ข้ามไปเนื้อหา

คาโรลีเนอแห่งเบราน์ชไวค์-ว็อลเฟินบึทเทิล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คาโรลีเนอแห่งเบราน์ชไวค์-ว็อลเฟินบึทเทิล
สมเด็จพระราชินีแห่งสหราชอาณาจักร และฮันโนเฟอร์
ดำรงพระยศ29 มกราคม ค.ศ. 1820 – 7 สิงหาคม ค.ศ. 1821
ก่อนหน้าชาร์ล็อทเทอแห่งเมคเลินบวร์ค-ชเตรลิทซ์
ถัดไปอาเดิลไฮท์แห่งซัคเซิน-ไมนิงเงิน
พระราชสมภพ17 พฤษภาคม ค.ศ. 1768(1768-05-17)
เบราน์ชไวค์ จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
สวรรคต7 สิงหาคม ค.ศ. 1821(1821-08-07) (53 ปี)
ลอนดอน ประเทศอังกฤษ
ฝังพระศพ25 สิงหาคม ค.ศ. 1921
มหาวิหารเบาวน์ชไวค์
คู่อภิเษกใน สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 4 แห่งสหราชอาณาจักร
พระนามเต็ม
คาโรลีเนอ อเมเลีย เอลิซาเบธ
พระบุตรเจ้าหญิงชาร์ลอตต์แห่งเวลส์
ราชวงศ์
พระบิดาคาร์ล วิลเฮ็ล์ม แฟร์ดีนันท์ ดยุกแห่งเบราน์ชไวค์
พระมารดาเจ้าหญิงออกัสตาแห่งบริเตนใหญ่
ลายพระอภิไธย
ธรรมเนียมพระยศของ
คาโรลีเนอแห่งเบราน์ชไวค์-ว็อลเฟินบึทเทิล
ตราประจำพระอิสริยยศ
ธงประจำพระอิสริยยศ
การทูลHer Majesty The Queen Consort (ใต้ฝ่าละอองพระบาท)
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับYour Majesty The Queen Consort (พระพุทธเจ้าข้า/เพคะ)

คาโรลีเนอ อมาเลีย เอลีซาเบ็ท แห่งเบราน์ชไวค์-ว็อลเฟินบึทเทิล (เยอรมัน: Caroline Amalie Elisabeth von Braunschweig-Wolfenbüttel) ทรงเป็นเจ้าหญิงเยอรมันซึ่งอภิเษกเข้าสู่พระราชวงศ์อังกฤษ คาโรลีเนอเสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ. 1768 ที่เบราน์ชไวค์ในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ เป็นพระธิดาของคาร์ล วิลเฮล์ม แฟร์ดีนันด์ ดยุกแห่งเบราน์ชไวค์-ว็อลเฟินบึทเทิล กับเจ้าหญิงออกัสตาแห่งบริเตนใหญ่ (พระขนิษฐาองค์โตของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3) คาโรลีเนอเป็นพระราชินีในสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 4 แห่งสหราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 29 มกราคม ค.ศ. 1820 จนเสด็จสวรรคตเมื่อ 7 สิงหาคม ค.ศ. 1821 ที่ลอนดอน อังกฤษ พระบรมศพตั้งอยู่ที่มหาวิหารเบราน์ชไวค์

ตราอาร์มประจำพระองค์

การหมั้นหมาย

[แก้]

