ข้ามไปเนื้อหา

ไร้สาระนุกรม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก อันไซโคลพีเดีย)
ไร้สาระนุกรม/อันไซโคลพีเดีย
ภาพจับหน้าจอ
หน้าหลักของไร้สาระนุกรม เข้าชมเมื่อ 22 มีนาคม พ.ศ. 2558
ประเภทสารานุกรมอินเทอร์เน็ตและเว็บไซต์เสียดสี
เจ้าของเป็นผลงานที่มีเจ้าของคือผู้เขียนเนื้อหา ใช้สัญญาอนุญาตแบบ
CC BY-NC-SA 3.0 (ทั้งรุ่นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ)
สร้างโดยอันไซโคลพีเดีย (อังกฤษ):
โจนาธาน "Chronarion" หวง
และ"Stillwaters"
ไร้สาระนุกรม (ไทย):
"Ob the air" และ "เคน"[1]
รายได้อันไซโคลพีเดีย (อังกฤษ):
รับบริจาค[2]
ไร้สาระนุกรม (ไทย):
ไม่มี[3]
ยูอาร์แอลอันไซโคลพีเดีย (อังกฤษ):
en.uncyclopedia.co (เว็บไซต์ฟอร์กปี 2556)
uncyclopedia.com (เว็บไซต์ฟอร์กปี 2562)
ไร้สาระนุกรม (ไทย):
th.uncyclopedia.info (โดเมนหลัก)
ไร้สาระนุกรม.com (โดเมนรอง)
ลงทะเบียนไม่จำเป็น (ฟรี)
เปิดตัวอันไซโคลพีเดีย (อังกฤษ):
5 มกราคม พ.ศ. 2548 (19 ปี)
ไร้สาระนุกรม (ไทย):
4 มกราคม พ.ศ. 2549 (18 ปี)
สถานะปัจจุบันเปิดให้บริการ

ไร้สาระนุกรม หรือ อันไซโคลพีเดีย (อังกฤษ: Uncyclopedia) เป็นสารานุกรมและเว็บไซต์เสียดสีออนไลน์ ซึ่งล้อเลียนวิกิพีเดีย สัญลักษณ์ของไร้สาระนุกรมคือรูป "ปริศนามันฝรั่งกลวง" ซึ่งล้อเลียนสัญลักษณ์ปริศนาลูกโลกของวิกิพีเดีย[4] โดยมีสโลแกนในภาษาไทยว่า "ไร้สาระนุกรมเสรีที่อภิสิทธิ์ชนเท่านั้นที่สร้างได้" เป็นการล้อเลียนสโลแกน "สารานุกรมเสรี" ของวิกิพีเดีย ไร้สาระนุกรมภาษาอังกฤษก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2548[5] ปัจจุบันไร้สาระนุกรมเปิดให้บริการในอีกกว่า 84 ภาษา[6] รวมไปถึงมีโครงการย่อยต่าง ๆ ซึ่งล้อเลียนโครงการวิกิอื่น ๆ อีกมากมาย ในปัจจุบันไร้สาระนุกรมฉบับภาษาไทยมีบทความกว่า 4,000 บทความ โดยชื่อ "ไร้สาระนุกรม" เป็นหน่วยคำควบระหว่างคำว่า "ไร้สาระ" และคำว่า "สารานุกรม"[7]

ความตลกขบขัน หลากหลายรูปแบบถูกนำมาใช้ในไร้สาระนุกรม เป็นต้นว่า การเสียดสีอย่างชัดเจน ไปจนถึงการถากถางแบบเบา ๆ รวมไปถึงการบิดเบือนเรื่องราวต่าง ๆ ออกจากข้อเท็จจริง ซึ่งทำให้ไร้สาระนุกรมถูกวิพากษ์วิจารณ์จากการเขียนบทความเกี่ยวกับหัวข้อที่อาจจะสร้างความขัดแย้งได้ เช่น ศาสนา บุคคลสำคัญ สถานที่ และการเมือง เป็นต้น

บทความส่วนใหญ่ในไร้สาระนุกรมมักจะมีป้ายกราฟิกส์ซึ่งจะพาไปยังหน้าวิกิพีเดียของสิ่งที่ถูกล้อเลียน โดยส่วนมากแล้วจะเขียนคำอธิบายว่า "สำหรับผู้ที่ไร้อารมณ์ขันสิ้นดี เหล่าผู้เชี่ยวชาญที่วิกิพีเดียมีบทความที่โคตรมีสาระ ที่นี่! [ลิงก์ไปยังหัวข้อที่กำลังกล่าวถึง]"

ประวัติ

[แก้]

ไร้สาระนุกรมเปิดให้บริการครั้งแรกในนาม อันไซโคลพีเดีย หรือไร้สาระนุกรมภาษาอังกฤษ เมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2548 โดยมีนายโจนาธาน หวง หรือนามแฝงออนไลน์ว่า "Chronarion" และผู้ใช้นามแฝงว่า "Stillwaters" เป็นผู้ก่อตั้ง [4] เมื่อแรกเริ่มใช้โดเมนว่า uncyclopedia.org ก่อนที่จะย้ายไปยังแพลตฟอร์มวิเกีย ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2549[8] ในส่วนของไร้สาระนุกรมภาษาไทยนั้น ได้รับการก่อตั้งในวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2549 โดยผู้ใช้ที่ใช้ชื่อว่า "Ob the air"[1]

ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2556 ผู้ใช้และผู้ดูแลระบบไร้สาระนุกรมภาษาอังกฤษบางรายได้สร้างเว็บไซต์ฟอร์ก ของอันไซโคลพีเดียขึ้นที่โดเมน en.uncyclopedia.co เพื่อเป็นการตอบโต้การเซนเซอร์ การแทรกโฆษณา และการใส่คำเตือนด้านเนื้อหาของวิเกีย[9] วิเกีย ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นแฟนดอม ได้หยุดให้บริการไร้สาระนุกรมบนแพลตฟอร์มของตน[10] ในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 และเว็บไซต์ไร้สาระนุกรมภาษาต่าง ๆ ในแพลตฟอร์มวิเกียต่างย้ายไปที่แหล่งเก็บข้อมูลแห่งใหม่[11] เช่น ไร้สาระนุกรมภาษาอังกฤษย้ายไปยังโดเมน uncyclopedia.ca และในเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 ได้ทำการย้ายอีกครั้ง โดยใช้โดเมนว่า uncyclopedia.com ส่วนไร้สาระนุกรมภาษาอิตาลี โปแลนด์ และจีนตัวย่อ ย้ายไปยังแพลตฟอร์มมิราเฮซ และบางแห่งย้ายไปใช้เซิร์ฟเวอร์อิสระ เช่น ไร้สาระนุกรมภาษารัสเซีย และไร้สาระนุกรมภาษาเยอรมัน เป็นต้น ปัจจุบันหน้าเว็บไซต์ไร้สาระนุกรมบนวิเกียเดิมจะแสดงหน้าแลนด์ดิง พร้อมข้อความว่า "วิกินี้ได้ปิดตัวลงแล้ว" (Wiki closed) ส่วนไร้สาระนุกรมภาษาไทยไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ เนื่องจากไร้สาระนุกรมไทยไม่ได้อยู่บนแพลตฟอร์มวิเกียตั้งแต่ต้นแล้ว (เว้นแต่โครงการย่อยไร้หนังสือพิมพ์)

นอกจากนี้ไร้สาระนุกรมภาษาอังกฤษยังมีมิเรอร์ไซต์ที่โดเมน mirror.uncyc.org ซึ่งเป็นที่สำหรับเก็บบทความรุ่นเก่าและบทความที่ถูกลบไปแล้วเท่านั้น

โครงสร้าง

[แก้]

ไร้สาระนุกรมถูกสร้างขึ้นบนซอฟต์แวร์มีเดียวิกิซึ่งเป็นซอฟต์แวร์เดียวกันกับที่วิกิพีเดียใช้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ไร้สาระนุกรมภาษาต่างประเทศบางภาษายังเก็บข้อมูลไว้ที่แฟนดอม (วิเกีย) แฟนดอมได้ดัดแปลงมีเดียวิกิรุ่น 1.19 ของตนไปหลายประการ ทำให้เว็บไซต์ไร้สาระนุกรมภาษาต่าง ๆ บนแพลตฟอร์มแฟนดอมไม่สามารถเข้ากันได้กับมีเดียวิกิรุ่นหลัง ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2561 แฟนดอมได้ยุติการสนับสนุนสกินโมโนบุ๊ค ซึ่งไร้สาระนุกรมภาษาต่าง ๆ นำมาใช้เพื่อเลียนแบบวิกิพีเดีย โดยแฟนดอมอ้างว่าเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบการคุ้มครองข้อมูลทั่วไปของสหภาพยุโรป[12] และเตือนว่าข้อยกเว้นสำหรับไร้สาระนุกรมจะไม่ครอบคลุมถึงผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์และผู้แก้ไขรายใหม่ไปโดยปริยาย[13] หลังจากที่ไร้สาระนุกรมภาษาต่าง ๆ ได้ถูกลบออกจากแฟนดอม ไร้สาระนุกรมส่วนใหญ่ได้เปลี่ยนไปใช้สกินเวกเตอร์ แทน (และสกิน MinervaNeue สำหรับรุ่นอุปกรณ์เคลื่อนที่) เพื่อล้อเลียนรูปแบบหน้าตาของวิกิพีเดียต่อไป

คำอธิบายเกี่ยวกับไร้สาระนุกรมในภาษาอื่น ๆ หรือโครงการใกล้เคืยงสามารถดูได้ที่ด้านล่าง:[14] ใน พ.ศ. 2550 ไร้สาระนุกรมร้อยละ 58.8 (หรือ 20 จาก 34 ภาษา) อยู่บนแพลตฟอร์มวิเกีย เซิร์ฟเวอร์อื่น ๆ อีกหกเซิร์ฟที่ไม่ใช่ของวิเกียทำหน้าที่ให้บริการเนื้อหา "อันไซโคลพีเดียบาเบล" (Uncyclopedia Babel) ในหลากหลายภาษา เพื่อเป็นการประสานงานระหว่างโครงการเหล่านั้น (เรียกรวม ๆ ว่า "โครงการอันไซโคลมีเดียบาเบล") จึงมีการก่อตั้งอันเมทา-วิกิขึ้นใน พ.ศ. 2549[15]

