แอ็นสท์ ลูทวิช เคียร์ชเนอร์
แอ็นสท์ ลูทวิช เคียร์ชเนอร์ | |
---|---|
เกิด | 6 พฤษภาคม ค.ศ. 1880 อชัฟเฟินบวร์ค ราชอาณาจักรบาวาเรีย จักรวรรดิเยอรมัน |
เสียชีวิต | มิถุนายน 15, 1938 เฟราเอินเคียร์ช-วิลท์โบเดิน สวิตเซอร์แลนด์ | (58 ปี)
สัญชาติ | เยอรมัน |
การศึกษา | สาขาสถาปัตยกรรม เมืองเดรสเดิน |
ผลงานเด่น | Marzella, Self-Portrait as a Soldier, Sitting Woman |
ขบวนการ | ลัทธิสำแดงพลังอารมณ์แบบเยอรมัน |
แอ็นสท์ ลูทวิช เคียร์ชเนอร์ (เยอรมัน: Ernst Ludwig Kirchner; 6 พฤษภาคม ค.ศ. 1880 – 15 มิถุนายน ค.ศ. 1938) เป็นจิตรกรและช่างพิมพ์ชาวเยอรมัน เกิดที่เมืองอชัฟเฟินบวร์ค จักรวรรดิเยอรมัน บิดาเป็นวิศวกรซึ่งต่อมาเป็นอาจารย์สอนสาขาการวิจัยกระดาษ หลังจากที่ครอบครัวของเคียร์ชเนอร์ได้ย้ายถิ่นฐานจากสวิตเซอร์แลนด์ไปยังเมืองเค็มนิทซ์ในประเทศเยอรมนี นับตั้งแต่ ค.ศ. 1901 เขาจึงเริ่มศึกษาวิชาสถาปัตยกรรม ณ วิทยาลัยเทคนิคในเมืองเดรสเดินตามความประสงค์ของบิดา แต่ในเวลาต่อมา เคียร์ชเนอร์และเพื่อนนักศึกษาอีกสามคนคือ ฟริทซ์ ไบลเลอ, เอริช เฮ็คเคิล และคาร์ล ชมิท-ร็อทลุฟ กลับให้ความสนใจกับการสร้างสรรค์ทางด้านจิตรกรรมมากกว่าทางด้านสถาปัตยกรรม พร้อมทั้งได้ร่วมกันตั้งกลุ่มศิลปินดีบรึคเคอในปี ค.ศ. 1905 โดยจุดมุ่งหมายของศิลปินกลุ่มนี้คือ การสร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบใหม่ที่แตกต่างจากผลงานในลัทธิธรรมชาตินิยมและลัทธิประทับใจอย่างสิ้นเชิง โดยเน้นการใช้รูปทรงและสีเป็นองค์ประกอบ รวมทั้งใช้ความฉับพลันที่ไร้การเสแสร้งเป็นหลักในการสร้างสรรค์ เพื่อเป็นสื่อในการแสดงออกถึงความรู้สึกที่มีต่อสังคมสมัยใหม่ในเวลานั้น
สาระในผลงานชิ้นแรก ๆ ของศิลปินกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่มักสะท้อนชีวิตของสังคมในเมืองใหญ่ เช่น เรื่องราวของละครสัตว์ การแสดงให้ความบันเทิงต่าง ๆ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเคลื่อนไหวของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นการเต้นหรือฟ้อนรำต่าง ๆ ตลอดจนภาพเปลือยและภาพทิวทัศน์ ศิลปินกลุ่มนี้ใช้ชีวิตในชนบทที่ใกล้ทะเลสาบ ทำให้ผลงานส่วนใหญ่แสดงถึงความอิสระ เช่น การเปลือยกายท่ามกลางธรรมชาติ โดยใช้รูปทรงที่เป็นเหลี่ยมเป็นมุมในเชิงเรขาคณิต ลดทอนรายละเอียดรูปทรงของทั้งสิ่งของและคนให้เหลือแต่ความเรียบง่าย และใช้สีที่สดเป็นหลักในการแสดงออก ซึ่งเป็นการท้าทายผู้ชมชนชั้นกระฏุมพีโดยตรง จนเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจห้ามติดป้ายโฆษณาและจัดแสดงนิทรรศการผลงานของศิลปินกลุ่มนี้ และเท่ากับเป็นต้นกำเนิดของศิลปะรูปแบบใหม่ อันเป็นที่นิยมยาวนานมาเกือบสามทศวรรษ และเป็นที่รู้จักกันดีในนามของลัทธิสำแดงพลังอารมณ์ในปัจจุบันนี้
