เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์
มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ | |
---|---|
โบสถ์ร่วมเซนต์ปีเตอร์ ณ เวสต์มินสเตอร์ | |
Collegiate Church of Saint Peter at Westminster | |
![]() มุขฝั่งตะวันตกของมหาวิหาร | |
![]() | |
ที่ตั้ง | ดีนส์ยาร์ด, ลอนดอน, SW1 |
ประเทศ | สหราชอาณาจักร |
นิกาย | คริสตจักรอังกฤษ |
Churchmanship | ไฮเชิร์ช |
เว็บไซต์ | westminster-abbey |
ประวัติ | |
ชื่อเดิม | อารามเวสต์มินสเตอร์ |
สถานะ | โบสถ์คอลเลกิเอท |
ก่อตั้ง | 960 |
อุทิศแก่ | นักบุญเปโตร |
เสกเมื่อ | 28 ธันวาคม ค.ศ. 1065, 13 ตุลาคม ค.ศ. 1269 |
สถาปัตยกรรม | |
สถานะการใช้งาน | เปิดให้บริการ |
สถาปนิก | เซอร์เวเยอร์ออฟเดอะฟับบริก |
ประเภทสถาปัตย์ | โบสถ์ |
รูปแบบสถาปัตย์ | สถาปัตยกรรมกอธิก |
ปีสร้าง |
|
โครงสร้าง | |
เนฟกว้าง | 85 ฟุต (26 เมตร)[1] |
ความสูงอาคาร | 101 ฟุต (31 เมตร)[1] |
พื้นที่ใช้สอย | 32,000 ตารางฟุต (3,000 ตารางเมตร)[1] |
จำนวนหอคอย | 2 |
ความสูงหอคอย | 225 ฟุต (69 เมตร)[1] |
ระฆัง | 10 |
การปกครอง | |
มุขมณฑล | นอกเขตปกครอง (อารามหลวง) |
นักบวช | |
เจ้าคณะ | เดวิด ฮอยล์ |
Canon(s) | ดีนแอนด์แชปเตอร์ |
ฆราวาส | |
ผู้อำนวยการเพลง | เจมส์ โอดอนเนลล์ (ออร์กานิสต์) |
มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์[2] (อังกฤษ: Westminster Abbey) หรือชื่อทางการในอดีตว่า โบสถ์ร่วมนักบุญปีเตอร์ ณ เวสต์มินสเตอร์ (อังกฤษ: Collegiate Church of Saint Peter at Westminster) เป็นโบสถ์มหาวิหารสถาปัตยกรรมกอธิกขนาดใหญ่ในนครเวสต์มินสเตอร์ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ตั้งอยู่ทางตะวันตกของพระราชวังเวสต์มินสเตอร์ เป็นหนึ่งในศาสนสถานที่เป็นที่รู้จักดีและสำคัญที่สุดของสหราชอาณาจักร รวมถึงเป็นที่จัดพระราชพิธีราชาภิเษก และเป็นที่ฝังพระบรมศพของกษัตริย์อังกฤษและพระบรมวงศานุวงศ์
ประวัติ
[แก้]มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์เริ่มสร้างเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 616 ณ ที่ตั้งปัจจุบันที่เดิมเรียกว่าธอร์น อาย (เกาะธอร์น) ซึ่งเป็นเกาะกลางแม่น้ำ ตามตำนานกล่าวว่าคนหาปลาในแม่น้ำเทมส์ชื่ออัลดริชเห็นนักบุญซีโมนเปโตรมาปรากฏตัวใกล้กับที่ตั้งมหาวิหารในปัจจุบัน ซึ่งอาจจะเป็นเหตุผลที่มหาวิหารได้รับปลาแซลมอนจากคนหาปลาในแม่น้ำเทมส์ต่อมา แต่ตามหลักฐานที่น่าเชื่อถือกว่ากล่าวว่าในคริสต์ทศวรรษ 960 หรือต้นคริสต์ทศวรรษ 970 นักบุญดันสตันร่วมกับพระเจ้าเอ็ดการ์ผู้รักสงบได้ก่อตั้งอารามคณะเบเนดิกตินขึ้นที่นี่ ต่อมาพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดธรรมสักขีก็สร้างมหาวิหารให้เป็นโบสถ์หินระหว่างปี ค.ศ. 1045 ถึงปี ค.ศ. 1050 เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังของพระองค์ มหาวิหารได้รับการสถาปนาเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม ค.ศ. 1065[3] เพียงอาทิตย์เดียวก่อนที่จะเสด็จสวรรคตและใช้เป็นที่ฝังพระศพของพระองค์เอง ในปี ค.ศ. 1245 พระเจ้าเฮนรีที่ 3 ทรงสร้างมหาวิหารใหม่แทนมหาวิหารเดิมและทรงเลือกให้เป็นที่บรรจุพระศพของพระองค์เอง
![](http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/7/78/London_westminster_1894.jpg/220px-London_westminster_1894.jpg)