โครงการต่าง ๆ ในไร้สาระนุกรมนั้นบริหารจัดการกันเองโดยสมาชิก ผู้ใช้บางคนอาจจะมีบัญชีไร้สาระนุกรมภาษาอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน โครงการต่าง ๆ ของไร้สาระนุกรมจะมีลิงก์โยงข้ามภาษา กระนั้น ไร้สาระนุกรมก็ไม่มีองค์การเทียบเท่ามูลนิธิวิกิมีเดีย ซึ่งคอยดูแลวิกิพีเดียและโครงการพี่น้องทั่วโลก

เนื้อหา

[แก้]

เนื้อหาภายในไร้สาระนุกรมอยู่ภายใต้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์แบบแสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกัน 3.0 (CC BY-NC-SA 3.0) แต่เนื้อหาบางอย่าง เช่น รูปภาพ นั้นมีลิขสิทธ์[16] ไร้สาระนุกรมในบางภาษาอาจจะใช้สัญญาอนุญาตต่างจากอีกภาษาหนึ่งเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น dÉsencyclopédie (ไร้สาระนุกรมภาษาฝรั่งเศส) อยู่ภายใต้สัญญาอนุญาตแบบ CC BY-NC-SA 2.5 ควบคู่ไปกับสัญญาอนุญาตเอกสารเสรีของกนู เป็นต้น ณ เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 มีผู้สร้างบทความในไร้สาระนุกรมไทยไปแล้วกว่า 4,000 บทความ[17]

บทความ

[แก้]
บางครั้งไร้สาระนุกรมอาจจะใช้รูปภาพเพื่อประกอบการล้อเลียน เช่นการใช้รูปฟักแม้ว (ในภาพ) เพื่อล้อเลียนทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

ไร้สาระนุกรมส่งเสริมการเขียนเนื้อหาเสียดสีที่มีเนื้อหาใกล้เคียงหรือคล้ายคลึงกับความเป็นจริง กระนั้น หลาย ๆ บทความของไร้สาระนุกรมก็ถูกเขียนขึ้นในลักษณะความตลกขบขันแบบเหนือจริง และคงไว้ซึ่งข้อเท็จจริงเพียงเล็กน้อย ยกตัวอย่างเช่น บทความเกี่ยวประเทศไทยของไร้สาระนุกรมกล่าวว่าประเทศไทยเป็นชื่อประเทศสมมุติเพื่อหลีกเลี่ยงการพาดพิงถึงประเทศสารขัณฑ์ ซึ่งตรงกันข้ามความเป็นจริง[18] หลายบทความในไร้สาระนุกรมมีเนื้อหาขัดแย้งกันเอง แม้จะเขียนถึงหัวข้อเดียวกันก็ตาม ไร้สาระนุกรมไทยยังยอมรับเนื้อหาที่มีลักษณะเป็นเรื่องแต่ง โดยมีข้อแม้ว่าเรื่องแต่งดังกล่าวจะต้องมีความเป็นสาธารณะ[19]

เช่นเดียวกับนโยบาย "ห้าเสาหลัก" ของวิกิพีเดีย ไร้สาระนุกรมก็มีนโยบาย "ห้าเสาหลัก" ของตนเองเช่นกัน[20] กฎระเบียบในไร้สาระนุกรมตั้งอยู่บนกฎห้าข้อหลัก ได้แก่: "ไร้สาระนุกรมเป็นไร้สาระนุกรม" "ไร้สาระแบบสร้างสรรค์" "ให้เกียรติผู้อื่น" "หลีกเลี่ยงความเป็นกลาง" และ "เน้นเขียนมากกว่าลบ"[21] นอกจากนี้ไร้สาระนุกรมยังมีการนำเสนอบทความและรูปภาพคัดสรรในหน้าหลักของตนเช่นเดียวกับวิกิพีเดีย โดยผู้ใช้จะเป็นผู้ตัดสินผ่านวิธีการโหวตเพื่อคัดเลือกบทความและรูปภาพคัดสรร ซึ่งเกณฑ์การตัดสินขึ้นอยู่กับความขบขันและคุณภาพการเขียนของบทความ

หนึ่งในบทความคัดสรรของไร้สาระนุกรม คือ 555+ ซึ่งเป็นบทความที่มีเนื้อหาไม่มีความหมายที่ถูกเขียนโดยคำว่า "555+" ทั้งบทความ

บทความของไร้สาระนุกรมมักจะเริ่มด้วยคำพูดที่ถูกดัดแปลงหรือบิดเบือนไปจากเดิม ซึ่งโดยส่วนมากแล้วจะเป็นคำพูดของนายสมัคร สุนทรเวช

เช่นเดียวกันกับวิกิพีเดีย ไร้สาระนุกรมมีนโยบายเกี่ยวกับการสร้างบทความไร้สาระที่ไม่อาจเข้าใจเนื้อหาได้ โดยถือเป็นหนึ่งในเงื่อนไขย่อยของนโยบาย "การก่อเกรียน"[22] ไร้สาระนุกรมไม่ได้เข้มงวดเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนนัก แต่เนื้อหาเหล่านั้นอาจจะถูกลบออกโดยผ่านทางกระบวนการ "แจ้งลบบทความ" (คล้ายคลึงกับกระบวนการลงคะแนนเพื่อลบของวิกิพีเดีย) หากได้รับการพิจารณาว่าไม่เป็นไร้สาระนุกรม

ความตลกขบขันที่มีผลทั่วเว็บไซต์

[แก้]
โลโก้ "วิกิพีเดียเด้งดึ๋ง" ซึ่งใช้เป็นสัญลักษณ์ของสิ่งที่เกี่ยวกับวิกิพีเดียในไร้สาระนุกรม

ในบางครั้ง การล้อเลียนของไร้สาระนุกรมก็มิได้จำกัดอยู่ในเนมสเปซใดโดยเฉพาะ แต่มีผลครอบคลุมทั้งเว็บ เช่น การพาดหัว "ไร้ข่าวด่วน" ที่จะนำคำขวัญ วลี หรืออินเทอร์เน็ตมีมบางชิ้นมาเขียนล้อเลียนเป็นประกาศในชั่วระยะเวลาหนึ่ง เช่น การพาดหัวเว็บไซต์ในเดือนธันวาคมด้วยมีม "พาโดรุ" ซึ่งเขียนเนื้อร้องฉบับล้อเลียนของเพลง จิงเกิลเบลส์ ด้วยภาษาญี่ปุ่นที่ถูกปริวรรตเป็นอักษรโรมัน พร้อมกับมีภาพ GIF ของตัวละครแนโรจากวีดิโอเกม เฟต/เอกซ์ตรา ประกอบ ในส่วนของพาดหัวที่ล้อเลียนคำขวัญ จะมีลักษณะเป็นการล้อเลียนคำขวัญประจำวันหยุดและวันสำคัญต่าง ๆ เช่น วันเด็กแห่งชาติ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการทำพาดหัวเพื่อล้อเลียนข่าวและสถานการณ์ปัจจุบันที่ได้รับความสนใจในสังคมด้วย

ธรรมเนียม

[แก้]

ทุกปี ผู้ใช้ไร้สาระนุกรมจะมีธรรมเนียมว่าจะต้องทำการกดตอบกลับกระทู้ "คนในไร้สาระนุกรมหายไปไหนหมด (มาออกทะเลกันให้หลุดโลกเร็ว)" ในเนมสเปซสภาน้ำชา (อินเทอร์เน็ตฟอร์รัมของไร้สาระนุกรม) อย่างน้อยหนึ่งครั้ง โดยผู้ใช้ไร้สาระนุกรมที่ทำการ "ตอบ" จะจั่วหัวการตอบกลับนั้นว่า "ปี (พ.ศ. ปัจจุบัน) เข้าไปแล้ว" โดยในบางปีบรรดาผู้ใช้ในไร้สาระนุกรมอาจจะร่วมสนทนากันถึงความเปลื่ยนแปลงในตัวเว็บ และอื่น ๆ กระทู้ดังกล่าวถูกเรียกว่าเป็น "มรดก" ของไร้สาระนุกรม และการตอบกลับเปรียบเสมือนการ "คารวะ" ผู้ใช้รุ่นก่อนหน้า

โครงการของไร้สาระนุกรม

[แก้]
โครงการย่อย (ไร้สาระนุกรมไทย) สิ่งที่ล้อเลียน
ไร้ซอร์ซ วิกิตำราและวิกิซอร์ซ
ไร้ข่าว วิกิข่าว
ไร้พจนานุกรม วิกิพจนานุกรม
ไร้วิทยาลัย วิกิวิทยาลัย
ไร้คำคม วิกิคำคม
อันเมทา-วิกิ (โครงการร่วมพหุภาษา) วิกิมีเดีย เมทา-วิกิ
ไร้ภาพ/UnCommons[ก]
(อันไซโคลมีเดียคอมมอนส์)
วิกิมีเดียคอมมอนส์
สภาน้ำชา วิกิพีเดีย:สภากาแฟ
ไร้สนเทศ/Undata (โครงการร่วมพหุภาษา) วิกิสนเทศ
ไร้ชีวประวัติ ชีวประวัติบุคคล

นอกจากไร้สาระนุกรมจะล้อเลียนวิกิพีเดียแล้ว ไร้สาระนุกรมยังมีโครงการย่อยต่าง ๆ ที่ออกแบบมาเพื่อล้อเลียนเนื้อหารูปแบบวิกิพีเดีย ไร้สาระนุกรมเรียกโครงการย่อยเหล่านี้ว่า "โครงการเพ่น้อง"[23] ปัจจุบันไร้สาระนุกรมไทยมีโครงการย่อย 9 โครงการ[24] โดยแต่ละโครงการย่อยจะมีเนื้อหาล้อเลียนข้อมูลจำเพาะตามหัวข้อของโครงการ โดยโครงการย่อยของไร้สาระนุกรมบางโครงการอาจเป็นการล้อเลียนหรือทำเลียนแบบโครงการย่อยของวิกิพีเดีย ในขณะที่โครงการอื่น เช่น ไร้ชีวประวัติ ซึ่งเปิดให้คนทั่วไปสามารถเขียนบทความถึงใครก็ได้ที่ไม่มีชื่อเสียงโด่งดัง ไม่เป็นที่รู้จักมากพอในสังคม หรือรู้จักกันเฉพาะกลุ่ม ทั้งสังคมโลกแห่งความจริงและสังคมอินเทอร์เน็ต เป็นโครงการที่ริเริ่มโดยไร้สาระนุกรมไทยเอง โดยเนื้อหาของบทความในโครงการไร้ชีวประวัติจะต้องไม่ขัดต่อนโยบายหลักของไร้สาระนุกรมไทย มิใช่จะเขียนว่าผู้ใดในทางลบก็ได้