ในปี ค.ศ. 1794 คาโรลีเนอก็ทำการการหมั้นหมายกับพระญาติเจ้าชายจอร์จ เจ้าชายแห่งเวลส์ ผู้เป็นพระราชโอรสองค์โตในสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3 ทั้งสองพระองค์ไม่เคยทรงพบปะกันมาก่อนหน้านั้น เจ้าชายจอร์จทรงยอมตกลงที่จะเสกสมรสกับคาโรลีเนอเพราะทรงมีหนี้สินล้นพระองค์ ฉะนั้นถ้าทรงทำสัญญาเสกสมรสกับเจ้าหญิงผู้มีฐานะดีทางรัฐสภาก็จะอนุมัติเบี้ยเลี้ยงให้พระองค์เพิ่มขึ้น คาโรลีเนอดูเหมือนจะเป็นสตรีที่เหมาะสมเพราะทรงมีกำเนิดในราชตระกูลและทรงถือคริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนต์ นอกจากนั้นแล้วการเสกสมรสก็ยังเป็นการเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างเบราน์ชไวค์และบริเตน แม้ว่าเบราน์ชไวค์จะเป็นเพียงอาณาจักรที่ไม่ใหญ่โตนักแต่บริเตนอยู่ในระหว่างสงครามกับฝ่ายปฏิวัติฝรั่งเศสจึงมีความต้องการที่จะหาพันธมิตรบนแผ่นดินใหญ่ยุโรป เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1794, เจมส์ แฮร์ริส เอิร์ลแห่งมาล์มสบรีที่ 1 ก็เดินทางไปยังเบราน์ชไวค์เพื่อไปนำคาโรลีเนอมายังบริเตน[1] ในอนุทินมาล์มสบรีบันทึกถึงความวิตกเกี่ยวกับความเหมาะสมระหว่างคาโรลีเนอและเจ้าชายจอร์จว่าคาโรลีเนอทรงขาดคุณสมบัติในด้านการควรไม่ควร, ไม่ทรงมีกิริยาและมารยาททางสังคมอันเหมาะสม, ตรัสโดยไม่คิด, ทรงปฏิบัติพระองค์นอกขอบเขต และ ไม่ทรงรักษาความสะอาดเช่นไม่ทรงเปลี่ยนฉลองพระองค์ที่ไม่สะอาด[2] และกล่าวต่อไปว่าคาโรลีเนอ "ไม่ทรงมีจริยธรม และ ไม่ทรงมีสัญชาตญาณต่อคุณค่าและความจำเป็น[ของจริยธรรม]"[3] แต่มาล์มสบรีมีความประทับใจในความเด็ดเดี่ยวของพระองค์ ระหว่างการเดินทางกลับอังกฤษคณะผู้เดินได้ยินเสียงปืนใหญ่เพราะเส้นทางที่ใช้ไม่ไกลจากแนวรบเท่าใดนัก ขณะที่พระมารดาของคาโรลีเนอมีความวิตกกังวลถึงความปลอดภัยไปต่างๆ นานา แต่คาโรลีเนอดูเหมือนไม่ทรงจะเดือดร้อนไปกับเหตุการณ์เท่าใดนัก[4]

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ค.ศ. 1795 คาโรลีเนอและมาล์มสบรีก็ออกจากคุกซ์ฮาเฟนโดย เรือรบหลวงจูปิเตอร์ เรือมาถึงฝั่งอังกฤษที่กรีนิชเมื่อวันอาทิตย์อีสเตอร์ที่ 5 เมษายนหลังจากที่ล่าไปเพราะสภาวะอากาศ ผู้ที่ไปต้อนรับคือฟรานซ์ส วิลเลียรส์ เคานเทสแห่งเจอร์ซีพระสนมในเจ้าชายจอร์จผู้ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนางสนองพระโอษฐ์ห้องพระบรรทมของคาโรลีเนอ[5] เฮนรี วาซซาล-ฟ็อกซ์ บารอนฮอลแลนด์ที่ 3 กล่าวว่าอาร์เธอร์ เวลสลีย์ ดยุกแห่งเวลลิงตัน อ้างว่าเลดี้เจอร์ซีเองเป็นผู้เลือกคาโรลีเนอให้เป็นเจ้าสาวของเจ้าชายจอร์จ ดยุกแห่งเวลลิงตันกล่าวว่าเลดี้เจอร์ซีเลือกสตรีที่ "มีกิริยามารยาทที่ขาดความเหมาะสม บุคลิกที่ไม่มีอะไรเด่น และ หน้าตาที่เรียบ เพื่อหวังให้เจ้าชายจอร์จรังเกียจพระชายาและสร้างความมั่นคงให้กับการเป็นพระสนมต่อไป"[6]

เมื่อได้ทรงพบปะกับคาโรลีเนอเป็นครั้งแรกเจ้าชายจอร์จก็ทรงเรียกขอบรั่นดีแก้วหนึ่ง คงจะเป็นเพราะทรงผิดหวังในตัวผู้ที่จะมาเป็นเจ้าสาวในอนาคต ขณะเดียวกันคาโรลีเนอก็ตรัสกับมาล์มสบรีว่า "[เจ้าชายจอร์จ]ทรงอ้วนมากและไม่ทรงเหมือนกับภาพเหมือนที่ได้เห็น"[7] ระหว่างพระกระยาหารค่ำวันนั้นเจ้าชายจอร์จก็ทรงตกพระทัยในกิริยาและการเหน็บแนมเลดี้เจอร์ซีของคาโรลีเนอ และคาโรลีเนอก็ทรงท้อพระทัยและผิดหวังเมื่อเจ้าชายจอร์จทรงลำเอียงไปทางเลดี้เจอร์ซีอย่างเห็นได้ชัด[8]

ชีวิตการสมรสอันไม่ราบรื่น

[แก้]
คาโรลีเนอปี ค.ศ. 1795 ไม่นานก่อนที่จะทรงเสกสมรสกับจอร์จ เจ้าชายแห่งเวลส์

คาโรลีเนอและเจ้าชายจอร์จทรงเสกสมรสกันเมื่อวันที่ 8 เมษายน ค.ศ. 1795 ที่ชาเปลหลวงที่พระราชวังเซนต์เจมส์ในกรุงลอนดอน เจ้าชายจอร์จทรงเมามายระหว่างพระพิธี และมีพระดำริว่าคาโรลีเนอทรงเป็นสตรีที่ไม่มีเสน่ห์และสกปรก และตรัสกับมาล์มสบรีว่าพระองค์ทรงมีความสงสัยว่าคาโรลีเนอมิได้เป็นสตรีที่ยังทรงพรหมจารีย์[9] แต่พระองค์เองก็มิได้มีความบริสุทธิ์เพราะทรงได้ทำการเสกสมรสอย่างลับๆ กับมาเรีย ฟิตซ์เฮอร์เบิร์ต แต่การเสกสมรสดังกล่าวละเมิดพระราชบัญญัติการเสกสมรสของราชวงศ์อังกฤษ ค.ศ. 1772 ซึ่งทำให้การเสกสมรสดังกล่าวไม่มีผลทางกฎหมาย[10]

จากบันทึกการติดต่อของเจ้าชายจอร์จเปิดเผยว่าทรงมีความสัมพันธ์ทางเพศกับคาโรลีเนอเพียงสามครั้ง สองครั้งในคืนวันเสกสมรส และ อีกครั้งหนึ่งในวันที่สอง[10] ในการมีความสัมพันธ์ทางเพศเจ้าชายจอร์จทรงบันทึกว่าพระองค์ "ต้องใช้ความพยายามพอสมควรที่จะเอาชนะความรังเกียจในตัว[คาโรลีเนอ]"[11] เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ ออกัสตาแห่งเวลส์ผู้เป็นพระราชธิดาองค์เดียวเกิดจากความสัมพันธ์ดังกล่าวเมื่อวันที่ 7 มกราคม ค.ศ. 1796 ซึ่งทำให้พระองค์ทรงมีสิทธิเป็นลำดับที่สองของลำดับการสืบราชบัลลังก์อังกฤษ จากนั้นเจ้าชายจอร์จและคาโรลีเนอก็มิได้ดำรงชีวิตร่วมกันฉันท์สามีภรรยา และจะปรากฏพระองค์แยกกันในที่สาธารณะ และทั้งสองพระองค์ต่างก็ทรงมีชู้รัก คาโรลีเนอทรงได้รับสมญานามว่า 'พระราชินีผู้ไร้จริยธรรม' กล่าวกันว่าการเสกสมรสเป็นไปอย่างไม่สะดวกใจเพราะความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าชายจอร์จและเลดี้เจอร์ซี แต่ก็อาจจะเป็นได้ว่าคาโรลีเนอเองก็แทบจะไม่มีความสนพระทัยต่อพระสวามี ซึ่งทำให้ไม่มีความสนใจในความสัมพันธ์ของพระองค์กับสตรีคนใด

สามวันหลังจากการประสูติของเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ออกัสตา เจ้าชายจอร์จก็ทรงพินัยกรรมใหม่ โดยทรงทิ้งทรัพย์สมบัติทั้งหมดให้แก่ "มาเรีย ฟิตซ์เฮอร์เบิร์ต, ผู้เป็นภรรยาของข้าพเจ้า" และทิ้งเงินหนึ่งชิลลิงให้แก่คาโรลีเนอ[12] หนังสือพิมพ์อ้างว่าเลดี้เจอร์ซีทำการเปิด อ่าน และ แจกจ่ายพระสาส์นส่วนพระองค์ของคาโรลีเนอ[13] คาโรลีเนอทรงชิงชังเลดี้เจอร์ซีและไม่ทรงสามารถที่จะเดินทางได้โดยไม่ได้รับการอนุญาตจากพระสวามี[14] หนังสือพิมพ์สร้างภาพพจน์ของเจ้าชายจอร์จว่าทรงใช้ชีวิตอย่างฟุ่มเฟือยในขณะที่บ้านเมืองอยู่ในระหว่างการสงคราม และ คาโรลีเนอว่าเป็นภรรยาผู้ถูกปฏิบัติด้วยอย่างขาดความเป็นธรรม[15] คาโรลีเนอเป็นที่นิยมของสาธารณชนเพราะทรงเป็นผู้ที่ไม่มีพิธีรีตอง[11] ซึ่งทำให้เจ้าชายจอร์จทรงชิงชังในความนิยมของประชาชนในตัวพระชายา และ ความไม่เป็นที่นิยมของประชาชนในตัวพระองค์เอง และทรงมีความรู้สึกเหมือนติดกับในชีวิตการเสกสมรสอันปราศจากความรักกับสตรีที่ทรงชิงชัง พระองค์จึงทรงต้องการที่จะแยกกันอยู่[16]

เจ้าหญิงแห่งเวลส์

[แก้]

คาโรลีเนอย้ายไปประทับที่ประทับส่วนพระองค์ที่ชาร์ลตันและต่อมาที่คฤหาสน์มองตากิวที่เป็นคฤหาสน์ของเอิร์ลแห่งแซนด์วิชที่แบล็คฮีธทางตะวันออกเฉียงใต้ของลอนดอน เมื่อไม่ทรงต้องอยู่ในกรอบของพระสวามีหรือตามข่าวเล่าลือว่าในกรอบของพันธสัญญาของการสมรส คาโรลีเนอก็ทรงจัดการเลี้ยงผู้ใดก็ได้ที่โปรด[17] พระองค์ตรัสหยอกล้อกับนายพลเรือซิดนีย์ สมิธ และกัปตัน ทอมัส แมนบีย์ และอาจจะทรงมีความสัมพันธ์กับนักการเมืองจอร์จ แคนนิง[18]

รายละเอียดภาพเหมือนของคาโรลีเนอโดยทอมัส ลอว์เร็นซ์, ค.ศ. 1804

พระธิดาเจ้า หญิงชาร์ลอตต์ตกอยู่ในความดูแลของครูพี่เลี้ยงในคฤหาสน์ไม่ไกลจากคฤหาสน์มองตากิวที่คาโรลีเนอมักจะเสด็จไปเยี่ยม[19] การมีพระธิดาเพียงพระองค์เดียวดูเหมือนจะไม่พอเพียง คาโรลีเนอทรงรับอุปการะเด็กยากจนอีกแปดหรือเก้าคน ที่ทรงส่งไปให้คนดูแลเลี้ยงดูแทนในดิสตริคท์ที่ประทับ[20] ในปี ค.ศ. 1802 พระองค์ทรงรับเลี้ยงวิลเลียม ออสตินผู้มีอายุเพียงสามเดือนครึ่ง และทรงนำเข้ามาพำนักในที่ประทับ มาในปี ค.ศ. 1805 คาโรลีเนอก็ทรงมีเรื่องกับเซอร์จอห์นและเลดี้ดักกลาสผู้เป็นเพื่อนบ้านผู้อ้างว่าพระองค์ทรงส่งจดหมายหยาบคายไปรังควาน เลดี้ดักกลาสกล่าวหาคาโรลีเนอว่าทรงมีชู้ และกล่าวว่าวิลเลียม ออสตินเป็นพระโอรสนอกสมรสของคาโรลีเนอ[21]