ภาพของมหาวิหารเดิมที่ในลักษณะที่เป็นสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ก็เหลืออยู่เพียงภาพที่ปรากฏอยู่ข้างๆ พระราชวังเวสต์มินสเตอร์บนผ้าปักบายู มหาวิหารมีรายได้เพิ่มขึ้นจนขยายตัวจากนักพรตราวสิบกว่ารูปขึ้นไปเป็นราวแปดสิบรูป[4]
อธิการของมหาวิหารผู้ซึ่งเป็นผู้คงแก่เรียนพำนักอยู่ไม่ไกลจากพระราชวังเวสต์มินสเตอร์ซึ่งเป็นที่ตั้งของรัฐบาลที่เป็นศูนย์กลางของอำนาจทางการเมืองมาตั้งแต่หลังจากการพิชิตอังกฤษของชาวนอร์มันในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 11 และต่อมาอีกหลายร้อยปี ก็มักจะได้รับตำแหน่งในพระราชสำนักและในที่สุดก็มีสิทธิได้เป็นสมาชิกในสภาขุนนาง เมื่ออำนาจทางด้านการเป็นผู้นำของคณะถูกย้ายไปอยู่ที่อารามกลูว์นีในฝรั่งเศสในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 10 นักพรตของมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ก็มีโอกาสในการบริหารบริเวณที่ดินต่าง ๆ ที่เป็นเจ้าของซึ่งบางครั้งก็ไกลไปจากเวสต์มินสเตอร์เองมาก “นักพรตคณะเบเนดิกตินดูเหมือนจะปรับตัวเข้ากับการใช้ชีวิตอย่างฆราวาสได้เป็นอย่างดี และโดยเฉพาะกับในหมู่ชนชั้นสูง” เป็นคำสรุปของบาร์บารา ฮาร์วีย์ ที่ทำให้เห็นภาพพจน์ของชีวิตประจำวัน[5] ในแง่มุมของชนชั้นผู้ดีในสังคมชั้นสูงสมัยกลางและปลายสมัยกลาง
แต่การที่มีที่ตั้งที่อยู่ไม่ไกลจากพระราชวังเวสต์มินสเตอร์ก็มิได้ทำให้นักพรตมีความสัมพันธ์กับพระมหากษัตริย์มากไปกว่าปกติ ในทางสังคมนักพรตของมหาวิหารก็ยังปฏิบัติตัวอย่างสมถะเช่นเดียวกับนักพรตอื่นๆ ในคณะเดียวกันที่อยู่ที่อื่น อธิการมหาวิหารก็ยังคงมีฐานะเป็นผู้เป็นเจ้าของที่ดินของชุมชนราวสองสามพันคนรอบ ๆ มหาวิหาร ในฐานะผู้บริโภคและนายจ้างทางราชสำนักก็ช่วยส่งเสริมความเจริญทางเศรษฐกิจของเวสต์มินสเตอร์ นอกจากนั้นความสัมพันธ์ระหว่างราชสำนักกับเวสต์มินสเตอร์ก็เป็นความสัมพันธ์อันดี แต่ทางเวสต์มินสเตอร์ก็มิได้รับสิทธิพิเศษในการค้าขายใด ๆ ในยุคกลาง[6] มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์สร้างร้านค้าและที่อยู่อาศัยทางด้านตะวันตกแต่ก็เริ่มรุกเข้ามาในบริเวณของนักพรต
มหาวิหารกลายเป็นสถานที่ในการทำพระราชพิธีบรมราชาภิเศกของพระมหากษัตริย์นอร์มันแต่ไม่มีองค์ใดที่ถูกฝังที่นั่นมาจนมาถึงพระเจ้าเฮนรีที่ 3 ผู้ทรงอุทิศพระองค์แก่ลัทธินิยมพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดธรรมสักขี พระองค์ทรงสร้างมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ใหม่ในแบบสถาปัตยกรรมกอธิคเพื่อเป็นอนุสรณ์ให้แก่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดธรรมสักขี ผู้ได้รับการประกาศเป็นนักบุญในปี ค.ศ. 1161 และเป็นที่สำหรับฝังพระบรมศพของพระองค์เอง งานการก่อสร้างยังคงทำกันต่อมาระหว่างปี ค.ศ. 1245 ถึงปี ค.ศ. 1517 และส่วนใหญ่ทำโดยสถาปนิกเฮนรี เยเวล (Henry Yevele) ในสมัยพระเจ้าริชาร์ดที่ 2 ต่อมาในปี ในปี ค.ศ. 1503 พระเจ้าเฮนรีที่ 7 ก็ทรงต่อเติมห้องสวดมนต์แบบเพอร์เพ็นดิคิวลาร์ (Perpendicular Period) ทางด้านหลังสุดของมหาวิหารที่อุทิศให้แก่พระนางมารีย์พรหมจารี (ที่รู้จักกันว่า “ห้องสวดมนต์พระแม่มารีของพระเจ้าเฮนรีที่ 7”) หินที่ใช้สร้างมหาวิหารมาจากค็อง (Caen) ในฝรั่งเศส และในบริเวณลุ่มแม่น้ำลัวร์
