วิลเลียม พาร์สันส์ เอิร์ลแห่งรอสส์ที่ 3
วิลเลียม พาร์สันส์ เอิร์ลแห่งรอสส์ที่ 3 | |
---|---|
เกิด | 17 มิถุนายน ค.ศ. 1800 ยอร์คเชอร์ อังกฤษ |
เสียชีวิต | 31 ตุลาคม ค.ศ. 1867 |
สัญชาติ | อังกฤษ |
อาชีพ | นักดาราศาสตร์ |
วิลเลียม พาร์สันส์ เอิร์ลแห่งรอสส์ที่ 3 (อังกฤษ: William Parsons, 3rd Earl of Rosse; 17 มิถุนายน ค.ศ. 1800 — 31 ตุลาคม ค.ศ. 1867) เป็นนักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษ ผู้สร้างกล้องโทรทรรศน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกเมื่อปี ค.ศ. 1845 และยังคงเป็นกล้องโทรทรรศน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกตลอดช่วงศตวรรษนั้น เขาได้ศึกษาห้วงอวกาศผ่านกล้องโทรทรรศน์นี้และได้ค้นพบดาราจักรเป็นจำนวนมาก
เขาเกิดที่มณฑลยอร์คเชอร์ ประเทศอังกฤษ เข้ารับการศึกษาที่วิทยาลัยทรินิตี ดับลิน และจบการศึกษาเกียรตินิยมอันดับหนึ่งสาขาคณิตศาสตร์จากวิทยาลัยแมกดาเลน มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด เมื่อปี ค.ศ. 1822 ได้รับตำแหน่ง เอิร์ล พร้อมที่ดินในไอร์แลนด์สืบต่อจากบิดาในปี ค.ศ. 1841
ลอร์ดรอสส์ได้เป็นสมาชิกรัฐสภาอังกฤษระหว่างปี ค.ศ. 1821 - 1834 หลังจากนั้นได้เป็นตัวแทนสมาชิกสภาขุนนางชาวไอริชตั้งแต่ ค.ศ. 1845 เขาเป็นประธานราชสมาคมดาราศาสตร์ระหว่าง ค.ศ. 1848 - 1854 และเป็นอธิการบดีของวิทยาลัยทรินิตี มหาวิทยาลัยดับลิน ระหว่าง ค.ศ. 1862 - 1867
งานด้านดาราศาสตร์
[แก้]ลอร์ดรอสส์สร้างกล้องโทรทรรศน์ขนาด 72 นิ้ว (183 ซม.) ชื่อ Leviathan of Parsonstown ในราวคริสต์ทศวรรษ 1840 โดยต้องคิดค้นและพัฒนาเทคนิคมากมายหลายประการสำหรับประกอบขึ้นเป็นกล้องโทรทรรศน์นี้ ทำให้กลายเป็นกล้องที่ล้ำสมัยที่สุดในยุคของเขา เขาเริ่มต้นสร้างในปี ค.ศ. 1845 และเริ่มนำมาใช้งานในปี ค.ศ. 1847 เพื่อใช้แทนที่กล้องโทรทรรศน์ขนาด 36 นิ้ว ที่เขาได้สร้างไว้ก่อนหน้านี้
ลอร์ดรอสส์เป็นผู้นำการศึกษาดาราศาสตร์หลายประการ เขาค้นพบลักษณะแบบกังหัน (หรือแบบก้นหอย) ที่เกิดกับเนบิวลาจำนวนหนึ่ง ปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ดาราจักรแบบก้นหอย (spiral galaxy) ดาราจักรแบบก้นหอยแห่งแรกที่เขาตรวจพบคือดาราจักร M51 ภาพวาดของเขาคล้ายคลึงกับภาพถ่ายในยุคปัจจุบันอย่างมาก ปัจจุบันเรารู้จักดาราจักรนี้ในชื่อ ดาราจักรน้ำวน (Whirlpool Galaxy)
ลอร์ดรอสส์เป็นผู้ตั้งชื่อให้เนบิวลารูปปู ตามภาพที่เขามองเห็นผ่านกล้องโทรทรรศน์ขนาด 36 นิ้วซึ่งดาราจักรมีภาพปรากฏคล้ายปู หลังจากที่กล้องโทรทรรศน์ใหม่ขนาด 72 นิ้วได้นำมาใช้งานแล้ว เขาได้วาดภาพเนบิวลานี้ขึ้นใหม่ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น แต่ชื่อดั้งเดิมของมันก็เป็นที่รู้จักไปเสียแล้ว