ข้ามไปเนื้อหา

เออแฌน วียอแล-เลอ-ดุก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เออแชน วียอเลต์-เลอ-ดุค)
เออแฌน วียอแล-เลอ-ดุก

เออแฌน วียอแล-เลอ-ดุก (ฝรั่งเศส: Eugène Viollet-le-Duc, ออกเสียง; 27 มกราคม ค.ศ. 1814 - 17 กันยายน ค.ศ. 1879) เป็นสถาปนิกและนักทฤษฎีคนสำคัญชาวฝรั่งเศสของคริสต์ศตวรรษที่ 19 ผู้มีชื่อเสียงจากงานบูรณปฏิสังขรณ์สิ่งก่อสร้างจากยุคกลาง วียอแล-เลอ-ดุกเป็นสถาปนิกผู้มีบทบาทสำคัญของขบวนการสถาปัตยกรรมฟื้นฟูกอธิคในฝรั่งเศสที่อยู่บนพื้นฐานของปรัชญาที่ว่าสถาปัตยกรรมควรจะเป็นสิ่งที่แสดงออกอย่าง “ซื่อตรง” ที่ในที่สุดก็กลายมาเป็นปรัชญาของขบวนการของการฟื้นฟูสถาปัตยกรรมทั้งหมดและเป็นรากฐานของลัทธิสมัยใหม่นิยมที่เริ่มก่อตัวขึ้น

เบื้องต้น

[แก้]

บิดาของวียอแล-เลอ-ดุกเป็นข้าราชการในปารีสผู้ชอบสะสมหนังสือ การสังสรรค์ของมารดาทุกวันศุกร์มีผู้เข้าร่วมเช่นนักประพันธ์สเตนดาห์ล และ ชาร์ลส์ โอกุสแตง แซงต์-เบอ ส่วนพี่ชายของมารดาเอเตียง-ฌอง เดอเลคลูซผู้เป็น “จิตรกรยามเช้า นักปรัชญายามค่ำ”[1] เป็นผู้รับผิดชอบต่อการศึกษาของวียอแล-เลอ-ดุก ผู้มีแนวโน้มในการเป็นนักวิชาการ, ผู้สนับสนุนรัฐนิยม, ผู้ต่อต้านสถาบันนักบวช, ผู้มีหัวในทางปฏิวัติ ระหว่างการปฏิวัติเดือนกรกฎาคมในปี ค.ศ. 1830 วียอแล-เลอ-ดุกก็สร้างสิ่งกีดขวางและไม่ยอมเข้าศึกษาในโรงเรียนวิจิตรศิลป์แห่งฝรั่งเศส แต่เข้าทำการศึกษาหาความรู้จากประสบการณ์ในสำนักงานสถาปนิกของฌาคส์-มารี อุฟ และ อาชีล-ฟรองซัวส์-เรอเน เลอแคลร์โดยตรงแทนที่

การบูรณปฏิสังขรณ์สถาปัตยกรรม

[แก้]

ลักษณะงานปฏิสังขรณ์

[แก้]
หนึ่งในปนาลีบนมหาวิหารโนเทรอดามแห่งปารีสที่เพิ่มเติมระหว่างการบูรณะโดยวียอแล-เลอ-ดุก

เมื่อต้นคริสต์ทศวรรษ 1830 ฝรั่งเศสก็เริ่มทำการบูรณปฏิสังขรณ์สิ่งก่อสร้างจากยุคกลาง วียอแล-เลอ-ดุกผู้เพิ่งกลับจากการเดินทางศึกษาในอิตาลีในปี ค.ศ. 1835 ได้รับการว่าจ้างโดยนักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีพรอสแพร์ เมอริมีให้ทำการบูรณะแอบบีโรมาเนสก์เวเซอเล ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตการทำการบูรณปฏิสังขรณ์อันยาวนานของวียอแล-เลอ-ดุก งานบูรณปฏิสังขรณ์มหาวิหารโนเทรอดามแห่งปารีสเป็นงานที่สร้างชื่อเสียงระดับชาติให้แก่วียอแล-เลอ-ดุก งานชิ้นสำคัญๆ อื่นก็ได้แก่ มงต์-แซงต์-มีแชล, คาร์คาโซน, ปราสาทโรเคอเทลเลด และ ปราสาทปิแยร์ฟงด์

