ข้ามไปเนื้อหา

เรือนจำจี๊ฮหว่า

พิกัด: 10°46′37″N 106°40′08″E / 10.7769°N 106.669°E / 10.7769; 106.669
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เรือนจำจิฮว้า)

10°46′37″N 106°40′08″E / 10.7769°N 106.669°E / 10.7769; 106.669

เรือนจำจี๊ฮหว่า

เรือนจำจี๊ฮหว่า (เวียดนาม: Khám Chí Hòa หรือ Nhà Tù Chí Hòa) เป็นเรือนจำที่ตั้งอยู่ในนครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม เป็นเรือนจำหนึ่งในสิบสองแห่งของประเทศ[1] ตัวเรือนจำเป็นอาคารทรงแปดเหลี่ยมซึ่งสร้างอยู่บนสถานที่ตั้งขนาด 7 เฮกตาร์[2] ซึ่งประกอบด้วยห้องกักกัน ห้องคุมขังนักโทษ กำแพงเรือนจำ หอคอย สิ่งอำนวยความสะดวกและที่ดินเพาะปลูกของนักโทษ ตัวเรือนจำสร้างขึ้นโดยรัฐบาลอาณานิคมอินโดจีนฝรั่งเศส ใน ค.ศ. 1943 (หรือ ค.ศ. 1939) เพื่อใช้แทนที่เรือนจำกลางไซ่ง่อน เป็นเรือนจำที่รัฐบาลเวียดนามทุกยุคทุกสมัยใช้กันอย่างกว้างขวาง เนื่องจากความซับซ้อนและสถาปัตยกรรมอันมีประสิทธิภาพ เรือนจำดังกล่าวจึงได้รับการพิจารณาว่าเป็นเรือนจำที่มีความปลอดภัยสูงที่สุดในเวียดนาม โดยในประวัติศาสตร์ของเรือนจำ พบว่ามีการแหกคุกได้สำเร็จเพียงสองครั้งเท่านั้น[3]

ประวัติศาสตร์

[แก้]

ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1930 เรือนจำกลางไซ่ง่อนซึ่งฝรั่งเศสสร้างขึ้นใน ค.ศ. 1890 เกิดการแออัดเนื่องจากอัตราการเพิ่มจำนวนนักโทษอย่างไม่หยุดในเวลานั้น[3] สถานการณ์ดังกล่าวเป็นสาเหตุให้รัฐบาลอินโดจีนฝรั่งเศสตัดสินใจจะสร้างเรือนจำใหม่และมีขนาดใหญ่กว่าเดิมเพื่อใช้แทนเรือนจำกลางไซ่ง่อน ใน ค.ศ. 1939 (หรือ ค.ศ. 1943 ในแหล่งข้อมูลระบุไม่ตรงกัน) รัฐบาลเริ่มก่อสร้างเรือนจำจี๊ฮหว่าโดยว่าจ้างผู้รับเหมาชาวฝรั่งเศสและใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมเวียดนามท้องถิ่น ในปี ค.ศ. 1945 การก่อสร้างหยุดชะงักไปเนื่องจากจักรวรรดิญี่ปุ่นโค่นล้มรัฐบาลฝรั่งเศสลง หลังจากฝรั่งเศสกลับมามีอำนาจอีกครั้ง ในปี ค.ศ. 1950 การก่อสร้างได้ดำเนินต่อไปและกระบวนการก่อสร้างได้เสร็จสิ้นทั้งหมดในปี ค.ศ. 1953[3]

หลังเรือนจำจี๊ฮหว่าก่อสร้างเสร็จ สมเด็จพระจักรพรรดิบ๋าว ดั่ย แห่งเวียดนาม ทรงตัดสินพระทัยปิดเรือนจำกลางไซ่ง่อนลงอย่างถาวรและเคลื่อนย้ายนักโทษไปยังเรือนจำใหม่ นับตั้งแต่นี้เป็นต้นไป รัฐบาลของรัฐเวียดนาม (ในภายหลังคือ สาธารณรัฐเวียดนาม) ได้ใช้เรือนจำดังกล่าวอย่างกว้างขวาง

หลังจากเวียดนามเหนือรวมกับเวียดนามใต้ใน ค.ศ. 1975 รัฐบาลใหม่ของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามได้ใช้เรือนจำดังกล่าวต่อมาจนถึงปัจจุบัน ใน ค.ศ. 2010 ฝ่ายบริหารของนครโฮจิมินห์ได้ประกาศแผนการทำลายเรือนจำและสร้างบ้านจัดสรรบรรษัทเหนือพื้นที่เรือนจำเดิม[4]