การกล่าวถึงในสื่อ

[แก้]

ไร้สาระนุกรมได้รับการกล่าวถึงในหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียงหลาย ๆ ฉบับทั่วโลก รวมไปถึงหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์รายคาบในภูมิภาคและท้องถิ่นต่าง ๆ อีกเป็นจำนวนมาก ใน พ.ศ. 2548 บทความปีศาจสปาเกตตีลอยฟ้า จากไร้สาระนุกรมภาษาอังกฤษได้รับการกล่าวถึงในคอลัมน์ของหนังสือพิมพ์ เดอะนิวยอร์กไทมส์ ซึ่งรายงานการแพร่หลายของ "ลัทธิพาสตาฟาเรียน" ศาสนาของผู้นับถือปีศาจสปาเกตตีลอยฟ้า[25] คอลัมน์ดังกล่าวได้ถูกตีพิมพ์ซ้ำในหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ อีกหลายสำนัก รวมไปถึง ไทเปไทมส์[26] นอกจากนี้ นิตยสาร .net ยังได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ของโจนาธาน หวง เกี่ยวกับไร้สาระนุกรมออกมาในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2550[5] มีบทความอีกจำนวนมากที่เน้นการกล่าวถึงบทความใดบทความหนึ่งของไร้สาระนุกรมโดยเฉพาะ เช่น บทความของหนังสือพิมพ์ แอริโซนาเดลีสตาร์ ซึ่งกล่าวถึงบทความล้อเลียนเมืองทูซอนอย่างเจาะจง[27] และบทความของหนังสือพิมพ์ ไซปรัสเมล์ เกี่ยวกับบทความล้อเลียนประเทศไซปรัส[28]

นอกเหนือจากการพูดถึงตัวบทความต่าง ๆ ในเว็บไซต์แล้ว หนังสือพิมพ์หลายฉบับยังพูดถึงตัวไร้สาระนุกรมในภาพรวมด้วย—ส่วนใหญ่แล้วสามารถพบได้ตามหน้าที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีหรืออินเทอร์เน็ต ยกตัวอย่างเช่น บอสตันแฮราลด์ และ เดอะการ์เดียน[29][30] แม้บทความส่วนใหญ่ที่กล่าวถึงไร้สาระนุกรมโดยส่วนมากจะมีหาเกี่ยวกับตัวเว็บไซต์เอง แต่บางครั้งชื่อของไร้สาระนุกรมก็ถูกอ้างถึงเพียงประโยคสั้น ๆ ในบทความเกี่ยวกับวิเกีย หรือวิกิพีเดีย เช่น บทบรรณาธิการของเว็บไซต์ เดอะเรจิสสเตอร์ ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับอุบัติการณ์ซีเกินทอเลอร์ โดยมีการกล่าวถึงไร้สาระนุกรมเพียงครั้งเดียวตลอดบทความดังกล่าว[31] ไร้สาระนุกรมยังถูกจัดอยู่ใน "100 อันดับเว็บไซต์ที่ยังไม่มีใครค้นพบ" ในนิตยสาร พีซีแมกาซีน,[32] และ "101 เว็บไซต์มีประโยชน์ที่สุด" บนอินเทอร์เน็ตโดย เดอะซันเดย์เทลิกราฟ[33] ซีแอตเทิลโพสต์-อินเทอร์เลอเจนเซอร์ มองว่าไร้สาระนุกรมเป็น ดิออเนียน ในรูปแบบเว็บวิกิ[34]

สำหรับในประเทศไทย ไร้สาระนุกรมเคยถูกอ้างอิงถึงคำว่า "แอ๊บแบ๊ว" ในหนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 ในหัวข้อ "ไร้สาระ" [35] และหนังสือพิมพ์ มติชน เขียนถึงไร้สาระนุกรมว่า "น่าจะ" เป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่น[36]ในขณะที่บทความหนึ่งของเว็บไซต์ข่าวประชาไทมีการกล่าวถึงบทความ "หยง" ของไร้สาระนุกรมในฐานะตัวอย่างของอินเทอร์เน็ตมีมที่ล้อเลียนนาถพงศ์ อัมพรอร่ามเวทย์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ประมูล.คอมด้วย[37]

ข้อวิจารณ์และคำครหา

[แก้]

ในหลาย ๆ ครั้ง บทความต่าง ๆ ของไร้สาระนุกรมถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยโรงเรียนคิงส์คอลเลจ ออกแลนด์ [38] นอร์ท-เวสต์อีฟนิงเมล์[39] นักการเมืองชาวไอร์แลนด์เหนือ เจมส์ แม็คแคร์รี (James McCarry)[40] บรรดาผู้นำท้องถิ่นในเทลฟอร์ด ของเทศมณฑลชรอปเชอร์ในสหราชอาณาจักร[41] ซิกซอว์ซิตี้จอร์เนล[42] ฮอเคอเบย์ทูเดย์[43] และ โลชาเบอร์นิวส์ (Lochaber News)[44]

ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2551 กระทรวงความมั่นคงภายในของประเทศมาเลเซียได้ออกคำเตือนให้เหล่าบรรณาธิการหนังสือพิมพ์อย่าเชื่อข้อมูลในไร้สาระนุกรม โดยมีใจความว่าบทความเกี่ยวกับประเทศมาเลเซียนั้นประกอบไปด้วยเนื้อหาที่ "ไม่เป็นความจริง ดูถูกเหยียดหยาม และเป็นการเยาะเย้ย" อีกทั้งยังส่งผลเสียต่อประเทศอีกด้วย[45][46]

ไร้สาระนุกรมมีการจัดวางหน้าที่คล้ายคลึงกับวิกิพีเดีย[47] ซึ่งอาจจะทำให้มีผู้เข้าใจผิดคิดว่าเนื้อหาในไร้สาระนุกรมเป็นข้อเท็จจริงได้[48][49]

เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2555 หน้าบทความ "ฮาวทู: ฆ่าตัวตาย" บนไร้สาระนุกรมภาษารัสเซีย (Absurdopedia) ถูกสั่งห้ามโดยสำนักงานกำกับสิทธิผู้บริโภคและสวัสดิภาพมนุษย์ (รอซโพเทรเบนาซอร์ ,Rospotrebnadzor) ผู้ดูแลของไร้สาระนุกรมภาษารัสเซีย เอ็ดเวิร์ด เชอร์เนนโก (Edward Chernenko) พยายามตอบโต้ด้วยการฟ้องร้อง โดยอ้างสิทธิทางวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมซึ่งได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญรัสเซีย แต่ไม่สำเร็จ โดยระหว่างการส่งฟ้องนั้น ทางรัฐบาลรัสเซียและผู้เชี่ยวชาญของพวกเขาอ้างว่าไร้สาระนุกรมภาษารัสเซียมีเจตนาเพิ่มยอดสถิติการทำอัตวินิบาตกรรมในเด็ก ด้วยการเผยแพร่ขั้นตอนการทำอัตวินิบาตกรรมเพื่อให้เด็ก ๆ นำไปปฏิบัติตาม [50][51] ตามข้อมูลจาก พ.ศ. 2556 ระบุว่าคดีนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาโดยศาลสิทธิมนุษย์ชนยุโรป[52]

ต่อมาใน พ.ศ. 2557 หน้า "ฮาวทู:ทำระเบิดที่บ้าน" บนไร้สาระนุกรมภาษารัสเซียถูกนำเข้าบัญชีรายการเนื้อหารุนแรงของประเทศรัสเซีย[53]

และใน พ.ศ. 2560 มีการสั่งห้ามบทความของไร้สาระนุกรมภาษารัสเซียเพิ่มอีกสองบทความ ได้แก่: "ฮาวทู:อาบน้ำให้แมว" ด้วยเหตุผลว่า "เป็นการสนับสนุนการทารุณกรรมสัตว์" และ "ฮาวทู:ทำระเบิดนิวเคลียร์" เพราะ "เป็นข้อมูลสำหรับผลิตอาวุธ"[54]

นอกจากนี้ ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2557 โลโก้ของบริษัทเบเกอรี่เกรกส์ (Greggs) บนแผ่นป้ายโปรไฟล์ของกูเกิล เกิดแสดงผลเป็นรูปโล้โก้ที่ใช้ในบทความล้อเลียนบริษัทดังกล่าวบนไร้สาระนุกรมภาษาอังกฤษ (ในขณะนั้นยังอยู่บนแพลตฟอร์มวิเกีย) เป็นการชั่วคราว ซึ่งมีสาเหตุมาจากปัญหาเกี่ยวกับข้อมูลแคช ก่อให้เกิดวิกฤตด้านการประชาสัมพันธ์ให้กับบริษัท[55][56]

ไร้สาระนุกรมในภาษาต่าง ๆ

[แก้]

แนวคิดของไร้สาระนุกรมได้ถูกนำไปปรับใช้ในอีกกว่าแปดสิบภาษา [14] เช่นเดียวกับโครงการไร้ข่าว ซึ่งมีการก่อตั้งเป็นโครงการย่อยในไร้สาระนุกรมในอีกสิบแปดภาษา[57] ไร้สาระนุกรมภาษาต่างประเทศแห่งแรก (ไม่นับภาษาอังกฤษซึ่งเป็นต้นฉบับ) ถูกสร้างขึ้นในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2548 คือไร้สาระนุกรมภาษาฝรั่งเศส[58] ไร้สาระนุกรมภาษาที่ 50 คือ ไร้สาระนุกรมภาษาเบงกอล ได้เปิดให้บริการในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551[6]