ในปี ค.ศ. 1806 ก็ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการลับที่เรียกว่า "การสืบสวนเรื่องละเอียดอ่อน" (Delicate Investigation) เพื่อสอบสวนข้ออ้างของเลดี้ดักกลาส คณะกรรมการประกอบด้วยผู้มีความสำคัญระดับชาติสี่คนที่รวมทั้ง: นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร วิลเลียม เกรนวิลล์ บารอนเกรนวิลล์ที่ 1, ลอร์ดชานเซลเลอร์ ทอมัส เอิร์สคิน บารอนเอิร์สคินที่ 1, ประธานยุติธรรมสูงสุดแห่งอังกฤษและเวลส์ เอ็ดเวิร์ด ลอว์ บารอนเอลเลนโบโรห์ที่ 1 และ รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย จอร์จ สเป็นเซอร์ เอิร์ลสเป็นเซอร์ที่ 2 เลดี้ดักกลาสให้การว่าคาโรลีเนอเองทรงยอมรับต่อตนเองในปี ค.ศ. 1802 ว่าทรงพระครรภ์ และวิลเลียม ออสตินเป็นพระโอรสของพระองค์[22] และกล่าวต่อไปว่าคาโรลีเนอทรงมีกิริยาอันหยาบคายต่อพระราชองค์ ทรงแตะต้องตนเองอย่างไม่เหมาะไม่ควรทางเพศ และ ยอมรับว่าสตรีผู้ใดที่เป็นมิตรดีกับชายก็เชื่อได้ว่าจะกลายเป็นคนรักของชายผู้นั้น[22] นอกจากสมิธ, แมนบีย์ และแคนนิงแล้ว, ทอมัส ลอว์เร็นซ์ และเฮนรี ฮูดก็ถูกกล่าวหาว่าอาจจะมีความสัมพันธ์ฉันท์ชู้รักกับพระองค์ คนรับใช้ของคาโรลีเนอไม่สามารถยืนยันหรือไม่ยอมยืนยันว่าบุคคลเหล่านี้เป็นชู้รัก หรือเรื่องการมีครรภ์ของคาโรลีเนอ และกล่าวว่าวิลเลียม ออสตินได้รับการนำมามอบให้แก่พระองค์โดยโซเฟีย ออสตินมารดาของเด็กเอง โซเฟีย ออสตินถูกเรียกตัวมาให้การและยืนยันว่าเด็กเป็นลูกของตนเอง[23] คณะกรรมการตัดสินว่าข้อกล่าวหา "ไม่มีมูล" และแม้ว่าจะเป็นการสืบสวนลับแต่ก็ไม่อาจที่จะป้องกันข่าวซุบซิบจากการแพร่ขยายออกไป ข่าวการสืบสวนจึงรู้ไปถึงหนังสือพิมพ์ในที่สุด[24] การปฏิบัติตนของคาโรลีเนอต่อสุภาพบุรุษถือกันว่าเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม แต่ก็ไม่มีหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นการกระทำที่นอกเหนือไปจากการกล่าวล้อเลียนระหว่างชายและหญิง คาโรลีเนออาจจะทรงโพล่งไปว่าทรงครรภ์ตามประสาของความโผงผางของพระองค์ แต่ผลที่ตามมาเป็นเรื่องที่ทำให้ทรงเสียชื่อเสียง[23] ต่อมาในปีนั้นคาโรลีเนอก็ได้รับข่าวร้ายว่าเบราน์ชไวค์ถูกรุกรานโดยฝรั่งเศส และพระราชบิดาถูกสังหารในยุทธการเยนา-เออร์ชตัดท์ คาโรลีเนอมีพระประสงค์ที่จะหนีจากบริเตนและเสด็จกลับเบราน์ชไวค์แต่เมื่อแผ่นดินใหญ่ยุโรปส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส พระองค์จึงไม่ทรงมีที่ปลอดภัยที่จะเสด็จไปได้[25]