งาน “บูรณปฏิสังขรณ์” ของวียอแล-เลอ-ดุกมักจะรวมความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์เข้ากับการเสริมแต่งอย่างสร้างสรร เช่นภายใต้การอำนวยการของวียอแล-เลอ-ดุกในการบูรณปฏิสังขรณ์มหาวิหารโนเทรอดามแห่งปารีส ไม่แต่จะทำความสะอาดและบูรณะเท่านั้นแต่วียอแล-เลอ-ดุกได้ทำการ “ปรับปรุง” (update) ที่ทำให้ได้รับหอเพิ่มขึ้นอีกหอหนึ่ง (ที่มีลักษณะเป็นมณฑป) นอกไปจากการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ อื่นๆ งานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่ทำคือการบูรณปฏิสังขรณ์เมืองล้อมด้วยกำแพงคาร์คาโซนซึ่งวียอแล-เลอ-ดุกก็ใช้การเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงตามแนวเดียวกัน

ในขณะเดียวกันบรรยากาศทางวัฒนธรรมของจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ 2 ก็เป็นบรรยากาศที่สับสนที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางทฤษฎีที่อ่อนตัวลง เช่นเมื่อวียอแล-เลอ-ดุกออกแบบสร้างหีบวัตถุมงคลแบบกอธิคสำหรับมงคลวัตถุมงกุฎหนามสำหรับมหาวิหารโนเทรอดามในปี ค.ศ. 1862 ในขณะเดียวกันกับที่จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ทรงจ้างให้วียอแล-เลอ-ดุกออกแบบรถตู้อย่างหรูหราแบบกอธิคของคริสต์ศตวรรษที่ 14

งานปฏิสังขรณ์ชิ้นสำคัญ

[แก้]

งานบูรณปฏิสังขรณ์ปราสาทปิแยร์ฟงด์ที่ตีความหมายโดยวียอแล-เลอ-ดุกต้องมาหยุดลงเมื่อสิ้นสมัยการปกครองของจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ในปี ค.ศ. 1870

อิทธิพลต่อการอนุรักษ์ทางประวัติศาสตร์

[แก้]

ทฤษฎีของการอนุรักษ์ทางประวัติศาสตร์ (historic preservation) ตั้งอยู่ในกรอบของความเป็นทวิภาคระหว่างการรักษาให้คงอยู่ในสภาวะของเวลาที่ทำการอนุรักษ์ และ “การปฏิสังขรณ์” (restoration) หรือการสร้างสิ่งที่ไม่เคยมีมาแต่ก่อนในอดีต นักวิพากษ์ศิลป์ชาวอังกฤษจอห์น รัสคินเป็นผู้สนับสนุนปรัชญาแรกอย่างแข็งขัน ขณะที่วียอแล-เลอ-ดุกสนับสนุนปรัชญาหลัง วียอแล-เลอ-ดุกกล่าวว่าการปฏิสังขรณ์ “เป็นวิธีในการทำให้สิ่งก่อสร้างกลับไปอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ที่อาจจะมิได้เคยเกิดขึ้นจริงในอดีต”[2] วิธีการการปฏิสังขรณ์ของวียอแล-เลอ-ดุกได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงโดยจอห์น รัสคินว่าเป็น “การทำลายโดยไม่มีซากเดิมเหลือหรอไว้เป็นหลักฐาน การทำลายดังว่าควบไปกับการบรรยายอันไม่ถูกต้องเกี่ยวกับสิ่งที่ถูกทำลายไป”[3]

ข้อโต้แย้งดังกล่าวก็ยังคงดำเนินต่อมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้เมื่อมีการกล่าวถึงการบูรณปฏิสังขรณ์ไม่ว่าจะเป็นสิ่งก่อสร้างหรือภูมิทัศน์ สิ่งที่สูญหายไปในอดีตไม่สามารถที่จะเรียกกลับคืนมาได้ แต่การที่จะทิ้งให้สิ่งก่อสร้างทรุดโทรมลงไปตามกาลเวลาเพื่อที่จะรักษา “สถานะภาพปัจจุบัน” (status quo) ก็มิได้เป็นทฤษฎีที่สะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์เช่นกัน การลอกชั้นต่างๆ ของประวัติศาสตร์ออกจากสิ่งก่อสร้าง ก็เท่ากับเป็นการลอกข้อมูล และ คุณค่าที่ไม่สามารถสร้างขึ้นใหม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันการเพิ่มเติมงานใหม่เช่นที่ทำโดยวียอแล-เลอ-ดุกก็เป็นการช่วยให้ผู้ชมงานได้มองเห็นภาพของประวัติศาตร์ที่มีชีวิตชีวาขึ้น

