ข้ามไปเนื้อหา

เดอะแลนซิต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เดอะแลนเซ็ต)
เดอะแลนซิต
The Lancet
สาขาวิชาการแพทย์
ภาษาภาษาอังกฤษ
บรรณาธิการริชาร์ด ฮอร์ตัน
รายละเอียดการตีพิมพ์
ประวัติการตีพิมพ์ค.ศ. 1823–ปัจจุบัน
ผู้พิมพ์
ความถี่ในการตีพิมพ์52 ฉบับ/ปี
ปัจจัยกระทบ79.321 (2020)
ชื่อย่อมาตรฐาน
ISO 4Lancet
การจัดทำดรรชนี
CODENLANCAO
ISSN0140-6736
1474-547X
LCCNsf82002015
OCLC01755507
การเชื่อมโยง

เดอะแลนซิต (อังกฤษ: The Lancet) เป็นวารสารการแพทย์ทั่วไปรายสัปดาห์ที่ทบทวนโดยผู้รู้เสมอกัน ที่เก่าแก่ที่สุดและรู้จักกันดีที่สุดวารสารหนึ่ง[1] โดยมีการกล่าวว่า เป็นวารสารการแพทย์ที่มีเกียรติมากที่สุดวารสารหนึ่งของโลก[2] ในปี 2557 เดอะแลนซิต จัดว่ามีอิทธิพลเป็นที่สองในบรรดาวารสารการแพทย์ทั่วไป โดยมีปัจจัยกระทบที่ 45 ต่อจากวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ ที่มีปัจจัยกระทบที่ 56[3]

หน้าต่างแบบแลนซิตที่โบสถ์แห่งหนึ่งในสหราชอาณาจักร

นพ.ทอมัส เวคลีย์ ศัลยแพทย์ชาวอังกฤษ ได้จัดตั้งวารสารขึ้นในปี 2366 (ค.ศ. 1823) โดยตั้งชื่อวารสารตามเครื่องมือผ่าตัดที่เรียกว่า "lancet" (มีดปลายแหลมสองคมขนาดเล็กสำหรับผ่าตัด) และตามชื่อส่วนของสถาปัตยกรรมกอทิกแบบอังกฤษที่เป็นช่องหน้าต่างโค้งยอดแหลม[4] ซึ่งหมายถึง "แสงสว่างแห่งปัญญา" หรือ "เพื่อให้แสงสว่างเข้ามา"

เดอะแลนซิต พิมพ์บทความงานวิจัยดั้งเดิม บทความปริทัศน์ บทความบรรณาธิการ งานปฏิทัศน์หนังสือ การติดต่อทางจดหมาย ข่าว และรายงานเค้ส และมีสำนักพิมพ์แอ็ลเซอเฟียร์เป็นเจ้าของตั้งแต่ปี 2534[5] หัวหน้าบรรณาธิการคือนายริชาร์ด ฮอร์ตัน ตั้งแต่ปี 2538 วารสารมีสำนักงานบรรณาธิการในนครลอนดอน นิวยอร์ก และปักกิ่ง

วารสารเฉพาะทาง

[แก้]

เดอะแลนซิต ยังตีพิมพ์วารสารเฉพาะทางหลายวารสารด้วยกัน คือ The Lancet Neurology (ประสาทวิทยา), The Lancet Oncology (วิทยามะเร็ง), The Lancet Infectious Diseases (โรคติดเชื้อ), The Lancet Respiratory Medicine (การแพทย์ระบบหายใจ),The Lancet Psychiatry (จิตเวชศาสตร์), and The Lancet Diabetes and Endocrinology (วิทยาต่อมไร้ท่อ) โดยทั้งหมดตีพิมพ์งานวิจัยดั้งเดิมและงานปฏิทัศน์ ในปี 2556 The Lancet Global Health (เกี่ยวกับสุขภาพประชากรในระดับโลก) ก็กลายเป็นวารสารที่เข้าถึงแบบเปิดได้อย่างสมบูรณ์วารสารแรกของสำนักพิมพ์ วารสารเฉพาะทาง 3 วารสารคือ The Lancet Neurology, The Lancet Oncology, และ The Lancet Infectious Diseases ต่างก็มีชื่อเสียงในสาขาของตน ๆ นอกจากนั้นแล้ว ยังมีเว็บไซต์ออนไลน์สำหรับนักศึกษาชื่อว่า The Lancet Student ที่ทำเป็นบล็อก เริ่มตั้งแต่ปี 2550