ไร้สาระนุกรมภาษาต่าง ๆ สามารถสร้างอัตลักษณ์ชุมชนของตนได้อย่างอิสระ แต่ส่วนมากแล้วจะคงสัญลักษณ์และชื่อไว้ตามฉบับภาษาอังกฤษ ยกตัวอย่างเช่น ในภาษาเยอรมันและภาษาอังกฤษ ต่างเรียกไร้สาระนุกรมในภาษาของตนว่า "อันไซโคลพีเดีย" เหมือนกัน

ไร้สาระนุกรมภาษากรีก (Frikipaideia)

[แก้]

ไร้สาระนุกรมภาษากรีก (Φρικηπαίδεια เป็นการผสมคำระหว่าง φρίκη + εγκυκλοπαίδεια อ่านว่า "เฟรกิพีเดอา") ถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 เดิมมีชื่อว่า Ανεγκυκλοπαίδεια (เป็นการทับศัพท์จากคำว่า "อันไซโคลพีเดีย" ของภาษาอังกฤษ) โดยกลุ่มผู้ใช้วิกิพีเดียชาวกรีก นำโดยผู้ใช้:Dada ซึ่งเป็นผู้ดูแลระบบของวิกิพีเดียฉบับภาษากรีกในขณะนั้น ไร้สาระนุกรมภาษากรีกเปลี่ยนมาใช้ชื่อปัจจุบันในวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2549 ปัจจุบันไร้สาระนุกรมภาษากรีกมีบทความกว่า 3,200 บทความ และผู้ใช้ลงทะเบียน 2,083 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2564) ในอดีตไร้สาระนุกรมภาษากรีกเคยมีผู้ใช้ลงทะเบียนกว่า 11 ล้านคน และมีบทความมากกว่าในปัจจุบันถึงหนึ่งร้อยเท่า ไร้สาระนุกรมภาษากรีกมีความเคลื่อนไหวมากที่สุดระหว่างปี 2549 ถึง 2553 และมีความเคลื่อนไหวอยู่บ้างจนถึงปี 2562 หลังจากเครือไร้สาระนุกรมย้ายออกจากแฟนดอมแล้ว ไร้สาระนุกรมภาษากรีกก็ซบเซาไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก่อนจะเริ่มกลับมาเคลื่อนไหวในปีต่อมา ไร้สาระนุกรมภาษากรีกมีโครงการย่อย เช่น ฟริกิวิวเลีย และฟริกิเนีย เป็นต้น (เทียบได้กับไรซอร์ซและไร้ข่าวของภาษาไทย)

ไร้สาระนุกรมภาษาเช็ก (Necyklopedie)

[แก้]

ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2548 บทความภาษาเช็ก ชื่อว่า Ross Hedvíček ถูกเผยแพร่ลงบนไร้สาระนุกรมภาษาอังกฤษ ทำให้มีการสร้างไร้สาระนุกรมภาษาเช็กขึ้นมาในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2548 และหลังจากนั้นก็เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีจำนวนบทความรวม 14,000 บทความในเดือนกันยายน พ.ศ. 2548 และมีบทความรวมกว่า 23,000 บทความในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2550 เมือถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2558 ไร้สาระนุกรมภาษาเช็กก็ประกอบไปด้วยบทความกว่า 30,000 บทความ ทำให้ไร้สาระนุกรมภาษาเช็กกลายเป็นไร้สาระนุกรมที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่สอง ณ เวลานั้น อย่างไรก็ตาม สถิตจำนวนบทความของไร้สาระนุกรมภาษาเช็กกลับลดลงอย่างมากภายใน พ.ศ. 2559 เนื่องจากเหล่าผู้ดูแลได้ทำการลบบทความคุณภาพต่ำออกเป็นจำนวนมาก[59]

นอกจากนี้ไร้สาระนุกรมภาษาเช็กยังอ้างว่าตัวละครสมมติ ยารัต ซิมเมอร์มันท์ (Jára Cimrman) เป็นผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ของตนอีกด้วย

ไร้สาระนุกรมภาษาญี่ปุ่น (Ansaikuropedia)

[แก้]

ไร้สาระนุกรมภาษาญี่ปุ่น (ญี่ปุ่น: アンサイクロペディア, Ansaikuropedia) นับเป็นเว็บไซต์ในเครือไร้สาระนุกรมที่มีขนาดใหญ่สุดเป็นอันดับที่สี่ ปัจจุบันมีจำนวนหน้ารวมกันทั้งหมดกว่า 113,567 หน้า[60] ชื่อของไร้สาระนุกรมในภาษาญี่ปุ่นมาจากการทับศัพท์คำว่า อันไซโคลพีเดีย ในภาษาอังกฤษด้วยอักษรคาตากานะ[61]ไร้สาระนุกรมภาษาญี่ปุ่นก่อตั้งขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2548[62] โครงการย่อย "ไร้ข่าว" ของไร้สาระนุกรมภาษาญี่ปุ่นเป็นที่รู้จักการลงเนื้อหาที่มีความคล้ายคลึงกับเนื้อหาข่าวจริง ๆ ซึ่งก่อให้เกิดข่าวลือและปฏิกิริยาในแง่ลบบนทวิตเตอร์ [ต้องการอ้างอิง]

ไร้สาระนุกรมภาษาดัชต์ (Oncyclopedia)

[แก้]

ไร้สาระนุกรมภาษาดัชต์เริ่มต้นขึ้นในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2549 ในระยะเวลาครึ่งปี ไร้สาระนุกรมภาษาดัชต์มีจำนวนบทความทั้งสิ้นประมาณ 350 บทความ และมีหน้ารวมกันทั้งหมด 500 หน้าเมื่อถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2550 ต่อมาบทความขนาดสั้น 150 บทความได้ถูกย้ายไปยังโครงการย่อยแห่งใหม่ "OnWoordenboek der Nederlandse Taal" ( "ไร้พจนานุกรมภาษาดัชต์") ทำให้การมีส่วนร่วมของผู้ใช้ใหม่เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 ไร้สาระนุกรมภาษาดัชต์ได้เปิดโครงการย่อยโครงการที่สอง คือ OnNieuws (ไร้ข่าว) เป็นการรวบรวมเนื้อหาข่าวไร้สาระ โดยข่าวนั้นอาจจะเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นมาหรือเป็นข่าวจริงที่เขียนด้วยสำนวนขบขันก็ได้ ราว ๆ วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2550 ไร้สาระนุกรมภาษาดัชต์ได้ทำการเปลี่ยนชื่อจาก[63] Onziclopedie เป็น Oncyclopedia (Neerlandica) ภายหลังได้มีการริเริ่มโครงการย่อยอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น OnZinnen (ไร้คำคม)[64] OnBoeken (เทียบเท่า UnBooks ของภาษาอังกฤษ)[65] และ Oncycloversiteit (ไร้วิทยาลัย)[66] ไร้สาระนุกรมภาษาดัชต์ยังมีโครงการสถานีวิทยุสมมติเป็นของตนเอง เรียกว่า OnRadio [67] [68] ซึ่งสามารถรับฟังได้ผ่านเว็บล็อกของไร้สาระนุกรมภาษาดัชต์เท่านั้น ตัวเว็บไซต์กลายมาเป็นที่รู้จักจากบทความเกี่ยวกับดนตรีแนวอีโม วงโทคิโอโฮเทล และการฆ่าตัวตาย บทความเหล่านี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในอดีต แต่เหล่าผู้ดูแลระบบ ก็มักจะไม่ดำเนินการใด ๆ เพราะพวกเขามองว่าคำพากษ์วิจารณ์เหล่านั้นเป็นความเห็นที่ไม่สร้างสรรค์เสียเป็นส่วนใหญ่ บางครั้งผู้ดูแลอาจจะพิจารณาใช้มาตราการบล็อกตามมาด้วย แต่จะจำกัดเฉพาะกรณีที่มีการใช้คำหยาบเท่านั้น [69] เมื่อถึงปลายเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2554 ไร้สาระนุกรมภาษาดัชต์มีจำนวนบทความมากกว่า 2,150 บทความ[14]

นอกจากนี้ ไร้สาระนุกรมภาษาดัชต์ยังมีโครงการ "Oncyclopolis"[70] ซึ่งเป็นโครงการสร้างนครรัฐสมมติ ชื่อว่า Oncyclopolis โดยมีระบบตำแหน่งในโครงการเป็นของตนเอง (ระดับตำแหน่งจะขึ้นอยู่กับจำนวนบทความที่สร้าง สิทธิและหน้าที่ของผู้ใช้) คล้ายกับระบบที่ใช้ในไร้สาระนุกรม

ไร้สาระนุกรมภาษาเดนมาร์ก (Spademanns Leksikon)

[แก้]

ไร้สาระนุกรมภาษาเดนมาร์ก (Spademanns Leksikon)[71] ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2549 โดยผู้ใช้:Lhademmor ไร้สาระนุกรมภาษาเดนมาร์กไม่ได้ใช้ชื่อที่มีคำว่า "pedia" และโล้โก้รูปจิ๊กซอว์มันฝรั่งอย่างไร้สาระนุกรมส่วนใหญ่ แต่เลือกใช้โลโก้ที่มีความคล้ายคลึงกับ เอสตราบราเด็ต (Ekstra Bladet) หนังสือพิมพ์รายใหญ่ที่สุดในประเทศเดนมาร์กแทน

ใน พ.ศ. 2555 ไร้สาระนุกรมภาษาเดนมาร์กมีบทความรวม 6,000 บทความ ไร้สาระนุกรมภาษาเดนมาร์กยังเคยร่วมล้อเลียนชาวสวีเดนว่าไม่มีอารมณ์ขันกับไร้สาระนุกรมภาษานอร์เวย์ (Ikkepedia) เนื่องจากไร้สาระนุกรมภาษาสวีเดนมีบทความน้อยกว่าภาษาทั้งสอง มุกตลกและมีมที่มีการใช้ในเว็บไซต์ ได้แก่ การบูชาชัค นอร์ริส เป็นเสมือนดั่งวีรบรุษทางความเชื่อ การเขียนบทความโดยอิงสำนวนการเขียนของฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน ซึ่งอ้างว่ามีรสนิยมรักร่วมเพศ รวมไปถึงการเขียนโดยสวมบทบาทเป็นตัวละครสมมติ ได้แก่ ออมบู แฮงค์วาร์ด (Omboo Hankvald) เฮอร์ม็อด สเปร็ดมันท์ (Hermod Spademann) กูเบอนิช แฮงค์วาร์ด (Gubernichte Hankvald, แม่ของออมบู) และ โทเอล ฮาร์ทมันท์ (Troels Hartmann) และการใช้รูปที่คล้ายคลึงกับแบร์รี ไวต์ในบทความ "พระเจ้า"[72]

