จักรพรรดิสุก ดึ๊ก
สมเด็จพระจักรพรรดิสุก ดึ๊ก | |
---|---|
จักรพรรดิแห่งเวียดนาม | |
ครองราชย์ | 20-23 กรกฎาคม ค.ศ. 1883 |
ก่อนหน้า | สมเด็จพระจักรพรรดิตึ ดึ๊ก |
ถัดไป | สมเด็จพระจักรพรรดิเหียป ฮหว่า |
ประสูติ | 23 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1852 |
สวรรคต | 6 ตุลาคม ค.ศ. 1883 | (31 ปี)
คู่อภิเษก | สมเด็จพระจักรพรรดินีตื่อ มิญ |
พระราชบุตร | เจ้าชายเหงียน ฟุก บื๋ว เลิน |
ราชวงศ์ | ราชวงศ์เหงียน |
พระราชบิดา | เจ้าชาย เหงียน ฟุก ห่ง อี เจ้าชายแห่งถวั่ยท้าย |
พระราชมารดา | เจิ่น ถิ งา |
สมเด็จพระจักรพรรดิสุก ดึ๊ก (เวียดนาม: Dục Đức, 育德 ) พระนามเดิม เจ้าชายเหงียน ฟุก อึง อ๊าย (Nguyễn Phúc Ưng Ái, 阮福膺𩡤; ค.ศ. 1852 – 6 ตุลาคม ค.ศ. 1883) เป็นจักรพรรดิแห่งเวียดนามเพียง 3 วัน ตั้งแต่ 20-23 กรกฎาคม ค.ศ. 1883 เป็นจักรพรรดิพระองค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์เหงียน และเป็นพระราชชนกของสมเด็จพระจักรพรรดิถั่ญ ท้าย
พระชนม์ชีพช่วงแรก
[แก้]สมเด็จพระจักรพรรดิสุก ดึ๊ก มีพระนามเดิมว่า เจ้าชายเหงียน ฟุก อึง อ๊าย และภายหลังเมื่อมีพระชนมายุได้ 17 พรรษา ได้ทรงเปลี่ยนเป็น เจ้าชายเหงียน ฟุก อึง เจิน (Nguyễn Phúc Ưng Chân, 阮福膺禛) พระองค์เป็นพระโอรสองค์ที่ 2 ของเจ้าชายเหงียน ฟุก ห่ง อี (Nguyễn Phúc Hồng Y) พระอนุชาพระองค์ที่ 4 ของสมเด็จพระจักรพรรดิตึ ดึ๊ก ซึ่งพระองค์และพระภราดร คือ เจ้าชายจั๊ญ มง และเจ้าชายเสือง เถี่ยน พระโอรสของเจ้าชายเหงียน ฟุก ห่ง กาย ทรงได้รับการชุบเลี้ยงเป็นพระราชโอรสบุญธรรมของจักรพรรดิตึ ดึ๊ก ที่ไม่มีพระราชโอรสสืบสกุล
หลังจากจักรพรรดิตึ ดึ๊ก เสด็จสวรรคต ผู้สำเร็จราชการทั้ง 3 คน คือ เหงียน วัน เตื่อง (Nguyễn Văn Tường), โตน เทิ้ต เทวี้ยต (Tôn Thất Thuyết) และเจิ่น เตี๋ยน ถั่ญ (Trần Tiễn Thành) ตัดสินใจให้เจ้าชายเหงียน ฟุก อึง เจิน ขึ้นสืบบัลลังก์ต่อไป การขึ้นครองราชบัลลังก์มีข้อโต้แย้งหลายประการ นักประวัติศาสตร์ฝั่ม วัน เซิน (Phạm Văn Sơn) และอีกหลายคนกล่าวว่า จักรพรรดิตึ ดึ๊ก เห็นว่า เจ้าชายเหงียน ฟุก อึง เจิน ไร้ความสามารถเกินกว่าที่จะปกครองบ้านเมือง และทรงเปลี่ยนพระพินัยกรรมให้เจ้าชายเสือง เถี่ยน ขึ้นครองบัลลังก์ต่อจากพระองค์แทน อย่างไรก็ตาม บรรดากลุ่มนางในและสตรีผู้มีอำนาจในพระราชวังโปรดปรานเจ้าชายเหงียน ฟุก อึง เจิน มากกว่า และขอร้องให้ผู้สำเร็จราชการแปลงพระพินัยกรรมแล้วแต่งตั้งเจ้าชายเป็นจักรพรรดิแทน