การเปลี่ยนเลขเล่ม

[แก้]

ก่อนปี 2533 วารสารออกเลขเล่ม (volume) ที่ใช้ซ้ำทุก ๆ ปี คือวารสารเดือนมกราคมถึงมิถุนายนจัดอยู่ในเล่ม i และที่เหลือในปีจัดอยู่ในเล่ม ii ต่อมาในปี 2533 วารสารเริ่มออกเลขเล่มตามลำดับโดยมีสองเล่มต่อปี และได้จัดเลขเล่มย้อนหลังสำหรับวารสารก่อนปีนั้น โดยเล่มแรกของปี 2533 มีหมายเลข 335 และเล่มที่ 2 ของปี 2532 มีหมายเลขเล่ม 334 รายการสารบัญบนเว็บไซต์ของ ScienceDirect ซึ่งดำเนินการโดยสำนักพิมพ์แอ็ลเซอเฟียร์เช่นกัน ใช้การจัดเลขใหม่เช่นนี้[6]

กรณีข้อโต้แย้ง

[แก้]

วารสารได้ถือจุดยืนทางการเมืองเกี่ยวกับประเด็นปัญหาสำคัญทางการแพทย์และเรื่องอื่น ๆ หลายอย่าง ตัวอย่างเร็ว ๆ นี้รวมทั้งการวิจารณ์องค์การอนามัยโลก (WHO) โดยปฏิเสธคำอ้างของ WHO ว่า การแพทย์ทางเลือกแบบการใช้โรครักษาโรค (homoeopathy) มีประสิทธิผลใช้เป็นวิธีการรักษาได้[7] การแสดงความไม่เห็นด้วยในการรับจัดงานสินค้าบริษัทขายอาวุธโดยบริษัทในเครือข่ายแอ็ลเซอเฟียร์เอง การเรียกร้องในปี 2546 ให้บุหรี่เป็นสินค้าผิดกฎหมาย[8] และการเรียกร้องให้มีการตรวจสอบอิสระในกรณีกองทัพอากาศอเมริกันทิ้งระเบิดใส่โรงพยาบาลในประเทศอัฟกานิสถานในปี 2558[9]

โรคออทิซึมและข้อขัดแย้งเกี่ยวกับวัคซีน (2541)

[แก้]

วารสารถูกตำหนิหลังจากที่พิมพ์บทความในปี 2541 ที่ผู้เขียนเสนอว่า การฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน (วัคซีน MMR) สัมพันธ์กับโรคออทิซึม[10] ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2547 วารสารพิมพ์ข้อความจากผู้เขียนดั้งเดิม 10 คนจาก 13 คน ที่ปฏิเสธโอกาสที่วัคซีน MMR จะเป็นเหตุของโรคออทิซึม[11] หัวหน้าบรรณาธิการนายริชาร์ด ฮอร์ตัน ต่อมากล่าวไว้เป็นบันทึกประวัติว่า หัวหน้าคณะผู้เขียนดั้งเดิมคือ นพ.แอนดรู เวกฟิลด์ มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์อย่างรุนแรงที่ไม่ได้แจ้งวารสาร[12] ต่อจากนั้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2553 วารสารจึงถอนคืนบทความนั้นอย่างสิ้นเชิง หลังจากที่มีการตัดสินว่า นพ.เวกฟิลด์ได้ดำเนินการวิจัยโดยผิดจริยธรรม[13]

ถึงกระนั้น บรรณาธิการของวารสารหกท่านรวมทั้งนายฮอร์ตันเอง ถูกวิจารณ์ในปี 2554 เพราะได้ปิดบังความจริงเกี่ยวกับกรณี "ความกลัววัคซีน MMR ที่เวกฟิลด์ได้กุขึ้น" ด้วย "การปฏิเสธแบบถล่มทลาย"[14]