ไร้สาระนุกรมภาษาฝรั่งเศส (Désencyclopédie)

[แก้]

ไร้สาระนุกรมภาษาฝรั่งเศส (Désencyclopédie) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2548 โดยเหล่าบล็อกเกอร์ชาวเกแบ็ก ก่อนที่บรรดาผู้ดูแลจะค่อย ๆ ทิ้งร้างตัวเว็บ จนกระทั่งเหล่าอาสาสมัครผู้พูดภาษาฝรั่งเศสมารับช่วงต่อใน พ.ศ. 2550 ในวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2562 แฟนดอม (วิเกียเดิม) ได้ปิดตัวไร้สาระนุกรมภาษาฝรั่งเศสบนแพลตฟอร์มของตนลง กระนั้น บทความที่ไม่ขัดต่อข้อกำหนดการใช้งานของแฟนดอมได้ถูกรวบรวมไปไว้บนเว็บไซต์อื่น และยังสามารถแก้ไขได้ตามเดิม[73]

ไร้สาระนุกรมไทย

[แก้]

ไร้สาระนุกรมภาษาไทย เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2549 ในลักษณะของหน้าย่อยในไร้สาระนุกรมภาษาอังกฤษ[74] โดยในครั้งนั้น ผู้เริ่มต้นจัดทำได้ตั้งชื่อภาษาไทยของอันไซโคลพีเดียว่า "ไร้สาระนุกรม" และหลังจากนั้นได้ไม่นาน ทางไร้สาระนุกรมภาษาอังกฤษ ได้จัดแยกออกมาเป็นไร้สาระนุกรมภาษาไทย โดยนำประวัติการแก้ไขของหน้าหลักย่อยเดิมมารวมไว้ด้วย[75]

เอกลักษณ์ของไร้สาระนุกรมไทยคือการล้อเลียนและนำหัวหัวข้อต่าง ๆ มาทำให้ขำขัน ด้วยการบิดเบือนคำสรรพนามชี้เฉพาะ (ชื่อบุคคล ชื่อประเทศ ชื่อสินค้า ชื่อจังหวัด ชื่อบริษัท ชื่อสถานที่ ชื่อหน่วยงาน ชื่อองค์กร ชื่อเว็บไซต์ ชื่อสโมสรกีฬา ชื่อวงดนตรี ฯลฯ) เช่น ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีไทย ถูกล้อเป็น ทุจศิล กินชะมัด กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ถูกล้อเป็น กระทรวงทำลายล้างเทคโนโลยีสารสนเทศและปิดกั้นการสื่อสาร สโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูล ถูกล้อเลียนชื่อเป็น ลิเวอร์พรุน หรือวิกิพีเดีย ก็ถูกเรียกล้อเลียนในชื่อ วิเกรียนพีเดีย ซึ่งในบางครั้งการล้อเลียนในลักษณะนี้ก็ก่อให้เกิดปัญหาแก่ตัวไร้สาระนุกรมเอง เนื่องจากมักจะมีผู้เข้ามาก่อกวนหรือด่าทอไร้สาระนุกรมไทยเป็นประจำ เพราะไม่เข้าใจหลักการของไร้สาระนุกรมที่เปิดให้ผู้ใดเข้ามาแก้ไขหรือสร้างบทความก็ได้ นอกจากนี้ ชานันท์ ยอดหงษ์ วิจารณ์ว่าบทความบางบทความของไร้สาระนุกรมไทยมีลักษณะเกลียดกลัวผู้รักเพศเดียวกันด้วย[76]

กระนั้น ไร้สาระนุกรมไทย ไม่ยอมรับการใช้คำหยาบด้วยความจงใจ เว้นแต่จะเป็นไปเพื่อบทความ ไม่ยอมรับการด่าทอ และ ไม่ยอมรับงานเขียนอันมีสาระหนักสมอง ซึ่งขัดต่อนโยบาย "อะไรที่ไม่ใช่ไร้สาระนุกรม"[77] บทความใด ๆ ที่ขัดต่อนโยบายดังกล่าว ย่อมถือว่าไม่ใช่สิ่งที่ควรจะมีอยู่ในไร้สาระนุกรม และจะถูกแจ้งลบถ้ามีการพบเจอ นอกจากนี้ ไร้สาระนุกรมไทยไม่ยอมรับการนำความตายหรืออาการบาดเจ็บของบุคคลใด ๆ มาล้อเลียน เนื่องจากไร้สาระนุกรมเห็นว่าความตายเป็นเรื่องน่าเศร้าและควรให้เกียรติผู้ตาย การนำความตายของบุคคลมาล้อเลียนจึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือไม่ก็ตาม[78]

โดยทั่วไปแล้ว ผู้ดูแลของไร้สาระนุกรมไทยมักจะยอมให้คงบทความถูกแจ้งลบไว้ประมาณ 1 เดือน เพื่อให้โอกาสผู้เขียนได้มีโอกาสแก้ไขงานของตน ซึ่งเมื่อหลังจากพ้นช่วงเวลานี้ไปแล้ว หากยังไม่มีการแก้ไขอันเป็นที่น่าพอใจ บทความนั้นจะถูกลบออกไป

ไร้สาระนุกรมไทยยังมองตนเองในฐานะฐานข้อมูลที่สามารถทดแทนสารานุกรม ในแง่ของการสะท้อนภาพอารมณ์ หรือการให้ข้อมูลเชิงประสบการณ์อีกด้วย[79]

ครั้งหนึ่ง ไร้สาระนุกรมไทยยังเคยถูกลอกเลียนแบบโดย Investment Wiki[80]ซึ่งคัดลอกซอร์ซโค้ดของไร้สาระนุกรมไทยไป[81]

ไร้สาระนุกรมภาษาโปรตุเกส (Desciclopédia)

[แก้]

ไร้สาระนุกรมภาษาโปรตุเกส (Desciclopédia) เป็นไร้สาระนุกรมที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ด้วยจำนวนหน้ากว่า 60,000 หน้า[14] ตัวเว็บเริ่มเปิดให้บริการในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2548[82] ไร้สาระนุกรมภาษาโปรตุเกสอ้างว่ามีตัวละครสมมติชื่อว่า "นายแพทย์โรแบร์โต" (Doutor Roberto) เป็นผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ ซึ่งเป็นการเสียดสีโรแบร์โต มารินโญ (Roberto Marinho) เจ้าของผู้ทรงอิทธิพลของสถานีโทรทัศน์เรจีโกลบูผู้ล่วงลับ มุกตลกในลักษณะนี้นิยมนำมาล้อเลียนบุคคลที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปในประเทศบราซิล เช่น รูปภาพของเดอร์ซี กอนซาลเวส (Dercy Gonçalves) นักแสดงตลกและศตวรรษิกชน ถูกนำไปตัดต่อเป็นนางแบบนิตยสาร เพลย์โอลด์ (Playold) (ล้อเลียนนิตยสารเพลย์บอย) ใบหน้าของนักแสดงหญิงคลาวเดีย ไรเออา (Cláudia Raia) ถูกนำไปตัดต่อกับภาพปลากระเบนธง (คำว่า Raia ในภาษาโปรตุเกสแปลว่าปลากระเบนธง)[83] นอกจากนี้ ผู้นำทางการเมือง เช่น ลูอิส อีนาซียู ลูลา ดา ซิลวา ("ลูลา" ในภาษาโปรตุเกสแปลว่า "หมึกกล้วย") มักจะถูกนำมาล้อเลียนโดยไร้สาระนุกรมภาษาโปรตุเกสอยู่เสมอ ๆ[84][85] เช่นเดียวกับบรรดานักร้อง นักกีฬา และบุคคลสาธารณะอื่น ๆ [86]

ไร้สาระนุกรมภาษาโปรตุเกสใช้วิธีโดเมนแฮ็ก (Domain hack) ในการตั้งชื่อโครงการย่อยต่าง ๆ เช่น Desnotícias ("notícias" แปลว่า "ข่าว") Descionário (แผลงมาจาก "dicionário" หมายถึง "พจนานุกรม") Deslivros (มาจาก "biblioteca" ที่แปลว่า "ห้องสมุด") และ Desentrevistas ("entrevistas" แปลว่า "การสัมภาษณ์") ทำนองเดียวกับชื่อ "ไร้ข่าว" "ไร้พจนานุกรม" และ "ไร้ซอร์ซ" ในภาษาไทย

ไร้สาระนุกรมภาษาโปแลนด์ (Nonsensopedia)

[แก้]

แต่เดิมไร้สาระนุกรมภาษาโปแลนด์ (Nonsensopedia) ไม่ได้มีความแตกต่างจากไร้สาระนุกรมภาษาอื่นแต่อย่างใด แต่ในภายหลังไร้สาระนุกรมภาษาโปแลนด์ได้มีแนวทางแตกต่างจากเว็บไซต์อื่นในเครือ เช่น การปฏิบัติตามกฎหมายลิขสิทธิ์อย่างเคร่งครัด และสนับสนุนให้ผู้ใช้อัปโหลดเฉพาะสื่อเสรีเท่านั้น[87] ไร้สาระนุกรมภาษาโปแลนด์สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2548[88] ปัจจุบันมีหน้าทั้งหมดรวมทั้งหมดกว่า 19,000 หน้า[89] โดยแต่เดิมไร้สาระนุกรมภาษาโปแลนด์เก็บข้อมูลอยู่ที่วิกิซิตี้ส์ (Wikicities ต่อมาคือวิเกียและแฟนดอมตามลำดับ) แต่ปัจจุบันได้ย้ายไปใช้เซิร์ฟเวอร์อิสระที่โดเมน nonsa.pl ตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2562

ไร้สาระนุกรมภาษาฟินแลนด์ (Hikipedia)

[แก้]

