หินภูเขาไฟ
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
หินภูเขาไฟ (อังกฤษ: Volcanic rock, ในบริบททางวิทยาศาสตร์ มักย่อเป็น volcanics) หรือ หินอัคนีพุ (Extrusive rock) คือหินอัคนีที่เกิดจากการเย็นตัวและตกผลึกของหินหลอมเหลวที่ไหลขึ้นมาบนผิวโลก ที่เราเรียกกันว่า ลาวา (Lava) ที่ไหลขึ้นมาสู่บนผิวโลกหรือใกล้ผิวโลกจากระเบิดของภูเขาไฟ จึงทำให้ลักษณะการเกิดหินอัคนีภูเขาไฟมีลักษณะที่มีเนื้อหินที่ละเอียด เพราะอัตราการเย็นตัวและตกผลึกของหินหลอมเหลวเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีผลทำให้หินอัคนีภูเขาไฟมีเนื้อหินหรือขนาดผลึกที่ละเอียด สังเกตผลึกหรือแร่ประกอบหินด้วยตาเปล่าได้ยาก เช่น หินบะซอลต์ หรือในบางครั้งก็เป็นเนื้อแก้วที่ไม่มีรูปผลึก เช่น หินออบซิเดียน และ หินพัมมิซ
นอกจากนี้ยังมีหินอัคนีอีกชนิดหนึ่งที่เกิดจากการทับถมของเศษหินที่ได้จากการระเบิดของภูเขาไฟ เมื่อมีการเชื่อมประสานด้วยแร่ จะได้หินที่เรียกว่า หินอัคนีตะกอนภูเขาไฟ (Pyroclastic Rocks)
การปะทุแบบไม่รุนแรง
[แก้]การปะทุแบบไม่รุนแรง เป็นการปะทุตามปล่องหรือรอยแตก รอยแยกของแผ่นเปลือกโลกลาวาไหลหลากเอ่อล้นไป ตามลักษณะภูมิประเทศ ลาวาจะถ่ายโอนความร้อนให้กับบรรยากาศภายนอกอย่างรวดเร็ว ทำให้อะตอมของธาตุ ต่าง ๆ มีเวลาน้อยในการจับตัวเป็นผลึก หินลาวาหลากจึงประกอบด้วยแร่ที่มีผลึกขนาดเล็กหรือเล็กมาก ไม่สามารถมองเห็นและจำแนกผลึกได้ด้วยตาเปล่า เช่น หินไรโอไลต์(Ryolite), หินแอนดีไซต์(Andesite), หินบะซอลต์(Basalt)
หินไรโอไลต์ (Ryolite) เป็นหินอัคนีพุซึ่งเกิดจากการเย็นตัวของลาวาที่มีความหนืดมาก มีปริมาณซิลิกามากกว่า 66 เปอร์เซ็นต์ มีเนื้อละเอียดซึ่งประกอบด้วยผลึกแร่ขนาดเล็ก มีแร่องค์ประกอบเหมือนกับหินแกรนิต แต่ทว่าผลึกเล็กมากจนไม่สามารถมองเห็นได้ ส่วนมากมีสีชมพู และสีเหลือง
หินแอนดีไซต์ (Andesite) เป็นหินอัคนีพุซึ่งเกิดจากการเย็นตัวของลาวาที่มีความหนืดปานกลาง มีปริมาณซิลิกาอยู่ในช่วง 52-66 เปอร์เซ็นต์ เกิดในลักษณะเดียวกับหินไรโอไรต์ แต่มีองค์ประกอบของแมกนีเซียมและเหล็กมากกว่า จึงมีสีเขียวเข้ม
