ข้ามไปเนื้อหา

ศักยะงาน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก สัญญาณประสาท)
การเกิดกระแสประสาท

ในวิชาสรีรวิทยา ศักยะงาน[1] (อังกฤษ: action potential) เป็นเหตุการณ์ที่กินเวลาสั้น ๆ ซึ่งศักย์เยื่อหุ้มเซลล์ (membrane potential) ไฟฟ้าของเซลล์เพิ่มและลดลงอย่างรวดเร็ว ตามด้วยแนววิถีต่อเนื่อง ศักยะงานเกิดขึ้นในเซลล์สัตว์หลายชนิด เรียกว่า เซลล์ที่เร้าได้ (excitable cell) ซึ่งรวมถึงเซลล์ประสาท เซลล์กล้ามเนื้อ และเซลล์ไร้ท่อ (endocrine cell) เช่นเดียวกับเซลล์พืชบางเซลล์ ในเซลล์ประสาท ศักยะงานมีบทบาทศูนย์กลางในการสื่อสารเซลล์ต่อเซลล์ ส่วนในเซลล์ประเภทอื่น หน้าที่หลักของศักยะงาน คือ กระตุ้นกระบวนการภายในเซลล์ ตัวอย่างเช่น ในเซลล์กล้ามเนื้อ ศักยะงานเป็นขั้นแรกในชุดเหตุการณ์ที่นำไปสู่การหดตัว ในเซลล์บีตาของตับอ่อน ศักยะงานทำให้เกิดการหลั่งอินซูลิน[2] ศักยะงานในเซลล์ประสาทยังรู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่า "กระแสประสาท" หรือ "พลังประสาท" (nerve impulse) หรือ spike

ศักยะงานสร้างโดยช่องไอออนที่ควบคุมด้วยศักย์ไฟฟ้า (voltage-gated ion channel) ชนิดพิเศษที่ฝังอยู่ในเยื่อหุ้มเซลล์[3] ช่องเหล่านี้ถูกปิดเมื่อศักย์เยื่อหุ้มเซลล์ใกล้กับศักยะพัก (resting potential) แต่จะเริ่มเปิดอย่างรวดเร็วหากศักย์เยื่อหุ้มเซลล์เพิ่มขึ้นถึงค่าระดับกั้น (threshold) ที่นิยามไว้อย่างแม่นยำ เมื่อช่องเปิด จะทำให้ไอออนโซเดียมไหลเข้ามาในเซลล์ประสาท ซึ่งเปลี่ยนแปลงประจุไฟฟ้า (electrochemical gradient) การเปลี่ยนแปลงนี้ยิ่งเพิ่มศักย์เยื่อหุ้มเซลล์เข้าไปอีก ทำให้ช่องเปิดมากขึ้น และเกิดกระแสไฟฟ้าแรงขึ้นตามลำดับ กระบวนการดังกล่าวดำเนินไปกระทั่งช่องไอออนที่มีอยู่เปิดออกทั้งหมด ทำให้ศักย์เยื่อหุ้มเซลล์แกว่งขึ้นอย่างมาก การไหล่เข้าอย่างรวดเร็วของไอออนโซเดียมทำให้สภาพขั้วของเยื่อหุ้มเซลล์กลายเป็นตรงข้าม และช่องไอออนจะหยุดทำงาน (inactivate) อย่างรวดเร็ว เมื่อช่องโซเดียมปิด ไอออนโซเดียมจะไม่สามารถเข้าสู่เซลล์ประสาทได้อีกต่อไป และจะถูกลำเลียงแบบใช้พลังงานออกจากเยื่อหุ้มเซลล์ จากนั้น ช่องโปแทสเซียมจะทำงาน และมีกระแสไหลออกของไอออนโปแทสเซียม ซึ่งคืนประจุไฟฟ้ากลับสู่สถานะพัก หลังเกิดศักยะงานแล้ว จะมีการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า ระยะดื้อ (refractory period) เนื่องจากกระแสโปแทสเซียมเพิ่มเติม กลไกนี้ป้องกันมิให้ศักยะงานเดินทางย้อนกลับ

ในเซลล์สัตว์ มีศักยะงานอยู่สองประเภทหลัก ประเภทหนึ่งสร้างโดย ช่องโซเดียมที่ควบคุมด้วยศักย์ไฟฟ้า อีกประเภทหนึ่งโดยช่องแคลเซียมที่ควบคุมด้วยศักย์ไฟฟ้า ศักยะงานที่เกิดจากโซเดียมมักคงอยู่น้อยกว่าหนึ่งมิลลิวินาที ขณะที่ศักยะงานที่เกิดจากแคลเซียมอาจอยู่ได้นานถึง 100 มิลลิวินาทีหรือกว่านั้น

กฎ All-or-None

[แก้]

เมื่อเซลล์ประสาทถูกกระตุ้น ก็จะเกิดการตอบสนองคือเกิดการเปลี่ยนแปลงความต่างศักย์ของเยื่อหุ้มเซลล์ขึ้น การตอบสนองของเยื่อหุ้มเซลล์นั้นมี 2 ลักษณะ คือ เกิดกระแสประสาทเมื่อแรงกระตุ้นถึงจุด threshold หรือไม่เกิดกระแสประสาทเมื่อแรงกระตุ้นไม่ถึงจุด threshold ลักษณะการตอบสนองเช่นนี้เรียกว่า all or none[4]

การถ่ายทอดกระแสประสาท

[แก้]

กระแสประสาทที่เกิดขึ้นจะถูกเหนี่ยวนำผ่านใยประสาทหรือแอกซอน (axon) จากเซลล์หนึ่ง เข้าสู่เดนไดรต์ของเซลล์ประสาทอีกเซลล์หนึ่ง โดยความเร็วของการถ่ายทอดสัญญาณประสาท[5]นั้นขึ้นอยู่กับ

  • เยื่อไมอีลิน (myelin sheath) กระแสประสาทจะถูกถ่ายทอดบนเซลล์ประสาทที่มีเยื่อไมอีลินหุ้มได้เร็วกว่าเซลล์ประสาทที่ไม่มีเยื่อไมอีลินหุ้ม
  • Node of Ranvier ถ้าห่างมากกระแสประสาทจะเคลื่อนที่เร็ว
  • เส้นผ่านศูนย์กลาง เซลล์ประสาทที่มีขนาดใหญ่จะสามารถถ่ายทอดสัญญาณประสาทได้เร็วกว่าเซลล์ประสาทที่มีขนาดเล็ก

อ้างอิง

[แก้]
  1. ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถาน สาขาแพทยศาสตร์ 6 ส.ค. 2544
  2. MacDonald PE, Rorsman P (2006). "Oscillations, intercellular coupling, and insulin secretion in pancreatic beta cells". PLoS Biol. 4 (2): e49. doi:10.1371/journal.pbio.0040049. PMC 1363709. PMID 16464129. {{cite journal}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |month= ถูกละเว้น (help)
  3. Barnett MW, Larkman PM (2007). "The action potential". Pract Neurol. 7 (3): 192–7. PMID 17515599. {{cite journal}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |month= ถูกละเว้น (help)
  4. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-11-25. สืบค้นเมื่อ 2012-08-18.
  5. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-07. สืบค้นเมื่อ 2021-10-01.