อัลแบร์ท โฮฟมัน
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
อัลแบร์ท โฮฟมัน | |
---|---|
อัลแบร์ท โฮฟมัน ใน พ.ศ. 2536 | |
เกิด | 11 มกราคม พ.ศ. 2449 บาเดิน สวิตเซอร์แลนด์ |
เสียชีวิต | 29 เมษายน พ.ศ. 2551 (102 ปี) บวร์คอิมไลเมินทาล สวิตเซอร์แลนด์ |
สัญชาติ | สวิตเซอร์แลนด์ |
ศิษย์เก่า | มหาวิทยาลัยซือริช |
มีชื่อเสียงจาก | ผู้ค้นพบสารแอลเอสดี, ผู้ตั้งชื่อและสังเคราะห์ไซโลซิน (psilocin) |
คู่สมรส | อนีทา โฮฟมัน (?–2550) (เธอเสียชีวิต) |
บุตร | 4 คน |
อาชีพทางวิทยาศาสตร์ | |
สาขา | เคมี |
อัลแบร์ท โฮฟมัน (เยอรมัน: Albert Hofmann; 11 มกราคม พ.ศ. 2449 – 29 เมษายน พ.ศ. 2551) เป็นนักเคมีคนสำคัญของสวิตเซอร์แลนด์ ได้รับการขนานนามว่าเป็น "บิดาแห่งแอลเอสดี" เกิดที่เมืองบาเดินในสวิตเซอร์แลนด์ จบการศึกษาด้านเคมีจากมหาวิทยาลัยซือริช ขณะเรียนมีความสนใจเคมีที่เกี่ยวกับพืชและสัตว์ ซึ่งต่อมาได้นำไปสู่การค้นคว้าวิจัยงานสำคัญในโครงสร้างของสารที่มีอยู่ทั่วไปในสัตว์ คือ "ไคทิน" (สารหลักในเปลือกกุ้ง ปู และสัตว์ที่คล้ายกัน) ซึ่งเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของโฮฟมัน
อัลแบร์ท โฮฟมัน ได้เข้าทำงานในแผนกเภสัช-เคมีในสถานีทดลองของบริษัทแซนดอส (ปัจจุบันคือบริษัทโนวาร์ติส) เมืองบาเซิล โดยทำการวิจัยพืชหัวที่ใช้ทำยา และเออร์กอตของพวกเห็ดรา เพื่อนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสังเคราะห์และทำความบริสุทธิ์ให้กับตัวยาสำคัญที่จะนำมาใช้ทางเภสัชกรรม
อัลแบร์ท โฮฟมันเสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจล้มในปี พ.ศ. 2551 ขณะมีอายุได้ 102 ปี[1]
ชีวิตการทำงาน
[แก้]งานค้นคว้าเกี่ยวกับกรดไลเซอร์จิกของโฮฟมันนำไปสู่การสังเคราะห์แอลเอสดี – 25 เมื่อ พ.ศ. 2481 ซึ่งในอีกห้าปีต่อมาหลังจากถูกลืม โฮฟมันก็ได้กลับมาค้นพบผลโดยความบังเอิญว่าสารแอลเอสดีเป็นตัวก่ออาการโรคจิต โดยโฮฟมันรับรู้ผลของอาการได้หลังจากการซึมของสารเข้าสู่ร่างกายของเขาทางปลายนิ้ว เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2486 อีก 3 วันต่อมาในวันที่ 19 เมษายน (ต่อมาเรียกวันนี้กันว่า "วันจักรยาน" หลังจากที่โฮฟมันขี่จักรยานกลับบ้านภายใต้อิทธิพลของแอลเอสดี) โฮฟมันจงใจเสพสารนี้เป็นจำนวน 250 ไมโครกรัมและได้ประสบกับอิทธิพลของสารในระดับที่เข้มขึ้น หลังจากได้ทดลองกับตนเองอีกหลายครั้ง โฮฟมันจึงได้เขียนรายงานผลการทดลองนี้เมื่อวันที่ 22 เมษายน ปีเดียวกัน
โฮฟมันได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการแผนกผลิตภัณฑ์ธรรมชาติของบริษัทแซนดอสและได้ทำการทดลองสารหลอนประสาทที่พบในเห็ดเม็กซิกันและพืชชนิดอื่นที่ชนพื้นเมืองใช้เสพ ทำให้นำไปสู่การสังเคราะห์ไซโลไซบิน (psilocybin) ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของ "เห็ดวิเศษ" ดังกล่าว
นอกจากนี้ โฮฟมันยังสนใจในเมล็ดของต้นคริสต์มาสไวน์ (Turbina corymbosa) ซึ่งได้พบอย่างน่าแปลกใจว่าสารที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของมล็ดพืชชนิดนี้มีความคล้ายคลึงกับแอลเอสดีเป็นอย่างมาก
ในปี พ.ศ. 2505 โฮฟมันและภริยาได้เดินทางไปเยือนเม็กซิโกตอนใต้เพื่อเสาะหาต้นไม้ชื่อ "เซจออฟเดอะดิไวเนอส์" (Salvia divinorum) แม้จะขออนุญาตนำกลับประเทศได้ แต่โฮฟมันก็ไม่สามารถแยกและบ่งชี้องค์ประกอบหลักทางเคมีที่สำคัญของพืชชนิดนี้ได้
โฮฟมันเรียกแอลเอสดีว่า "ยาแห่งจิตวิญญาณ" และหงุดหงิดจากการที่ประชาคมโลกพากันถือว่าสารนี้เป็นสิ่งต้องห้าม ทำให้สารนี้หายไปจากบนดินกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย โฮฟมันกล่าวว่า "สารนี้ได้ถูกใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์ทางจิตอย่างระมัดระวังมานานถึง 10 ปี" ก่อนที่จะถูกกลุ่มเยาวชนยุคคริสต์ทศวรรษ 1960 มายึดไปใช้ในทางที่ผิด ทำให้สารนี้กลายเป็นสิ่งชั่วร้ายที่ถูกต่อต้าน แต่อย่างไรก็ดี โฮฟมันยอมรับว่าหากสารนี้ตกอยู่ในมือของคนไม่ดีก็มีอันตรายมากได้
โฮฟมันได้เขียนบทความทางวิทยาศาสตร์มากกว่า 100 บทความและหนังสืออีกหลายเล่มรวมทั้ง แอลเอสดี ลูกเจ้าปัญหาของข้าพเจ้า ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นอัตชีวประวัติและการบรรยายถึงการขี่จักรยานที่โด่งดังของตน
ในโอกาสครบอายุ 100 ปีเมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2549 โฮฟมันกลับมาเป็นจุดเด่นของ การประชุมเอกสารัตถ์นานาชาติว่าด้วยแอลเอสดี เนื่องในวาระครบอายุ 100 ปีของอัลแบร์ท โฮฟมัน ในเมืองบาเซิลที่ทำให้สื่อต่าง ๆ ให้ความสนใจในการค้นพบแอลเอสดีของเขาอีกครั้งหนึ่ง
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Craig S Smith (30 April 2008). "Albert Hofmann, the Father of LSD, Dies at 102". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2 May 2013.