เหตุเพลิงไหม้โรงงานเคเดอร์ พ.ศ. 2536
เหตุเพลิงไหม้โรงงานเคเดอร์ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2536 เวลา 16.00 น. ที่ โรงงานของบริษัท เคเดอร์อินดัสเตรียล ไทยแลนด์ จำกัด ถนนพุทธมณฑล สาย 4 อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม นับเป็นเหตุการณ์เพลิงไหม้โรงงานที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่ง[1] โดยมีผู้เสียชีวิตรวม 188 ราย และมีผู้บาดเจ็บอีก 469 คน โรงงานแห่งนี้เป็นของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ผลิตสินค้าของเล่นสำหรับเด็กส่งออกไปยังต่างประเทศ อาทิ ตุ๊กตา
ก่อนหน้านี้ โรงงานของเล่นดังกล่าว เคยเกิดเพลิงไหม้อาคารแล้ว 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2532 เพลิงไหม้บริเวณชั้น 3 อาคารได้รับความเสียหายมาก สาเหตุเกิดจากอุปกรณ์ไฟฟ้าเสื่อมไฟฟ้าลัดวงจร ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2534 เพลิงไหม้ที่โรงเก็บตุ๊กตา และครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2536 เกิดเพลิงไหม้อาคารหลังที่ 3 ชั้น 2 และชั้น 3 ทำให้สินค้าได้รับความเสียหาย[2]
จากการสืบสวน พบว่าเพลิงไหม้ครั้งนี้เกิดจากการก่อสร้างที่ไม่ได้ตามมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรม และไม่มีการซักซ้อมการรับมือกับอัคคีภัยให้แก่พนักงาน[3] ภายหลังเกิดเพลิงไหม้ ประมาณ 15 นาที โรงงานก็ได้ยุบตัวพังทลายลงมา นอกจากนี้ยังพบว่า โรงงานดังกล่าวไม่ได้สร้างบันไดหนีไฟ หรือสำรองเอาไว้ ประตูทางเข้า-ออกมีน้อย และคับแคบเกินกว่ากฎหมายกำหนด ไม่มีระบบการเตือนภัยที่สมบูรณ์และได้มาตรฐาน สาเหตุที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตจำนวนมาก เนื่องจากพนักงานรักษาความปลอดภัยได้ปิดประตูโรงงาน เพราะกลัวคนงานจะขโมยทรัพย์สินในอาคาร[2] เจ้าหน้าที่ระบุว่าสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้เกิดจากคนงานทิ้งก้นบุหรี่ไว้ แล้วเกิดการติดไฟกับผ้าในโรงงาน[4]
สืบเนื่องจากเหตุการณ์นี้ รัฐบาลได้กำหนดให้วันที่ 10 พฤษภาคมของทุกปี เป็น วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว[3][5] ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2540[6][7]
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ Symonds, Peter (2003-05-16). "Thai toy factory fire: 10 years after the world's worst industrial inferno". World Socialist Web Site. สืบค้นเมื่อ 16 สิงหาคม 2558.
{{cite news}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 2.0 2.1 13 ปี ชีวิตของ "ตุ๊กตา" โรงงานเคเดอร์
- ↑ 3.0 3.1 ย้อนรอยโศกนาฏกรรม 18 ปี ไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์
- ↑ "10 พ.ค.2536 เกินกว่าจะลืม!! เพลิงพิโรธ "เคเดอร์"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-10-04. สืบค้นเมื่อ 2018-09-27.
- ↑ "๑๐ พฤษภาคม วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-09-23. สืบค้นเมื่อ 2018-09-27.
- ↑ หนังสือสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร 0205/12689 เรื่อง การกำหนดให้วันที่ 10 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ
- ↑ หนังสือกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ที่ รส 0611/1455 เรื่อง การกำหนดให้วันที่ 10 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