ข้ามไปเนื้อหา

หลวงสมานวนกิจ (เจริญ สมานวนกิจ)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก หลวงสมานวนกิจ)
ศาสตราจารย์ หลวงสมานวนกิจ

ศาสตราจารย์ ดร. หลวงสมานวนกิจ มีนามเดิมว่า เจริญ สมานวนกิจ อดีตอธิบดีกรมป่าไม้[1]

ประวัติ

[แก้]

เจริญ เกิดเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2439 ที่อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี เป็นบุตรคนที่สองของนายเปีย นางแก้ว ตุ้มทอง เมื่ออายุ 7-8 ปี ได้เรียนหนังสือกับพระที่วัดข้างบ้าน ซึ่งเป็นน้องของมารดา (หลวงน้า) ได้เรียนหนังสือไทยกับหนังสือขอมและเลข และการสวดมนต์ จนอายุ 14-15 ปี จึงได้ไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ ณ โรงเรียนวัดสุทธิวราราม และได้เข้าเรียนในโรงเรียนสาขาของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน เรียนอยู่ 1 ปี แล้วย้ายไปเรียนที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยอีก 1 ปี ได้ชั้นมัธยม 1 เมื่อจบมัธยม 6 แล้วไปสมัครเรียนโรงเรียนข้าราชการพลเรือนสระปทุมเป็นเวลา 3 ปี ในแผนกยันตรศึกษาและวนศาสตร์ควบกัน

ต่อมาในปีพ.ศ. 2460 สอบชิงทุนของกระทรวงมหาดไทยได้ที่ 1 ได้ทุนไปศึกษาวิชาป่าไม้ที่ประเทศพม่า 2 ปี ที่โรงเรียนเบอร์มาฟอเรสต์ สำเร็จการศึกษาเมื่ออายุ 23 ปี แล้วเข้ารับราชการในกรมป่าไม้

งานราชการ

[แก้]

รับราชการในกรมป่าไม้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2462 ดำรงตำแหน่งรองผู้ช่วยเจ้ากรมป่าไม้ ในปี พ.ศ. 2484 ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยหัวหน้ากองค้นคว้าของป่า ต่อมามีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมป่าไม้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2493 จนถึงวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2494 และในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2496 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กระทรวงเกษตราธิการ เป็นคณบดีคณะเกษตร[2]

ผลงาน

[แก้]
  • ได้จัดตั้งโรงเรียนการป่าไม้ขึ้นที่จังหวัดแพร่ในปี พ.ศ. 2478 เป็นที่สอนวิชาการป่าไม้ทั้งในทางทฤษฎีและ ทางปฏิบัติ สำหรับบุคลากรที่จะได้เป็นพนักงานป่าไม้ในภายหน้า โรงเรียนแห่งนี้ได้เจริญมาเป็นลำดับ และได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนวนศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2481 และเข้ารวมเป็นสาขาหนึ่งของวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ต่อมาในปี พ.ศ. 2486 รัฐบาลจัดตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ขึ้น โรงเรียนวนศาสตร์โอนจากสังกัดกรมป่าไม้เข้ามาเป็นคณะหนึ่งในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คือคณะวนศาสตร์ในปัจจุบัน
  • ส่งเสริมให้มีนิตยสาร ชื่อ วนสาร ในปี พ.ศ. 2479 เพื่อเป็นหนังสือเผยแพร่กิจการและความรู้ในการป่าไม้ ในระหว่างพนักงานป่าไม้ด้วยกันและแก่บุคคลภายนอก
  • เป็นผู้บุกเบิกงานป่าไม้ และพัฒนากิจการป่าไม้ของประเทศไทยให้เจริญทัดเทียมอารยประเทศมาโดยลำดับ ทำให้กิจการป่าไม้ไทยทันสมัยจนถึงปัจจุบัน
  • เป็นผู้พัฒนาการเลี้ยงผึ้งในประเทศไทย

ผลงานหนังสือ

[แก้]
  • ชีวประวัติของกิฟฟอร์ดพินโชท์ : ผู้คุ้มครองป่าไม้ของสหรัฐอเมริกาจากการถูกทำลาย (แปลมาจากหนังสือ "Gifford Pinchot, the man who saved the forest" ซึ่งรวบรวมโดย Dale White) เมื่อปี 2504
  • ชีวิตที่รุ่งเรืองขึ้นมาจากทาส (แปลและเรียบเรียงเรื่องจากเรื่อง Up From Slavery อัตชีวประวัติของ Booker T. Washington)
  • คนถูกของคุณไสย (รวบรวม)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "เว็บไซต์กรมป่าไม้". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-03-10. สืบค้นเมื่อ 2006-12-22.
  2. เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์