ข้ามไปเนื้อหา

เบเอลเซบูล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เบลเซบับ)
เบเอลเซบูล ศิลปินมักวาดเป็นรูปแมลงวัน

เบเอลเซบูล[1] (อังกฤษ: Beelzebub หรือ Beelzebul; กรีก: βεελζεβούβ; ฮีบรู: בעל זבוב[2]) พญาแมลงวัน เป็นชื่อที่มาจาก เทพเจ้าของชาวฟิลิสเตียซึ่งเดิมบูชาในเมืองเอโครนและต่อมาปรากฎในกลุ่มศาสนาอับราฮัมบางศาสนาในภายหลัง ชื่อ Beelzebub มีความเกี่ยวข้องกับบาอัล เทพเจ้าชาวคานาอัน

แต่เดิมนั้นเบเอลเซบูลเคยเป็นเทพของชาวฟิลิสเตีย เทพเจ้าแห่งเมืองเอโครน แห่งฟิลิสเตีย ในคัมภีร์ไบเบิล ภาคพันธสัญญาเดิม หนังสือ 2 พงศ์กษัตริย์ เมื่อกษัตริย์อาหัสยาห์แห่งอาณาจักรอิสราเอลทรงตกลงมาจากช่องพระแกลตาข่ายที่ห้องชั้นบนของพระองค์ในกรุงสะมาเรียและทรงประชวร จึงทรงใช้บรรดาผู้สื่อสารไป รับสั่งว่า "จงไปถามเบเอลเซบูล พระแห่งเอโครนว่า เราจะหายจากความเจ็บป่วยนี้หรือไม่" แต่ทูตสวรรค์ของพระเยโฮวาห์พูดกับผู้เผยพระวจนะเอลียาห์ชาวทิชบีว่า "จงลุกขึ้นไปพบบรรดาผู้สื่อสารของกษัตริย์แห่งสะมาเรีย และจงพูดกับเขาทั้งหลายว่า `เพราะไม่มีพระเจ้าในอิสราเอลแล้วหรือ ท่านจึงไปถามเบเอลเซบูล พระแห่งเอโครน' เพราะฉะนั้นบัดนี้พระเยโฮวาห์ตรัสดั่งนี้ว่า `เจ้าจะไม่ได้ลงมาจากที่นอนซึ่งเจ้าขึ้นไปนั้น แต่เจ้าจะต้องตายแน่'

เบเอลเซบูลปรากฏครั้งแรกในพระคัมภีร์ ภาคพันธสัญญาเดิมหรือคัมภีร์ฮีบรูในชื่อ บาอัลเซบุล(baalzebul) แปลว่า จ้าวแห่งแมลงวัน หรืออาจจะ แปลว่า จ้าวแห่งสรวงสวรรค์ เป็นเทพเจ้านอกรีตในสายตาของชาวฮีบรูหรือชาวยิว อาจมีความเกี่ยวข้องกับ เทพบาอัล (baal) เทพเจ้าแห่งฟ้าฝนและความอุดมสมบูรณ์ของคานาอันโบราณ

เบเอลเซบูลในความเชื่อของคริสต์ศาสนา

[แก้]
เบเอลเซบูลในร่างของเทพ วาดโดย ไบรอัน ซีเวลล์ ในปี พ.ศ. 2448

ชื่อของเบเอลเซบูล ปรากฏในคัมภีร์พันธสัญญาใหม่ ว่าเป็นผู้ปกครองปีศาจ หรือเจ้าชายแห่งมวลปีศาจ ดังตัวอย่างในพระธรรมมัทธิว 12:24 เก็บถาวร 2004-10-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ถึงข้อที่ 28 ซึ่งเป็นเรื่องราวในตอนที่พระเยซูทรงรักษาคนตาบอดและเป็นใบ้ให้หาย ฟาริสีจึงกล่าวหาว่าพระเยซูนั้น ได้ใช้อำนาจของเบเอลเซบูลในการรักษา มีใจความว่า "๒๔แต่พวกฟาริสีเมื่อได้ยินดังนั้นก็พูดว่า ผู้นี้ขับผีออกนั้นก็เพราะได้ใช้อำนาจเบเอลเซบูลผู้เป็นนายผีนั้น ๒๕ฝ่ายพระเยซูทราบความคิดของเขา จึงตรัสกับเขาว่า ราชอาณาจักรใดๆซึ่งแตกแยกกันแล้วก็คงพินาศ เมืองใดๆ ครัวเรือนใดๆ ซึ่งแตกแยกกันแล้ว จะตั้งอยู่ไม่ได้ ๒๖และถ้าซาตานขับซาตานออกมันก็แตกแยกกันในตัวมันเอง แล้วอาณาจักรของมันจะตั้งอยู่อย่างไรได้ ๒๗และถ้าเราขับผีออกโดยเบเอลเซบูล พวกพ้องของท่านทั้งหลายขับมันออกโดยอำนาจของใครเล่า เหตุฉะนั้นพวกพ้องของท่านเองจะเป็นผู้ตัดสินใจกล่าวโทษพวกท่าน ๒๘แต้ถ้าเราขับผีออกด้วยพระวิญญาณของพระเจ้า แผ่นดินของพระเจ้าก็จะมาถึงท่านแล้ว "

