เส้นประสาทเฟเชียล
เส้นประสาทเฟเชียล หรือ เส้นประสาทสมองเส้นที่ 7 (Facial nerve) | |
---|---|
เส้นประสาทสมองเส้นที่ 7 | |
รายละเอียด | |
ตัวระบุ | |
ภาษาละติน | nervus facialis |
MeSH | D005154 |
นิวโรเนมส์ | 551 |
TA98 | A14.2.01.099 |
TA2 | 6284 |
FMA | 50868 |
ศัพท์ทางกายวิภาคของประสาทกายวิภาคศาสตร์ |
เส้นประสาทเฟเชียล[1] หรือ เส้นประสาทสมองเส้นที่ 7[1] (อังกฤษ: Facial nerve) เป็นหนึ่งในเส้นประสาทสมองจากจำนวนทั้งหมด 12 คู่ เส้นประสาทนี้ออกมาจากก้านสมองที่ระหว่างพอนส์และเมดัลลา ออบลองกาตา และทำหน้าที่ควบคุมกล้ามเนื้อแสดงสีหน้า และรับรสจากส่วนด้านหน้า 2/3 ของลิ้นและช่องปาก นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เลี้ยงใยประสาทก่อนปมประสาทของพาราซิมพาเทติกไปยังปมประสาทของศีรษะและคออีกจำนวนมาก
เส้นทาง
[แก้]เส้นประสาทเฟเชียลสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ ส่วนในกะโหลกศีรษะ (intracranial portion) ส่วนในกระดูกขมับ (intratemporal portion) และส่วนนอกกระดูกขมับ (extratemporal portion)
ส่วนในกะโหลกศีรษะ
[แก้]ใยประสาทสั่งการของเส้นประสาทเฟเชียลเริ่มตั้งแต่บริเวณซีรีบรัล คอร์เท็กซ์ จนถึงใยประสาทขมวดเป็นเส้นประสาทเฟเชียลและออกจากสมองที่มุมซีรีเบลโลพอนทีน (cerebellopontine angle) สามารถแบ่งออกได้อีกเป็น 3 ส่วน ได้แก่
- วิถีก่อนถึงเฟเชียล นิวเคลียส (supranuclear pathway) ใยประสาทเริ่มจากบริเวณซีรีบรัล คอร์เท็กซ์ บริเวณลอนสมองไพรมารี มอเตอร์ คอร์เท็กซ์ (primary motor cortex) และลอนสมองโพสต์เซนทรัล (postcentral gyrus) ที่ทำหน้าที่ควบคุมใบหน้า แล้วไปทางวิถีประสาทคอร์ติโคบัลบาร์ (corticobulbar tract) ผ่านอินเทอร์นัล แคปซูลและก้านสมอง ใยประสาทส่วนใหญ่ข้ามฝั่งไปยังเฟเชียล นิวเคลียส (facial nucleus) ในก้านสมองด้านตรงข้าม ใยประสาทเหล่านี้ทำหน้าที่ควบคุมครึ่งบนและครึ่งล่างของใบหน้าด้านตรงข้ามกับใยประสาท ส่วนใยประสาทที่เหลือจะลงมายังเฟเชียล นิวเคลียสในก้านสมองด้านเดียวกัน ทำหน้าที่ควบคุมใบหน้าครึ่งบนของใบหน้าด้านเดียวกันกับใยประสาท
- นอกจากใยประสาทนี้แล้ว ยังมีใยประสาทนอกพีระมิด (extrapyramidal system) มายังเฟเชียล นิวเคลียสเพื่อช่วยควบคุมความตึงตัวและประสานการเคลื่อนไหวใบหน้า รวมทั้งการประสานอารมณ์กับการแสดงสีหน้า ทั้งจากบริเวณสมองกลีบหน้า (frontal lobe) โกลบัส พาลลิดัส (globus pallidus) และไฮโปทาลามัส (hypothalamus)
- เฟเชียล นิวเคลียส (facial nucleus) เป็นกลุ่มเส้นประสาทเฟเชียล อยู่บริเวณส่วนล่างของพอนส์ ใต้โพรงสมองที่สี่ มีสองข้าง โดยแต่ละข้างแบ่งออกเป็นครึ่งบนและครึ่งล่าง ครึ่งบนทำหน้าที่ส่งกระแสประสาทควบคุมกล้ามเนื้อครึ่งบนของใบหน้า เช่น กล้ามเนื้อออกซิปิโตฟรอนทาลิส กล้ามเนื้อหลับตา[1] เป็นต้น ส่วนครึ่งล่างส่งกระแสประสาทควบคุมกล้ามเนื้อครึ่งล่างของใบหน้า