ในปี ค.ศ. 1535 จากการสำรวจทรัพย์สินและรายได้ของโบสถ์ในอังกฤษก่อนการยุบอารามทางการพบว่ารายได้ประจำปีของมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์เป็นจำนวนประมาณ 2400-2800 ปอนด์ ซี่งเป็นจำนวนที่มากเป็นที่สองรองจากมหาวิหารกลาสตันบรี (Glastonbury Abbey) หลังจากนั้นพระเจ้าเฮนรีที่ 8 ก็ทรงยึดการปกครองจากนักพรตมาทรงปกครองด้วยพระองค์เองในปี ค.ศ. 1539 และทรงยกฐานะมหาวิหารขึ้นเป็นอาสนวิหารในปี ค.ศ. 1540 และพระราชทานพระราชเอกสารสิทธิ (letters patent) ก่อตั้งให้มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์เป็นมุขมณฑลเวสต์มินสเตอร์ การก่อตั้งมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ให้เป็นอาสนวิหารทำให้มหาวิหารรอดจากการถูกทำลายอย่างยับเยินเช่นมหาวิหารอื่น ๆ เกือบทุกมหาวิหารในราชอาณาจักรอังกฤษในยุคเดียวกัน แต่เวสต์มินสเตอร์ก็เป็นอาสนวิหารอยู่ได้เพียงสิบปีจนถึงปี ค.ศ. 1550 วลี “โขมยจากปีเตอร์ไปจ่ายให้พอล” (robbing Peter to pay Paul) อาจจะมีรากมาจากยุคนี้คือเมื่อรายได้ที่ควรจะเป็นของมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ (ซึ่งเป็นมหาวิหารที่อุทิศให้แก่นักบุญปีเตอร์) ถูกโอนไปให้กับคลังของมหาวิหารเซนต์พอล
สมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 1ผู้นับถือนิกายโรมันคาทอลิกได้พระราชทานมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์คืนให้กับนักพรตเบเนดิกติน แต่ก็ถูกยึดคืนโดยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 ในปี ค.ศ. 1559 ยี่สิบปีต่อมาในปี ค.ศ. 1579 พระองค์ก็พระราชทานฐานะมหาวิหารให้เป็น “พระอารามหลวง” ซึ่งหมายถึงการเป็นโบสถ์ที่ขึ้นตรงต่อองค์รัฏฐาธิปัตย์แทนที่จะขึ้นอยู่กับมุขนายกเขตมิสซัง และพระราชทานชื่อใหม่ว่า “คริสตจักรเซนต์ปีเตอร์” (Collegiate Church of St Peter) ซึ่งเท่ากับเป็นการสิ้นสุดจากการเป็นมหาวิหารหรืออารามมาเป็นโบสถ์ที่ปกครองโดยดีน (dean) อธิการองค์สุดท้ายของมหาวิหารได้รับการแต่งตั้งให้เป็นดีนองค์แรก
ในคริสต์ทศวรรษ 1640 ระหว่างสงครามกลางเมืองอังกฤษมหาวิหารได้รับความเสียหายจากกลุ่มเพียวริตันที่พยายามบุกเข้ามาทำลายรูปเคารพต่างๆ แต่ก็ได้รับการปกป้องเพราะความที่อยู่ใกล้กับรัฐบาลเครือจักรภพ เมื่อเจ้าผู้พิทักษ์โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ถึงแก่อสัญกรรมก็ได้รับการทำพิธีฝังศพกันอย่างอย่างใหญ่โตที่มหาวิหารในปี ค.ศ. 1658 แต่ร่างของครอมเวลล์ก็มาถูกขุดขึ้นมาเพียงอีกสามปีต่อมาในเดือนมกราคม ค.ศ. 1661 เพื่อนำมาแขวนคอที่ตะแลงแกงไม่ไกลจากมหาวิหารนัก
![](http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/7/79/Westminster_Abbey_by_Canaletto%2C_1749.jpg/250px-Westminster_Abbey_by_Canaletto%2C_1749.jpg)
![](http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/7/75/Layout_Of_Westminster_Abby.svg/250px-Layout_Of_Westminster_Abby.svg.png)
หอสองหอด้านหน้ามหาวิหารสร้างระหว่างปี ค.ศ. 1722 ถึงปี ค.ศ. 1745 โดยนิโคลัส ฮอคสมัวร์ (Nicholas Hawksmoor) จากหินพอร์ตแลนด์ และเป็นตัวอย่างของสถาปัตยกรรมฟื้นฟูกอธิค การขยายต่อมาทำในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ภายใต้การควบคุมของเซอร์จอร์จ กิลเบิร์ต สกอตต์ (George Gilbert Scott) ปฏิมณฑลสำหรับด้านหน้าออกแบบโดยเซอร์เอ็ดวิน ลูเต็นส (Edwin Lutyens) ในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 แต่ไม่ได้สร้าง
