ปีศาจแห่งโรงอุปรากร
ผู้ประพันธ์ | กัสตง เลอรู |
---|---|
ชื่อเรื่องต้นฉบับ | Le Fantôme de l'Opéra |
ประเทศ | ฝรั่งเศส |
ภาษา | ภาษาฝรั่งเศส |
ประเภท | บันเทิงคดีกอทิก |
สำนักพิมพ์ | Pierre Lafitte and Cie. |
วันที่พิมพ์ | September 23, 1909 to January 8, 1910 |
พิมพ์ในภาษาอังกฤษ | 1911 |
ชนิดสื่อ | Print (Serial) |
OCLC | 15698188 |
ปีศาจแห่งโรงอุปรากร (อังกฤษ: The Phantom of the Opera; ฝรั่งเศส: Le Fantôme de l'Opéra) เป็นวรรณกรรมฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงระดับโลก ซึ่งประพันธ์โดยนักเขียนชาวฝรั่งเศสนามว่า กัสตง เลอรู เป็นนวนิยายแนวโกธิกแบบลึกลับสยองขวัญซึ่งอิงจากเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในโรงอุปรากรการ์นิเย่ของฝรั่งเศส และมีเนื้อหาที่กล่าวถึงความรักสามเส้าระหว่างชายอัปลักษณ์ชื่ออีริค (แฟนธ่อม) คริสติน ดาเอ้ ผู้เป็นนักร้องอุปรากรสาวซึ่งเป็นลูกศิษย์ของเขา และราอูล ซึ่งเรื่องนี้จบลงด้วยโศกนาฏกรรมที่เศร้าสลด
จากเนื้อหาที่คลาสสิกของ ปีศาจแห่งโรงอุปรากร นี้เอง ที่ทำให้มีการนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์, ละครเวที และละครเพลงอยู่บ่อยครั้งตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา และยังมีบทประพันธ์ลูกอีกหลายเรื่อง อาทิเช่น The Phantom (โดย Susan Kay), แฟนทอมออฟเดอะแมนแฮตตัน เป็นต้น
นิยายเรื่อง ปีศาจแห่งโรงอุปรากร นับเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ด้วย เนื่องจากกัสตง เลอรูได้เขียนขึ้นโดยได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงโดยนับจากช่วงเวลาที่เขาเขียนนิยายย้อนกลับไปประมาณสามสิบปี ซึ่งเหตุการณ์ที่สร้างความสนใจแก่เลอรู คือ "การตกลงมาอย่างไม่ทราบสาเหตุของโคมระย้า" ระหว่างอุปรากรเรื่อง "เฟาสต์" ซึ่งทำให้มีผู้บาดเจ็บหลายคนและเสียชีวิตหนึ่งคน, การจมน้ำเสียชีวิตของคนกลุ่มเล็กๆ ในคลองใต้โรงละครอย่างลึกลับ, การเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนาของเคาต์ฟิลลิปป์ซึ่งเป็นผู้อุปถัมภ์โรงละคร และมีการพบศพของเขาที่ปากท่อระบายน้ำ, เรื่องเล่าเกี่ยวกับ "ผี" ในโรงละคร และการที่โรงละครจะต้องสูญเงินอย่างเป็นปริศนามากถึง 20,000 ฟรังส์ต่อเดือนในช่วงนั้น
แม้ในนิยาย "ผีแห่งโรงละคร" จะเป็นเรื่องที่พูดกันมากในช่วงเวลานั้นจริง ๆ แต่แท้จริงแล้ว เรื่องของผีไม่ใช่เรื่องแพร่หลาย หากเป็นเรื่องที่รู้กันลับ ๆ เฉพาะในหมู่คนที่ทำงานในโรงอุปรากรเท่านั้น หรืออีกนัยหนึ่งคือ เรื่องของผีตนนี้โด่งดังขึ้นจากนวนิยายของเลอรูนั้นเอง