สถาปัตยกรรม

[แก้]

ตัวเรือนจำมีอาคารหลักซึ่งเป็นอาคารทรงแปดเหลี่ยมสามชั้นสร้างขึ้นโดยได้รับอิทธิพลอย่างมากจากทฤษฎีแปดไทรแกรมของอี้จิง ตัวอาคารทั้งหลังประกอบขึ้นจากแนวอาคารหลังคากระเบื้อง 7 แนวและแนวอาคารหลังคาราบหันหน้าไปทางทิศเหนืออีก 1 แนว ซึ่งได้รับการตั้งชื่อตามชื่อของไทรแกรมทั้งแปดขิงอี้จิง ผนังด้านนอกและด้านในสร้างขึ้นแตกต่างกัน ผนังด้านนอกปิดด้วยกำแพงอิฐมีช่องอากาศ ส่วนด้านในเปิดด้วยที่ว่างสีเขียวไม่มุงหลังคาซึ่งนักโทษจะถูกแยกออกจากกันด้วยรั้วเหล็ก ในภายหลัง แนวอาคารทั้งแปดถูกแบ่งออกเป็นพื้นที่ซึ่งตั้งชื่อเรียงตามอักษร ได้แก่ พื้นที่เอ พื้นที่บี พื้นที่ซี พื้นที่ดี พื้นที่อี พื้นที่เอฟ พื้นที่จี และพื้นที่เอช[2] พื้นที่ดังกล่าวประกอบกันขึ้นเป็นหกเขต ซึ่งได้รับการตั้งชื่ว่า เขตเอบี เขตบีซี เขตอีดี เขตเอฟจี เขตเอเอช และเขตไอดี ซึ่งทั้งหมดมีห้องคุมขังนักโทษทั้งสิ้น 238 ห้อง จำแนกตามเขตได้ดังนี้[2]:

  • เขตเอบี: 52 ห้อง
  • เขตไอดี: 17 ห้อง
  • เขตรักษาความปลอดภัย (เขตคุมขังเดี่ยว): 3 ห้อง
  • เขตดี: 65 ห้องแคบ
  • เขตที่เหลือ: 101 ห้อง

ใจกลางเรือนจำเป็นอ่างเก็บน้ำสูงและใหญ่ซึ่งยังใช้เป็นหอคอยหลักซึ่งให้เจ้าหน้าที่เรือนจำสามารถมองเห็นภาพโดยรวมของห้องคุมขังนักโทษทั้งหมดในเรือนจำได้[2] นอกเหนือจากจะมีห้องคุมขังนักโทษแล้ว อาคารหลักยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ต้องขัง ตลอดจนผู้บริหารเรือนจำและเจ้าหน้าที่[2]

ในภายหลังได้มีการก่อสร้างโบสถ์คริสต์และวัดพุทธในพื้นที่โดยรอบอาคารหลัก แต่ปัจจุบันได้ถูกทำลายลงไปแล้ว นอกจากนี้ยังมีผืนที่ดินเพาะปลูกขนาดเล็กและสิ่งอำนวยความสะดวก อย่างเช่น ร้านอาหารและห้องน้ำ สำหรับนักโทษในที่ดินนี้ ส่วนที่อยู่ด้านนอกสุดของเรือนจำถูกแยกออกจากพ้นที่คุมขังนักโทษหลักโดยกำแพงอิฐทรงสี่เหลี่ยมและรั้วลวดหนาม มีหอคอยสี่แห่งตั้งอยู่ทั้งสี่มุมของกำแพง

ปฏิบัติการเรือนจำ

[แก้]

เรือนจำนี้มีชื่อเสียงที่ไม่ดีด้านสภาพที่ความโหดร้ายและสกปรกมาเป็นระยะเวลานานไม่ว่าผู้ดำเนินการจะผ่านไปกี่ชุดก็ตาม ในสมัยรัฐบาลอาณานิคมฝรั่งเศส นักโทษจะถูกคุมขังในห้องขังที่ไม่มีแสงและมักจะถูกล่ามโซ่[2]

ในสมัยเวียดนามใต้ โดยปกติเรือนจำจะมีนักโทษอยู่ถึง 6,000-8,000 คน หรือบางครั้งอาจมีนักโทษเพิ่มขึ้นถึง 10,000 คน[2] นักโทษเหล่านี้จะถูกแบ่งออกเป็นสองกลุ่มตามประเภทของอาชญากรรมที่พวกเขาก่อ: กลุ่มแรก คือ ผู้ที่กระทำอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับการเมือง และกลุ่มที่สอง คือ นักโทษที่ก่ออาชญากรรมประเภทอื่น นักโทษชายและหญิงจะถูกคุมขังไว้ในห้องขังคนละห้องกันและนักโทษสามารถออกจากห้องขังได้เฉพาะเพื่อรับประทานอาหารหรือไปขับถ่ายเท่านั้น มักจะมีกองพันตำรวจหนึ่งกองพันคอยอารักขาเรือนจำอยู่เสมอ[2] แม้ว่าจะเป็นเพียงเรือนจำ แต่ก็มีการประหารชีวิตสองครั้ง ณ เรือนจำจี๊ฮหว่า ได้แก่ การประหารชีวิตโง ดิ่ญ เกิ๋น และเหงียน วัน โจ๋ย[5]

หลังจากไซ่ง่อนล่มสลาย เรือนจำยังคงเปิดต่อไปและอยู่ภายใต้การจัดการของรัฐบาลสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม แต่กลับพบว่ามีข้อมูลน้อยมากเกี่ยวกับปฏิบัติการของเรือนจำ มีข้อมูลคร่าว ๆ ในหนังสือเดอะแบล็กบุ๊กออฟคอมมิวนิสม์ ซึ่งอธิบายถึงสภาพของเรือนจำว่าเลวร้ายมาก[6]

เรือนจำยังมีชื่อเสียงในด้านการรักษาความปลอดภัยที่สูง และเคยได้รับการพิจารณาว่าเป็นเรือนจำที่นักโทษไม่สามารถแหกคุกหนีออกมาได้ อย่างไรก็ตาม ได้มีการแหกคุกที่ประสบความสำเร็จสองครั้งในอดีต: ครั้งแรกเกิดขึ้นใน ค.ศ. 1945 เมื่อเหวียตมิญอาศัยความได้เปรียบจากความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สองเพื่อโจมตีและปลดปล่อยสมาชิกของตนซึ่งถูกคุมขังไว้ในเรือนจำ โดยที่เรือนจำยังสร้างไม่เสร็จและได้รับการป้องกันอย่างเลว และการแหกคุกครั้งที่สองเป็นการแหกคุกของเฟื้อกต๊ามง้อน (เฟื้อกแปดนิ้ว) ขโมยชาวเวียดนามที่มีชื่อเสียงใน ค.ศ. 1995 เมื่อเขาสามารถปลดโซ่ตรวนของตนเองได้และหลีกเลี่ยงเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในการแหกคุกซึ่งตำรวจเวียดนามอธิบายว่าเป็น "การแหกคุกอย่างไม่น่าเชื่อ"[3][7]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Mitchel P. Roth, Prisons and prison systems: a global encyclopedia, page 288 Publisher: Westport, Conn.; Greenwood Press, 2006. ISBN 0313328560
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 2.7 Vài nét về khám Chí Hòa - Giới thiệu เก็บถาวร 2011-07-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Government of Ho Chi Minh city, Accessed 10/12/2010
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 “Lò bát quái” Chí Hòa - Những chuyện sau cửa ngục เก็บถาวร 2014-04-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Công An Nhân Dân Newspaper, 24/06/2009. Accessed 10/12/2010 (เวียดนาม)
  4. TPHCM: Quy hoạch chung cư tại khu đất trại giam Chí Hòa เก็บถาวร 2010-06-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน - 5/31/2010 - Thanh Niên Newspaper (เวียดนาม)
  5. Vụ xử bắn thứ nhất tại Chí Hòa เก็บถาวร 2011-09-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Công An Nhân Dân Newspaper. Accessed 10/12/2010 (เวียดนาม)
  6. Stéphane Courtois and Mark Kramer, The black book of communism : crimes, terror, repression, page 574, Harvard University Press ISBN 0674076087
  7. Phước "tám ngón" và vụ vượt ngục Chí Hoà Công An Nhân Dân Newspaper, 21/03/2010, Accessed 10/12/2010 (เวียดนาม)