- วิถีหลังเฟเชียล นิวเคลียส (infranuclear pathway) ใยประสาทสั่งการวิ่งด้านใกล้กลางของแอบดิวเซนต์ นิวเคลียส (Abducens nucleus) และอ้อมออกทางด้านข้าง ผ่านระหว่างเฟเชียล นิวเคลียส และสไปนัล ไทรเจมินัล นิวเคลียส (Spinal trigeminal nucleus) ออกจากพอนส์ เข้าไปรวมกับใยประสาทรับความรู้สึก (ชื่อว่า เนอร์วัส อินเตอร์มีเดียส (nervus intermedius)) ที่บริเวณมุมซีรีเบลโลพอนทีน (cerebellopontine angle) ออกมาเป็นลำเส้นประสาทเฟเชียล ก่อนจะเข้าไปในกระดูกขมับ
ส่วนในกระดูกขมับ
[แก้]เส้นประสาทเฟเชียลเข้าสู่ส่วนพีทรัสของกระดูกขมับ (Petrous portion of temporal bone) ผ่านทางปากรูประสาทหู (internal acoustic meatus) วิ่งคดเคี้ยวอยู่ภายในคลองประสาทเฟเชียล (facial canal) จนออกจากกระดูกขมับที่ช่องสไตโลมาสตอยด์ (stylomastoid foramen) แบ่งออกได้เป็น 4 ส่วน ได้แก่
- Meatal portion ยาวประมาณ 5-12 มิลลิเมตร เป็นส่วนที่อยู่ในปากรูประสาทหู โดยมีเส้นประสาทที่วิ่งขนานไปด้วยกัน คือ เนอร์วัส อินเตอร์มีเดียส และเส้นประสาทหู (เส้นประสาทสมองเส้นที่ 8)
- Labyrinthine portion ยาวประมาณ 3-5 มิลลิเมตร เป็นจุดเริ่มต้นของคลองประสาทเฟเชียล ปลายของส่วนนี้ขยายใหญ่เป็นปมประสาทเจนิคิวเลต (geniculate ganglion) ให้แขนงออกมาเป็นเส้นประสาทเกรทเทอร์ พีโทรซัล (greater petrosal nerve)
- Tympanic portion หรือ Horizontal portion จากปมประสาทเจนิคิวเลต เส้นประสาทเฟเชียลจะวกกลับด้านหลังทำมุมประมาณ 90 องศา จากนั้นวิ่งตรงแล้ววกกลับลงล่างทำมุมประมาณ 95-125 องศาที่ตำแหน่งใต้หลอดครึ่งวงกลมอันข้าง (lateral semicircular canal) เหนือช่องรูปไข่ (oval window)
- Mastoid portion หรือ Vertical portion ยาวประมาณ 13-15 มิลลิเมตร เส้นประสาทเฟเชียลส่วนนี้วิ่งลงไปจนออกจากกระดูกขมับที่ช่องสไตโลมาสตอยด์ ส่วนนี้มีแขนงออกมา 2 เส้นได้แก่ เส้นประสาทเลี้ยงกล้ามเนื้อสเตปีเดียส (Nerve to stapedius) และเส้นประสาทคอร์ดา ทิมพานี (Chorda tympani nerve)
ส่วนนอกกระดูกขมับ
[แก้]หลังจากเส้นประสาทเฟเชียลออกจากช่องสไตโลมาสตอยด์ จะแตกแขนงออกมาเป็นเส้นประสาทโพสทีเรียร์ออริคิวลาร์ (posterior auricular nerve) เส้นประสาทเลี้ยงกล้ามเนื้อไดแกสตริกมัดหลัง (Posterior belly of Digastric) และกล้ามเนื้อสไตโลไฮออยด์ (Stylohyoid muscle) แล้ววิ่งผ่านกลางต่อมน้ำลายพาโรติดแบ่งต่อมน้ำลายเป็นกลีบผิว และกลีบลึก ในต่อมน้ำลายพาโรติดเส้นประสาทเฟเชียลจะแตกแขนงออกจำนวนมาก โดยตอนแรกแบ่งออกเป็นสองแขนงหลัก แล้วแยกย่อยออกอีกรวมเป็น 5 แขนง
- Temporofacial division เลี้ยงกล้ามเนื้อใบหน้าส่วนบน แยกออกเป็น
- แขนงขมับของเส้นประสาทเฟเชียล (Temporal branch of the facial nerve)