คาร์คาโซนที่บูรณะโดยวียอแล-เลอ-ดุก

งานเขียน

[แก้]
หน้าปก “Dictionnaire Raisonné de L'Architecture Française du XIe au XVIe siècle”, บรรณาธิการ เอ. โมเรล, ปารีส, ค.ศ. 1868

ตลอดอาชีพการงาน วียอแล-เลอ-ดุกเขียนบันทึกและวาดรูปรายละเอียดต่างๆ อย่างประณีตไม่เฉพาะแต่สิ่งก่อสร้างที่ตนเองมีความรับผิดชอบแต่รวมทั้งรายละเอียดของสิ่งก่อสร้างแบบสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์, กอธิค และ เรอเนซองส์ที่กำลังจะถูกรื้อทิ้ง งานบันทึกและภาพวาดเหล่านี้มีประโยชน์ต่องานพิมพ์ของวียอแล-เลอ-ดุก งานศึกษาสถาปัตยกรรมของยุคกลางและยุคเรอเนซองส์ไม่จำกัดเฉพาะแต่งานสถาปัตยกรรมเท่านั้น และยังครอบคลุมไปถึงเฟอร์นิเจอร์, เสื้อผ้า, เครื่องดนตรี, อาวุธ และ อื่นๆ อีกด้วย

งานของวียอแล-เลอ-ดุกครั้งแรกตีพิมพ์เป็นตอนๆ และต่อมาตีพิมพ์เป็นฉบับรวมเล่มที่ได้แก่:

  • พจนานุกรมสถาปัตยกรรมฝรั่งเศสระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 11 ถึง 16” (ค.ศ. 1854–ค.ศ. 1868) (ฝรั่งเศส: Dictionnaire raisonné de l'architecture française du XIe au XVIe siècle) - ต้นฉบับภาษา (ฝรั่งเศส) พร้อมภาพประกอบเป็นจำนวนมาก
  • พจนานุกรมเฟอร์นิเจอร์ฝรั่งเศสระหว่างสมัยคาโรแล็งเชียงถึงสมัยเรอเนซองส์” (ค.ศ. 1858–ค.ศ. 1870) (ฝรั่งเศส: Dictionnaire raisonné du mobilier français de l'époque Carolingienne à la Renaissance)
  • ข้อคิดเกี่ยวกับสถาปัตยกรรม” (ฝรั่งเศส: Entretiens sur l'architecture) (2 เล่ม, ค.ศ. 1858–ค.ศ. 1872) - บรรยายขั้นตอนของความเข้าใจแ

ละการศึกษาสถาปัตยกรรมของวียอแล-เลอ-ดุกเอง ซึ่งเป็นระบบการศึกษาที่แตกต่างเป็นอันมากไปจากที่ทำการสอนโดยโรงเรียนวิจิตรศิลป์แห่งฝรั่งเศส ที่วียอแล-เลอ-ดุกเองหลีกเลี่ยงและเป็นปฏิปักษ์ในวัยหนุ่ม ฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษ “Discourses on Architecture” โดยสถาปนิกชาวอเมริกันเฮนรี แวน บรันท์ พิมพ์ในปี ค.ศ. 1875 ไม่ถึงสิบปีหลังจากที่ต้นฉบับได้รับการตีพิมพ์

  • ประวัติศาสตร์สิ่งก่อสร้างสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน” (ค.ศ. 1875) (ฝรั่งเศส: Histoire de l'habitation humaine, depuis les temps préhistoriques jusqu'à nos jours) พิมพ์เป็นภาษาอังกฤษภายใต้ชื่อ “Habitations of Man in All Ages” ในปี ค.ศ. 1876 ในหนังสือเล่มนี้วียอแล-เลอ-ดุกบรรยายประวัติของสถาปัตยกรรมที่อยู่อาศัยของมนุษย์เผ่าพันธุ์ต่างๆ
  • L'art russe: ses origines, ses éléments constructifs, son apogée, son avenir” (ค.ศ. 1877) วียอแล-เลอ-ดุกใช้ความรู้ในการอธิบายลักษณะสถาปัตยกรรมรัสเซีย

ทฤษฎีสถาปัตยกรรมและโครงการสร้างสิ่งก่อสร้างใหม่

[แก้]
งานออกแบบหอแสดงดนตรี, ค.ศ. 1864, แบบเชิงกอธิคแต่ใช้วัสดุก่อสร้างสมัยใหม่ที่รวมทั้งอิฐ, หิน และ เหล็กหล่อ, “ข้อคิดเกี่ยวกับสถาปัตยกรรม