ไร้สาระนุกรมในภาษาฟินแลนด์เรียกว่า Hikipedia (มาจากคำภาษาฟินแลนด์ hiki แปลว่า "เหงื่อ" และพยางค์หลังของคำว่า "สารานุกรม" ในภาษาอังกฤษ [encyclopedia] เป็นการล้อเลียนชื่อ "วิกิพีเดีย") ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2548 แต่เดิมไร้สาระนุกรมภาษาฟินแลนด์เป็นโครงการวิกิอิสระ ก่อนที่จะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการไร้สาระนุกรมในภายหลัง ใน พ.ศ. 2554 ไร้สาระนุกรมภาษาฟินแลนด์มีจำนวนบทความมากกว่า 7,000 บทความ และหน้ารวมกันทั้งหมดมากกว่า 38,000 หน้า[90]

ไร้สาระนุกรมภาษารัสเซีย (Absurdopedia)

[แก้]

แรกเริ่มไร้สาระนุกรมภาษารัสเซีย (Absurdopedia) ได้รับการก่อตั้งขึ้นบนวิเกีย ในวันที่ 24 พ.ศ. 2549 โดยใช้โดเมนว่า absurdopedia.wikia.com[91] ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2553 เว็บไซต์ฟอร์กของไร้สาระนุกรมภาษารัสเซียได้ถูกสร้างขึ้น โดยใช้โดเมนว่า absurdopedia.net[92] ต่อมาในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2562 ไร้สาระนุกรมภาษารัสเซียบนวิเกียได้ย้ายไปยังโดเมน absurdopedia.wiki[93] ซึ่งทำหน้าที่เป็นไร้สาระนุกรมฉบับภาษาสแลง "โอบาเนียน" (Olbanian) ของไร้สาระนุกรมภาษารัสเซีย[94]

ไร้สาระนุกรมภาษาสเปน (Inciclopedia)

[แก้]

ไร้สาระนุกรมภาษาสเปน (Inciclopedia) ก่อตั้งขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549[95] เพื่อรองรับเนื้อหาจากวิกิเรื่องขบขันสัญชาติสเปน ฟริกิพีเดีย (Frikipedia) ซึ่งปิดตัวลงหลังจากถูกฟ้องร้องโดยสมาคมนักประพันธ์และผู้จัดจำหน่าย[96] ซึ่งเป็นองค์กรของผู้ถือลิขสิทธิ์ดนตรีในประเทศสเปน เนื่องจากไม่พอใจในเนื้อหาบทความเกี่ยวกับพวกเขาบนฟริกิพีเดีย[95] แต่ในท้ายที่สุดฟริกิพีเดียก็ได้เปิดให้บริการอีกครั้ง

บุคคลที่มีชื่อเสียงบางราย เช่น นักร้องแนวโฟล์กชาวชิลี เอลมอนเตกัวลิโน (El Monteaguilino) และสมาชิกวุฒิสภาเปโดร มูนอซ (Pedro Muñoz) ได้ออกมาแสดงความไม่พอใจที่ไร้สาระนุกรมภาษาสเปนได้ทำการล้อเลียนธงชาติและตราแผ่นดินของประเทศชิลี[97] นอกจากนี้รายการโทรทัศน์ โนเช ฮาเช (Noche Hache) ทางสถานีโทรทัศน์ทีวีคัวโตรของประเทศสเปน ยังกล่าวถึงไร้สาระนุกรมภาษาสเปนว่าเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนคำประกาศเล่น ๆ ของเอบา ฮาเช (Eva Hache) ที่ว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศอีกด้วย[98]

ไร้สาระนุกรมภาษาอิตาลี (Nonciclopedia)

[แก้]

ไร้สาระนุกรมภาษาอิตาลี (Nonciclopedia) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 ปัจจุบันมีบทความกว่า 14,000 บทความ ไร้สาระนุกรมภาษาอิตาลีมีโครงการย่อยเช่นเดียวกับไร้สาระนุกรมภาษาอื่น ๆ ยกตัวอย่างเช่น โครงการย่อย Manuali (ปัจจุบันรู้จักกันในนาม Nonbooks) ซึ่งรวบรวมคู่มือวิธีการทำสิ่งต่าง ๆ ที่นำไปใช้ไม่ได้จริง หรือมีเจตนาขบขัน (เช่น วิธีการพิชิตอังกฤษใน 4 ขั้นตอน)[99] Horroscopo ซึ่งล้อเลียนการทำนายดวงชะตา NonNotizie โครงการย่อยล้อเลียนวิกิข่าว และโครงการย่อย Walk of Shame ซึ่งล้อเลียนฮอลลีวูดวอล์กออฟเฟม โดยจุดประสงค์ของโครงการนี้คือการเก็บรวบรวมบทความคุณภาพ ไร้สาระนุกรมภาษาอิตาลีมีการโหวต บทความประจำสัปดาห์ เช่นเดียวกับไร้สาระนุกรมในภาษาอื่น ๆ และบทความบางบทความยังมีการอ่านเนื้อหาบทความด้วยเสียง โดยสมาชิกไร้สาระนุกรมภาษาอิตาลีร่วมกันอ่านบทความนั้นและนำมาจัดทำเป็นไฟล์เสียง หัวข้อและบุคคลที่ถูกนำมาล้อเลียนบ่อยครั้ง ได้แก่ วิกิพีเดีย ชัค นอร์ริส ปิแอร์ เปาโล ปาโซลินี ซิลวีโอ แบร์ลุสโกนี วัฒนธรรมย่อยอีโม ฟรีดริช นีทเชอ เจอร์มาโย มอสโกนี ประเทศสมมติ สเวียร์เกีย (Svervegia) และผู้ที่เข้ามาก่อกวนไร้สาระนุกรมเนื่องจากรู้สึกไม่พอใจในเนื้อหาของบทความบนตัวเว็บไซต์ ปัจจุบันการใช้มุกล้อเลียนที่เกี่ยวข้องกับ ชัค นอร์ริส สเวียร์เกีย และหัวข้อเกี่ยวกับแนวดนตรีอีโมพบเห็นได้ไม่บ่อยนัก เนื่องจากบทความล้อเลียนเกี่ยวกับหัวข้อทั้งสามในไร้สาระนุกรมภาษาอิตาลีมักถูกก่อกวนอยู่บ่อยครั้งจากผู้ใช้ใหม่ ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2554 ไร้สาระนุกรมภาษาอิตาลีได้ทำการปิดตัวลงเป็นการชั่วคราวโดยคณะผู้ดูแล หลังจากถูกนักร้องวาสโก รอสซี (Vasco Rossi) ข่มขู่ดำเนินคดี[100] ซึ่งทำให้เกิดขบวนการประท้วงขึ้นในเฟซบุ๊กและบริการเครือข่ายสังคมอื่น ๆ ตามมา[100]

สติวปิดอิเดีย (Stupidedia)

[แก้]

สติวปิดอิเดีย (เป็นการนำคำว่า โง่ [Stupid] และพยางค์หลังของคำว่า "สารานุกรม" ในภาษาอังกฤษ [encyclop edia] มาผสมกัน) เป็นโครงการวิกิสัญชาติออสเตรีย ซึ่งมีเนื้อหาแนวเสียดสี[101][102] สติวปิดอิเดียก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2547 โดยดาวิด ซอว์กา (David Sowka) นับเป็นโครงการวิกิเรื่องขบขันแห่งแรก สติวปิดอิเดียกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการไร้สาระนุกรมใน พ.ศ. 2553 โดยถือเป็นแขนงหนึ่งของไร้สาระนุกรมฉบับภาษาเยอรมัน (โครงการไร้สาระนุกรมภาษาเยอรมันอีกแห่งหนึ่ง คือ de.uncyclopedia.co ก่อตั้งในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2548) สติวปิดอิเดียนับเป็นโครงการไร้สาระนุกรมในภาษาเยอรมันที่มีขนาดใหญ่สุด ข้อมูลเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2557 ระบุว่าสติวปิดอิเดียมีบทความประมาณ 22,412 บทความ ตัวเว็บไซต์มีคำขวัญว่า "Wissen Sie Bescheid? Nein? Wir auch nicht!" (คุณรู้คะแนนรึเปล่า ไม่หรอ? เราก็เช่นกัน!)

ชื่อของไร้สาระนุกรมในภาษาอื่น ๆ

[แก้]

หมายเหตุ

[แก้]

โครงการย่อยไร้ภาพเป็นคลังภาพท้องถิ่นของไร้สาระนุกรมไทย ในขณะที่ UnCommons เป็นคลังภาพร่วมของไร้สาระนุกรมทุกภาษา