- แขนงโหนกแก้มของเส้นประสาทเฟเชียล (Zygomatic branch of the facial nerve)
- Cervicofacial division เลี้ยงกล้ามเนื้อใบหน้าส่วนล่าง แยกออกเป็น
- แขนงด้านแก้มของเส้นประสาทเฟเชียล (Buccal branch of the facial nerve)
- แขนงมุมกรามของเส้นประสาทเฟเชียล (Marginal mandibular branch of the facial nerve)
- แขนงคอของเส้นประสาทเฟเชียล (Cervical branch of the facial nerve)
แขนง
[แก้]ส่วนในกระดูกขมับ
[แก้]- เส้นประสาทเกรทเทอร์ พีโทรซัล (Greater petrosal nerve) เป็นประสาทพาราซิมพาเทติกเลี้ยงต่อมน้ำตา โพรงอากาศสฟีนอยด์ (sphenoid sinus) โพรงอากาศหน้าผาก (frontal sinus) โพรงอากาศขากรรไกรบน (maxillary sinus) โพรงอากาศเอทมอยด์ (ethmoid sinus) โพรงจมูก รวมทั้งรับรสชาติจากเพดานปากผ่านทางเส้นประสาทวิเดียน (Vidian nerve)
- เส้นประสาทเลี้ยงกล้ามเนื้อสเตปีเดียส (Nerve to stapedius) ทำหน้าที่สั่งการกล้ามเนื้อสเตปีเดียสในหูชั้นกลาง
- เส้นประสาทคอร์ดา ทิมพานี (Chorda tympani nerve) รับรสชาติจากด้านหน้า 2/3 ของลิ้น
ส่วนนอกกระดูกขมับ
[แก้]- เส้นประสาทโพสทีเรียร์ออริคิวลาร์ (posterior auricular nerve) ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อหนังศีรษะที่อยู่รอบใบหูบางส่วน
- แขนงไปเลี้ยงกล้ามเนื้อไดแกสตริกมัดหลัง (Posterior belly of Digastric) และกล้ามเนื้อสไตโลไฮออยด์ (Stylohyoid muscle)
- แขนงหลักของเส้นประสาทเฟเชียลทั้งห้า
หน้าที่
[แก้]ประสาทนำออก
[แก้]เส้นประสาทเฟเชียลทำหน้าที่หลักในการสั่งการควบคุมกลุ่มกล้ามเนื้อแสดงสีหน้า (muscles of facial expression) และยังสั่งการไปยังกล้ามเนื้อไดแกสตริกมัดหลัง (posterior belly of the digastric muscle) กล้ามเนื้อสไตโลไฮออยด์ (stylohyoid) และกล้ามเนื้อสเตปีเดียสในหูชั้นกลาง (stapedius) กล้ามเนื้อเหล่านี้เป็นกล้ามเนื้อลายที่เจริญมาจากส่วนโค้งคอหอยที่สอง (2nd pharyngeal arch)
เส้นประสาทเฟเชียลยังมีใยประสาทพาราซิมพาเทติกไปยังต่อมน้ำลายใต้ขากรรไกร (submandibular gland) และต่อมน้ำลายใต้ลิ้น (sublingual gland) ผ่านทางเส้นประสาทคอร์ดา ทิมพานี (chorda tympani) ระบบประสาทพาราซิมพาเทติกมีผลเพิ่มการหลั่งน้ำลายจากต่อมดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีใยประสาทพาราซิมพาเทติกไปเลี้ยงเยื่อเมือกของจมูกและต่อมน้ำตาผ่านทางปมประสาทเทอริโกแพลาทีน (pterygopalatine ganglion)
เส้นประสาทนี้ยังทำหน้าที่เป็นประสาทนำออกในรีเฟล็กซ์กระจกตา (corneal reflex)
ประสาทนำเข้า
