ข้ามไปเนื้อหา

อุมัร อัลบะชีร

หน้าถูกกึ่งป้องกัน
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

อุมัร ฮะซัน อะห์มัด อัลบะชีร
ประธานาธิบดีแห่งประเทศซูดาน คนที่ 7
ดำรงตำแหน่ง
30 มิถุนายน ค.ศ. 1989 – 11 เมษายน ค.ศ. 2019
รองประธานาธิบดีซัลวา กีร์ มายาร์ดิต
อะลี อุษมาน ฏอฮา
ก่อนหน้าอะห์มัด อัลมิรฆอนี
ถัดไปAhmed Awad Ibn Auf
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด (1944-01-01) 1 มกราคม ค.ศ. 1944 (81 ปี)
Hosh Bannaga, Kingdom of Egypt and Sudan
ศาสนาศาสนาอิสลามนิกายซุนนี
พรรคการเมืองพรรคเนชันแนลคองเกรส
คู่สมรสฟาตมา คาลิด

อุมัร ฮะซัน อะห์มัด อัลบะชีร (อาหรับ: عمر حسن أحمد البشير; เกิดวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1944) เป็นหัวหน้าพรรคเนชันแนลคองเกรส และอดีตประธานาธิบดีของประเทศซูดาน เริ่มเข้ามามีอำนาจทางการเมืองครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1989 ขณะยังเป็นนายทหารยศพันโท โดยเป็นผู้นำกลุ่มนายทหารทำรัฐประหารไม่นองเลือดขับไล่รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีซาดิก อัลมะฮ์ดี (Sadiq al-Mahdi) ซึ่งเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย[1]

ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2004 รัฐบาลของนายอัลบะชีรได้เจรจายุติสงครามกลางเมืองซูดานครั้งที่สอง ซึ่งเป็นสงครามที่ดำเนินมาต่อเนื่องยาวนานที่สุดและนองเลือดที่สุดครั้งหนึ่งในคริสต์ศตวรรษที่ 20 โดยให้อำนาจปกครองตนเองบางส่วนในเซาท์ซูดานซึ่งเป็นพื้นที่เกิดสงคราม อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามกลางเมืองแล้ว รัฐบาลของนายอัลบะชีรได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางต่อบทบาทของรัฐบาลในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ดาร์ฟูร์ อันเป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์ประชากรที่ไม่ใช่ชาวอาหรับครั้งใหญ่ในซูดาน มีผู้เสียชีวิตจากกรณีดังกล่าวอยู่ระหว่าง 200,000[2] ถึง 400,000 คน[3] บทบาทของนายอัลบะชีรในเรื่องนี้ได้นำไปสู่การสู้รบอย่างรุนแรงระหว่างกองกำลังติดอาวุธของพวกญันญะวีด (Janjaweed) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายรัฐบาล และกองกำลังกบฏฝ่ายต่างๆ อันได้แก่ กองทัพปลดแอกประชาชนซูดาน (Sudan People's Liberation Army, SPLA) กองทัพปลดปล่อยซูดาน (Sudanese Liberation Army, SLA) และขบวนการความยุติธรรมและความเสมอภาค (Justice and Equality Movement, JEM) ซึ่งทำการรบในรูปแบบสงครามกองโจรในแคว้นดาร์ฟูร์ ผลจากสงครามครั้งนี้ทำให้ประชาชนกว่า 2.5 ล้านคนต้องไร้ที่อยู่อาศัย[4] และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศชาดกับซูดานตกต่ำลงจนถึงระดับวิกฤต[5]

เดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2008 ลุยส์ โมเรโน โอกัมโป อัยการประจำศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court, ICC) ได้ฟ้องร้องนายอัลบะชีรในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ กระทำอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และอาชญากรรมสงครามในแคว้นดาร์ฟูร์[6] ศาลได้ออกหมายจับนายอัลบะชีรเมื่อวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 2009 ในข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติและอาชญากรรมสงคราม แต่ไม่รวมข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เนื่องจากศาลได้ชี้ว่าหลักฐานที่จะฟ้องร้องด้วยข้อหาดังกล่าวยังมีไม่เพียงพอ[7] หมายจับดังกล่าวได้ถูกนำส่งไปยังรัฐบาลซูดาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้[7] อย่างไรก็ตาม นายอัลบะชีรยังคงดำรงตำแหน่งประมุขของประเทศต่อไปแม้จะมีหมายจับจากศาลอาญาระหว่างประเทศออกมาก็ตาม[7]

นายอัลบะชีรลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีในการเลือกตั้งทั่วไปของซูดานในปี ค.ศ. 2009 นับเป็นการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยแบบหลายพรรคการเมืองของซูดานครั้งแรกในรอบ 9 ปี[8][9] คู่แข่งคนสำคัญของนายอัลบะชีรคือนายซัลวา กีร์ มายาร์ดิต (Salva Kiir Mayardit) รองประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ซึ่งเป็นผู้นำของกองทัพปลดแอกประชาชนซูดาน (SPLA)[10]

อ้างอิง

  1. "FACTBOX - Sudan's President Omar Hassan al-Bashir". Reuters. 2008-07-14. สืบค้นเมื่อ 2008-07-16.
  2. BBC NEWS World Africa | Q&A: Sudan's Darfur conflict
  3. "The Genocide in Darfur — Briefing Paper Save Darfur". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-05-14. สืบค้นเมื่อ 2009-03-05.
  4. "AUF Ineffective, Complain Refugees in Darfur". Washingtonpost.com. สืบค้นเมื่อ 2009-03-04.
  5. http://news.bbc.co.uk/2/hi/africa/7394422.stm
  6. International Criminal Court (2008-07-14). "ICC Prosecutor presents case against Sudanese President, Hassan Ahmad AL BASHIR, for genocide, crimes against humanity and war crimes in Darfur". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-07-15. สืบค้นเมื่อ 2008-07-17.
  7. 7.0 7.1 7.2 BBC News, 4 March 2009. Warrant issued for Sudan's Bashir . Accessed 4 March 2009.
  8. "SudanTribune article : SPLM Kiir to run for president in Sudan 2009 elections". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-24. สืบค้นเมื่อ 2009-03-05.
  9. "SudanTribune article : Eastern Sudan Beja, SPLM discuss electoral alliance". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-05-05. สืบค้นเมื่อ 2009-03-05.
  10. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-24. สืบค้นเมื่อ 2009-03-05.