สะพานสมมตอมรมารค
สะพานสมมตอมรมารค | |
---|---|
เส้นทาง | ถนนบำรุงเมือง |
ข้าม | คลองรอบกรุง |
ที่ตั้ง | แขวงสำราญราษฎร์ เขตพระนคร และแขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร |
ชื่ออื่น | สะพานเหล็กประตูผี |
ตั้งชื่อตาม | พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ |
ผู้ดูแล | กรุงเทพมหานคร |
สถานะ | เปิดใช้งาน |
เหนือน้ำ | สะพานผ่านฟ้าลีลาศ |
ท้ายน้ำ | สะพานระพีพัฒนภาค |
ข้อมูลจำเพาะ | |
ประเภท | สะพานแบบโค้ง |
วัสดุ | คอนกรีตเสริมเหล็ก |
ความยาว | 23 เมตร |
ความกว้าง | 7.5 เมตร |
ทางเดิน | 2 |
ประวัติ | |
สร้างใหม่ | พ.ศ. 2455 |
ชื่อที่ขึ้นทะเบียน | สะพานสมมตอมรมารค |
ขึ้นเมื่อ | 21 กันยายน พ.ศ. 2541 |
เป็นส่วนหนึ่งของ | โบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร |
เลขอ้างอิง | 0000051 |
ที่ตั้ง | |
สะพานสมมตอมรมารค [สม-มด-อะ-มอน-มาก] เป็นสะพานข้ามคลองรอบกรุงในส่วนของคลองบางลำพู ตั้งอยู่บนถนนบำรุงเมือง ในพื้นที่แขวงสำราญราษฎร์ เขตพระนคร และแขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร
เดิมเป็นสะพานไม้ที่มีโครงเหล็กรองรับพื้นที่ชักเลื่อนออกจากกัน มีชื่อเรียกโดยผู้คนที่อาศัยอยู่แถบนี้ว่า "สะพานเหล็กประตูผี" เนื่องจากตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกของประตูพระบรมมหาราชวัง หรือที่นิยมเรียกกันว่า "ประตูผี" อันเป็นทางที่ใช้สำหรับขนถ่ายศพของผู้เสียชีวิตในพระบรมมหาราชวังออกมาปลงศพด้านนอก ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สะพานแห่งนี้มีความทรุดโทรมมาก จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการบูรณะใหม่ พร้อม ๆ กับการสร้างถนนและสะพานอีกหลายแห่งเพื่อรองรับความเจริญของบ้านเมือง โดยเป็นสะพานปูนปั้นเสริมโครงเหล็กเหมือนแบบเก่า และพระราชทานชื่อให้ว่า "สะพานสมมตอมรมารค" เมื่อแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2455 เพื่อเป็นเกียรติแก่พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ พระอนุชา ต้นราชสกุลสวัสดิกุล (ภายหลังสถาปนาเป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) โดยมีความหมายว่า "สะพานของพระราชา" เป็นสะพานที่มีความยาว 23 เมตร กว้าง 7.50 เมตร ลูกกรงเป็นสถาปัตยกรรมแบบไอโอนิก มีฐานเสาเซาะร่องตลอดแนว[1]
และหลังจากมีการสร้างสะพานใหม่แล้ว พร้อมกับเปลี่ยนย่านนี้จากประตูผีเป็น "สำราญราษฎร์" เพื่อความเป็นสวัสดิมงคล ผู้คนจึงย้ายมาอยู่อาศัยมากขึ้นจนถึงปัจจุบัน มีชุมชนเก่าแก่ คือ "ชุมชนบ้านบาตร" ซึ่งเป็นชุมชนที่ชาวชุมชนมีอาชีพทำบาตรพระด้วยมือ และยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน บริเวณที่ตั้งของสะพานสมมตอมรมารคใกล้กับแยกสำราญราษฎร์ เป็นแหล่งรวมของร้านอาหารที่ได้รับความนิยมและมีความคึกคักอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงเวลาค่ำคืน และเชิงสะพานฝั่งเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายติดกับแยกเมรุปูน อันเป็นทางแยกที่ตัดกันระหว่างถนนบำรุงเมืองกับถนนบริพัตร ซึ่งในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เคยเป็นที่ตั้งของเมรุเผาศพที่สร้างขึ้นด้วยปูน สำหรับปลงศพเจ้านายชั้นรองและขุนนางต่าง ๆ ต่อมาได้รื้อออก เนื่องจากมีการสร้างเมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส และที่ตั้งของเมรุปูนนั้นได้กลายมาเป็นที่โรงเรียนสารพัดช่างพระนคร และวิทยาลัยสารพัดช่างพระนคร ในปัจจุบัน[2] [3]
ระเบียงภาพ
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ "เปิดหูเปิดตา ตอน ชื่อสะพานที่อ่านยากที่สุดในโลก (6มี.ค.59)". บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์. 2016-03-06.
- ↑ ประมาณพาณิชย์, ธนาชัย (2016-03-04). ""บ้านบาตร" ภูมิปัญญาที่รอการสืบต่อ". คมชัดลึก.
- ↑ pongsakornlovic (2011-04-18). "CHN 295 แยกเมรุปูน". ชื่อนั้น...สำคัญไฉน ?.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- สะพานสมมตอมรมารค (The Sommot Anaramarks Bridge) เก็บถาวร 2018-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากข้อมูลเกาะรัตนโกสินทร์
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ สะพานสมมตอมรมารค
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์
13°45′08″N 100°30′19″E / 13.752211°N 100.505217°E
สะพานข้ามคลองรอบกรุงในปัจจุบัน | |||
---|---|---|---|
เหนือน้ำ สะพานผ่านฟ้าลีลาศ |
สะพานสมมตอมรมารค |
ท้ายน้ำ สะพานระพีพัฒนภาค |