[แก้]เส้นประสาทเฟเชียลรับรู้รสชาติจากด้านหน้าสองในสามของลิ้นผ่านทางเส้นประสาทคอร์ดา ทิมพานี การรับรู้รสชาติถูกส่งไปยังส่วนรับความรู้สึกของซอลิเทรี นิวเคลียส (solitary nucleus) ส่วนการรู้สึกทั่วไปของลิ้นจากด้านหน้าสองในสามของลิ้นมาทางเส้นประสาทไทรเจมินัลส่วนที่สาม (third division of trigeminal nerve; V-3) ซึ่งทั้งใยประสาทรับความรู้สึกทั่วไปและความรับรู้รสชาติจะเดินทางมาด้วยกันเป็นระยะทางสั้นๆ ผ่านทางเส้นประสาทลิ้น (lingual nerve) ก่อนที่เส้นประสาทคอร์ดา ทิมพานีจะแยกจากเส้นประสาทลิ้น
เส้นประสาทจะเข้าสู่หูชั้นกลางผ่านทางรูเปิดพีโทรทิมพานิก (petrotympanic fissure) ซึ่งตรงนี้เส้นประสาทจะไปรวมกับเส้นประสาทเฟเชียลที่เหลือบริเวณคลองเส้นประสาทคอร์ดา ทิมพานี จากนั้นใยประสาทรับรู้รสชาติส่วนนี้จะไปถึงปมประสาทเจนิคิวเลต (ซึ่งเป็นปมประสาทของใยประสาทรับรสชาติของเส้นประสาทคอร์ดา ทิมพานี และวิถีประสาทรับรสชาติอื่นๆ) จากปมประสาทเจนิคิวเลต ใยประสาทรับรสชาติซึ่งต่อไปเรียกว่าเนอร์วัส อินเตอร์มีเดียส (nervus intermedius) จะเดินทางผ่านปากรูประสาทหูขนานไปกับรากประสาทสั่งการของเส้นประสาทเฟเชียล แล้วเข้าไปยังแอ่งกะโหลกหลัง (posterior cranial fossa) แล้วไซแนปส์กับซอลิเทรี นิวเคลียส
โรคของเส้นประสาทเฟเชียล
[แก้]การบาดเจ็บหรือความผิดปกติของเส้นประสาทเฟเชียลทำให้เกิดอัมพาตใบหน้าครึ่งซีกเฉียบพลัน (acute facial nerve paralysis) มีอาการอ่อนแรงของใบหน้าซีกหนึ่งด้านเดียวกับเส้นประสาทที่เป็นโรค อัมพาตเบลล์ (Bell's palsy) เป็นอัมพาตใบหน้าครึ่งซีกเฉียบพลันชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นได้เอง เกิดจากปมประสาทของเส้นประสาทสมองอักเสบ มักเป็นผลตามมาหลังจากการติดเชื้อไวรัสหรือเป็นผลจากโรคไลม์ (Lyme disease) อัมพาตเบลล์ยังอาจเป็นผลข้างเคียงจากการฉีดยาชาเฉพาะส่วนในทางทันตกรรมผิดตำแหน่ง อัมพาตใบหน้าครึ่งซีกมีอาการใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีกซึ่งแสดงอาการคล้ายกับโรคหลอดเลือดสมองได้ แต่อัมพาตชนิดนี้อาการดีขึ้นได้ด้วยยา
การทดสอบเส้นประสาทเฟเชียล
[แก้]เนื่องจากเส้นประสาทเฟเชียลทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อแสดงสีหน้าใต้อำนาจจิตใจ ดังนั้นการทดสอบเส้นประสาทเฟเชียลทำโดยการให้ผู้ถูกทดสอบยักคิ้ว ยิ้มยิงฟัน ขมวดคิ้ว หลับตาสนิท (หากผู้ถูกทดสอบทำไม่ได้ จะเรียกว่า ตาหลับไม่มิด[1] (lagophthalmos)) [2] ทำปากจู๋ ทำแก้มป่อง หากปกติจะต้องสมมาตรทั้งสองซีก
หากมีอัมพาตใบหน้าครึ่งซีกชนิดเซลล์ประสาทสั่งการส่วนบน (upper motor neuron lesion) ผู้ป่วยจะมีความผิดปกติเฉพาะกล้ามเนื้อใบหน้าส่วนล่างด้านตรงข้ามกับรอยโรค เนื่องจากกล้ามเนื้อใบหน้าส่วนบน (ได้แก่กล้ามเนื้อฟรอนทาลิสและกล้ามเนื้อหลับตา) ถูกเลี้ยงด้วยใยเส้นประสาทเฟเชียลทั้งสองข้าง ในขณะที่อัมพาตใบหน้าครึ่งซีกชนิดเซลล์ประสาทสั่งการส่วนล่าง (lower motor neuron lesion) จะมีอาการอ่อนแรงทั้งใบหน้าส่วนบนและส่วนล่างด้านเดียวกันกับรอยโรค