การควบคุมบุหรี่ (2546)

[แก้]

ในเดือนธันวาคม 2546 วารสารตีพิมพ์บทความบรรณาธิการชื่อว่า "คุณหลับตอนกลางคืนได้อย่างไร มิสเตอร์แบลร์?" ซึ่งร้องเรียกให้ห้ามสูบบุหรี่อย่างสิ้นเชิงในสหราชอาณาจักร แต่ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งลอนดอนปฏิเสธข้ออ้างของวารสาร คือ แม้ประธานของกลุ่มที่ให้คำปรึกษากับบริษัทบุหรี่ของราชวิทยาลัยจะสรรเสริญวารสารที่กล่าวถึงปัญหาสุขภาพ แต่ก็สรุปว่า "การห้ามสูบบุหรี่จะเป็นเหมือนกับฝันร้าย" ส่วนโฆษกของกลุ่มต่อต้านการสูบบุหรี่กลุ่มหนึ่งกล่าวว่า การจัดพฤติกรรมของประชากร 26% ให้เป็นอาชญากรรมเป็นเรื่องไม่สมเหตุผล แล้วกล่าวว่า "เราไม่สามารถย้อนคืนเวลาได้ ถ้าห้ามสูบบุหรี่ เราจะมีคน 13 ล้านคนลงแดงอยากจะได้ยาเสพติดที่หาไม่ได้" ส่วนผู้ช่วยบรรณาธิการของวารสารท่านหนึ่งตอบข้อวิจารณ์เหล่านี้โดยอ้างว่า ไม่มีวิธีอื่นนอกจากการห้ามอย่างเด็ดขาดที่มีโอกาสลดการสูบบุหรี่[15]

ส่วนกลุ่มสิทธิผู้สูบบุหรี่กลุ่มหนึ่งกล่าวว่า บทความบรรณาธิการให้ทั้งความขบขันและความไม่อยากจะเชื่อ ผู้อำนวยการของกลุ่มเรียกวารสารว่า "เผด็จการ" และอ้างว่า เป็นเรื่องหน้าไหว้หลังหลอกที่จะห้ามการสูบบุหรี่แต่อนุญาตให้รับประทานจั๊งฟู้ด ดื่มสุรา และเล่นกีฬาอันตราย ส่วนรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขกล่าวย้ำนโยบายของรัฐที่จะช่วยคนให้เลิกบุหรี่ แล้วกล่าวเพิ่มว่า "แม้ว่านี่จะเป็นปัญหาที่สำคัญ แต่มันเป็นเรื่องสุดโต่งเกินไปสักหน่อยสำหรับเราคนอังกฤษ ที่จะจับคนขังเพราะว่ามีบุหรี่นิดหน่อยซ่อนไว้ที่ตรงไหน"[16]

ข้อโต้แย้งเรื่องจำนวนคนตายในสงครามอิรัก (2547)

[แก้]

วารสารได้พิมพ์ประเมินค่าคนตายในสงครามอิรักที่ทำให้เกิดการโต้แย้ง คือประมาณ 100,000 คนในปี 2547 ต่อมาในปี 2549 งานศึกษาติดตามของกลุ่มเดียวกันเสนอว่า อัตราการตายเพราะความรุนแรงในอิรักไม่เพียงแต่เข้ากับค่าประเมินก่อน แต่ได้เพิ่มขึ้นอย่างสำคัญหลังจากนั้น โดยประเมินว่ามีคนอิรักตายกว่า 654,965 คนโดยเป็นผลของสงคราม และมีช่วงความเชื่อมั่น (confidence interval) ระดับ 95% ที่ 392,979-942,636 คน โดยสำรวจครอบครัว 1,849 ครัวเรือนประกอบด้วยสมาชิก 12,801 คน[17]