กัสตง เลอรูได้แสดงออกอย่างชัดเจนว่าเขาเชื่อเรื่องที่เขาเขียน และยังอ้างว่าระหว่างการซ่อมแซมโรงอุปรากรการ์นิเย่ เขาได้พบศพของมนุษย์ ซึ่งเขาแน่ใจว่านั่นคือ อีริค-ผีแห่งโรงละคร โดยอ้างว่าโครงกระดูกนั่นมี "แหวนทองคำเกลี้ยง" สวมที่นิ้ว ซึ่งตรงกับคำบอกเล่าของคนเปอร์เซียที่ว่า "เขาได้รับแหวนทองคำจากคริสติน ดาเอ้ในวันที่เธอทิ้งเขาไป" แต่เลอรู ไม่ได้บอกว่าร่างที่เชื่อว่าเป็นอีริคนั้นถูกย้ายไปไว้ที่ไหน
ตัวละครสำคัญ
[แก้]- อีริค (Erik-ไม่ปรากฏว่ามีนามสกุล) - บุรุษที่มีน้ำเสียงไพเราะราวกับเทพจากสวรรค์ซึ่งสวนทางกับใบหน้าที่เสียโฉมอย่างรุนแรงจนถึงขั้นอัปลักษณ์ แฝงตัวเองใว้ภายใต้ชื่อ "ปีศาจแห่งโรงอุปรากร (The Phantom of the Opera)" เนื่องจากต้องการหลบหนีความโหดร้ายของสังคมมนุษย์ ซึ่งความโหดร้ายของสังคมมนุษย์นี่เองที่ทำให้เขากลายเป็นคนเสียสติและถูกคนในโรงละครเข้าใจผิดว่าเป็นผี เขาเป็นอัจฉริยะทางดนตรีที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของโรงละคร เขาเป็นผู้ปลุกปั้นคริสตินให้เป็นเพชรเม็ดงามของโรงละครและรักเธอในที่สุด ในนวนิยายบรรยายถึงเขาว่ามีดวงตาสีทอง มีรูปลักษณ์ที่ผอมและบอบบางอย่างมากจนราวกับโครงกระดูกที่มีชีวิตซึ่งลักษณะอันนี้ทำให้เขาเคยถูกจับโชว์ในชื่อ "ซากมีชีวิต" และถูกปฏิบัติราวกับไม่ใช่มนุษย์ ในหนังสือนอกจากเขาจะมีความเป็นอัจฉริยะหลายด้านแล้ว เขายังใช้คำลักษณนามถึงตนเองเป็นบุคคลที่สามราวกับกำลังเล่าเรื่องอยู่อีกด้วย
- คริสติน ดาเอ้ (Christine Daaé) - หญิงสาวนักร้องอุปรากรชาวสวีเดน ลูกศิษย์ของอีริค มีดวงตาสีฟ้าและผมสั้นสีบรอนซ์ เธอเชื่อว่าเขาเป็นทูตสวรรค์เพราะน้ำเสียงอันไพเราะผิดมนุษย์กับความลึกลับของเขา และความหลงใหลในน้ำเสียงอันไพเราะของเขาและความอยากรู้อยากเห็นก็ทำให้เธอกระชากหน้ากากของเขา ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นนับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของโศกนาฏกรรมก็ว่าได้
- ราอูล, ไวเคานต์ เดอ ชานี (Raoul, Viscount de Chagny) - บุรุษรูปงามผู้เป็นเพื่อนรักกับคริสตินมาตั้งแต่เด็ก เป็นชายหนุ่มที่ทรงเสน่ห์ และเขาพบรักคริสทีน ดาเอ้ เมื่อ4ปีที่แล้ว เขาเป็นน้องชายของเคาต์ฟิลลิปป์ เดอ ชานี ผู้อุปถัมภ์โรงละคร