วียอแล-เลอ-ดุกถือกันโดยผู้เชี่ยวชาญหลายคนว่าเป็นนักทฤษฎีคนแรกของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ สถาปนิกชั้นนำชาวอังกฤษจอห์น ซัมเมอร์ซันกล่าวว่า “ในประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมยุโรปมีนักทฤษฎีผู้ยิ่งใหญ่สองคน—ลีออน บาตติสตา อัลเบอร์ติ และ เออแฌน วียอแล-เลอ-ดุก”[4] ทฤษฎีสถาปัตยกรรมของวียอแล-เลอ-ดุกส่วนใหญ่มีรากฐานมาจากความสัมพันธ์ระหว่างวัสดุที่ใช้กับรูปทรงที่เหมาะสมกับวัสดุ และการใช้รูปทรงดังว่านี้ในการสร้างสิ่งก่อสร้าง หัวใจของทฤษฎีของวียอแล-เลอ-ดุกอยู่ที่การใช้วัสดุอย่าง 'ไม่บิดเบือน' (honestly) วียอแล-เลอ-ดุกเชื่อว่ารูปลักษณ์ภายนอกของสิ่งก่อสร้างควรจะสะท้อนให้เห็นถึงการก่อสร้างอย่างมีหลักการของสิ่งก่อสร้าง (rational construction) ใน “ข้อคิดเกี่ยวกับสถาปัตยกรรม” วียอแล-เลอ-ดุกสรรเสริญการก่อสร้างเทวสถานกรีกว่าเป็นการก่อสร้างอันเป็นหลักการที่เป็นตัวอย่างอันดีของการก่อสร้างสถาปัตยกรรม ตามความเห็นของวียอแล-เลอ-ดุก “สถาปัตยกรรมกรีกคือตัวอย่างของความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างและรูปลักษณ์ภายนอก”[5] แต่ก็มีการสันนิษฐานกันว่าทฤษฎีดังกล่าวมีอิทธิพลโดยตรงจากบทเขียนของจอห์น รัสคินผู้เป็นผู้สนับสนุนทฤษฎีของความเที่ยงตรงในการใช้วัสดุที่เป็นหนึ่งในหลักอันสำคัญเจ็ดประการของสถาปัตยกรรม

ในโครงการสิ่งก่อสร้างใหม่หลายโครงการที่ยังสร้างไม่เสร็จ วียอแล-เลอ-ดุกใช้ทฤษฎีที่มาจากสถาปัตยกรรมกอธิคโดยการใช้ระบบการก่อสร้างตามหลักการในการก่อสร้างโดยใช้วัสดุการก่อสร้างสมัยใหม่เช่นเหล็กหล่อ, นอกจากนั้นก็ยังหันไปหาวัสดุธรรมชาติเช่นใบไม้ และ โครงกระดูกสัตว์ในการเป็นแรงบันดาลใจ โดยเฉพาะปีกค้างคาว ซึ่งเป็นอิทธิพลที่สะท้อนให้เห็นในการก่อสร้างโครงการหอประชุม

งานวาดโครงเสาค้ำยันเหล็ก (trusswork) ของวียอแล-เลอ-ดุกเป็นงานวาดที่ล้ำยุค งานออกแบบหลายอย่างของวียอแล-เลอ-ดุกเป็นงานที่ต่อมามามีอิทธิพลต่อขบวนการอาร์ตนูโวโดยเฉพาะในงานของเอ็คเตอร์ กุยมาร์ด ที่งานมามีอิทธิพลต่อสถาปนิกอเมริกันต่อมาที่รวมทั้งแฟรงค์ เฟอร์เนสส์, จอห์น เวลล์บอร์น รูท, หลุยส์ ซัลลิแวน และ แฟรงค์ ลอยด์ ไรต์[6]

อาชีพการทหารและอิทธิพล

[แก้]

อาชีพอีกอาชีพหนึ่งของวียอแล-เลอ-ดุกคือการเป็นทหารที่มีหน้าที่หลักในการป้องกันปารีสระหว่างสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย (ค.ศ. 1870-ค.ศ. 1871) การสงครามครั้งนี้มีอิทธิพลต่อวียอแล-เลอ-ดุกอย่างลึกซึ้ง ถึงกับเป็นแรงบันดาลใจในบั้นปลายของชีวิตวียอแล-เลอ-ดุกให้เขียนเปรียบเทียบระบบการป้องกันที่ถูกต้องของฝรั่งเศสกับประวัติศาสตร์ทางการทหารของเลอ โรช-ปองต์ซึ่งเป็นปราสาทในจินตนาการ ในบทเขียน “ประวัติศาสตร์การก่อสร้างป้อมปราการ” (ฝรั่งเศส: Histoire d'une Forteresse) ที่ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษสองครั้งภายใต้ชื่อ “Annals of a Fortress” หนังสือเล่มนี้เป็นงานเขียนมาจากงานค้นคว้าอันถี่ถ้วนที่เป็นงานที่กึ่งระหว่างนวนิยายและตำราประวัติศาสตร์