อิทธิพลในการสร้างงาน
[แก้]เมื่อเวลาผ่านไป เคียร์ชเนอร์ผู้เป็นสมาชิกที่สำคัญคนหนึ่งในกลุ่มนี้กลับเห็นว่าทัศนียภาพของเมืองเดรสเดินและปริมณฑลดูค่อนข้างล้าสมัยไปสำหรับเขา มีแต่เมืองหลวงเบอร์ลินเท่านั้นที่เปิดโอกาสให้ผลงานของเขาให้เป็นที่ยอมรับและประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็วกว่า เนื่องจากเขาเคยอาศัยอยู่ในกรุงเบอร์ลินใน ค.ศ. 1909 เขาจึงตัดสินใจย้ายไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นั่นอย่างถาวรใน ค.ศ. 1911 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เคียร์ชเนอร์ใช้ความสังเกตอันลึกซึ้งและสามารถเข้าใจสถานการณ์ของนครใหญ่ได้ชัดเจนกว่าเพื่อนร่วมกลุ่มของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาระในผลงานชุดเมืองหลวงของเขา มักปรากฏหญิงกลุ่มหนึ่งแต่งตัวแบบสมัยใหม่และแต่งหน้าตาอย่างฉูดฉาด ใส่หมวกประดับขนนกและใช้หนังขนสัตว์พันคอ (ดูรูป) พวกเธอคือโสเภณี ซึ่งเคลื่อนไหวอยู่ในแวดวงของสังคมชั้นสูงของกรุงเบอร์ลิน ส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจที่ชอบใช้ชีวิตหาความบันเทิงเริงรมย์ในเมืองหลวงที่เต็มไปด้วยแหล่งสังสรรค์บันเทิง เช่น สโมสรศิลปิน ร้านกาแฟอันหรูหรา และที่นั่นย่อมรวมถึงสังคมผู้ด้อยโอกาสและสังคมปลายแถวที่มีอยู่อย่างหลากหลายอีกด้วย
จากการที่ใช้ชีวิตสมถะแบบศิลปินอันไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม และจากการที่ใช้ชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ ทำให้จิตใจของศิลปินไม่มั่นคงและตึงเครียด ผลงานของเขาจึงสะท้อนชีวิตของคนกลุ่มหนึ่งคือ โสเภณี ซึ่งเป็นอาชีพที่ถูกสังคมทั่วไปดูแคลนเช่นเดียวกันกับตัวเขาเอง
ลักษณะของผลงาน
[แก้]ระหว่าง ค.ศ. 1913–1915 เคียร์ชเนอร์ได้สร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมประมาณสิบชิ้น ภาพพิมพ์ไม้ (woodcut) และภาพลายเส้นด้วยสีเทียน สีชอล์ก และสีถ่านอีกประมาณร้อยชิ้น ผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ ผลงานชุด "ชีวิตบนท้องถนนในกรุงเบอร์ลิน" ซึ่งส่วนใหญ่แสดงถึงชีวิตของโสเภณีเป็นหลัก ผลงานเหล่านี้ไม่เพียงแต่เป็นงานที่ดีที่สุดในชีวิตสร้างสรรค์ของศิลปินเท่านั้น แต่ยังเป็นผลงานที่สำคัญที่สุดในรูปแบบสำแดงพลังอารมณ์ของวงการศิลปะเยอรมัน ซึ่งเคยจัดแสดงในปี ค.ศ. 2008 ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ (Museum of Modern Art) แห่งนครนิวยอร์ก