หินบะซอลต์ (Basalt) เป็นหินอัคนีพุ เนื้อละเอียด เกิดจากการเย็นตัวของลาวาที่มีความหนืดน้อย มีปริมาณซิลิกาอยู่ในช่วง 45-52 เปอร์เซ็นต์ มีสีเข้มเนื่องจากประกอบด้วยแร่ไพร็อกซีนเป็นส่วนใหญ่ อาจมีแร่โอลิวีนปนมาด้วย เนื่องจากเกิดขึ้นจากแมกมาใต้เปลือกโลก หินบะซอลต์หลายแห่งในประเทศไทยเป็นแหล่งกำเนิดของอัญมณี (พลอยชนิดต่างๆ) เนื่องจากแมกมาดันผลึกแร่ซึ่งอยู่ลึกใต้เปลือกโลก ให้โผล่ขึ้นมาเหนือพื้นผิว
การปะทุแบบรุนแรง
[แก้]การปะทุแบบรุนแรง เป็นการปะทุแบบระเบิด เกิดตามปล่องภูเขาไฟ ขณะที่แมกมาเกิดปะทุพ่นขึ้นมาด้วยแรง ระเบิดพร้อมกับฝุ่น ก๊าซ เถ้า ไอน้ำ และชิ้นวัตถุที่มีรูปร่างขนาดต่างๆ กันกระเด็นขึ้นไปบนอากาศ ชิ้นวัตถุเหล่านี้อาจเป็นเศษหินและแร่ เย็นตัวบนผิวโลกตกลงมาสะสมตัวทำให้เกิดแหล่งสะสมชิ้นภูเขาไฟ เมื่อแข็งตัวจะเป็นหินชิ้นภูเขาไฟหรือหินตะกอนภูเขาไฟ (pyroclastic rock)ได้แก่ หินทัฟฟ์ (tuff), หินแอกโกเมอเรต (agglomerate), หินพัมมิซ (Pumice), หินสคอเรีย (Scoria), หินออบซีเดียน(Obsidian) เป็นต้น
หินทัฟฟ์ (Tuff) เป็นหินเถ้าภูเขาไฟ พบมากในบริเวณที่ราบภาคกลาง โดยพบเป็นบริเวณแคบทางด้านตะวันตกตั้งแต่ด้านตะวันตกของจังหวัดอุทัยธานี จนถึงด้านตะวันออกของจังหวัดนครสวรรค์, บริเวณเทือกเขาเพชรบูรณ์ และบริเวณฝั่งทะเลภาคตะวันออก
หินแอกโกเมอเรต(Agglomerate) หินกรวด ภูเขาไฟ เป็นหินที่เกิดจากทับถมของตะกอนภูเขาไฟ หลายขนาดจนกลายเป็นหิน
หินพัมมิซ (Pumice) เป็นหินแก้วภูเขาไฟชนิดหนึ่งซึ่งมีฟองก๊าซเล็กๆ อยู่ในเนื้อมากมายจนโพรกคล้ายฟองน้ำ มีส่วนประกอบเหมือนหินไรโอไลต์ มีน้ำหนักเบา ชาวบ้านเรียกว่า หินส้ม ใช้ขัดถูภาชนะทำให้มีผิววาว
หินสคอเรีย (Scoria)เป็นหินแข็ง สาก เปราะ เบา และมีรูพรุน ไม่ทนต่อการสึกกร่อน ใช้ทำหินสำหรับขัด
หินออบซีเดียน (Obsidian) เป็นหินอัคนีพุชนิดหนึ่งที่เกิดจากการเย็นตัวอย่างรวดเร็วจนผลึกมีขนาดเล็กมากจนถึงไม่มีเลย หินออบซีเดียนเป็นหินอัคนีพุที่มีเนื้อแก้วสีดำ
รวมภาพหินภูเขาไฟ
[แก้]-
หินไรโอไลต์ (Rhyolite)
-
หินแอนดีไซต์ (Andesite)
-
หินบะซอลต์ (Basalt)
-
หินออบซีเดียน (Obsidian)
-
หินทัฟฟ์ (Tuff)
-
หินแอกโกเมอเรต (Agglomerate)
-
หินพัมมิซ (Pumice)
-
หินสคอเรีย (Scoria)