แต่ว่าค่าประเมินที่ให้ในบทความที่สองสูงกว่าที่พิมพ์ในงานสำรวจในช่วงเวลาเดียวกันเป็นอย่างมาก ที่เด่นที่สุดก็คือ งานสำรวจที่พิมพ์ในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ (NEJM) ที่สำรวจครอบครัว 9,345 ครอบครัวแล้วประเมินความตายแบบรุนแรงที่ 151,000 คน (โดยมีช่วงความเชื่อมั่นระดับ 95% ที่ 104,000-223,000 ในช่วงเวลาเดียวกัน) บทความของ NEJM กล่าวว่า งานสำรวจของ เดอะแลนซิต "ประเมินจำนวนคนตายแบบรุนแรงสูงเกินไปมาก" และผลที่ได้ "เป็นไปได้น้อย เมื่อพิจารณาความสอดคล้องกันของข้อมูลทั้งภายในภายนอก ขนาดตัวอย่างที่สูงกว่ามาก และการควบคุมคุณภาพ (ของงานที่พิมพ์ใน NEJM)"

การถอนคืนบทความกุขึ้น (2549)

[แก้]

ในเดือนมกราคม 2549 มีการเปิดเผยว่า บทความหนึ่งที่พิมพ์ในวารสารในเดือนตุลาคม 2548[18] มีข้อมูลกุขึ้น โดย นพ.ชาวนอร์เวย์ท่านหนึ่งกับผู้ร่วมเขียนอีก 13 ท่าน[19][20] ต่อมาบทความหลายบทความในวารสารวิทยาศาสตร์อื่น ๆ จึงถูกถอนคืนหลังจากการถอนคืนบทความต้นประเด็นของเดอะแลนซิต ภายในอาทิตย์หลังจากเกิดเหตุ วารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ (NEJM) ก็ได้ตีพิมพ์ความเป็นห่วงของบรรณาธิการเกี่ยวกับผลงานวิจัยที่เขียนโดย นพ.คนเดียวกัน และต่อมาในเดือนพฤศจิกายนน 2549 NEJM ก็ถอนคืนงานศึกษามะเร็งในช่องปากที่ นพ.ชาวนอร์เวย์เป็นหัวหน้า[21]

ข้อโต้เถียงกับกรุงวาติกันเรื่องถุงยางอนามัยกับการป้องกันเอดส์ (2552)

[แก้]

ในบทความบรรณาธิการปี 2552 วารสารกล่าวหาสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ที่ทรงบิดเบือนต่อสาธารณชนเรื่องหลักฐานวิทยาศาสตร์ของถุงยางอนามัยเพื่อโปรโหมตหลักคำสอนชาวคริสตังเรื่องการประพฤติพรหมจรรย์เพื่อป้องกันโรคเอดส์[22] กรุงวาติกันกล่าวแก้โดยชี้บทความที่พิมพ์ในวารสารปี 2543 ที่กล่าวว่า การใช้ถุงยางอนามัยไม่เพียงพอที่จะแก้วิกฤติการณ์โรคเอดส์[23]

อินเดียกับซูเปอร์โรค (2553)

[แก้]

ในเดือนสิงหาคม 2553 วารสาร The Lancet Infectious Diseases พิมพ์บทความเกี่ยวกับเอนไซม์ที่ให้การดื้อยาแบบหลายชนิด (multi-drug-resistance) แก่แบคทีเรีย[24] ซึ่งก่อนหน้านี้เรียกว่า New Delhi metallo-beta-lactamase (NDM-1) โดยตั้งชื่อตามแหล่งกำเนิดตามที่คิดของกลไกการดื้อยา[25][26] บทความรายงานตัวอย่างแบคทีเรียที่ตรวจพบ NDM-1 44 ตัวอย่างจากเมืองเจนไน, 26 ตัวอย่างจากเมือง Haryana, 37 ตัวอย่าง (จากคนไข้ 29 คน) จากสหราชอาณาจักร และ 73 ตัวอย่างจากที่อื่น ๆ ในประเทศอินเดีย ปากีสถาน และบังกลาเทศ และในบรรดาคนไข้ในสหราชอาณาจัก 29 คน 17 คนได้เดินทางไปประเทศอินเดียและปากีสถานภายใน 1 ปี โดย 14 คนได้เข้าโรงพยาบาลในประเทศเหล่านี้ ผู้เขียนบทความโทษทัวร์การแพทย์ในอินเดียว่าเป็นเหตุของการแพร่กระจายแบคทีเรียที่มี NDM-1 แต่รัฐบาลอินเดียต่อมากล่าวปฏิเสธ[27][28]

