เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี
เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี | |
---|---|
ตราสัญลักษณ์ | |
ทางเข้าบริเวณอาคารหลัก | |
18°44′32″N 98°55′2″E / 18.74222°N 98.91722°E | |
วันที่เปิด | 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 |
ที่ตั้ง | จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย |
พื้นที่ | 819 ไร่ |
จำนวนสัตว์ | 300+ |
จำนวนสปีชีส์ | 50+ |
ส่วนจัดแสดงหลัก |
|
เว็บไซต์ | www |
เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี (อังกฤษ: Chiang Mai Night Safari) เป็นสวนสัตว์เปิดที่ตั้งอยู่ในตำบลแม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม่ และ ตำบลหนองควาย อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ บริเวณด้านหลังทางทิศตะวันตกของอุทยานหลวงราชพฤกษ์ เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล เปิดให้เข้าชมเป็นครั้งแรกเมื่อ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 และเปิดบริการอย่างเป็นทางการเมื่อ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 ในระยะเริ่มแรกอยู่ในภายใต้การดูแลขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน[1] ถือเป็นสวนสัตว์กลางคืนแห่งแรกในประเทศไทย และถือเป็นสวนสัตว์กลางคืนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยขนาดพื้นที่ 819 ไร่[1] ในปัจจุบันเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการที่สามารถท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งวัน ทั้งในเวลากลางวัน และในเวลากลางคืน
ประวัติ
[แก้]เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี เป็นสวนสัตว์ที่เกิดขึ้นตามแนวคิดของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ด้วยเห็นว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว ดังเช่นของประเทศสิงคโปร์ซึ่งประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงระดับโลก เมื่อมีแนวคิดดังกล่าวเกิดขึ้น นายกรัฐมนตรีจึงแจ้งผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ในขณะนั้นเพื่อหาสถานที่เหมาะสมรองรับ ระยะแรกมีผู้เสนอพื้นที่ป่าไม้หลายจุด เช่นบริเวณเขตอำเภอดอยสะเก็ด แต่ที่สุดคณะทำงานก็ได้ข้อยุติที่บริเวณเชิงดอยสุเทพ ซึ่งจุดที่ดีที่สุดอยู่ในเขตตำบลแม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย
สำนักนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งลงวันที่ 25 มีนาคม 2545 แต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาการจัดตั้งสวนสัตว์กลางคืนจังหวัดเชียงใหม่และกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว และได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2546 อนุมัติงบประมาณโครงการ "เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี" วงเงิน 1,155.9 ล้านบาท ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นหน่วยเบิกจ่ายงบประมาณ และให้กรมการทหารช่างเป็นผู้ก่อสร้าง มิได้ว่าจ้างเอกชนเป็นผู้ก่อสร้าง ส่งผลให้โครงการนี้ใช้เวลาก่อสร้างเพียงสองปีก็แล้วเสร็จ
9 กันยายน 2547 สำนักนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งจัดตั้งสำนักงานบริหารโครงการเชียงใหม่ไนทซ์าฟารี โดยมีปลอดประสพ สุรัสวดี ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้อำนวยการโครงการ และให้เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีเป็นหน่วยงานภายใต้องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) ผู้จัดการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีคนแรกคือศราวุฒิ ศรีศกุน
ในปี 2556 เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีถูกโอนให้อยู่ในความดูแลของสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) ต่อมาภายหลังสำนักงานพัฒนาพิงคนครถูกยุบ ต่อมาในปี 2566 ในการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ประชุมมีมติอนุมัติรับหลักการ ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การบริหารไนท์ซาฟารี (องค์การมหาชน) พ.ศ....[2]
บริเวณ
[แก้]ภายในสวนสัตว์เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ได้แบ่งพื้นที่หลักๆออกเป็นบริเวณต่างๆ ดังนี้
นักท่องเที่ยว
[แก้]- อาคารหลัก: ร้านค้า, ห้องประชุม, ลานกิจกรรม, ชานชลารถชมสัตว์อยู่ที่นี่
- ทะเลสาบ: ในตอนกลางคืน มีการแสดงน้ำพุดนตรี แห่งเดียวในประเทศไทย
- ร้านอาหารยีราฟ: ร้านอาหารและบาร์ของสวนสัตว์ มีทั้งแบบจานเดียวและบุฟเฟต์
- บ้านพัก: บ้านพักสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการพักแรม
การท่องเที่ยว
[แก้]- โซนเดิมชมสัตว์: เป็นเส้นทางเดินชมสัตว์รอบทะเลสาบ ระยะทาง 1.2 กิโลเมตร ซึ่งในระหว่างทางยังเป็นที่ตั้งของ
- โซนเหนือ: เส้นทางนั่งรถชมสัตว์ ประเภทสัตว์นักล่า
- โซนใต้: เส้นทางนั่งรถชมสัตว์ ประเภทสัตว์กินพืช
ระเบียงภาพ
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 "เกี่ยวกับเรา: ประวัติความเป็นมา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-01. สืบค้นเมื่อ 2012-10-06.
- ↑ ครม.อุ้ม "ไนท์ซาฟารี" หลังยุบ สนง.พัฒนาพิงคนคร
- ↑ "ข้อมูลสำหรับผู้เข้าชม: สวนสัตว์ดิจิตอล". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-01. สืบค้นเมื่อ 2012-10-06.
- ↑ "ข้อมูลสำหรับผู้เข้าชม: โลกของเด็ก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-01. สืบค้นเมื่อ 2012-10-06.
- ↑ "ข้อมูลสำหรับผู้เข้าชม: อาณาจักรเสือ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-01. สืบค้นเมื่อ 2012-10-06.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เว็บไซต์อย่างเป็นทางการ
- เว็บไซต์ร้านอาหารยีราฟ เก็บถาวร 2012-08-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- บัตรเข้าชม เก็บถาวร 2018-08-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน