ข้ามไปเนื้อหา

ฮิปโปโปเตมัส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ฮิปโปโปเทมัส)

ฮิปโปโปเตมัส
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: Pleistocene–Recent
ฮิปโปโปเตมัสในสวนสัตว์ Saadani National Park ประเทศแทนซาเนีย
สถานะการอนุรักษ์
CITES Appendix II (CITES)[1]
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอตา
Eukaryota
อาณาจักร: สัตว์
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
ชั้น: สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
อันดับ: สัตว์กีบคู่
วงศ์: ฮิปโปโปเตมิดี
สกุล: ฮิปโปโปเตมัส

Linnaeus, 1758[2]
สปีชีส์: Hippopotamus amphibius
ชื่อทวินาม
Hippopotamus amphibius
Linnaeus, 1758[2]
การกระจายตัวในปัจจุบันของฮิปโปโปเตมัส

ฮิปโปโปเตมัส หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า ฮิปโป (อังกฤษ: Hippopotamus; Hippo) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกินพืชชนิดหนึ่ง ในอันดับสัตว์กีบคู่ จัดอยู่ในวงศ์ฮิปโปโปเตมัส (Hippopotamidae) โดยเป็นสัตว์เพียง 1 ใน 2 ชนิดของวงศ์นี้ที่ยังสืบทอดเผ่าพันธุ์มาจนถึงปัจจุบัน (อีกชนิดนั้นคือ ฮิปโปโปเตมัสแคระ (Choeropsis liberiensis) ที่พบในป่าดิบชื้นของแอฟริกาตะวันตก[3])

ชื่อ "ฮิปโปโปเตมิก" มาจากภาษากรีกคำว่า ἵππος (hippos) หมายถึง "ม้า" และ ποταμός (potamos) หมายถึง "แม่น้ำ" รวมแล้วหมายถึง "ม้าแม่น้ำ" หรือ "ม้าน้ำ" (ἱπποπόταμος) เนื่องจากมีส่วนหัวคล้ายม้ามาก โดยเฉพาะยามเมื่ออยู่ในน้ำ[4][5]

ลักษณะ

[แก้]

ฮิปโปโปเตมัสเป็นสัตว์ที่มีรูปร่างอ้วนกลมใหญ่เทอะทะเหมือนหมู มีจุดเด่น คือ มีส่วนหัวใหญ่และปากกว้างมาก ภายในปากมีเขี้ยวล่างยาวโค้งมาก ที่มีความยาวได้ถึง 40 เซนติเมตร (1.3 ฟุต) และยาวได้มากที่สุด 50 เซนติเมตร (1.6 ฟุต) ซึ่งเป็นอาวุธสำคัญในการต่อสู้และป้องกันตัว โดยเฉพาะในตัวผู้ที่มีความดุร้ายก้าวร้าว ผิวหนังหนามีต่อมเมือกเคลือบอยู่ ตัวมันเองเลยต้องอยู่ใต้น้ำตลอดเวลาเพื่อให้ผิวของมันชุ่มชื้น ไม่ยังงั้นผิวของมันจะแตก ลำตัวมีขนสั้นและน้อยมาก จมูก, หู และตาอยู่ตอนบนของหัว เพื่อสะดวกยามเมื่ออยู่ในน้ำ น้ำหนักตัวหนักมากได้ถึง 2–4 ตัน นับว่าใหญ่เป็นอันดับ 3 ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อยู่บนบก รองจากช้างและ แรด เหงื่อของฮิปโปโปเตมัสมีลักษณะเป็นเมือกสีแดงอ่อน คล้ายเลือดเคลือบอยู่เพื่อป้องกันแมลงและเพื่อให้ผิวหนังชุ่มชื้นตลอดเวลา[6] ฮิปโปโปเตมัสสามารถดำน้ำได้มากถึง 5 นาที

ฮิปโปโปเตมัส กระจายพันธุ์ในทวีปแอฟริกา โดยพบได้ตั้งแต่ตอนใต้ของสะฮาราลงไป แม้จะเป็นสัตว์บก แต่ฮิปโปโปเตมัสมักจะอาศัยอยู่ในน้ำในเวลากลางวัน โดยพบได้ทั้งแม่น้ำ, หนองน้ำ, ทะเลสาบ หรือปลักโคลน แต่จริงๆแล้วฮิปโปว่ายน้ำไม้ได้แต่ใช้การเดินใต้น้ำแทนและดำน้ำได้เก่งมาก สามารถเดินท่องไปในใต้น้ำ เป็นสัตว์ที่อยู่รวมเป็นฝูง ฮิปโปโปเตมัสเป็นสัตว์ที่เมื่อถ่ายมูลแล้ว จะถ่ายออกมาเป็นจำนวนมากในน้ำ เมื่อถ่ายแล้วจะมีปลากินพืชจำพวกปลาตะเพียนหรือปลาหมอสีตามมากิน หรือแม้กระทั่งตอดตามผิวหนังเพื่อกำจัดปรสิตให้[7] ฮิปโปโปเตมัสเป็นสัตว์หากินในเวลากลางคืน โดยจะขึ้นจากน้ำมาหากินบนบก อาหารได้แก่ หญ้านานาชนิด รวมทั้งพืชน้ำ เช่น กกและอ้อ กินหญ้าโดยใช้ริมฝีปากที่แข็งงับแล้วดึงให้ขาดทั้งกอ[6] โดยกินอาหารวันละประมาณ 40 กิโลกรัม ซึ่งนับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับขนาดน้ำหนักและร่างกาย และมีระยะทางหากินไกลประมาณ 6 กิโลเมตร[8] เขี้ยวของฮิปโป ยาวมากที่สุดถึง 50 เซนติเมตร เจ้าฮิปโปไม่ได้ใช้เขี้ยวสำหรับกินอาหารหรอกนะ มันใช้สำหรับการต่อสู้โดยเฉพาะ

เมื่ออ้าปาก
ฮิปโปโปเตมัสเมื่อต่อสู้กัน
ภาพเคลื่อนไหวความเป็นอยู่ในธรรมชาติ

ฮิปโปโปเตมัสเป็นสัตว์ที่มีอุปนิสัยดุร้ายฉุนเฉียวมาก โดยเฉพาะในช่วงผสมพันธุ์ ตัวผู้จะสู้กันอย่างรุนแรง เมื่อตกใจหรือได้รับบาดเจ็บจะดุร้ายมาก หรือในวันที่อากาศร้อน ฮิปโปโปเตมัสโดยเฉพาะตัวผู้จะดุร้าย และฮิปโปโปเตมัสที่เป็นแม่ลูกอ่อนจะมีอารมณ์ที่ค่อยข้างจะดุร้ายตลอดเวลาด้วยความหวงลูก ฮิปโปโปเตมัสยังเป็นสัตว์ที่อ้าปากได้กว้างที่สุดในโลกอีกด้วย ด้วยสามารถอ้าได้กว้างเกือบถึง 180 องศา[9] และยังเป็นสัตว์ที่มีแรงกัดของกรามมากที่สุดอีกชนิดหนึ่งในอาณาจักรสัตว์โลกทั้งหมดด้วย ด้วยมีแรงมากถึง 1,825 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว นับว่าเป็นสัตว์ที่มีอันตรายต่อมนุษย์มากที่สุดในทวีปแอฟริกา ชนิดที่มีมนุษย์ต้องได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการโจมตีของฮิปโปโปเตมัสมากกว่าปลาฉลามหรือจระเข้เสียอีก[10] [11]อีกทั้งสัตว์ร้ายขนาดใหญ่ เช่น จระเข้เมื่อเผชิญหน้าต่อฮิปโปโปเตมัสก็ยังต้องเป็นฝ่ายล่าถอยไป[11] และยังมีรายงานว่าแม้กระทั่งฮิปโปโปเตมัสที่เป็นสัตว์เลี้ยงของมนุษย์มาตั้งแต่ยังเล็ก ทำร้ายเจ้าของถึงกระทั่งเสียชีวิต[12]

ฮิปโปโปเตมัสตัวผู้จะใช้หางปัดเวลาถ่ายมูลให้กระเด็นไปรอบ ๆ เพื่อบอกอาณาเขต ฮิปโปโปเตมัสผสมพันธุ์ได้ตลอดปีส่วนใหญ่จะผสมพันธุ์กันในน้ำ ตกลูกครั้งละ 1 ตัว ระยะเวลาตั้งท้องนาน 227–240 วัน (8 เดือน) ตัวเมียมีเต้านม 2 เต้า ลูกฮิปโปโปเตมัสดูดนมในน้ำ หย่านมเมื่ออายุราว 4–8 เดือน ลูกฮิปโปโปเตมัสอาจจะเกิดบนบกหรือในน้ำก็ได้ แรกเกิดมีน้ำหนักตัวมากกว่า 100 ปอนด์ ตัวเมียเฉลี่ยจะออกลูกประมาณ 2 ปีต่อครั้ง อายุยืนเต็มที่ราว 60–70 ปี[6] [8] ฮิปโปวิ่งเร็วกว่า อูเซนต์ โบลท์(นักวิ่งที่วิ่งเร็วที่สุดในโลก) อูเซนต์ โบลท์วิ่งได้เร็ว 45 กิโลเมตร/ชั่วโมง ฮิปโปวิ่งได้เร็ว 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง

ฮิปโปโปเตมัสปัจจุบันจัดว่าเป็นสัตว์ที่หายากมากขึ้น ปัจจุบันฮิปโปแคระที่อาศัยอยู่ในอัฟริกาตะวันตก เหลือยู่เพียง 2,000 – 3,000 ตัว

