ข้ามไปเนื้อหา

พระยาภักดีชุมพล (แล)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เจ้าพ่อพญาแล)
พระยาภักดีชุมพล
(แล)
อนุสาวรีย์พระยาภักดีชุมพล (แล) ที่หน้าวงเวียนศูนย์ราชการจังหวัดชัยภูมิ
เกิดแล,ท้าวแล
เวียงจันทน์
เสียชีวิตพ.ศ. 2369
ริมหนองปลาเฒ่า
สาเหตุเสียชีวิตถูกเจ้าอนุวงศ์ประหารชีวิต
สุสานริมหนองปลาเฒ่า
อนุสรณ์สถานอนุสาวรีย์พระยาภักดีชุมพล
ศาลเจ้าพ่อพญาแล
ชื่ออื่นเจ้าพ่อพญาแล
พลเมืองสยาม (โดยพฤตินัย)
อาชีพเจ้าเมืองชัยภูมิ
ปีปฏิบัติงานพ.ศ. 2365 ถึง พ.ศ. 2369
มีชื่อเสียงจากผู้ไม่ยอมเข้าร่วมสงครามกบฏเจ้าอนุวงศ์,และหนึ่งในผู้ร่วมวีรกรรมที่ทุ่งสำริด
ตำแหน่งขุนภักดีชุมพล
พระภักดีชุมพล
พระยาภักดีชุมพล
ผู้ดำรงตำแหน่งก่อนไม่มี
ผู้สืบตำแหน่งพระยาภักดีชุมพล (เกตุ)
บุตรพระยาภักดีชุมพล (เกตุ)

พระยาภักดีชุมพล (แล) เป็นเจ้าเมืองชัยภูมิคนแรก ชาวเมืองชัยภูมินิยมเรียกขานท่านด้วยความยกย่องนับถือว่า เจ้าพ่อพญาแล

ประวัติ[แก้]

พระยาภักดีชุมพลเดิมชื่อ "นายแล" เป็นชาวนครเวียงจันทน์ เคยรับราชการเป็นพี่เลี้ยงราชบุตรในเจ้าอนุวงศ์แห่งอาณาจักรล้านช้าง (ขณะนั้นเป็นประเทศราชของไทย) ในสมัยรัชกาลที่ 2 พ.ศ. 2360 นายแลได้อพยพไพร่พลข้ามแม่น้ำโขงมาตั้งบ้านเรือนที่บ้านน้ำขุ่นหนองอีจาน (อยู่ในเขตอำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา) ต่อมาได้ย้ายไปตั้งใหม่ที่บ้านโนนน้ำอ้อม บ้านชีลอง (อยู่ในเขตอำเภอเมืองชัยภูมิ) และได้ทำราชการส่งส่วยต่อเจ้าอนุวงศ์ เจ้าอนุวงศ์จึงตั้งให้นายแลเป็นที่ขุนภักดีชุมพลนายกองนอก

ใน พ.ศ. 2365 ขุนภักดีชุมพลได้ย้ายชุมชนมาอยู่ที่บ้านหลวงซึ่งอยู่ระหว่างบ้านหนองหลอดกับบ้านหนองปลาเฒ่า (ในเขตอำเภอเมืองชัยภูมิปัจจุบัน) เนื่องจากสถานที่เดิมเริ่มคับแคบ ไม่พอกับจำนวนพลเมืองที่เพิ่มขึ้น

พ.ศ. 2367 ได้ที่การพบบ่อทองที่บริเวณลำห้วยชาด นอกเขตบ้านหลวง เรียกบ่อทองนั้นว่า "บ่อโขโหล"[1] ขุนภักดีชุมพลจึงได้นำทองในบ่อนี้ไปส่วยแก่เจ้าอนุวงศ์และขอยกฐานะบ้านหลวงขึ้นเป็นเมือง เจ้าอนุวงศ์จึงพระราชทาน ชื่อเมืองแก่ขุนภักดีชุมพลว่า เมืองชัยภูมิ และเลื่อนบรรดาศักดิ์ให้เป็นพระภักดีชุมพล ทว่าต่อมาพระภักดีชุมพลได้ขอเอาเมืองชัยภูมิขึ้นตรงต่อเมืองนครราชสีมา และส่งส่วยแก่กรุงเทพมหานครแทน ไม่ขึ้นแก่เจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์อีกต่อไป[ต้องการอ้างอิง] เพราะเห็นว่าเวียงจันทน์ก็เป็นประเทศราชขี้นต่อกรุงเทพมหานครอยู่แล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านหลวงเป็นเมืองชัยภูมิ และแต่งตั้งพระภักดีชุมพล (แล) เป็นพระยาภักดีชุมพล (แล) เจ้าเมืองชัยภูมิคนแรก สร้างความไม่พอใจแก่ทางฝ่ายเวียงจันทน์อย่างมาก