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 "ไร้สาระนุกรม:สนทนาปัญหาโลกแตก". สืบค้นเมื่อ 18 June 2008.
  2. "Uncyclopedia:Donate" (วิกิ). en.uncyclopedia.co (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ October 23, 2015.
  3. "ไร้สาระนุกรม:บริจาค" (วิกิ). th.uncyclopedia.info. สืบค้นเมื่อ 4 September 2022.
  4. 4.0 4.1 Sankar, Anand (November 6, 2006). "Surely, you must be joking!". เดอะฮินดู (ภาษาอังกฤษ). เจนไน ประเทศอินเดีย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 25, 2007. สืบค้นเมื่อ February 11, 2007.
  5. 5.0 5.1 "The brains behind Uncyclopedia" [มันสมองเบื้องหลัง "อันไซโคลพีเดีย"] (ภาษาอังกฤษ). .net. May 3, 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 1, 2007. สืบค้นเมื่อ November 19, 2007.
  6. 6.0 6.1 "List of Uncyclopedias by date created" [รายชื่อไร้สาระนุกรมเรียงตามวันที่เปิดให้บริการ] (วิกิ). uncyclopedia.info (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 12 July 2021.
  7. "ไร้สาระนุกรม" (วิกิ). ไร้สาระนุกรม. สืบค้นเมื่อ 3 June 2021.
  8. Palmer, Craig L. (September 26, 2016). "Wikia is now Fandom powered by Wikia". ศูนย์กลางชุมชน (Community Central) (ภาษาอังกฤษ). บริษัทวิเกีย. สืบค้นเมื่อ October 5, 2016.
  9. "Forks in the road - Uncyclopedia moving from Wikia, a discussion". Uncyclopedia.wikia.com (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-03-27. สืบค้นเมื่อ February 28, 2019.
  10. "A message from Fandom" [สารจากแฟนดอม] (ภาษาอังกฤษ). อันไซโคลพีเดีย (วิเกีย). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 28, 2019. สืบค้นเมื่อ February 27, 2019. ... So we are looking again at Uncyc’s content, and have decided that it’s not the sort of thing that we want to host anymore. (...เราหันมามองเนื้อหาของอันไซฯ [ไร้สาระนุกรม] อีกครั้ง และเราก็ได้ตัดสินใจว่านี้ไม่ใช่เนื้อหาที่เราต้องการจะให้มีในที่ของเราอีกต่อไป)
  11. "Unmeta Forum:Reorganization of the whole Uncycs" (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 17 April 2021.
  12. Quievryn, Tim (May 21, 2018). "The Future of Monobook on FANDOM". Community Central. Wikia, Inc. สืบค้นเมื่อ May 21, 2018.
  13. "R.I.P. Monobook - any aftermath plan?" (ภาษาอังกฤษ). อันไซโคลพีเดีย (วิเกีย). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-03-27. สืบค้นเมื่อ June 16, 2018.
  14. 14.0 14.1 14.2 14.3 "Uncyclopedia Babel" (วิกิ). ไร้สาระนุกรม (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ April 20, 2008.
  15. "UnMeta:About". ไร้สาระนุกรม อันเมทา-วิกิ (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (วิกิ)เมื่อ October 15, 2007. สืบค้นเมื่อ November 17, 2007.
  16. "ไร้สาระนุกรม" (วิกิ). สืบค้นเมื่อ 21 June 2021.
  17. "ไร้สาระนุกรม - สถิติ" (วิกิ). ไร้สาระนุกรม. สืบค้นเมื่อ 21 June 2021.
  18. "ประเทศไทย – ไร้สาระนุกรม" (วิกิ). ไร้สาระนุกรม. สืบค้นเมื่อ 22 June 2021.
  19. "ไร้สาระนุกรม:เรื่องแต่ง" (วิกิ). ไร้สาระนุกรม. สืบค้นเมื่อ 22 June 2021.
  20. "ไร้สาระนุกรม:ห้าเสาหลัก" (วิกิ). ไร้สาระนุกรม. สืบค้นเมื่อ 22 June 2021.
  21. "ไร้สาระนุกรม:นโยบายและแนวปฏิบัติ" (วิกิ). ไร้สาระนุกรม. สืบค้นเมื่อ 22 June 2021.
  22. "ไร้สาระนุกรม:การก่อเกรียน" (วิกิ). ไร้สาระนุกรม. สืบค้นเมื่อ 22 June 2021.
  23. "ไร้สาระนุกรม:โครงการเพ่น้อง" (วิกิ). ไร้สาระนุกรม. สืบค้นเมื่อ 24 June 2021.
  24. "แม่แบบ:โครงการเพ่น้อง" (วิกิ). ไร้สาระนุกรม. สืบค้นเมื่อ 24 June 2021.
  25. Boxer, Sarah (August 25, 2005). "But Is There Intelligent Spaghetti Out There?". เดอะนิวยอร์กไทมส์ (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ July 18, 2006.
  26. "'Pastafarianism' gains prominence and support in intelligent-design drive". ไทเปไทมส์ (ภาษาอังกฤษ). August 25, 2005. สืบค้นเมื่อ July 18, 2006.
  27. "Online parody of Tucson not always funny, but interesting". Arizona Daily Star. August 18, 2006. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ August 22, 2006. สืบค้นเมื่อ August 22, 2006.
    "Online parody of Tucson not always funny, but interesting". Arizona Daily Star via Wayback machine. February 14, 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 14, 2007. สืบค้นเมื่อ April 30, 2012.
  28. Christou, Jean (2007). "Cyprus that great and peaceful island". Cyprus Mail. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 3, 2007. สืบค้นเมื่อ November 6, 2007.
  29. Schorow, Stephanie (เมษายน 8, 2005). "This wiki-cool Web site lets Net surfers define world". Boston Herald. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ ตุลาคม 21, 2012. สืบค้นเมื่อ กรกฎาคม 18, 2006.
  30. Schofield, Jack (April 14, 2005). "Web Watch". Guardian Unlimited. London. สืบค้นเมื่อ July 18, 2006.
  31. Orlowski, Andrew (December 12, 2005). "There's no Wikipedia entry for 'moral responsibility'". The Register. สืบค้นเมื่อ June 24, 2006.
  32. "Top 100 Undiscovered Web Sites - Info, Reference, and Search". PC Magazine. August 27, 2007. สืบค้นเมื่อ October 20, 2007.
  33. Baker, David (March 30, 2008). "The 101 most useful websites". The Sunday Telegraph. London. p. 13.
  34. "What's Online". Seattle Post-Intelligencer. September 18, 2007. p. D6.
  35. "สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, Digital News, รายการฉบับที่ 30". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-11-23.
  36. "พบเว็บไซต์ "ไร้สาระนุกรมเสรี" ฮิตในหมู่วัยรุ่น ดัดแปลงศัพท์ "ใหม่" โพสต์ข้อความผิดเพี้ยนจากพจนานุกรม". มติชนออนไลน์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-03-21. สืบค้นเมื่อ 15 February 2009.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  37. "หยง ผู้ก่อตั้งเว็บ pramool.com เสียชีวิตแล้ว". ประชาไท. 15 August 2015. สืบค้นเมื่อ 8 May 2023. นอกจากนี้ นาถพงศ์ หรือ หยง ยังเป็นบุคคลที่ถูกผู้ใช้อินเทอร์เน็ตนำไปทำเป็น อินเทอร์เน็ตมีม ล้อเลียนด้วย รวมทั้งถูกล้ออยู่ในเว็บไซต์ Uncyclopedia หรือ ไร้สาระนุกรม ภาคภาษาไทย
  38. Woulfe, Catherine (May 28, 2006). "Schools face new cyber bullying menace". The New Zealand Herald. สืบค้นเมื่อ July 20, 2006.
  39. "What do they know?". North-West Evening Mail. June 11, 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 17, 2007. สืบค้นเมื่อ November 8, 2007.
  40. Henry, Lesley-Anne (November 10, 2007). "War of words over Ulster 'Uncyclopedia'". Belfast Telegraph. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 13, 2008. สืบค้นเมื่อ November 17, 2007.
  41. Johannsen, Tom (April 14, 2008). "Town's fury at 'Chav' slur". Shropshire Star. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-04-15. สืบค้นเมื่อ April 16, 2008.
  42. Johnson, Laura (กรกฎาคม 1, 2010). "Offended? Why does S.C. keep getting bashed on the Internet?". The Weekender. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ กรกฎาคม 16, 2011. สืบค้นเมื่อ กรกฎาคม 27, 2010.
  43. Gray, Alistair (กรกฎาคม 6, 2010). "'Flaxmurder' postings slammed". Hawke's Bay Today. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ กรกฎาคม 24, 2011. สืบค้นเมื่อ กรกฎาคม 27, 2010.
  44. Bushnell, Helen (July 22, 2010). "Fort mocked in web spoof". Lochaber News. สืบค้นเมื่อ July 27, 2010.
  45. Ooi, Jeff (January 15, 2008). "Alert over Uncyclopedia on Malaysia". CNET Asia. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 26, 2008. สืบค้นเมื่อ November 16, 2007.
  46. 侮辱大马网站 内安部冀关注 (ภาษาจีน). Kwong Wah Yit Poh. January 15, 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 17, 2008. สืบค้นเมื่อ January 16, 2008.
  47. Ray, Rich (June 21, 2008). "Web Watch". Florida Times Union. สืบค้นเมื่อ July 11, 2008.[ลิงก์เสีย]
  48. Schormann, Tobias (March 19, 2008). "Wikipedia Spoofs: Not So Serious, Pal". TechNewsWorld. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 17, 2007. สืบค้นเมื่อ March 19, 2008.
  49. Lanigan, Judith (2007). The Hula Hoop. p. 146.
  50. (ในภาษารัสเซีย) How we went to court against Rospotrebnadzor - Habrahabr, April 3, 2013.
  51. "Как правильно: судиться с Роспотребнадзором". telekomza.ru.
  52. Appeal of access block to Absurdopedia was sent to ECHR - Ria Novosti, 17.12.2013(ในภาษารัสเซีย)
  53. Сулейманов, Султан (May 5, 2014). "Кулинарные рецепты с "Абсурдопедии" дважды внесли в список экстремистских материалов — Право на TJ". TJ.
  54. Absurdopedia of real life - Roscomsvoboda, February 13, 2018 (ในภาษารัสเซีย)
  55. "Greggs Google fail - was the bakery's response to its logo mishap a stroke of marketing genius". August 20, 2014. สืบค้นเมื่อ October 29, 2014.
  56. "Greggs bakery shows how to handle a social media nightmare after offensive logo appears on Google". August 19, 2014. สืบค้นเมื่อ October 29, 2014.
  57. "แม่แบบ:ไร้ข่าวต่างภาษา" (วิกิ). ไร้สาระนุกรม. สืบค้นเมื่อ 12 July 2021.
  58. "Template:Languages". ไร้สาระนุกรม (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 13 July 2021.
  59. "Necyklopedie". สืบค้นเมื่อ December 9, 2019.
  60. "特別:統計". Ansaikuropedia (ไร้สาระนุกรมภาษาญี่ปุ่น) (ภาษาญี่ปุ่น). สืบค้นเมื่อ 20 July 2021.
  61. ネットと現実、どっちが楽しい? 「リア充」の先にある新しい友達関係. Nikkei BP (ภาษาญี่ปุ่น). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-06-17. สืบค้นเมื่อ February 6, 2008.
  62. アンサイクロペディア (วิกิ). Ansaikuropedia (ไร้สาระนุกรมภาษาญี่ปุ่น) (ภาษาญี่ปุ่น). สืบค้นเมื่อ December 6, 2007.
  63. "Forum:Naam Onziclopedie". Oncyclopedia (ไร้สาระนุกรมภาษาดัชต์) (ภาษาดัตช์). สืบค้นเมื่อ February 2, 2007.
  64. "Project:OnZinnen". Oncyclopedia (ไร้สาระนุกรมภาษาดัชต์) (ภาษาดัตช์). สืบค้นเมื่อ August 24, 2008.
  65. "Project:OnBoeken". Oncyclopedia (ไร้สาระนุกรมภาษาดัชต์) (ภาษาดัตช์). สืบค้นเมื่อ August 24, 2008.
  66. "Project:Oncycloversiteit". Oncyclopedia (ไร้สาระนุกรมภาษาดัชต์) (ภาษาดัตช์). สืบค้นเมื่อ June 16, 2009.
  67. "Project:OnRadio". Oncyclopedia (ไร้สาระนุกรมภาษาดัชต์) (ภาษาดัตช์). สืบค้นเมื่อ August 19, 2010.
  68. "Oncyblog" (ภาษาดัตช์). สืบค้นเมื่อ August 19, 2010.
  69. "Beleid/blokkeringen". Oncyclopedia (ไร้สาระนุกรมภาษาดัชต์) (ภาษาดัตช์). สืบค้นเมื่อ December 19, 2007.
  70. "Project:Oncyclopolis". Oncyclopedia (ไร้สาระนุกรมภาษาดัชต์) (ภาษาดัตช์). สืบค้นเมื่อ January 18, 2009.
  71. "Spademanns Leksikon - Forside". Spademanns Leksikon (ไร้สาระนุกรมภาษาเดนมาร์ก). สืบค้นเมื่อ 13 July 2021.
  72. "Gud - Spademanns Leksikon". Spademanns Leksikon (ไร้สาระนุกรมภาษาเดนมาร์ก). สืบค้นเมื่อ 14 July 2021.
  73. "La grande émigration des singes" (ภาษาฝรั่งเศส). สืบค้นเมื่อ December 16, 2019.
  74. "Uncyclopedia - Revision history of Babel:Th/หน้าหลัก" [ประวัติการแก้ไขหน้า Babel:Th/หน้าหลัก]. Uncyclopedia.org. 4 January 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (วิกิ)เมื่อ 26 January 2006. สืบค้นเมื่อ 23 July 2021.
  75. "ประวัติ - หน้าหลัก". ไร้สาระนุกรม. สืบค้นเมื่อ 23 July 2021.
  76. ยอดหงษ์, ชานันท์ (25 November 2016), "ระบอบปิตาธิปไตยอันมีรักต่างเพศนิยมเป็นประมุข" (PDF), เอกสารประกอบสัมมนาวิชาการประจำ ปี 2559 ASEAN: Siam-Thailand + Japan + China and + India, มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทยและมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, p. 7, สืบค้นเมื่อ 20 May 2023, ขณะเดียวกัน เว็บไซต์ไร้สาระนุกรม หรือ th.uncyclopedia ที่โจมตีล้อเลียนด่าทอในมิติต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศสภาพและเพศวิถีส่วนบุคคล ที่กลายมาเป็นคำด่าทอในไวยากรณ์ภาษา ปรากฏบนชีวประวัติและผลงานดัดแปลง ได้เปลี่ยนชื่อจักรภพ เพ็ญแข เป็น “นางจักรพวย เพ็ญตุ๋ย” และเนื้อหาเช่น “ฝึกวิชาไซย่าตรูดดำ ” “สำเร็จวิชาได้อย่างเส้นขนตรูดผ่าแปด” “เพราะเป็นกะเทยเหมือนกับเจ้านายหล่อน” “พรรคเทยรักเทย” และเคยเป็น “เจ้าหน้าที่ตรูด กรมสารนิเทศน์ กระทรวงการต่างกะเทย” สำเร็จการศึกษาจาก “สหรัฐอเมริเกย์” “สาขาความสัมพันธ์ระหว่างกะเทย” “ด้วยการโก่งตรูดทำ ข้อสอบ” ไปจนถึง