ผลกระทบสุราต่อสุขภาพ (2553)

[แก้]

บทความเดือนธันวาคม 2553 กำหนดว่า แอลกอฮอล์มีผลร้ายแรงทางการแพทย์และทางสังคมมากที่สุด เทียบกับยาเสพติดอื่น ๆ เช่นเฮโรอีน และโคเคนแบบสูบ โดยแม้แต่กัญชา ยาอี และแอลเอสดี ก็ล้วนแต่สร้างความเสียหายน้อยกว่า แม้ว่าผู้เขียนจะไม่ได้เสนอให้ห้ามเหล้า แต่ก็เสนอว่า รัฐบาลควรจะขึ้นราคาจนกระทั่งมันไม่แพร่หลาย[29] โฆษกของสมาคมการค้าไวน์และแอลกอฮอล์ตอบโต้รายงานว่า การใช้แอลกอฮอล์อย่างผิด ๆ มีผลกระทบต่อคนส่วนน้อยที่ต้องการการศึกษา การรักษาบำบัด และการบังคับตามกฎหมาย แต่ว่ามีชาวอังกฤษเป็นล้าน ๆ ที่เพลิดเพลินกับแอลกฮอล์โดยเป็นเครื่องดื่มสังคมประจำที่ชอบใจ[30]

งานศึกษา PACE (2554)

[แก้]

กลุ่มงานศึกษา PACE trial management group รายงานความสำเร็จในการใช้การออกกำลังกายและการบำบัดโดยการพูด (talk therapy) สำหรับกลุ่มอาการล้า (chronic fatigue syndrome) ในวารสารปี 2554[31] แต่ว่า งานศึกษานี้มีข้อโต้แย้งมาก ยกตัวอย่างเช่น นักสถิติศาสตร์ชีวภาพที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียกล่าวถึงงานศึกษาว่า "เป็นยอดของการทดลองทางคลินิกมือสมัครเล่น" และศาสตราจารย์ทางชีวเคมีและพันธุศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดกล่าวว่า "ผมตกใจที่เดอะแลนซิต พิมพ์บทความนี้ งานศึกษา PACE มีปัญหามากมายและมีคำถามเยอะแยะที่ควรจะถามจนกระทั่งว่า ผมไม่เข้าใจว่ามันผ่านกระบวนการทบทวนระดับเดียวกันไปได้อย่างไร"[32]

การโต้เถียงไม่ได้มีเหตุจากเพียงแค่สิ่งตีพิมพ์เท่านั้น แต่เป็นเพราะการปฏิเสธโดยทั้งผู้เขียนและวารสารที่จะแชร์ข้อมูลของงานศึกษา สำนักข่าว Slate รายงานว่า

เริ่มตั้งแต่ปี 2554 คนไข้ที่ต้องการวิเคราะห์งานศึกษาได้ยื่นคำร้องทางกฎหมายอิสรภาพข้อมูลเพื่อจะรู้ว่า ผลการทดสอบควรจะเป็นอย่างไรถ้าใช้กฎเกณฑ์วิธีดั้งเดิมที่ตั้งไว้แต่ต้น แต่ว่าก็ถูกปฏิเสธเหมือนกับการร้องขออื่น ๆ เกี่ยวกับงานทดลอง โดยคำขอบางฉบับถูกปฏิเสธในฐานว่า เป็นการก่อกวน... (นอกจากนั้นแล้ว) ริชารด์ ฮอร์ตันผู้เป็นบรรณาธิการของเดอะแลนซิต ยังแก้ตัวแทนกลุ่มทดลองอย่างดุเดือด ในการสัมภาษณ์ทางวิทยุ เขาเรียกผู้วิจารณ์ว่า "กลุ่มบุคคลค่อนข้างเล็ก แต่จัดระเบียบประสานงานกันดี พูดจาเปิดเผย และก่อความเสียหายได้มาก เป็นกลุ่มบุคคลที่ผมควรกล่าวว่า เข้าครอบครองประเด็นของเรื่องและบิดเบือนคำอภิปรายจนกระทั่งเป็นอันตรายต่อคนไข้ส่วนใหญ่อื่น"[33]