- คนเปอร์เซีย ตัวละครสำคัญของเรื่อง เป็นผู้ที่เปิดเผยเรื่องราวของอีริค และอาจจะเรียกได้ว่าเป็นคนเดียวที่อีริคสามารถเรียกได้เต็มปากเต็มคำว่าเป็นเพื่อน เขาเป็นเจ้าของวลีที่ว่า "ยกมือขึ้นระดับสายตา" เพราะหากยกมือขึ้นระดับสายตา ห่วงปันจาบจะลงมาคล้องคอไม่ได้ กัสตง เลอรูบรรยายถึงเขาว่า "มีผิวสีน้ำตาลเข้มและดวงตาสีเขียวเหมือนหยก" ไม่ปรากฏชื่อในเรื่อง แต่อีริคเรียกเขาว่า "ดาโรก้า" ซึ่งเป็นตำแหน่งหัวหน้าตำรวจของอิหร่าน ทำให้สามารถคาดเดาได้ว่าเขาเป็นข้าราชการ เขาเป็นผู้ที่ช่วยอีริคจากความโหดร้าย
- มาดามจีรี เป็นคนเดินสารระหว่างอีริคกับโรงอุปรากร เพราะเธอเคยได้รับความช่วยเหลือจากเขามาก่อน และเป็นหนึ่งในบุคคลไม่กี่คนที่นอกจากจะไม่กลัวเขาแล้วยังรู้สึกสงสารเขา เธอเป็นผู้เก็บรักษากล่องดนตรีของอีริคหลังความตายของเขา
- เม็ก จีรี ลูกสาวของมาดามจีรี เป็นดาวนักบัลเลต์อันดับหนึ่ง เธอมีผมสีดำ ผิวคล้ำ และตาสีดำ เหมือนชาวชวา หรือ ศรีลังกา ซึ่งแตกต่างจากคนฝรั่งเศสทั่วไป(คาดว่าเธอจะเหมือนพ่อ) ซึ่งเป็นปมด้อยที่ทำให้เธอมักพูดถึงตัวเองว่า "ผู้หญิงชั้นต่ำ น่าสมเพช" อีริคเคยทำนายไว้ด้วยไพ่ทาโรต์ว่า "เธอจะได้เป็นจักพรรดินีของแม่" และภายหลังเธอได้กลายเป็นภรรยาขุนนาง ตามที่อีริคเคยทำนาย
- เคานต์ฟิลลิปป์ เดอ ชานี (Count Philippe de Chagny) พี่ชายของราอูล มีอายุมากกว่าราอูลถึง 20 ปี และเป็นคนที่ผู้ประพันธ์นิยายอ้างว่าความตายของเขาเป็นเหตุให้ผู้ประพันธ์ค้นหาความจริง และได้พบกับคนเปอร์เซียและมาดามจีรี ซึ่งทั้งคู่ได้เปิดเผยเรื่องราวของอีริค
เรื่องย่อ
[แก้]บทความนี้อาจต้องการตรวจสอบต้นฉบับ ในด้านไวยากรณ์ รูปแบบการเขียน การเรียบเรียง คุณภาพ หรือการสะกด คุณสามารถช่วยพัฒนาบทความได้ |
คริสตินได้สูญเสียพ่อและแม่จนต้องมาอยู่ที่โรงอุปรากรการ์นิเย่ มีโอกาสได้รับการสอนร้องเพลงจากครูที่ลึกลับที่เห็นพรสวรรค์ของเธอ ซึ่งเธอเรียกเขาว่า "เทวดาแห่งบทเพลง" เพราะความลึกลับและน้ำเสียงที่ไพเราะยิ่งกว่าเสียงของมนุษย์คนใดในโลกที่เธอเคยได้ยินได้ฟัง จากการเคี่ยวเข็ญอย่างจริงจัง ในที่สุดเธอก็เก่งพอที่จะขึ้นร้องเพลงแทนคาลอตต้าที่ป่วยได้ ซึ่งเหตุการณ์นั้นประจวบกันที่เคาต์ฟิลลิปป์ได้เข้ามาเป็นผู้อุปถัมป์โรงละคร ทำให้ราอูลซึ่งเป็นน้องชายของท่านเคาต์ และเป็นเพื่อนวัยเด็กของเธอเกิดจำเธอได้และเข้ามาเชื่อมความสัมพันธ์กับเธอ เหตุการณ์นี้ทำให้อีริคอิจฉาและกลัวว่าจะถูกทิ้งจึงมาแนะนำตัวกับเธอในคืนๆ หนึ่ง และพาเธอไปยังถ้ำใต้ดินของโรงอุปรากรซึ่งเขาใช้เป็นที่ซ่อนตัว คืนนั้นอีริคได้สารภาพรักกับคริสติน