง 104.9 F (40.5 C) ปวดหัว อ่อนแรงและเหนื่อยล้า ปวดกล้ามเนื้อ เหงื่อออก ไอแห้ง เบื่ออาหารและน้ำหนักลด ปวดท้อง ท้องเสียหรือท้องผูก ผื่น ท้องบวม (ตับหรือม้ามโต) |
การตั้งต้น | 1-2 สัปดาห์หลังรับประทาน |
ระยะดำเนินโรค | โดยปกติ 7-10 วัน หลังจากเริ่มการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ นานกว่านั้นหากมีภาวะแทรกซ้อนหรือดื้อยา |
สาเหตุ | การติดเชื้อทางเดินอาหารของ Salmonella enterica serovar Typhi |
ปัจจัยเสี่ยง | ทำงานหรือเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีไข้รากสาดใหญ่, ทำงานเป็นนักจุลชีววิทยาคลินิกที่ดูแลแบคทีเรีย Salmonella typhi, มีการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่ติดเชื้อหรือเพิ่งติดเชื้อไข้รากสาดใหญ่, ดื่มน้ำที่ปนเปื้อนจากน้ำเสียที่มีเชื้อ Salmonella typhi |
การป้องกัน | ป้องกันได้ด้วยวัคซีน ผู้ที่เดินทางไปยังภูมิภาคที่มีการระบาดของโรคไทฟอยด์สูงมักได้รับคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนก่อนเดินทาง |
การรักษา | ยาปฏิชีวนะ, การเติมน้ำ ,การผ่าตัดในกรณีร้ายแรง, การกักกันเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้อื่น (ไม่ค่อยทำกันในสมัยนี้) |
พยากรณ์โรค | มีแนวโน้มที่จะหายได้โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนหากได้รับยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้องและวินิจฉัยได้เร็ว หากเชื้อที่ติดเชื้อดื้อยาหลายขนานหรือดื้อยาอย่างรุนแรง การพยากรณ์โรคจะยากขึ้น ในผู้ป่วยที่มีอาการเฉียบพลันที่ไม่ได้รับการรักษา 10% จะปล่อยแบคทีเรียออกไปเป็นเวลาสามเดือนหลังจากเริ่มมีอาการ และ 2-5% จะกลายเป็นพาหะของโรคไทฟอยด์เรื้อรัง.[1] Some carriers are diagnosed by positive tissue specimen. Chronic carriers are by definition asymptomatic.[1] |
ไข้รากสาดน้อย หรือ ไข้ไทฟอยด์ (อังกฤษ: typhoid fever; enteric fever) เป็นการเจ็บป่วยที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Salmonella enterica serovar Typhi พบได้ทั่วโลกโดยติดต่อผ่านทางการรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนอุจจาระของผู้ป่วย[2] โดยเชื้อแบคทีเรียก่อโรคนี้จะเจาะทะลุผนังลำไส้แล้วถูกจับกินโดยเซลล์แมโครฟาจ (macrophage) จากนั้นเชื้อ Salmonella typhi จะเปลี่ยนโครงสร้างตัวเองเพื่อดื้อต่อการทำลายและสามารถหลบหนีออกจากแมโครฟาจได้ กลไกดังกล่าวทำให้เชื้อดื้อต่อการทำลายโดยแกรนูโลไซต์ ระบบคอมพลีเมนต์ และระบบภูมิคุ้มกัน จากนั้นเชื้อก่อโรคจะกระจายไปทั่วร่างกายผ่านทางน้ำเหลืองขณะที่อยู่ในเซลล์แมโครฟาจ ทำให้เชื้อเข้าสู่ระบบเรติคูโลเอนโดทีเลียม (reticuloendothelial system) และไปยังอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย
จุลชีพก่อโรคนี้เป็นแบคทีเรียแกรมลบ รูปแท่งสั้น ซึ่งเคลื่อนที่โดยแฟลกเจลลัมหลายเส้น (peritrichous flagella) แบคทีเรียเจริญได้ดีที่สุดที่อุณหภูมิกาย 37 °C (99 °F)
อาการ
[แก้]ไข้รากสาดน้อยมีอาการไข้สูงคงตัวที่ประมาณ 40 °C (104 °F) เหงื่อออกมาก กระเพาะและลำไส้อักเสบ และท้องเสียไม่มีเลือดปน อาการที่พบไม่บ่อยเช่นจุดผื่นราบสีกุหลาบหรือสีแดง[3]