การทดสอบการรับรสชาติทำโดยการป้ายสารละลายที่มีรสชาติที่บริเวณด้านหน้า 2/3 ของลิ้น หรือใช้การกระตุ้นด้วยขั้วไฟฟ้า
รีเฟล็กซ์กระจกตา[1] (Corneal reflex) เป็นการทดสอบการทำงานของเส้นประสาทสมองเส้นที่ 5 และ 7 โดยใยประสาทนำเข้านั้นคือใยประสาทรับความรู้สึกทั่วไปของเส้นประสาทไทรเจมินัล ส่วนใยประสาทขาออกคือเส้นประสาทเฟเชียล เมื่อมีการกระตุ้นบริเวณกระจกตาข้างหนึ่งโดยสิ่งแปลกปลอมหรือการสัมผัสจะทำให้มีการกะพริบตาทั้งสองข้างพร้อมกัน กลไกนี้เกิดจากการเส้นประสาทเฟเชียลควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อแสดงสีหน้ามัดหนึ่ง ชื่อว่ากล้ามเนื้อหลับตา[1] (Orbicularis oculi) ทำหน้าที่กะพริบตา
รูปประกอบเพิ่มเติม
[แก้]-
มุมมองด้านล่างของสมอง แสดงชื่อเส้นประสาทสมอง
-
ภาพตัดพื้นผิวของคอด้านขวา แสดงให้เห็นหลอดเลือดแดงคาโรติดและหลอดเลือดแดงใต้กระดูกไหปลาร้า (subclavian arteries)
-
เยื่อดูราและส่วนยื่นของมัน เมื่อเปิดเอาสมองและกะโหลกศีรษะครึ่งซีกขวาออก
-
ภาพชำแหละพื้นผิวของก้านสมอง มุมมองด้านท้อง
-
สมองส่วนท้ายและกลาง มุมมองด้านข้างด้านหลัง
-
ปมประสาทปมประสาทเทอริโกแพลาทีน และแขนง
-
เส้นประสาทขากรรไกรล่าง แขนงของเส้นประสาทไทรเจมินัล
-
เส้นประสาทขากรรไกรล่าง แขนงของเส้นประสาทไทรเจมินัล มุมมองจากกึ่งกลาง
-
แผนภาพเส้นประสาทเฟเชียลและเนอร์วัส อินเทอร์มีเดียส และแขนงเชื่อมกับเส้นประสาทอื่น
-
เส้นทางและแขนงเชื่อมของเส้นประสาทเฟเชียลในกระดูกขมับ
-
ส่วนบนของ medulla spinalis และสมองส่วนกลางและส่วนหลัง มองทางด้านหลัง
-
มุมมองของผนังด้านในของโพรงหูส่วนกลาง (ขยาย)
-
เยื่อแก้วหูข้างขวาและกระดูกค้อนและเส้นประสาทคอร์ดา ทิมพานี มุมมองจากด้านใน ด้านหลังด้านบน
-
ตำแหน่งของกระดูกห้องหูชั้นในข้างขวาในกะโหลกศีรษะ มุมมองจากด้านบน
-
ภาพชำแหละเส้นประสาทเฟเชียล
-
กระดูกขมับข้างซ้าย แสดงพื้นผิวของของโพรงหูส่วนกลาง (แดง) โพรงหลอดเลือดดำตามขวาง (ฟ้า) และเส้นประสาทเฟเชียล (เหลือง)
-
ด้านข้างของคอ แสดงตำแหน่งพื้นผิวที่สำคัญ
-
แขนงเส้นประสาทเฟเชียล
-
เส้นประสาทเฟเชียลในทารก
-
เส้นประสาทเฟเชียลในทารก
-
เส้นประสาทเฟเชียลในทารก
-
เส้นประสาทเฟเชียลในทารก
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถาน เก็บถาวร 2017-07-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ข้อมูลปรับปรุงวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2544
- ↑ Kliniska Färdigheter: Informationsutbytet Mellan Patient Och Läkare, LINDGREN, STEFAN, ISBN 91-44-37271-X
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- ent/8 จาก eMedicine
- position of facial nerve on MRI
- WUSTL - map เก็บถาวร 2005-11-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน