อนุสัญญากรุงเบิร์นว่าด้วยการคุ้มครองงานวรรณกรรมและศิลปกรรม
อนุสัญญากรุงเบิร์นว่าด้วยการคุ้มครองงานวรรณกรรมและศิลปกรรม (อังกฤษ: Berne Convention for the Protection of Literary and Artistic Works) หรือมักเป็นที่รู้จักกันว่า อนุสัญญาเบิร์น เป็นความตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องลิขสิทธิ์ ซึ่งได้รับการยอมรับเป็นครั้งแรกในเบิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ใน ค.ศ. 1886
เนื้อหา
[แก้]อนุสัญญาเบิร์นกำหนดให้ภาคีผู้ลงนามรับรองลิขสิทธิ์ของผลงานของนักประเทศจากภาคีประเทศผู้ลงนามอื่น (ซึ่งรู้จักกันในชื่อ สมาชิกแห่งสหภาพเบิร์น) ในวิธีเดียวกับที่ประเทศนั้นรับรองลิขสิทธิ์จากชาติตน ตัวอย่างเช่น กฎหมายลิขสิทธิ์ฝรั่งเศสมีผลใช้บังคับกับทุกอย่างที่ตีพิมพ์หรือแสดงในฝรั่งเศส ไม่ว่าผลงานนั้นจะสร้างสรรค์ขึ้นเดิมจากที่ใดก็ตาม
นอกเหนือไปจากการจัดตั้งระบบการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมซึ่งลิขสิทธิ์ที่ถูกทำให้เป็นสากลในบรรดาภาคีผู้ลงนามแล้ว ความตกลงดังกล่าวยังกำหนดให้รัฐสมาชิกจัดเตรียมมาตรฐานขั้นต่ำกฎหมายลิขสิทธิ์อย่างเข้มแข็ง
ลิขสิทธิ์ภายใต้อนุสัญญาเบิร์นจำเป็นต้องเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ซึ่งอนุสัญญาเบิร์นห้ามมิให้กำหนดให้ต้องมีแบบพิธี (formalities) ใดๆที่จะเป็นเงื่อนไขแห่งการเกิดขึ้นของลิขสิทธิ หรือเงื่อนไขในการบังคับใช้ลิขสิทธิ เช่น การบังคับให้ต้องจดทะเบียนงาน การบังคับให้ต้องใส่ข้อความสงวนสิทธิไว้ในงาน หรือการให้ส่งสำเนางานไปยังหอสมุด (deposit) เป็นต้น
อนุสัญญาเบิร์นประกาศให้ทุกผลงานยกเว้นภาพถ่ายและภาพยนตร์จะมีลิขสิทธิ์คุ้มครองเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 50 ปีหลังผู้สร้างสรรค์เสียชีวิต แต่รัฐภาคีสามารถต่อเงื่อนไขได้โดยเสรี ดังที่สหภาพยุโรปกระทำในคำสั่งว่าด้วยการประสานเงื่อนไขการคุ้มครองลิขสิทธิ์ (Directive on harmonising the term of copyright protection) พ.ศ. 2536 สำหรับภาพถ่าย อนุสัญญาเบิร์นกำหนดเงื่อนไขขั้นต่ำไว้ 25 ปีนับแต่ปีที่ภาพถ่ายนั้นสร้างสรรค์ขึ้น และสำหรับภาพยนตร์ ขั้นต่ำอยู่ที่ 50 ปีหลังออกฉายครั้งแรก หรือ 50 ปีหลังการสร้างสรรค์ หากไม่ถูกฉายภายใน 50 ปีหลังการสร้างสรรค์ ประเทศภายใต้การแก้ไขปรับปรุงครั้งก่อน ๆ ของสนธิสัญญาอาจเลือกเงื่อนไขการคุ้มครองของตนเอง และผลงานเจาะจงบางประเภท (เช่น แผ่นเสียงหรือภาพเคลื่อนไหว) อาจกำหนดไว้สั้นกว่านั้น
แม้ว่าอนุสัญญาเบิร์นจะประกาศให้กฎหมายลิขสิทธิ์ของประเทศที่ซึ่งมีการอ้างลิขสิทธิ์สามารถนำไปปรับใช้ได้ ข้อ 7.8 ระบุว่า "เว้นแต่กฎหมายของประเทศนั้นระบุเป็นอื่น เงื่อนไขนั้นจะต้องไม่เกินเงื่อนไขที่กำหนดไว้คงที่ในประเทศต้นกำเนิดผลงานนั้น" นั่นคือ ผู้ประพันธ์โดยทั่วไปจะไม่มีสิทธิในลิขสิทธิ์ในต่างประเทศนานกว่าประเทศที่ตนอยู่อาศัยนั้น แม้ว่ากฎหมายต่างประเทศกำหนดเงื่อนไขนานกว่าก็ตาม นี่เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า "กฎแห่งเงื่อนไขสั้นกว่า" ไม่ใช่ทุกประเทศที่ยอมรับกฎนี้
อนุสัญญาเบิร์นให้อำนาจแก่ประเทศที่จะอนุญาตการใช้ผลงานที่มีลิขสิทธิ์ ในลักษณะที่เป็นธรรม ภายใต้ข้อยกเว้นการละเมิดตาม มาตรา 9(2) - ซึ่งพ้องกับมาตรา 13 ของสนธิสัญญาทริปส์ (TRIPs) - ในผลงานตีพิมพ์หรือการแพร่ภาพอื่น โดยจะต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กฏหมายกำหนด และต้องไม่กระทบถึงประโยชน์อันชอบธรรมของเจ้าของลิขสิทธิ์ตามสมควร[1] หลักการข้อยกเว้นการละเมิดตามบทบัญญัติของอนุสัญญาเบิร์นจึงไม่รับรองข้อยกเว้นแบบกว้าง อย่างเช่นหลักการ "ใช้โดยชอบธรรม" หรือ fair use ตามอย่างกฎหมายลิขสิทธิของสหรัฐอเมริกาไว้โดยตรง
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Travis, Hannibal (2008). "Opting Out of the Internet in the United States and the European Union: Copyright, Safe Harbors, and International Law". Notre Dame Law Review, vol. 84, p. 383. President and Trustees of Notre Dame University in South Bend, Indiana. สืบค้นเมื่อ June 9, 2010.