จดหมายเปิดถึงชนชาวกาซา (2557)

[แก้]

ในเดือนสิงหาคม 2557 วารสารพิมพ์จดหมายของกลุ่มนายแพทย์ "ที่ประณามประเทศอิสราเอลโดยคำที่แรงที่สุดที่จะเป็นไปได้ แต่กลับไม่กล่าวอะไรเกี่ยวกับความเหี้ยมโหดของกลุ่มฮะมาส"[34] ตามสำนักข่าวที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศอิสราเอล ผู้เขียนจดหมายรวมนายแพทย์ผู้ "เห็นใจต่อมุมมองของเดวิด ดู๊ก ผู้เป็นนักนิยมคนขาวเป็นใหญ่ และประธานระดับรัฐขององค์กร KKK"[35] นพ.คนหนึ่งจากกลุ่มตอบว่า "ผมได้ใช้สิทธิอิสรภาพทางความเห็นของผม และผมไม่เห็นด้วยหรือให้คุณค่ากับการเมืองของรัฐบาลอิสราเอล หรือของชาวยิวทั้งในและนอกประเทศอิสราเอล" ส่วน นพ.คนที่สองตอบว่า "ผมไม่รู้จักว่าใครคือเดวิด ดู๊ก หรือว่าเขามีความสัมพันธ์กับ KKK แต่ผมเป็นห่วงว่ามีความจริงในวิดีโอหรือไม่ คือความจริงว่าคนยิวควบคุมสื่อ การเมือง และการธนาคาร อะไรกำลังเกิดขึ้น ผมรู้สึกกังวลใจ"[34]

หัวหน้าบรรณาธิการนายริชาร์ด ฮอร์ตันกล่าวว่า "ผมไม่มีแผนที่จะถอนคืนจดหมาย และจะไม่ถอนคืนแม้ว่า (ประเด็นที่ตำหนิ)จะเป็นเรื่องจริง"[35] แต่ว่า นายฮอร์ตันต่อมาเดินทางมาเยี่ยมเยือนที่โรงพยาบาลหนึ่งในประเทศอิสราเอลแล้วกล่าวว่า เขารู้สึก "เสียใจเสียใจอย่างลึกซึ้ง"[36][37][38] ที่ได้พิมพ์จดหมายนั้น

ศาสตราจารย์แพทย์คนหนึ่งที่มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอนกล่าวว่า “ความล้มเหลวของผู้เขียนบทความในการเปิดเผยความขัดแย้งทางผลประโยชน์ เป็นข้อผิดพลาดที่ร้ายแรงที่สุด ที่ไม่สมกับอาชีพ ที่ผิดจริยธรรม และความพยายามกลบเกลื่อนคำด่าอย่างรุนแรงทางการเมืองที่ร้ายกาจและเป็นเท็จโดยระดับหนึ่งนี้ว่าเป็นคำอุทธรณ์เพื่อมนุษยภาพ ไม่ควรจะมีส่วนในวรรณกรรมที่สำคัญ ไม่ต้องไปพูดถึงวารสารการแพทย์มืออาชีพ และเป็นเรื่องที่สามารถทำแม้แต่สิ่งตีพิมพ์ที่แย่ที่สุดให้เสื่อมเสีย” นอกจากนั้น ยังกล่าวหานายฮอร์ตันเป็นส่วนตัวอีกด้วยว่า “พฤติกรรมของฮอร์ตันในกรณีนี้ สอดคล้องกับการใช้ เดอะแลนซิต เป็นพาหะแสดงความคิดทางการเมืองสุดโต่งของเขาเอง ที่ทำมาเนิ่นนานและอย่างไม่สมควรโดยประการทั้งปวง มันเป็นการลดระดับของวารสารที่อยู่ในที่สูงมาก่อน” ส่วนนายฮอร์ตันตอบว่า "คุณจะแยกการเมืองออกจากสุขภาพได้อย่างไร ทั้งสองต้องไปด้วยกัน"[39]

วารสารการแพทย์ภาษาอังกฤษอื่น

[แก้]

เชิงอรรถและอ้างอิง

[แก้]
  1. "Prestigious Medical Journal, The Lancet, Issues Family Planning Series". Population Media Center. 13 กรกฎาคม 2012. สืบค้นเมื่อ 4 มีนาคม 2014.
  2. "Pope 'distorting condom science'". BBC News. 27 มีนาคม 2009. One of the world's most prestigious medical journals, the Lancet, has accused Pope Benedict XVI of distorting science in his remarks on condom use.
  3. "Journals Ranked by Impact: Medicine, General & Internal". 2014 Journal Citation Reports. Web of Science (Science ed.). Thomson Reuters. 2015.
  4. "About the Lancet Medical Journal".
  5. "The Lancet, About". 7 พฤศจิกายน 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 ธันวาคม 1997. สืบค้นเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2016.
  6. "The Lancet". Science Direct.
  7. "Homoeopathy's benefit questioned". BBC News. 26 สิงหาคม 2005.
  8. Ferriman, A (2003). "Lancet calls for tobacco to be made illegal". BMJ. 327 (7428): 1364. doi:10.1136/bmj.327.7428.1364-b.
  9. "What are the Geneva Conventions for?". The Lancet. 386 (10003): 1510.
  10. Lyall, J (2004). "Editor in the eye of a storm". British Medical Journal. 328 (7438): 528. doi:10.1136/bmj.328.7438.528. PMC 351866. PMID 15164721.
  11. Murch SH, Anthony A, Casson DH, Malik M, Berelowitz M, Dhillon AP, Thomson MA, Valentine A, Davies SE, Walker-Smith JA (มีนาคม 2004). "Retraction of an interpretation". Lancet. 363 (9411): 750. doi:10.1016/S0140-6736(04)15715-2. PMID 15016483.
  12. "MMR researchers issue retraction". BBC News. 2004-03-04.
  13. "Medical journal retracts study linking autism to vaccine". ซีเอ็นเอ็น. 2 กุมภาพันธ์ 2010.
  14. Deer, Brian (19 มกราคม 2011). "The Lancet's two days to bury bad news". Brian Deer. สืบค้นเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2014. "Were it not for the GMC case, which cost a rumored £6m (€7m; $9m), the fraud by which Wakefield concocted fear of MMR would forever have been denied and covered up."
  15. Laurance, Jeremy (5 ธันวาคม 2003). "Lancet calls for tobacco ban to save thousands of lives". The Independent. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 มิถุนายน 2011. สืบค้นเมื่อ 18 มกราคม 2010.
  16. "UK ministers urged to ban tobacco". BBC News. 5 ธันวาคม 2003. สืบค้นเมื่อ 18 มกราคม 2010.
  17. Coghlan, B (30 ตุลาคม 2006). "Gut reaction aside, those on the ground know Iraq reality". Eureka Street. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2016. สืบค้นเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2016.
  18. Sudbø J, Lee JJ, Lippman SM, และคณะ (2005). "Non-steroidal anti-inflammatory drugs and the risk of oral cancer: a nested case-control study". The Lancet. 366 (9494): 1359–66. doi:10.1016/S0140-6736(05)67488-0. PMID 16226613. (Retracted)
  19. "Cancer study patients 'made up'". บรรษัทแพร่ภาพกระจายเสียงอังกฤษ. 16 มกราคม 2006.
  20. Hafstad, A (17 มกราคม 2006). "Største svindel verden har sett". Aftenposten.
  21. Cortez, MF (1 พฤศจิกายน 2006). "Medical Journal Retracts Oral Cancer Studies Linked to Fraud". Bloomberg.com.
  22. "Redemption for the Pope?". The Lancet. 373 (9669): 1054. 2009. doi:10.1016/S0140-6736(09)60627-9. PMID 19328984.
  23. "Radio Vatican article". Radio Vaticana. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 ธันวาคม 2012. สืบค้นเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2016.