การย้ายที่อยู่จากเมืองเดรสเดินไปยังกรุงเบอร์ลินทำให้เคียร์ชเนอร์กลายเป็นชายหนุ่มที่ถูกห้อมล้อมไปด้วยหญิงสาว ทั้ง ๆ ที่ในขณะที่เขาอยู่ในเมืองเดรสเดิน เขาเคยใช้ชีวิตคู่กับโดโด (Dodo) หญิงสาวที่มีรูปร่างค่อนข้างท้วม ซึ่งเหมาะสำหรับเป็นนางแบบ แต่ในกรุงเบอร์ลิน เคียร์ชเนอร์ได้มีโอกาสทำความรู้จักกับสาวแบบใหม่ และมีคู่ครองคนใหม่ซึ่งมีชื่อว่า แอร์นา ชิลลิง และน้องสาวของเธอ พี่น้องทั้งสองมีรูปร่างสูงโปร่ง ดังที่ศิลปินเคยเขียนบันทึกไว้ว่า "รูปร่างเชิงสถาปัตยกรรม" และได้กลายเป็นผู้หญิงในอุดมคติของเขา ที่สะท้อนออกมาในลักษณะของหญิงโสเภณีในผลงานชุด "ชีวิตบนท้องถนนในกรุงเบอร์ลิน" นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ถึงแม้ใบหน้าของหญิงที่ปรากฏในผลงานชุดนี้ (ดูรูป) จะไม่ค่อยแสดงอัตลักษณ์ของตนเอง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มผู้ชายในภาพซึ่งเป็นลูกค้าของกลุ่มโสเภณีนี้ เอกลักษณ์ของผู้ชายเหล่านั้นกลับมีน้อยกว่าเสียอีก หรือแทบไม่เห็นความแตกต่างอย่างใด แต่ละคนกลับมีลักษณะที่เหมือนกัน ผลงานชุด "ชีวิตบนถนน" ของเคียร์ชเนอร์จึงเท่ากับเป็นสื่อสะท้อนสภาพของสังคมทั้งสองฝ่ายคือ โสเภณีและลูกค้า ที่ไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง แต่เป็นสังคมที่เป็นไปตามกลไกของกามกิจมากกว่าผลงานของศิลปิน
จนท้ายที่สุดใน ค.ศ. 1937 งานของเขาถูกเหล่านาซียึดไปจำนวน 639 ชิ้น เขาเสียชีวิตในวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 1928 ที่เมืองเฟราเอินเคียร์ช-วิลท์โบเดิน (Frauenkirch-Wildboden)
ผลงาน
[แก้]-
Sitting Woman, 1907
-
Tavern, 1909
-
Naked Playing People, 1910
-
Portrait of a Woman, 1911
-
Nollendorfplatz, 1912
-
Berlin Street Scene, 1913
-
Street, Berlin (1913), one of a series on this theme, depicting prostitutes
-
Potsdamer Platz, 1914
-
Brandenburger Tor, 1915
-
Self-portrait as a
Sick Person, 1918 -
Two Brothers, 1921
-
View of Basel and
the Rhine, 1921 -
The Visit-Couple and Newcomer, 1922
-
Fränzi in front of Carved Chair, 1910, Museo Thyssen-Bornemisza, Madrid
อ้างอิง
[แก้]- Barron, Stephanie. German expressionism. Munich: Prestel,1988.
- Elger, Dietmar. Expressionism. Koln: Taschen, 2002.
- โวล์ฟ, นอร์แบร์ท. เอกซ์เพรสชั่นนิสม์. กรุงเทพฯ : เดอะเกรทไฟน์อาร์ท, 2552.