ข้ามไปเนื้อหา

พระราชมงคลวัชราจารย์ (พัฒน์ ปุญฺญกาโม)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก หลวงพ่อพัฒน์)
พระราชมงคลวัชราจารย์

(พัฒน์ ปุญฺญกาโม)
หลวงปู่พัฒน์ ปุญฺญกาโม
ชื่ออื่นหลวงพ่อพัฒน์
ส่วนบุคคล
เกิด12 พฤษภาคม พ.ศ. 2465
มรณภาพ24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 (101 ปี)
นิกายมหานิกาย
การศึกษาน.ธ.เอก
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดธารทหาร นครสวรรค์
อุปสมบทพ.ศ. 2489
พรรษา77
ตำแหน่งอดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์
อดีตเจ้าอาวาสวัดธารทหาร[1]

พระราชมงคลวัชราจารย์ หรือ หลวงพ่อพัฒน์ ฉายา ปุญฺญกาโม (12 พฤษภาคม พ.ศ. 2465 – 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566)[2] พระเกจิอาจารย์ชาวจังหวัดนครสวรรค์ อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ และ อดีตเจ้าอาวาสวัดธารทหาร หรือวัดห้วยด้วน ตำบลธารทหาร อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์

ประวัติ

[แก้]

พระราชมงคลวัชราจารย์ เกิดเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2465 ที่บ้านสระทะเล ตำบลย่านมัทรี อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ โดยมีชื่อเดิมว่า บุญส่ง ก้อนจันทร์เทศ และ พัฒน์ ก้อนจันทร์เทศตามลําดับ โยมบิดาชื่อพ่อพุฒ โยมมารดาชื่อแม่แก้ว ก้อนจันทร์เทศ ท่านได้เข้ารับการอุปสมบทเมื่อ พ.ศ. 2489 ณ วัดสระทะเล โดยมี พระธรรมไตรโลกาจารย์ (ยอด อกฺกวํโส) วัดเขาแก้ว เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงปู่กัน วัดเขาแก้ว เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระอธิการชั๊ว วัดสระทะเล เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า "ปุญฺญกาโม"

หลวงพ่อพัฒน์ได้รับสืบทอดวิชาจากหลวงปู่เทศ วัดสระทะเล ซึ่งเป็นทวดผ่านทาง หลวงปู่เดิม วัดหนองโพ หลวงปู่อิน วัดหางน้ำสาคร หลวงปู่หมึก วัดสระทะเล ซึ่งหลวงปู่พัฒน์ มีศักดิ์เป็นหลาน และหลวงปู่โหมด วัดโคกเดื่อ ต่อมาจึงได้ไปเรียนวิชาทางเมตตามหานิยมกับ หลวงปู่ชุบ วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง จังหวัดอุตรดิตถ์ และได้เป็นเจ้าอาวาสที่วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้งนานถึง 6 ปี ก่อนกลับมาจำพรรษาที่ วัดสระทะเล ซึ่งเป็นวัดบ้านเกิดของท่าน

ต่อมาโยมบิดามารดาของหลวงพ่อพัฒน์ ได้ย้ายไปประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่บ้านห้วยด้วน หรือบ้านธารทหาร และนายผล กำนันตำบลธารทหารในขณะนั้น จึงได้พาบิดามารดาไปอาราธนาให้ท่านมาจำพรรษาและพัฒนาวัดห้วยด้วนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 จนถึงปัจจุบัน[3]

ในปี พ.ศ. 2564 ท่านได้รับพระราชทานพัดรองที่ระลึกงานบรมราชาภิเษก[4]

ตำแหน่งทางคณะสงฆ์

[แก้]

สมณศักดิ์

[แก้]
  • พ.ศ. 2505 เป็นพระครูประทวนสมณศักดิ์ที่ "พระครูพัฒน์ ปุญฺญกาโม"
  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2526 เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะตำบล ชั้นตรี ในราชทินนามที่ "พระครูนิวิฐปุญญากร"
  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2543 เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะตำบล ชั้นโท ในราชทินนามเดิม
  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2545 เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะตำบล ชั้นเอก ในราชทินนามเดิม
  • 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 เป็นพระราชาคณะชั้นราช ในราชทินนามที่ "พระราชมงคลวัชราจารย์ ไพศาลศาสนกิจ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี"[6][7]

มรณภาพ

[แก้]