ประวัติศาสตร์การก่อสร้างป้อมปราการ” มีอิทธิพลต่อปรัชญาของระบบการป้องกันทางทหารของฝรั่งเศส งานวิจารณ์ของวียอแล-เลอ-ดุกเกี่ยวกับผลของปืนใหญ่ (ที่ได้มาจากประสบการณ์ระหว่างสงครามของ ค.ศ. 1870-ค.ศ. 1871) เป็นงานที่สมบูรณ์ที่บรรยายอย่างถูกต้องตรงต่อความเป็นจริงเกี่ยวกับระบบการป้องกันตัวของฝรั่งเศสมาจนถึงสงครามโลกครั้งที่สอง ผลของทฤษฎีของงานเขียนนี้เห็นได้จากการก่อสร้างระบบการป้องกันที่แวร์เดิงก่อนหน้าที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และการสร้างแนวมายินโนต์ก่อนหน้าที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อพิจารณาอย่างลึกซึ้งแล้วทฤษฎีของวียอแล-เลอ-ดุกก็เป็นทฤษฎีที่สะท้อนทฤษฎีทางการทหารของฝรั่งเศสในข้อที่ว่า “Deliberate Advance” ที่กล่าวว่าปืนใหญ่และระบบการป้องกันของแนวหลังของกองทัพคือหัวใจสำคัญ

อนุสรณ์

[แก้]
การนำลักษณะการสร้างจากทางเหนือของฝรั่งเศสในการสร้างหลังคากรวยแหลมมาใช้ในการสร้างหลังคาคลุมหอทางตอนใต้ของฝรั่งเศสที่คาร์คาโซน

งานบูรณปฏิสังขรณ์เช่นที่ปราสาทปิแยร์ฟงด์เป็นงานที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งเป็นอันมาก เพราะวียอแล-เลอ-ดุกมิได้มีจุดประสงค์ในการสร้างใหม่ให้เที่ยงตรงต่อความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์ แต่เป็นการสร้างเพื่อให้ได้สิ่งก่อสร้างที่มีลักษณะที่เป็น “สิ่งก่อสร้างที่สมบูรณ์แบบ” เชิงสถาปัตยกรรมของยุคกลาง ระบบการอนุรักษ์สมัยใหม่มีความเห็นว่าการบูรณปฏิสังขรณ์ของวียอแล-เลอ-ดุกเป็นวิธีที่อิสระเกินควร, เป็นวิธีที่สะท้อนถึงความต้องการส่วนตัวของสถาปนิกจนเกินควร, และเป็นงานที่เป็นผลจากการตีความหมายจนเกินควร แต่กระนั้นอนุสรณ์สถานที่วียอแล-เลอ-ดุกมีส่วนในการบูรณปฏิสังขรณ์ก็รอดมาจากการสูญหายไป

อันตอนี เกาดี สถาปนิกชาวกาตาลา ได้รับอิทธิพลเป็นอันมากจากสถาปัตยกรรมฟื้นฟูกอทิกของวียอแล-เลอ-ดุก

บั้นปลายของชีวิต

[แก้]

ในบั้นปลายของชีวิตวียอแล-เลอ-ดุกย้ายไปตั้งหลักฐานอยู่ที่โลซานในสวิตเซอร์แลนด์และไปเสียชีวิตที่นั่นเมื่อวันที่ 17 กันยายน ค.ศ. 1879

อ้างอิง

[แก้]
  1. Summerson, Sir John (1948). Heavenly Mansions and Other essays on Architecture. London: Cresset Press.
  2. Eugène-Emmanuel Viollet-le-Duc. ([1854] 1990). The foundations of architecture. New York: George Braziller. P. 195. (Translated by Kenneth D. Whitehead from the original French.)
  3. John Ruskin. ([1880] 1989). The seven lamps of architecture. New York: Dover Publications. P. 194
  4. Summerson, Sir John (1948). Heavenly Mansions and Other essays on Architecture. London: Cresset Press.
  5. Ochshorn, Jonathan. "Designing Building Failures". Cornell University.
  6. Viollet-Le-Duc, Eugene-Emmanuel (1990). The Architectural Theory of Viollet-Le-Duc: Readings and Commentary. MIT Press.

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ เออแฌน วียอแล-เลอ-ดุก