ข้ามไปเนื้อหา

ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก สง่า กาญจนาคพันธ์)

ขุนวิจิตรมาตรา
(สง่า กาญจนาคพันธุ์)

เกิด7 กรกฎาคม พ.ศ. 2440
ตำบลบางลำเจียก อำเภอบางยี่เรือ จังหวัดธนบุรี
เสียชีวิต2 กรกฎาคม พ.ศ. 2523 (82 ปี)
โรงพยาบาลโรงงานยาสูบ กรุงเทพมหานคร
สัญชาติไทย
อาชีพผู้กำกับ, นักเขียน, นักแต่งเพลง
คู่สมรสวิเชียร อภิวัฒน์
บุตร7 คน
บิดามารดา
  • ขุนสารการ (ทองดี) (บิดา)
  • คุณพับ (มารดา)

รองอำมาตย์โท ขุนวิจิตรมาตรา นามเดิม สง่า กาญจนาคพันธุ์ (7 กรกฎาคม พ.ศ. 2440 – 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2523) ผู้สร้างหนัง ผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ผู้ประพันธ์เพลงต่าง ๆ หลายเพลง ซึ่งรวมถึงเนื้อร้องเพลงชาติไทยฉบับแรกสุดในปี พ.ศ. 2475 และเป็นผู้แต่งหนังสือต่าง ๆ หลายเรื่อง เช่น หลักไทย ภูมิศาสตร์สุนทรภู่ เป็นต้น นับได้ว่าเป็นนักคิด นักค้นคว้า และนักเขียนสำคัญคนหนึ่งของ ยุครัตนโกสินทร์

ประวัติ

[แก้]

เกิดวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2440 บิดาชื่อ ขุนสารการ (ทองดี) อาชีพรับราชการ สังกัดกระทรวงมหาดไทย และเป็นผู้พิพากษา มารดาชื่อ พับ

จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 จากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เข้ารับราชการเป็นล่ามภาษาอังกฤษในกรมแผนที่ กระทรวงกลาโหม เมื่อ พ.ศ. 2463 ต่อมาในปี พ.ศ. 2467 โอนย้ายไปรับราชการในกระทรวงพาณิชย์ จนเกษียณอายุในตำแหน่งหัวหน้ากองมาตราชั่งตวงวัดเมื่อปี พ.ศ. 2500

เริ่มชีวิตนักประพันธ์ด้วยการเขียน บทละครร้อง ตั้งแต่อายุได้ 20 ปี หลังจากนั้นก็ได้ทำงานเขียนประเภท นิยาย สารคดี การประพันธ์เพลง และภาพยนตร์

ในปี พ.ศ. 2473 หม่อมราชวงศ์อนุศักดิ์ หัสดินทร์ แห่งหัสดินทร์ภาพยนตร์ ติดต่อให้ช่วยแต่งเรื่อง จึงได้ประพันธ์บทถ่ายทำเรื่องแรกในชีวิต "รบระหว่างรัก" และเป็นผู้กำกับการแสดงด้วย

ต่อมาเป็นผู้ประพันธ์เรื่องและเพลงตลอดจนกำกับการแสดงเรื่อง "หลงทาง" ซึ่งออกฉายเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2475 "หนังพูด" เรื่องยาวครั้งแรก ของ ภาพยนตร์เสียงศรีกรุง มีเพลงประกอบทั้งหมด 6 เพลง คือ เพลงพัดชา เพลงบัวบังใบ เพลงลาวเดินดง เพลงกุหลาบหอม (ขึ้นพลับพลา) เพลงโยสะลัม และเพลงเงี้ยว โดย ขุนสนิทบรรเลงการใช้ทำนองเพลงไทยเดิมทั้งหมด แล้วใส่เนื้อร้องประกอบเข้าไป ออกฉายที่โรงภาพยนตร์พัฒนากร ได้รับคำชมเชยเป็นอย่างดี ทำให้ศรีกรุงได้ชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกภาพยนตร์เสียงอย่างสมบูรณ์แบบ

ร่วมงานกับภาพยนตร์เสียงศรีกรุงโดยตลอด สร้างผลงานที่น่าจดจำไว้หลายเรื่อง ทั้งข่าวสารคดี และแนวบันเทิงคดี เช่น บันทึกเหตุการณ์ ฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 150 ปี (2475) และ บันทึกเหตุการณ์ สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานรัฐธรรมนูญ (2475) ทั้งสองเรื่องเป็นข่าวสารคดี ส่วนแนวบันเทิงคดีปีเดียวกัน คือ เรื่อง "หลงทาง" หนังพูดเรื่องยาวแรกของหนังเสียงศรีกรุง

เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ใน พ.ศ. 2475 คณะราษฎร์ได้ประกาศใช้เพลงชาติมหาชัย ซึ่งประพันธ์เนื้อร้องโดย เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นเพลงชาติฉบับที่แต่งทำนองโดยพระเจนดุริยางค์ เมื่อแรก ๆ นั้น ได้ใช้คำร้องของขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธ์) ประพันธ์ เป็นเพลงชาติไทยฉบับที่ห้า ใช้"ระหว่างปี พ.ศ. 2475–2477

ในปี พ.ศ. 2485 เกิดสงครามมหาเอเซียบูรพา สร้างความเดือดร้อน เกิดภาวะขาดแคลนขึ้นในอุตสาหกรรมทุกระดับ ไม่เว้นแม้แต่ อุตสาหกรรมภาพยนตร์ ฟิล์มเริ่มขาดแคลน ศรีกรุงเลิกทำหนัง เหลือแต่ของรัฐบาลที่มีเนื้อหาปลุกใจให้รักชาติทั้งหมด หนึ่งในหลายเรื่องที่โดดเด่นคือ "บ้านไร่นาเรา" ของกองทัพอากาศ เรื่องราวของชาวนากับอุดมการณ์รักชาติ ที่สอดคล้องกับนโยบายการบริหารประเทศของ จอมพล ป. พิบูลสงครามผู้นำประเทศ ในสมัยนั้น รวมทั้งเพลงประกอบอมตะ "บ้านไร่นาเรา" โดยพระเจนดุริยางค์ ประพันธ์ทำนองในแนวของความขยันขันแข็งในการทำงาน บ้านเมืองอุดมสมบูรณ์ และเป็นเพลงที่ สำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติ ยกย่องเป็น เพลงลูกทุ่ง เพลงแรกในงานวันเพลงลูกทุ่ง

พ.ศ. 2486 ประพันธ์บทละครเวทีและเพลงอมตะเรื่อง "ศรอนงค์" จัดแสดงโดยคณะละครของพระนางเธอ ลักษมีลาวัณ พระมเหสีในรัชกาลที่ 6 ซึ่งทรงดำริให้เป็นมรหสพเพื่อบำรุงขวัญกำลังใจของประชาชนในภาวะเงียบเหงายามสงคราม ที่ศาลาเฉลิมกรุง ละครและเพลงประกอบยังคงได้รับความนิยม เป็นละครทางทีวีและรีวิวคอนเสิร์ตจนทุกวันนี้

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ได้ประพันธ์เรื่องเพื่อทำภาพยนตร์ อีกครั้งใน พ.ศ. 2495 เรื่อง "ทะเลรัก" อำนวยการสร้างโดย เสวตร์ เปี่ยมพงศ์สานต์ ปีถัดมาภาพยนตร์จากนวนิยายชื่อเดียวกัน (ที่ประพันธ์ไว้เมื่อปี พ.ศ. 2469) เรื่อง "วารุณี" ภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องเป็นภาพยนตร์ 16 มิลลิเมตรบันทึกเสียงลงในฟิล์ม ประสบความสำเร็จพอสมควร งานประพันธ์อีกเรื่องเป็นบทละครประกอบเพลงทางไทยทีวีช่อง 4 เรื่อง "มาร์โคโลกับคุบไบลข่าน" นำแสดงโดย อารีย์ นักดนตรี คู่กับ กำธร สุวรรณปิยะศิริ ซึ่งรับบทนำครั้งแรก พ.ศ. 2502[1] กับเรื่องอื่น ๆ ได้แก่ เจ้าจอมเจียวกุน ไซซี ฮวนลิฮวยกับซิเต็งซัน ฯลฯ

พ.ศ. 2514 ภาพยนตร์เสียงศรีกรุง กลับมาสร้างหนังซาวด์ออนฟิล์มอีกครั้ง (ท่ามกลางกระแสนิยมการสร้างหนัง 16 มม. และหนังสโคป เสียงพากย์ในฟิล์ม) และได้เชิญเป็นผู้กำกับการแสดงเรื่อง กลัวเมีย (สร้างใหม่ ) ก่อนปิดกิจการถาวรในปีต่อมา

นับแต่นั้นก็มิได้เกี่ยวข้องกับงานภาพยนตร์อีกเลย จนวาระสุดท้ายของชีวิต เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2523 มีอายุได้ 83 ปี

ครอบครัว

[แก้]