จนกระทั่งถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ก็เป็นสถานศึกษาลำดับที่สามของอังกฤษรองจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด และมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และเป็นสถานที่ที่หนึ่งในสามตอนแรกของคัมภีร์ไบเบิลฉบับพระเจ้าเจมส์ (King James Bible) ของพันธสัญญาเดิมและครึ่งหลังของพันธสัญญาใหม่ได้รับการแปล ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 มหาวิหารก็เป็นที่รวบรวมคัมภีร์ไบเบิลภาษาอังกฤษฉบับใหม่ (New English Bible) มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อยระหว่างการทิ้งระเบิดในลอนดอนเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1940
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
[แก้]![](http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/3/3d/SanktEdvardsstol_westminster.jpg/220px-SanktEdvardsstol_westminster.jpg)
ตั้งแต่พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของทั้งพระเจ้าฮาโรลด์ กอดวินสัน และสมเด็จพระเจ้าวิลเลียมที่ 1 แห่งอังกฤษในปี ค.ศ. 1066 แล้วมหาวิหารก็ใช้เป็นสถานที่สำหรับการทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ของอังกฤษและของสหราชอาณาจักรทุกพระองค์ ยกเว้นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 5 และพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 ผู้ทรงไม่มีโอกาสเข้าทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษก[3] เมื่อพระเจ้าเฮนรีที่ 3 ขึ้นครองราชย์พระองค์ทรงไม่สามารถทำพิธีราชาภิเษกในลอนดอนได้ เพราะพระเจ้าหลุยส์ที่ 8 แห่งฝรั่งเศสทรงยึดลอนดอนอยู่ในขณะนั้น พระองค์จึงทรงย้ายไปทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่มหาวิหารกลอสเตอร์ในกลอสเตอร์เชอร์ แต่พระสันตปาปาทรงเห็นว่าเป็นการไม่ถูกต้อง พระเจ้าเฮนรีที่ 3 จึงทรงทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นครั้งที่สองในมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ. 1220[7] เลดี้เจน เกรย์ผู้ครองราชย์เพียงเก้าวันก็มิได้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตามธรรมเนียมแล้วอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรีจะเป็นเคลอริกผู้ทำพิธีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก บัลลังก์ที่ใช้ประทับระหว่างพิธีคือพระราชบัลลังก์นักบุญเอ็ดเวิร์ด (St Edward's Chair) ที่เก็บไว้ภายในอาสนวิหารและใช้มาตั้งแต่ ค.ศ. 1308 ระหว่าง ค.ศ. 1301 ถึง ค.ศ. 1996 ภายใต้บัลลังก์มีหินแห่งสโคน (Stone of Scone) ซึ่งเดิมเป็นหินที่พระมหากษัตริย์แห่งสกอตแลนด์ทรงใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แต่ปัจจุบันหินแห่งสโคนถูกนำกลับไปเก็บที่ปราสาทเอดินบะระในสกอตแลนด์จนกว่าจะถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งต่อไป
การบรรจุศพและอนุสรณ์
[แก้]![](http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/9/9a/Westminster_Abbey_cloister.jpg/250px-Westminster_Abbey_cloister.jpg)