การจำแนก

[แก้]

ฮิปโปโปเตมัสถูกจำแนกออกเป็นชนิดย่อยต่าง ๆ ได้ตามลักษณะทางสัณฐาน[9]

ในสถานที่เลี้ยง

[แก้]

ปัจจุบัน ฮิปโปโปเตมัสเป็นสัตว์ที่ถูกจัดแสดงตามสวนสัตว์ต่าง ๆ ทั่วโลก หลายตัวกลายเป็นดาวเด่นหรือตัวดึงดูดใจประจำสวนสัตว์ หลายแห่งมีการเพาะขยายพันธุ์ในที่เลี้ยงได้ประสบความสำเร็จ เช่น แม่มะลิ ฮิปโปโปเตมัสตัวเมียที่สวนสัตว์เขาดิน ของประเทศไทย ที่ตกลูกมาแล้วถึง 14 ตัว[13] โดยฮิปโปโปเตมัสจำนวนมากที่สุดที่อยู่นอกทวีปแอฟริกา อยู่ที่สระน้ำ ภายในสวนสาธารณะฮาเซียนดานาโปน ในประเทศโคลอมเบีย จำนวนทั้งสิ้น 35 ตัว โดยเป็นฮิปโปโปเตมัสที่เกิดจากพ่อแม่พันธุ์เพียง 4 ตัว ที่ปาโบล เอสโกบาร์ นักค้ายาเสพติดชื่อดังในอดีตชาวโคลอมเบีย ซื้อมาจากสวนสัตว์ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อปี ค.ศ. 1980 โดยสวนสาธารณะแห่งนี้เดิมเคยเป็นสวนสัตว์ส่วนตัวของเอสโกบาร์มาก่อน[14]

และในธรรมชาติ สถานที่ ๆ พบฮิปโปโปเตมัสได้มากที่สุด คือ แม่น้ำลูแองวา ในประเทศแซมเบีย ซึ่งเป็นสาขาหลักของแม่น้ำแซมเบซี[8]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 Lewison, R.; Pluháček, J. (2017). "Hippopotamus amphibius". IUCN Red List of Threatened Species. 2017: e.T10103A18567364. doi:10.2305/IUCN.UK.2017-2.RLTS.T10103A18567364.en. สืบค้นเมื่อ 19 November 2021.
  2. "ITIS on Hippopotamus amphibius". Integrated Taxonomic Information System. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 August 2014. สืบค้นเมื่อ 29 July 2007.
  3. Laws, Richard (1984). Macdonald, D. (บ.ก.). The Encyclopedia of Mammals. New York: Facts on File. pp. 506–511. ISBN 0-87196-871-1.
  4. ἱπποπόταμος, ἵππος, ποταμός. Liddell, Henry George; Scott, Robert; A Greek–English Lexicon at Perseus Project.
  5. "Hippopotamus". Merriam-Webster's Online Dictionary. สืบค้นเมื่อ 2007-07-18.
  6. 6.0 6.1 6.2 "ฮิปโปโปเตมัส". สวนสัตว์เชียงใหม่. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-01-08. สืบค้นเมื่อ 20 January 2015.
  7. "Hippopotamus". sandiegozoo. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-02-08. สืบค้นเมื่อ 20 January 2015.
  8. 8.0 8.1 8.2 จุดประกาย 7 WILD, อาชาแห่งลุ่มแม่น้ำ. กรุงเทพธุรกิจปีที่ 29 ฉบับที่ 10514: วันพฤหัสบดีที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2560
  9. 9.0 9.1 Eltringham, S.K. (1999). The Hippos. Poyser Natural History Series. Academic Press. ISBN 0-85661-131-X.
  10. "11 นัก 'กัด' สุดแรงที่ไม่มีใครอยากลองดี". animals.spokedark.tv. 24 September 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-01-21. สืบค้นเมื่อ 20 January 2015.
  11. 11.0 11.1 "Hippo Dung Threatens Fish in Kenya River Studied With Crocodile Boats". guardianlv.com/. 28 May 2014. สืบค้นเมื่อ 20 January 2015.
  12. "เจ้าของถูกฮิปโปที่เลี้ยงไว้ขย้ำจนเสียชีวิตในแอฟริกาใต้". สนุกดอตคอม. 14 November 2011. สืบค้นเมื่อ 20 January 2015.
  13. "เขาดินเตรียมจัดงานให้ฮิปโป'แม่มะลิ' ฉลองครบรอบวันเกิดอายุ48ปี". แนวหน้า. September 25, 2014. สืบค้นเมื่อ 13 July, 2016. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  14. หน้า 7, มรดกจากราชายาเสพติด. "โลกาภิวัฒน์ GLOBALLIZATION. ไทยรัฐปีที่ 67 ฉบับที่ 21358: วันพุธที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 8 ปีวอก

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Hippopotamus amphibius ที่วิกิสปีชีส์