ระหว่างที่ร้องเพลงประสานเสียงกันนั้นเอง คริสตินอดทนต่อความอยากรู้อยากเห็นไม่ได้และถอดหน้ากากเขาออก ทำให้เธอได้รู้ว่าแท้จริงแล้วเทวดาของเธอไม่ใช่เทพจากสวรรค์อย่างที่วาดฝันไว้ แต่เป็นชายอัปลักษณ์ที่น่าสังเวชซึ่งถูกสังคมทารุณจนกลายเป็นคนเสียสติ คริสตินหวาดกลัวและขอร้องให้เขาปล่อยเธอไป ซึ่งเขาก็ยอมตาม โดยมีข้อแม้ว่าเธอต้องไม่แพร่งพรายเรื่องของเขา และติดต่อกับเขาตามปกติ
ราอูลแอบได้ยินคริสตินกับอีริคคุยกันในห้องแต่งตัว ด้วยความหึงหวงราอูลจึงพยายามสืบหาว่าคริสตินแอบพบกับใครเป็นการลับๆ กันแน่ จนกระทั่งในงานราตรีหน้ากาก เมื่อคริสตินพาราอูลออกจากงานเลี้ยงเพราะอีริคได้ปรากฏตัวในคราบ "มัจจุราชแดง" (the red Death) เขาจึงคาดคั้นเอากับเธอ และรู้ความจริงว่าภายใต้ชุดมัจจุราชแดงนั้นคือคนบ้า-อัปลักษณ์ (ไม่ใช่หนุ่มน้อยรูปงามอย่างที่กลัว) ที่มีความเป็นอัจฉริยะในตัว ทำให้เขาสบายใจและบอกเธอว่าจะปกป้องเธอ ทำให้ทั้งคู่ตัดสินใจจะรักกัน และทำให้อีริคที่แอบฟังอยู่เสียใจมาก การพยายามค้นหาความจริงทำให้ราอูลได้รู้เรื่องราวของอิริคจากชายลึกลับชาวเปอร์เซีย ส่วนอีริคนั้น เมื่อทนต่อความเสียใจและอุปสรรคที่บีบเข้ามาทุกทางไม่ได้ อีริคก็ลักพาคริสตินไปขังไว้ที่ถ้ำใต้ดินของโรงอุปรากรและขอร้องไปจนถึงบังคับให้เธอเลือกเขา เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้มีคนตายจากการกระทำของอีริคมากมาย รวมทั้งเคานต์ฟิลลิปป์ ทำให้ราอูลตัดสินใจตามหาเขาเพื่อช่วยคริสตินและล้างแค้น
อีริคได้ไปพบชายชาวเปอร์เซียที่บ้าน และบอกเล่าเรื่องราวเกิดขึ้น ทำให้ชายชาวเปอร์เซียเข้าใจในความรักที่อีริคมีต่อคริสติน ในการพบกันครั้งสุดท้ายคริสตินได้ยอมเสียสละเพื่อช่วยชีวิตราอูล โดยก้มลงจูบอีริคอย่างไม่รังเกียจ ทำให้อีริคที่พิการทั้งร่างกายและจิตใจได้รับความสุขอย่างแท้จริงเป็นครั้งแรกในชีวิต อีริคตัดสินใจปลดปล่อยคริสติน และราอูลเป็นอิสระ จากนั้นก็ล้มป่วยด้วยความตรอมใจ และเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวในอีก 3 สัปดาห์ถัดมา
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- ปีศาจแห่งโรงอุปรากร ที่ The Phantom of the Opera, an external wiki
- The Phantom of the Opera (1925) มีให้โหลดฟรีที่ อินเทอร์เน็ตอาร์ไคฟ์ [อื่นๆ]
- (ฝรั่งเศส) The Phantom of the Opera, audio version
-
แฟนธอม รับบทโดย ลอน เชนีย์ ในภาพยนตร์ปี 1929
-
แฟนธอม รับบทโดย ในละครเวที ปี 2009 ที่วอร์ซอ