พระเจ้าเฮนรีที่ 3 ทรงสร้างมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ใหม่เพื่อเป็นเกียรติแก่นักบุญสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดผู้สารภาพ วัตถุมงคลของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่เดิมอยู่ภายในสักการสถานในมหาวิหารแต่ในปัจจุบันย้ายไปอยู่ภายใต้ที่เก็บศพภายใต้พื้นโมเสกคอสมาติหน้าแท่นบูชาเอก ส่วนพระบรมศพของพระเจ้าเฮนรีที่ 3 เองก็ถูกบรรจุไว้ในที่บรรจุอันงดงามไม่ไกลนัก เช่นเดียวกับพระมหากษัตริย์ราชวงศ์แพลนทาเจเน็ท และพระญาติพระวงศ์อีกหลายพระองค์ หลังจากการบรรจุพระบรมศพของพระเจ้าเฮนรีที่ 3 แล้วการบรรจุศพภายในมหาวิหารก็กลายเป็นประเพณีของการบรรจุพระบรมศพของพระมหากษัตริย์และพระราชินีเกือบทุกพระองค์ต่อมา ยกเว้นบางพระองค์เช่นพระเจ้าเฮนรีที่ 8 และพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ที่ได้รับการบรรจุที่ห้องสวดมนต์เซนต์จอร์จที่พระราชวังวินด์เซอร์เช่นเดียวกับพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์หลังจากรัชสมัยของพระเจ้าจอร์จที่ 2
พระบรมศพหรือพระศพของพระมหากษัตริย์หรือพระราชวงศ์จะบรรจุไว้ภายในห้องสวดมนต์ต่าง ๆ ภายในมหาวิหาร ส่วนศพของนักบวชและผู้อื่นที่เกี่ยวข้องกับมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ก็จะบรรจุภายในระเบียงฉันนบถและบริเวณอื่นในมหาวิหาร เช่นกวีคนสำคัญของอังกฤษเจฟฟรีย์ ชอเซอร์ผู้เคยพำนักอยู่ที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์และเป็นข้าราชสำนักขณะที่มีชีวิตอยู่ กวีคนอื่นก็ถูกบรรจุไว้ในบริเวณเดียวกันที่เรียกกันว่า “มุมกวี” ที่ได้แก่วิลเลียม เบลค โรเบิร์ต เบิร์นส และวิลเลียม เชกสเปียร์เป็นต้น ต่อมาการบรรจุศพกันในมหาวิหารกลายมาเป็นสิ่งที่เชิดหน้าชูตา จึงทำให้เผยแพร่ไปยังการบรรจุศพบุคคลสำคัญจากอาชีพต่าง ๆ เช่นนักการเมือง นักวิทยาศาสตร์ หรือนักการทหารเป็นต้น
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 "Dimensions of Westminster Abbey" (PDF). westminster-abbey.org. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 4 March 2016. สืบค้นเมื่อ 12 January 2016.
- ↑ "ประกาศสำนักพระราชวัง ในหลวง พระราชินี เสด็จฯ ร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3". pptvhd36.com.
- ↑ 3.0 3.1 "A Brief History—Introduction to Westminster Abbey". Dean and Chapter of Westminster Abbey. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-16. สืบค้นเมื่อ 2008-04-19.
- ↑ Harvey (1993); p. 2
- ↑ Harvey (1993)
- ↑ Harvey (1993); p. 6f
- ↑ "Henry III, Archonotology.org". สืบค้นเมื่อ 2008-04-21.
ดูเพิ่ม
[แก้]- คริสต์ศาสนสถาน
- สถาปัตยกรรมกอธิค
- มหาวิหารในสหราชอาณาจักร
- แผนผังมหาวิหาร
- สถาปัตยกรรมการก่อสร้างมหาวิหารในยุโรปตะวันตก
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้] วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์
สมุดภาพ
[แก้]-
มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์
-
ด้านหลังที่ภายในเป็นห้องสวดมนต์พระแม่มารี
-
ทิวทัศน์กลางคืน
-
ค้ำยันด้านนอก
-
ทางเดินกลาง
-
เพดานโค้งแบบกอธิค
-
ภายในห้องสวดมนต์พระแม่มารี
-
พระบรมศพของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3