เมื่อมาถึงปลายปี ค.ศ. 1811 สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3 ก็ทรงมีอาการเสียพระสติอย่างถาวร เจ้าชายจอร์จจึงทรงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระองค์ทรงจำกัดการเยี่ยมเยือนเจ้าหญิงชาร์ลอตของคาโรลีเนอ ซึ่งทำให้คาโรลีเนอกลายเป็นผู้ที่ขาดการติดต่อทางสังคมมากยิ่งขึ้น เมื่อชนชั้นสูงในสังคมหันมาร่วมงานเลี้ยงรับรองอันหรูหราของเจ้าชายจอร์จกันมากขึ้นแทนที่จะเป็นงานของคาโรลีเนอ[26] คาโรลีเนอจึงพยายามหาพันธมิตรผู้มีอำนาจที่จะเป็นปฏิปักษ์ต่อการห้ามไม่ให้พระองค์ได้พบปะกับพระธิดา ในจำนวนผู้สนับสนุนก็ได้แก่เฮนรี บรูม บารอนบรูมและโวซ์ที่ 1 นักการเมืองพรรควิกผู้ทะเยอทะยานผู้ต้องการที่จะปฏิรูป คาโรลีเนอจึงเริ่มทำการรณรงค์ต่อต้านเจ้าชายจอร์จ[27] เจ้าชายจอร์จตอบโต้ด้วยการปล่อยข่าวเกี่ยวกับการให้การของเลดี้ดักกลาสในกรณี "การสืบสวนเรื่องละเอียดอ่อน" บรูมจึงตอบโต้ด้วยการปล่อยข่าวเกี่ยวกับคำให้การของคนรับใช้เกี่ยวกับโซเฟีย ออสติน[28] เจ้าหญิงชาร์ลอตต์และสาธารณชนเข้าข้างพระมารดา เจน ออสเตนเขียนจดหมายเกี่ยวกับคาโรลีเนอว่า: "สตรีที่น่าสงสาร, ข้าพเจ้าจะสนับสนุนเธอนานเท่าที่จะทำได้เพราะเธอ เป็น สตรี และ ข้าพเจ้าเกลียดสามีของเธอ"[29]

ในปี ค.ศ. 1814 หลังจากการพ่ายแพ้ของนโปเลียนสมาชิกของพระราชวงศ์ต่างๆ จากราชอาณาจักรต่างๆ ในยุโรปก็มาเฉลิมฉลองกันในกรุงลอนดอนแต่คาโรลีเนอถูกกีดกัน[30] คาโรลีเนอไม่ทรงมีความสุขกับการที่ถูกปฏิบัติเช่นนั้น พระองค์จึงทรงเจรจาต่อรองกับรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ, โรเบิร์ต สจวต ไวท์เคานท์คาสเซิลรีห์ ว่าจะทรงยอมออกจากบริเตนเป็นการแลกเปลี่ยนกับรายได้ประจำปีเป็นจำนวน £35,000 ทั้งบรูมและเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ต่างก็ผิดหวังต่อการตัดสินใจของคาโรลีเนอ เพราะทั้งสองทราบดีว่าการจากไปของคาโรลีเนอเท่ากับเป็นการเพิ่มความมั่นคงให้แก่สถานภาพของเจ้าชายจอร์จและบั่นทอนเสถียรภาพของบุคคลทั้งสอง[31] คาโรลีเนอเสด็จออกจากอังกฤษเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1814[32]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Robins, Jane (2006). Rebel Queen: How the Trial of Caroline Brought England to the Brink of Revolution. Simon & Schuster. ISBN 978-0-7434-7826-7. p.5.
  2. Malmesbury's diary quoted in Robins, pp.6–9.
  3. Farquhar, Michael (2001). A Treasure of Royal Scandals, p.94. Penguin Books, New York. ISBN 0-7394-2025-9.
  4. Malmesbury's diary quoted in Robins, pp.9–10.
  5. Robins, pp.11–12.
  6. Holland's memoirs quoted in Robins, p.15.
  7. Malmesbury's diary quoted in Robins, p.16.
  8. Robins, p.16.
  9. Robins, p.17
  10. 10.0 10.1 Shingleton, Hugh M (2006). "The Tumultuous Marriage of The Prince and The Princess of Wales". ACOG Clinical Review. 11 (6): 13–16. {{cite journal}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |month= ถูกละเว้น (help)
  11. 11.0 11.1 Robins, p.18.
  12. Robins, p.20.
  13. Robins, pp.20–21.
  14. Robins, p.22.
  15. Robins, pp.19, 21.
  16. Robins, pp.22–23.
  17. Robins, p.25.
  18. Robins, pp.26–27.
  19. Robins, p.27.
  20. Robins, pp.27–28.
  21. Robins, p.29.
  22. 22.0 22.1 Robins, pp.29–30.
  23. 23.0 23.1 Robins, p.31.
  24. Robins, pp.31–32.
  25. Robins, p.32.
  26. Robins, p.36.
  27. Robins, pp.37–41.
  28. Robins, p.42.
  29. Letter from Jane Austen to Martha Lloyd, 16 February 1813, quoted in Robins, p.42.
  30. Robins, p.46.
  31. Robins, pp.47–50
  32. Robins, p.49.

ดูเพิ่ม

[แก้]