ในมาระโก 3:22 เก็บถาวร 2004-10-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ถึงข้อที่ 32 ได้มีพวกธรรมจารย์จากกรุงเยรูซาเล็มได้กล่าวว่าพระองค์ว่ามีพลังของเบเอลเซบูลเช่นกัน พระองค์จึงตรัสเป็นความโดยย่อได้ว่า "ซาตานจะขับซาตานให้ออกได้อย่างไร ถ้าอาณาจักรใดแตกแยกก็อยู่ไม่ได้ หากต่อสู้กันเองก็จะไม่มีอะไรเหลือ ผู้ใดกล่าวหมิ่นประมาทพระวิญญาณอันบริสุทธิ์จะไม่ได้รับอภัยโทษจะได้รับแต่ความพินาศย่อยยับ" และกล่าวแก่พระสาวกว่า ผู้ที่นับถือพระองค์ที่รออยู่ข้างนอกนั้น ก็คือมารดาและพี่น้องของพระองค์ เพราะพวกเขาเหล่านั้นเคารพในตัวพระเจ้า

แต่เดิม เบเอลเซบูลนั้นเป็นเทวทูตที่ทำหน้าที่สอนมนุษย์ให้ใช้สิ่งของให้เป็นประโยชน์ รู้จักใช้สอยสิ่งของและพิถีพิถันในการเลือกอาหารการกิน แต่แล้วก็ถูกขับจากสวรรค์ ซาตานก็ได้มาเชิญชวนให้ไปเป็นพวก เมื่อเบเอลเซบูลมาอยู่ในนรกก็ได้รู้วิธีล่อลวงจิตใจมนุษย์ เมื่อเบเอลเซบูลถูกเรียกโดยเหล่าผู้บูชาตนแล้ว มักจะปรากฏในรูปของแมลงวัน และทุกที่ที่มันไปก็จะมีฝูงแมลงวันบินตามไปด้วย เมื่อบินไปที่ไหนก็ทำให้เกิดโรคร้าย ในความเป็นจริง แมลงวันก็เป็นพาหะนำโรคร้ายต่างๆ อยู่แล้ว เช่น อหิวาตกโรค โรคบิด ไข้รากสาด เป็นต้น การเป็นพาหะนำโรคของแมลงวันจึงทำให้เกิดตำนานความเชื่อเกี่ยวกับเบเอลเซบูลขึ้น

เบเอลเซบูลนั้นมีความแตกต่างจากซาตาน เพราะพลังอำนาจของเบเอลเซบูลไม่ได้มาจากการให้ของซาตาน เรียกได้ว่าเบเอลเซบูลปกครองนรกส่วนหนึ่ง แต่เป็นคนละส่วนของซาตาน ภายหลังกระแสของซาตานดังกว่า ผู้คนจึงกล่าวว่าซาตานเป็นนายของเบเอลเซบูลไปด้วย

ในคัมภีร์ Gospel of Nicodemus ได้กล่าวถึงการเยือนนรกของพระเยซูเป็นเวลา 3 วันนั้น ได้ให้อำนาจปกครองนรกแก่เบเอลเซบูลและให้มีอำนาจเหนือซาตาน (เป็นการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการโดยพระคริสต์) เพื่อแลกกับการยอมรับในตัวพระองค์ เนื่องจากซาตานนั้นเป็นผู้ต่อต้านพระเจ้า ไม่ยอมรับในตัวพระองค์ผู้เป็นพระบุตรแน่นอน และท่านยังมอบหมายให้พาตัวอดัมและนักบุญคนอื่นๆ ที่ถูกกักขังอยู่ในนรกกลับสวรรค์ด้วย (จึงมีผู้กล่าวว่าเบเอลเซบูลยอมรับใช้พระเจ้าเพื่อขอให้พระองค์ผ่อนโทษเหมือนกับแอสโมเดียส แต่เบเอลเซบูลเป็นปีศาจซุกซน เชื่อบ้างไม่เชื่อบ้าง กลับกลอก จะเอาแน่ก็ไม่ได้ ดีร้ายเท่ากัน)