    มีการกล่าวว่าจักรภวย (หมายถึงจักรภพ เพ็ญแข–ผู้เขียน) เป็นกะเทย แต่จักรภวยได้ปฏิเสธว่า อิฉันไม่ได้เป็นกะเทยนะฮ้า ถ้าใครสนใจอยากดูตอนอิฉันร่วมเพศ วันหลังจะถ่ายคลิปอัพขึ้นยูทูปมาให้ดูกันย่ะ!" ภายใต้ข่าวลืมนั้นตัว หล่อนกลับใช้เวลาในการเลียไข่และรูตรูดของอาจารย์มาวิน ผู้มีอิทธิพลนอกรัฐธรรมนูญอย่างเมามันส์ เพื่อที่หวังจะได้กลับมามีอำนาจในการซอยถั่วดำ ในรัฐบวมอีกครั้งหนึ่ง

    และ

    ปัจจุบันอีเพ็ญก็ได้มีโอกาสนอนอยู่บ้านกินถั่วดำเป็นอาหาร 3 มื้อพร้อมกับรอคอยโอกาสที่จะได้ตุ๋ยตรูดสังสรรค์กับเพื่อนนักกินเมืองอีกครั้ง

  77. "ไร้สาระนุกรม:อะไรที่ไม่ใช่ไร้สาระนุกรม". ไร้สาระนุกรม. สืบค้นเมื่อ 23 July 2021.
  78. "การอภิปรายในไร้สาระนุกรม กรณีที่มีผู้นำการเสียชีวิตของไมเคิล แจ็กสันมาล้อเลียน". ไร้สาระนุกรม. สืบค้นเมื่อ 23 July 2021.
  79. "หมวดหมู่:สิ่งที่ชาววิเกรียนฯไม่มีวันทำได้" (วิกิ). ไร้สาระนุกรม. สืบค้นเมื่อ 18 June 2008.
  80. "Investment Wiki – หน้าหลัก". Investment Wiki. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (วิกิ)เมื่อ 2008-06-24. สืบค้นเมื่อ 10 September 2021 – โดยทาง เวย์แบ็กแมชชีน.
  81. Wildlord (26 March 2008). "บอร์ด:เออนะ มาก็อปใครไม่ก็อป" (วิกิ). ไร้สาระนุกรม. สืบค้นเมื่อ 23 June 2008.
  82. "Página principal - História" (วิกิ). Desciclopédia (ไร้สาระนุกรมภาษาโปรตุเกส) (ภาษาโปรตุเกส). สืบค้นเมื่อ December 28, 2007.
  83. "Confira verbetes da Desciclopédia sobre dez celebridades". Folha Online (ภาษาโปรตุเกส). สืบค้นเมื่อ May 4, 2008.
  84. "Wikipédia do mal escracha celebridades com humor negro". Folha Online (ภาษาโปรตุเกส). สืบค้นเมื่อ April 4, 2008.
  85. Superinteressante (February 2007), O site maís inutil (ภาษาโปรตุเกส), Editora Abril, p. 87
  86. Folhateen (April 30, 2007), Os perigos da wikipédia. (ภาษาโปรตุเกส), Folha, p. 7
  87. "Prześlij plik" (วิกิ). Nonsensopedia (ไร้สาระนุกรมภาษาโปแลนด์) (ภาษาโปแลนด์). สืบค้นเมื่อ April 7, 2019.
  88. "Nonsensopedia:Timeline" (วิกิ). Nonsensopedia (ไร้สาระนุกรมภาษาโปแลนด์) (ภาษาโปแลนด์). สืบค้นเมื่อ April 7, 2019.
  89. "Specjalna:Statystyka" (วิกิ). Nonsensopedia (ไร้สาระนุกรมภาษาโปแลนด์) (ภาษาโปแลนด์). สืบค้นเมื่อ April 7, 2019.
  90. "Tilastot – Hikipedia". Hikipedia.info. สืบค้นเมื่อ February 28, 2019.
  91. "Абсурдопедия". absurdopedia.fandom.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-03-11. สืบค้นเมื่อ March 24, 2019.
  92. "Forked wikis - Anti-Wikia Alliance". Awa.shoutwiki.com. สืบค้นเมื่อ February 28, 2019.
  93. "Абсурдопедия (Wikia) : A message from Fandom". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-03-04. สืบค้นเมื่อ March 4, 2019.
  94. "UnMeta wiki".
  95. 95.0 95.1 "Inciclopedia". Wikia (ภาษาสเปน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (Wiki)เมื่อ เมษายน 14, 2007. สืบค้นเมื่อ พฤศจิกายน 21, 2007.
  96. Pérez, Eduardo (February 22, 2008). "La SGAE gana el juicio contra 'Frikipedia' por vulnerar el derecho al honor". Indymedia. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 19, 2008. สืบค้นเมื่อ March 22, 2008.
  97. "Diario Las Ultimas Noticias" (ภาษาสเปน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 14, 2008. สืบค้นเมื่อ March 23, 2008.
  98. "Noche Hache". TV Cuatro, Madrid (ภาษาสเปน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ กุมภาพันธ์ 5, 2008. สืบค้นเมื่อ มีนาคม 23, 2008.
  99. "Conquistare l'Inghilterra in 4 semplici passi". Nonciclopedia (ไร้สาระนุกรมภาษาอิตาลี) (ภาษาอิตาลี). สืบค้นเมื่อ 19 July 2021.
  100. 100.0 100.1 "Vasco Rossi fa chiudere Nonciclopedia - Corriere della Sera". Corriere.it. สืบค้นเมื่อ February 28, 2019.
  101. "Lachen mit "Stupidedia": Wissen, das die Welt nicht braucht". Bild.de. June 19, 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-19. สืบค้นเมื่อ February 10, 2009.
  102. "Internetfundstück: Das Lexikon zum Schmunzeln". Rp-online.de. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 28, 2013. สืบค้นเมื่อ February 10, 2009.
  103. "백괴사전" (ภาษาเกาหลี).
  104. "ไร้สาระนุกรม (ไต้หว้น)".
  105. "ไร้สาระนุกรม (จีนตัวย่อ)".
  106. "Pekepedia". pekepedia.net. สืบค้นเมื่อ April 18, 2022.
  107. "Yansiklopedi:Ana Sayfa – Yansiklopedi". yansiklopedi.org. สืบค้นเมื่อ 2022-08-30.
  108. "Ikkepedia".
  109. "Laman Utama". ms.uncyclopedia.info (ภาษามาเลย์). สืบค้นเมื่อ 23 July 2021.
  110. "Intsyklopediya". incicklopedia.org. สืบค้นเมื่อ April 18, 2022.
  111. "Tolololpedia". tolololpedia.org (ภาษาอินโดนีเซีย). สืบค้นเมื่อ December 9, 2019.
  112. "Neciklopedio". Neciklopedio (ไร้สาระนุกรมภาษาเอสเปรันโต). สืบค้นเมื่อ May 24, 2019.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]