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 (เวลาประมาณ 02.37 น.) เพจเฟซบุ๊ก สำนักงานพระราชมงคลวัชราจารย์ แจ้งประกาศจากวัดธารทหาร หรือ วัดห้วยด้วน เรื่อง การมรณภาพของ พระราชมงคลวัชราจารย์ หรือ หลวงพ่อพัฒน์ ปุญฺญกาโม ว่า ท่านเจ้าคุณพระราชมงคลวัชราจารย์ อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ และอดีตเจ้าอาวาสวัดธารทหาร ได้ถึงแก่มรณภาพในวันนี้ วันศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 เวลาประมาณ 01.35 น. ที่โรงพยาบาลกรุงเทพ ด้วยอาการอันสงบ สิริอายุ 101 ปี 77 พรรษา

สำหรับสรีระสังขารของพระราชมงคลวัชราจารย์ (หลวงพ่อพัฒน์) มาถึงวัดช่วงเย็นของวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 เวลาประมาณ 17.09 น. โดยกองพิธีการศพที่ได้รับพระราชทานจะมีการจัดงานอย่างสมเกียรติต่อไป ซึ่งสรีระสังขารของหลวงพ่อจะมีการเก็บบรรจุร่างไว้ ไม่มีการประชุมเพลิงแต่อย่างใดตามคำสั่งเสียของหลวงพ่อพัฒน์

พิธีบำเพ็ญกุศลศพ พระราชมงคลวัชราจารย์

[แก้]

พิธีการบำเพ็ญกุศลศพพระราชมงคลวัชราจารย์ จัดขึ้น ณ ศาลา 100 ปี หลวงพ่อพัฒน์ วัดธารทหาร (วัดห้วยด้วน)

วันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ทางวัดทารทหารได้จัดการประชุมเตรียมความพร้อมจัดพิธีพระราชทานน้ำหลวงสรงศพ พระราชมงคลวัชราจารย์ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 โดยมี พระครูนิมิตศีลาภรณ์ (สม ฐิตสีโล) เจ้าคณะอำเภอหนองบัว, นายกิตติ ลิ้มศิริชัย นายอำเภอหนองบัว, พ.ต.อ.เดชา ศรีชัย ผกก.สภ.หนองบัว พร้อมด้วยผู้นำชุมชน,คณะกรรมการวัด ประชาชนบ้านห้วยด้วน ร่วมประชุม โดยจะมีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม รวม 7 วัน หลังจากนั้นเป็นการสวดพระอภิธรรมแบบปกติ

วันเดียวกัน มีหนังสือจากหน่วยราชการในพระองค์ 904 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 เรื่อง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ในการศพ พระราชมงคลวัชราจารย์ โดยตลอด และให้เชิญพวงมาลา ไปวางที่หน้าหีบศพ

อ้างอิง

[แก้]
  1. มติมหาเถรสมาคม. (2545). มติมหาเถรสมาคมที่ 310/2545 เรื่อง เสนอขอแต่งตั้งพระสังฆาธิการเป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัด และเจ้าคณะตำบล. [ออน-ไลน์]. แหล่งที่มา : [1] เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 30-10-2563
  2. พระราชมงคลวัชราจารย์ (พัฒน์ ปุญฺญกาโม)
  3. ข่าวสดออนไลน์. (2563). มงคลข่าวสด : หลวงพ่อพัฒน์ วัดห้วยด้วน พระเกจิชื่อดังนครสวรรค์. [ออน-ไลน์]. แหล่งที่มา : [2] เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 30-10-2563
  4. สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนนทบุรี. (2564). ผู้แทนพระองค์มาถวายพัดรองหลวงพ่อพัฒน์ ปุญญกาโม” วัดห้วยด้วน (ธารทหาร) จ.นครสวรรค์. [ออน-ไลน์]. แหล่งที่มา : [3] เก็บถาวร 2021-06-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 4-4-2564
  5. มติมหาเถรสมาคม. (2545). มติมหาเถรสมาคมที่ มติที่ 310/2545 เรื่อง เสนอขอแต่งตั้งพระสังฆาธิการเป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัด และเจ้าคณะตำบล [แต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะตำบลธารทหาร]. [ออน-ไลน์]. แหล่งที่มา : [4] เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 7-6-2564
  6. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๑๓๘ ตอน ๒๘ ข, ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๔, หน้า ๒
  7. ข่าวในพระราชสำนัก. (2564). องคมนตรี เชิญสัญญาบัตร พัดยศ และผ้าไตรไปถวายแด่พระราชมงคลวัชราจารย์ ณ วัดธารทหาร จังหวัดนครสวรรค์.. [ออน-ไลน์]. แหล่งที่มา : [https://news.ch7.com/detail/489197 เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 4-4-2564

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]