  24. Kumarasamy, KK; Toleman, MA; Walsh, TR; และคณะ (2010). "Emergence of a new antibiotic resistance mechanism in India, Pakistan, and the UK: a molecular, biological, and epidemiological study". The Lancet Infectious Diseases. 10 (9): 597–602. doi:10.1016/S1473-3099(10)70143-2. PMC 2933358. PMID 20705517.
  25. Yong D, Giske CG, Toleman M, Walsh TR (2009), A novel subgroup metallo-B-lactamase (MBL), NDM-1 emerges in Klebsiella pneumoniae (KPN) from India, 48th Annual ICAAC/IDSA 46th Annual Meeting, Washington DC, October 25-28, 2008., C1-105:87
  26. Yong, D; Toleman, MA; Giske, CG; และคณะ (2009). "Characterization of a New Metallo-β-Lactamase Gene, blaNDM-1, and a Novel Erythromycin Esterase Gene Carried on a Unique Genetic Structure in Klebsiella pneumoniae Sequence Type 14 from India". Antimicrobial Agents and Chemotherapy. 53 (12): 5046–5054. doi:10.1128/AAC.00774-09. PMC 2786356. PMID 19770275.
  27. "MNCs behind superbug propaganda: Ahluwalia". Hindustan Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 สิงหาคม 2010. สืบค้นเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2016.
  28. "Researchers dismiss superbug controversy". SIFY News. 14 สิงหาคม 2010. สืบค้นเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2014.
  29. Cheng, Maria (1 พฤศจิกายน 2010). "Study: Alcohol more lethal than heroin, cocaine". The Boston Globe.
  30. "Alcohol 'more harmful than heroin' says Prof David Nutt". BBC News. 1 พฤศจิกายน 2010.
  31. White PD, Goldsmith KA, Johnson AL, Potts L, Walwyn R, DeCesare JC, Baber HL, Burgess M, Clark LV, Cox DL, Bavinton J, Angus BJ, Murphy G, Murphy M, O'Dowd H, Wilks D, McCrone P, Chalder T, Sharpe M, PACE trial management group (2011). "Comparison of adaptive pacing therapy, cognitive behaviour therapy, graded exercise therapy, and specialist medical care for chronic fatigue syndrome (PACE): a randomised trial". The Lancet. 377 (9768): 823–836. doi:10.1016/S0140-6736(11)60096-2.
  32. Tuller, David (21 ตุลาคม 2015). "Trial by Error: The Troubling Case of the PACE Chronic Fatigue Syndrome Study".
  33. Rehmeyer, Julie (13 พฤศจิกายน 2015). "Hope for Chronic Fatigue Syndrome: The debate over this mysterious disease is suddenly shifting". Slate.
  34. 34.0 34.1 "Lancet 'hijacked in anti-Israel campaign'". The Telegraph. 22 กันยายน 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 กันยายน 2014. สืบค้นเมื่อ 2 ตุลาคม 2014.
  35. 35.0 35.1 "British medical journal refuses to retract 'letter to Gaza' by anti-Semitic activists". Haaretz. 22 กันยายน 2014. สืบค้นเมื่อ 2 ตุลาคม 2014.
  36. Lazareva, Inna (3 ตุลาคม 2014). "Lancet editor apologises for Gaza article by scientists who promoted Ku Klux Klan". The Daily Telegraph. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 ตุลาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 5 ตุลาคม 2014.
  37. "In Israel, Lancet editor regrets publishing open letter on Gaza". Haaretz. 3 ตุลาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 5 ตุลาคม 2014.
  38. Siegel-Itzkovich, Judy (2 ตุลาคม 2014). "The Lancet editor relents on medical journal's unbalanced attacks on Israel". Jerusalem Post. สืบค้นเมื่อ 5 ตุลาคม 2014.
  39. Wallis Simons, Jake (22 กันยายน 2014). "Lancet 'hijacked in anti-Israel campaign'". The Daily Telegraph. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 กันยายน 2014. สืบค้นเมื่อ 2 ตุลาคม 2014.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]