ในสมัยรัชกาลที่ 3 พ.ศ. 2369 เจ้าอนุวงศ์ก่อการกบฏต่อกรุงเทพเพื่อแยกตัวเป็นเอกราช โดยยกทัพเข้าตีเมืองนครราชสีมา แต่เห็นว่าจะทำการต่อไปได้ไม่ตลอด จึงเผาเมืองนครราชสีมาทิ้ง[2][3] และถอนทัพกลับไปตั้งรับที่เวียงจันทน์ ระหว่างทางกองทัพเจ้าอนุวงศ์เกิดความปั่นป่วนจากการลุกฮือของครัวเรือนที่กวาดต้อนไปเวียงจันทน์ ขณะพักทัพอยู่ที่ทุ่งสำริด พระยาภักดีชุมพล (แล) ได้ยกทัพไปสมทบกับคุณหญิงโมและครัวเรือนชาวเมืองนครราชสีมา ทำการตีกระหนาบกองทัพของเจ้าอนุวงศ์จนแตกพ่าย เจ้าอนุวงศ์เกิดความแค้นที่พระยาภักดีชุมพลไม่ยอมให้ความร่วมมือกับฝ่ายลาว ซ้ำยังยกทัพมาช่วยฝ่ายไทยตีกระหนาบทัพลาวอีกด้วย จึงย้อนกลับมาเมืองชัยภูมิ จับตัวพระยาภักดีชุมพล (แล) ให้เจ้าราชวงศ์ (เจ้าสุทธิสาร ณ น่าน) จับประหารชีวิตที่บริเวณใต้ต้นมะขามใกล้หนองปลาเฒ่า[4][5]

การเสียชีวิตของพระยาภักดีชุมพล (แล) ในครั้งนั้น เป็นเหตุการณ์สำคัญที่ชาวเมืองชัยภูมิจดจำตลอดมา และระลึกถึงว่าเป็นวีรกรรมครั้งสำคัญของท่าน[ต้องการอ้างอิง] ต่อมาชาวเมืองชัยภูมิจึงเรียกขานท่านด้วยความเคารพว่า "เจ้าพ่อพญาแล" และได้มีการสร้างศาลไว้ตรงสถานที่ที่พระยาภักดีชุมพล (แล) ถูกประหารชีวิต ที่บ้านหนองปลาเฒ่า อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ ริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 225 (ชัยภูมิ - บ้านเขว้า) ต่อมาใน พ.ศ. 2511 ทางราชการได้สร้างศาลขึ้นใหม่ ให้ชื่อว่า "ศาลพระยาภักดีชุมพล (แล)" และจัดให้มีงานสักการะเจ้าพ่อพญาแลทุกปี โดยเริ่มจากวันพุธ แรกของเดือน 6 เป็นเวลา 7 วัน เรียกว่า "งานเทศกาลบุญเดือนหก ระลึกถึงความดีของ เจ้าพ่อพญาแล" ถือเป็นงานใหญ่ประจำปีของชาวชัยภูมิ และใน พ.ศ. 2518 ทางราชการร่วมกับพ่อค้าและประชาชนชาวชัยภูมิสร้างอนุสาวรีย์ของพระยาภักดีชุมพล (แล) ประดิษฐานอยู่ตรงวงเวียนศูนย์ราชการ ปากทางเข้าสู่ตัวเมืองชัยภูมิ

ลูกหลานของพระยาภักดีชุมพล (แล) ที่ได้รับราชการเป็นเจ้าเมืองชัยภูมิคนต่อ ๆ มา ล้วนได้รับยศและบรรดาศักดิ์เป็นที่พระยาภักดีชุมพลทุกคน รวมทั้งสิ้น 5 คน ส่วนเจ้าพ่อพญาแลได้เป็นพระยาภักดีชุมพลได้ 4 ปี เป็นเจ้าเมืองชัยภูมิถึง 10 ปี

สถานที่ระลึกถึง[แก้]

  • อนุสาวรีย์พระยาภักดีชุมพล (แล)
  • ศาลเจ้าพ่อพญาแล

ผู้สืบต่อยศ[แก้]

ผู้ที่ได้รับยศพระยาภักดีชุมพลต่อจากท่านนั้นมีดังนี้

  • พระยาภักดีชุมพล (เกตุ)
  • พระยาภักดีชุมพล (เบี้ยว)
  • พระยาภักดีชุมพล (ที)
  • พระยาภักดีชุมพล (บุญจันทร์)
  • พระยาภักดีชุมพล (แสง)

หลังจากที่พระยาภักดีชุมพล (แสง) อนิจกรรมเป็นต้นมา ยศเจ้าเมืองก็เปลี่ยนกลายเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิในปัจจุบันนี้

สถานที่อันเนื่องด้วยนาม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. รายงานผลการปฏิบัติงาน โครงการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สนับสนุนโครงการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตามโครงการน้ำพระทัยจากในหลวง ปี พ.ศ. 2532. อำเภอแก้งคร้อ และอำเภอบ้านแท่น จังหวัดชัยภูมิ "อีสานจะเขียวได้ ด้วยน้ำใจของไทยทุกคน". เชียงใหม่ : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2535. 139 หน้า. หน้า 3.
  2. แสงโสม เกษมศรี, ม.ร.ว., และวิมล พงศ์พิพัฒน์. ประวัติศาสตร์สมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ - รัชกาลที่ ๓ (พ.ศ. 2325-2394). (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, 2523. 307 หน้า. หน้า 114.
  3. เกริกภาพ ฤทธิ์สุริยะ. สมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ เวียงจันทน์. กรุงเทพฯ : ไพลินบุ๊คเน็ต, 2555. 128 หน้า. หน้า 64. ISBN 978-616-711-001-1
  4. กรมศิลปากร. อักขรานุกรมประวัติศาสตร์ไทย อักษร ฉ ช ซ. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2526. 697 หน้า. หน้า 135. ISBN 978-974-417-258-7
  5. คุณา นนทพัฒน์. ชัยภูมิ เมืองพระยาแล. กรุงเทพฯ : แสงปัญญาเลิศ, 2542. 182 หน้า. หน้า 159. ISBN 978-974-870-724-2