บางครั้ง เบเอลเซบูลก็ปรากฏอยู่ในรูปของวัวยักษ์ หรือแพะตัวผู้ที่มีหางยาว เมื่อโกรธก็จะพ่นไฟออกมาทางปาก

คำว่า "เบเอลเซบูล" นอกจากเป็น "จ้าวแห่งแมลงวัน" แล้ว ยังมีอีกชื่อหนึ่ง ก็คือเป็น "จ้าวแห่งสรวงสวรรค์"

เบเอลเซบูลกับความเชื่อของนอกศาสนา

[แก้]

เบเอลเซบูลมักถูกอธิบายว่าอยู่ในลำดับชั้นของนรก ตามเรื่องราวของโยฮันน์ วีเยอร์ผู้ลึกลับในศตวรรษที่ 16 เบเอลเซบูลเป็นผู้นำการกบฏที่ประสบความสำเร็จกับซาตาน เป็นร้อยโทของลูซิเฟอร์ จักรพรรดิแห่งนรก และเป็นประธานในภาคีแห่งแมลงวัน ในทำนองเดียวกัน เซบาสเตียน มิคาเอลิสผู้ขับไล่ผีในศตวรรษที่ 17 ในประวัติศาสตร์อันน่าชื่นชม (ค.ศ. 1612) ได้จัดให้เบเอลเซบูลเป็นหนึ่งในทูตสวรรค์ที่ตกสู่บาปที่โดดเด่นที่สุด อีกสองคนคือลูซิเฟอร์และเลวีอาธาน จอห์น มิลตันในบทกวีมหากาพย์ Paradise Lost ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1667 ระบุถึงตรีเอกานุภาพที่ไม่บริสุทธิ์ซึ่งประกอบด้วย Beelzebub, Lucifer และ Astaroth โดยมี Beelzebub เป็นทูตสวรรค์อันดับสองที่ตกสู่บาป มิลตันเขียนถึงเบเอลเซบับ "ยิ่งกว่าใคร ซาตาน ยกเว้น ไม่มีผู้นั่งตำแหน่งสูงกว่าใคร" เบเอลเซบูลยังเป็นตัวละครใน The Pilgrim's Progress ของ John Bunyan ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1678

Sebastien Michaelis เชื่อมโยง Beelzebub กับบาปแห่งความจองหอง อย่างไรก็ตาม ตามคำกล่าวของ Peter Binsfeld เบเอลเซบูลเป็นปีศาจแห่งความตะกละ ซึ่งเป็นหนึ่งในบาปร้ายแรงอีกเจ็ดประการ ในขณะที่ฟรานซิส บาร์เร็ตต์อ้างว่าเบเอลเซบูลเป็นเจ้าชายแห่งการบูชารูปเคารพ

ในแวดวงศาสนา ข้อกล่าวหาเรื่องการครอบงำของปีศาจถูกใช้เป็นทั้งการดูถูกและพยายามจัดหมวดหมู่พฤติกรรมที่ไม่สามารถอธิบายได้ เช่น โรคจิตเภท พวกฟาริสีไม่เพียงแต่กล่าวหาพระเยซูอย่างดูถูกเหยียดหยามว่าใช้พลังปีศาจของเบเอลเซบับรักษาผู้คน (ลูกา 11:14–26) แต่คนอื่นๆ ถูกกล่าวหาว่าเข้าสิงเพราะการกระทำที่มีลักษณะสุดโต่ง ตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เบเอลเซบูลต้องรับผิดชอบหลายกรณีของการครอบครองของปีศาจ

เบเอลเซบูลกับบาปตะกละ

[แก้]

เบเอลเซบูลเป็นปีศาจประจำบาปตะกละ เนื่องจากเป็นปีศาจที่มีความตะกละอย่างไม่มีที่สิ้นสุด กินไม่หยุดหย่อนและเลือกแต่อาหารดีๆ กินเท่าไรก็ไม่หมดความหิวกระหาย เป็นนิสัยที่น่ารังเกียจมากๆ หากมนุษย์คนใดถูกเบเอลเซบูลสิงก็จะมอบชีวิตให้แก่มันด้วยการกินเท่านั้น

อ้างอิง

[แก้]
  1. มัทธิว 12:24 พระคริสต์ธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน (THSV11)
  2. ยังมีชื่ออื่นที่สะกดต่างกันอีกเช่น Ba‘al Zebûb, Ba‘al Zəvûv, (בעל זבוב), Belzebud, Beezelbub, Beazlebub, Belzaboul, Beelzeboul, Baalsebul, Baalzebubg, Belzebuth, Beelzebuth, และ Beelzebus