ขึ้นครองบัลลังก์และเสด็จสวรรคต
[แก้]จักรพรรดิสุก ดึ๊ก ทรงครองราชย์เพียง 3 วันก่อนจะทรงถูกถอดจากราชบัลลังก์และถูกสำเร็จโทษโดยผู้สำเร็จราชการที่ได้นำพระองค์ขึ้นครองราชบัลลังก์ สาเหตุจูงใจนั้นยังไม่มีใครทราบแน่ชัด ฝั่ม วัน เซิน เขียนว่า พระองค์ทรงทำให้ราชสำนักขายหน้าจากความประพฤติเสเพลในพิธีราชาภิเษกมากเสียจนโตน เทิ้ต เทวี้ยต ยอมเปิดเผยพระพินัยกรรมส่วนที่ถูกปลอมแปลงของจักรพรรดิตึ ดึ๊ก ราชสำนักได้ตัดสินสำเร็จโทษพระองค์อย่างรวดเร็วด้วยการให้พระองค์เสวยยาพิษฐานละเมิดกฎการไว้ทุกข์ และพระศพของพระองค์ถูกฝังไว้ในสุสานที่ไม่มีเครื่องหมายบอกใด ๆ อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์คนอื่น ๆ กล่าวว่า พระองค์ไม่ได้ถูกสำเร็จโทษ แต่ทรงถูกจองจำอยู่ในเรือนจำหลวงจนเสด็จสวรรคต ซึ่งน่าจะเป็นผลสืบเนื่องที่เป็นไปได้เมื่อพิจารณาว่าพระองค์ยังดำรงพระชนม์ชีพอยู่อีก 3 เดือน สาเหตุที่แท้จริงของการล้มราชบัลลังก์อาจเป็นเรื่องการเมือง กล่าวคือ บรรดาผู้สำเร็จราชการอาจกลัวว่าจักรพรรดิสุก ดึ๊ก จะขับพวกเขาลงจากอำนาจที่ตนเองมีอย่างล้นเหลือในช่วงที่จักรพรรดิตึ ดึ๊กทรงพระประชวร
หลังจากนั้นแล้ว ผู้สำเร็จราชการได้นำเจ้าชายเหงียน ฟุก ห่ง เสิ่ต พระอนุชาต่างพระราชชนนีของจักรพรรดิตึ ดึ๊ก ขึ้นเป็นจักรพรรดิเหียป ฮหว่า ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดแรงต่อต้านจากบรรดานางในซึ่งโปรดปรานจักรพรรดิสุก ดึ๊ก ในช่วงรัชสมัยระยะสั้น ๆ ของจักรพรรดิเหียป ฮหว่า ก็ไม่ต่างกับจักรพรรดิสุก ดึ๊ก เพราะพระองค์พยายามลดอำนาจของผู้สำเร็จราชการ แต่ปรากฏว่าทรงถูกบังคับสละราชสมบัติและบังคับให้กระทำอัตวินิบาตกรรมเช่นเดียวกับผู้เป็นพระจักรพรรดิก่อนหน้า
หลังจากผ่านความวุ่นวายไปหลายปี สมเด็จพระจักรพรรดิถั่ญ ท้าย พระราชโอรสของจักรพรรดิสุก ดึ๊ก ได้ขึ้นเป็นจักรพรรดิในปี ค.ศ. 1889 ทรงให้สร้างสุสานและศาลบูชาให้กับพระราชชนกในเว้ เป็นที่รู้จักในชื่อว่า สุสานสุก ดึ๊ก (安陵, Lăng Dục Đức) ซึ่งได้กลายเป็นสุสานของพระราชวงศ์ในเวลาต่อมา
ก่อนหน้า | จักรพรรดิสุก ดึ๊ก | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
สมเด็จพระจักรพรรดิตึ ดึ๊ก | สมเด็จพระจักรพรรดิแห่งเวียดนาม (เหงียน) (20-23 กรกฎาคม ค.ศ. 1883) |
สมเด็จพระจักรพรรดิเหียป ฮหว่า |