โดยทั่วไปแล้วการดำเนินโรคไทฟอยด์แบ่งออกเป็น 4 ระยะหากไม่ได้รับการรักษา ในแต่ละระยะกินเวลาราว 1 สัปดาห์ ในสัปดาห์แรกมีอาการไข้สูงขึ้นทีละน้อยร่วมกับหัวใจเต้นช้า อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ และไอ อาจพบการตกเลือดกำเดาราว 1 ใน 4 ของผู้ป่วยและอาจพบอาการปวดท้อง มีภาวะเม็ดเลือดขาวน้อยเกินร่วมกับภาวะอีโอสิโนฟิลน้อยเกินและภาวะลิมโฟไซต์มากเกินสัมพัทธ์ ผลปฏิกิริยาไดอะโซ (diazo reaction) ให้ผลบวก และการเพาะเชื้อจากเลือดปรากฏเชื้อ Salmonella typhi หรือ paratyphi การทดสอบไวดัล (Widal test) เพื่อวินิจฉัยโรคนี้มักให้ผลลบในสัปดาห์แรก
ในสัปดาห์ที่สองหลังติดเชื้อ ผู้ป่วยมักนอนหมดกำลังร่วมกับไข้สูงลอยราว 40 °C (104 °F) และหัวใจเต้นช้า มักพบชีพจรสองยอด (dicrotic pulse wave) ในคลื่นความดันหัวใจ มักพบอาการเพ้อ ผู้ป่วยมักสงบแต่บางครั้งอาจกระสับกระส่าย จุดแดงปรากฏในหน้าอกส่วนล่างและท้องในผู้ป่วยราว 1 ใน 3 หากฟังเสียงปอดอาจพบเสียงอึ๊ด (rhonchi) ที่ฐานปอด ที่ท้องอาจบวมและกดเจ็บที่จตุภาคล่างขวา (right lower quadrant) ซึ่งสามารถได้ยินเสียงท้องร้อง (borborygmi) อาจพบอาการท้องเสียได้ในระยะนี้ โดยถ่ายราว 6-8 ครั้งต่อวันเป็นสีเขียวร่วมกับกลิ่นคล้ายซุปถั่ว แต่ก็อาจพบท้องผูกได้บ่อย ม้ามและตับโตและกดเจ็บ ตรวจเอนไซม์ตับทรานสอะมิเนส (transaminases) สูงขึ้น ปฏิกิริยาไวดัลเป็นบวกชัดเจน ร่วมกับพบแอนติบอดี antiO และ antiH เพาะเชื้อจากเลือดบางครั้งยังให้ผลบวกในระยะนี้
ในสัปดาห์ที่สาม จะพบภาวะแทรกซ้อนมากมาย ได้แก่
- ตกเลือดในลำไส้ เนื่องจากการตกเลือดใน Peyer's patches อาการนี้รุนแรงมากแต่มักไม่ทำให้เสียชีวิต
- ลำไส้ทะลุบริเวณปลายของลำไส้เล็กส่วนปลาย เป็นอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงและมักทำให้เสียชีวิต ภาวะนี้อาจเกิดโดยไม่มีอาการใดๆ เตือนก่อนจนเกิดภาวะเลือดเป็นพิษ (septicaemia) หรือเยื่อบุช่องท้องอักเสบแพร่กระจาย (diffuse peritonitis)
- สมองอักเสบ
- ฝีกระจายทั่ว ถุงน้ำดีอักเสบ เยื่อบุหัวใจอักเสบ และกระดูกอักเสบ
ไข้จะคงสูงมากและแกว่งเล็กน้อยใน 24 ชั่วโมง ผู้ป่วยมีภาวะขาดน้ำและผู้ป่วยเพ้อจากพิษไข้ (ระยะไทฟอยด์; typhoid state) ช่วงท้ายสัปดาห์ที่สามอาการไข้ลดลง (ระยะไข้สร่าง) ซึ่งดำเนินต่อไปในสัปดาห์ที่สี่และสัปดาห์สุดท้าย
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 Acute Communicable Disease Control, 2016 Annual Morbidity Report (2016). "TYPHOID FEVER, ACUTE AND CARRIER" (PDF). Los Angeles County Department of Public Health. p. 133.
- ↑ Giannella RA (1996). "Salmonella". Baron's Medical Microbiology (Baron S et al, eds.) (4th ed.). Univ of Texas Medical Branch. ISBN 0-9631172-1-1.
- ↑ CDC Disease Info
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- CDC Disease Info
- Easmon C (2005-04-01). "Typhoid fever and paratyphoid fever". Travel Health. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-10-13. สืบค้นเมื่อ 2008-10-05.
- Harrison NG. "Walter Reed and Typhoid Fever, 1897-1911". Historical Collections. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-09-08. สืบค้นเมื่อ 2008-10-05.
- O'Hara C (2006-01-26). "Typhoid Fever Led To The Fall Of Athens". Elsevier. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-11-30. สืบค้นเมื่อ 2008-10-05.
- Nicolson S (2008-06-26). "Typhoid Fever Led To The Fall Of Athens". BBC News. สืบค้นเมื่อ 2008-10-05.
การจำแนกโรค | |
---|---|
ทรัพยากรภายนอก |