สมรสกับ นางสาววิเชียร อภิวัฒน์ ธิดาของ นายจิ๋ว และ นางเล็ก มีบุตร-ธิดา รวม 7 ท่าน คือ

  • นายโสภณ กาญจนาคพันธุ์
  • นายโสภิณ กาญจนาคพันธุ์
  • นางโสภา เปี่ยมพงศ์สานต์ ภรรยา นายเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์
  • นายชาญ กาญจนาคพันธุ์
  • นายดิเรก กาญจนาคพันธุ์
  • นางสีแพร จริตงาม ภรรยา เรืออากาศเอกสงวน จริตงาม
  • ร้อยเอก เอก กาญจนาคพันธุ์

ผลงาน

[แก้]

ภาพยนตร์

[แก้]
  • รบระหว่างรัก (2474) กำกับ / เรื่อง (หนังเงียบ)
  • ท้าวกกขนาก (2475) กำกับ / เรื่อง (หนังเงียบ)
  • หลงทาง (2475) กำกับ / เรื่องและเพลง
  • ปู่โสมเฝ้าทรัพย์ (2476) กำกับ / เรื่องและเพลง
  • เลือดทหารไทย (2478) กำกับ / เรื่องและเพลง
  • พญาน้อยชมตลาด (2478) เพลง
  • เมืองแม่หม้าย (2478) เพลง
  • เพลงหวานใจ (2480) กำกับ / เรื่องและเพลง
  • บ้านไร่นาเรา (2485) เรื่องและเพลง
  • ทะเลรัก (2495) กำกับ / เรื่อง
  • วารุณี (2496) กำกับ / เรื่อง
  • กลัวเมีย (2514) กำกับ

ละคร

[แก้]
  • ศรอนงค์ (เรื่องและเพลง ละครเวทีคณะของพระนางเธอ ลักษมีลาวัณ ช่วงสงครามมหาเอเซียบูรพา ศาลาเฉลิมกรุง พ.ศ. 2486)
  • มาร์โคโปโลกับคุบไบลข่าน (เรื่องและเพลง ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม พ.ศ. 2502)
  • เจ้าจอมเจียวกุน (เรื่องและเพลง ไทยทีวี)
  • ไซซี (เรื่องและเพลง ไทยทีวี)
  • ฮวนลิฮวยกับซิเต็งซัน (เรื่อง ไทยทีวี)

บทเพลง

[แก้]
เพลงชาติสยามฉบับราชการ พ.ศ. 2477 (บทร้อง 2 บทแรกประพันธ์โดยขุนวิจิตรมาตราเมื่อ พ.ศ. 2475 และได้แก้ไขเพิ่มเติมสำหรับเข้าประกวดเพลงชาติฉบับราชการในปี พ.ศ. 2476)

ส่วนใหญ่รับหน้าที่ประพันธ์คำร้องมากกว่า หลายเพลงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องแม้ภาพยนตร์เรื่องนั้น ๆ จะออกจากโรงไปแล้ว

ฯลฯ

หนังสือ

[แก้]
  • หลักไทย (งานค้นคว้าเกี่ยวกับทฤษฎีชนชาติไทย ได้รับพระราชทานรางวัลจากรัชกาลที่ 7 เมื่อ พ.ศ. 2471)
  • เด็กคลองบางหลวง
  • กรุงเทพฯ เมื่อวานนี้
  • กรุงเทพเมื่อ 70 ปีก่อน
  • 80 ปีในชีวิตข้าพเจ้า
  • สำนวนไทย
  • ภูมิศาสตร์สุนทรภู่
  • ภูมิศาสตร์วัดโพธิ์
  • คอคิดขอเขียน
  • สิ่งที่คิดเห็นในเรื่องคาวี
  • ประวัติการค้าไทย
  • โหงวโฮ้วเพ็งปัก

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. อารีย์ นักดนตรี, โลกมายาของอารีย์, กายมารุต 2546 ISBN 976-91018-4-7 หน้า 214-224
  2. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-07-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๖๙ ตอนที่ ๗๓ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๔๓, ๑๒ ธันวาคม ๒๔๙๕
  3. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๖๕ ตอนที่ ๗๕ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๕๓๓, ๒๕ ธันวาคม ๒๔๙๑
  4. ราชกิจจานุเบกษา, บัญชีรายนามข้าราชการและราษฎร ที่ได้รับพระราชทานเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ เก็บถาวร 2022-07-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๕๓ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๙๘๑, ๙ สิงหาคม ๒๔๗๙
  5. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-05-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๗๐ ตอนที่ ๗๘ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๐๖, ๒๓ ธันวาคม ๒๔๙๖