ข้ามไปเนื้อหา

วิทยาลัยนาฏศิลป

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก วิทยาลัยนาฏศิลป์)
วิทยาลัยนาฏศิลป
The College of Dramatic Arts
สถาปนา17 พฤษภาคม พ.ศ. 2477 (90 ปี)
ที่อยู่
เลขที่ 119 หมู่ 3 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
มาสคอต
พระพิฆเนศ
เว็บไซต์cda.bpi.ac.th

วิทยาลัยนาฏศิลป (อังกฤษ: The College of Dramatic Arts) เป็นกลุ่มสถาบันการศึกษาในสังกัดสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม โดยเปิดสอนเพื่อผลิตครูและบุคลากรสายอาชีพในด้านนาฏศิลป์และดนตรี

ประวัติวิทยาลัย

[แก้]

วิทยาลัยนาฏศิลป เดิมมีชื่อว่า "โรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์" เปิดสอนครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2477 นับเป็นสถาบันของชาติแห่งแรกที่ให้การศึกษาทั้งวิชาสามัญและวิชาศิลป ขึ้นอยู่กับกรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนนี้คือ พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ อธิบดีคนแรกของกรมศิลปากร ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2478 ทางการมีความประสงค์ที่จะให้วิชาศิลปทางโขน ละคร และดนตรี มารวมอยู่ในสังกัดเดียวกัน จึงได้โอนครูอาจารย์ทางนาฏศิลป์และดุริยางคศิลป์ กับศิลปินประจำราชสำนักของพระมหากษัตริย์ รวมทั้งเครื่องดนตรี เครื่องโขน เครื่องละครของหลวงบางส่วนจากกระทรวงวัง (สำนักพระราชวัง ในปัจจุบัน) ให้มาสังกัดกรมศิลปากร กรมศิลปากรจึงได้แก้ไขปรับปรุงการศึกษาของโรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ในวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2478 ได้มีคำสั่งตั้งโรงเรียนศิลปากร (มหาวิทยาลัยศิลปากร ในปัจจุบัน) สอนวิชาช่างปั้น ช่างเขียน และช่างรักขึ้นอยู่กับกรมศิลปากร และให้โรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์ไปรวมเป็นแผนกหนึ่งของโรงเรียนศิลปากร เรียกชื่อเฉพาะแผนกนี้ว่า "โรงเรียนศิลปากรแผนกนาฏดุริยางค์" ให้การศึกษาวิชาศิลปทางดนตรี ปี่พาทย์ และละคร แต่ยังไม่มีโขน ต่อมาวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2485 ได้ยุบกองโรงเรียนและให้ "แผนกช่าง" ของโรงเรียนศิลปากรไปขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยศิลปากร และโอนกรมศิลปากรไปสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2485 กรมศิลปากรปรับปรุงกองดุริยางคศิลป์ เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นกองการสังคีต และโอนแผนกนาฏดุริยางค์จากโรงเรียนศิลปากรขึ้นกับกองการสังคีต เปลี่ยนเป็น "โรงเรียนสังคีตศิลป" ขึ้นอยู่กับแผนกนาฏศิลป แต่เนื่องจากอุปสรรคและสงครามโลกครั้งที่สอง รวมทั้งราชการได้คืนสถานที่ไปใช้ราชการอย่างอื่น ระหว่าง พ.ศ. 2485 – พ.ศ. 2487 การศึกษาของโรงเรียนสังคีตศิลปจึงหยุดชะงักไปชั่วระยะหนึ่ง

พ.ศ. 2488 หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง นายกรัฐมนตรีบัญชาให้แก้ไขปรับปรุงการศึกษาของโรงเรียนสังคีตศิลปใหม่และเปลี่ยนชื่อเป็น "โรงเรียนนาฏศิลป" มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ

  1. เพื่อเป็นสถานศึกษานาฏศิลปและดุริยางคศิลป์ของทางราชการ
  2. เพื่อบำรุงรักษาและเผยแพร่นาฏศิลปและดุริยางคศิลป์ประจำชาติไทย
  3. เพื่อให้ศิลปทางดนตรีและโขน – ละคร ภายในประเทศมีฐานะเป็นที่ยกย่อง

เมื่อเปิดโรงเรียนนาฏศิลป ปี พ.ศ. 2488 มีนักเรียนเก่าเหลืออยู่ในโรงเรียนสังคีตศิลป 33 คน เป็นนักเรียนหญิงทั้งสิ้น จึงเปิดรับสมัครนักเรียนชายเข้าฝึกหัดโขน จำนวน 60 คน นับแต่นั้นมา โรงเรียนนาฏศิลปก็ขยายการศึกษาทั้งนาฏดุริยางคศิลป์ไทยและสากล กองการสังคีตมาขึ้นกับกองศิลปศึกษา และได้รับการยกฐานะให้เป็น "วิทยาลัยนาฏศิลป" เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2515

วิทยาลัยนาฏศิลปเป็นสถาบันการศึกษาที่มุ่งผลิตครูและบุคลากรสายอาชีพ ในด้านนาฏศิลป์ ดนตรี มีการจัดการเรียนการสอนอันประกอบด้วยการศึกษาวิชาสามัญและศิลปะตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ โดยจัดการศึกษาเป็น 3 ระดับ คือ

  • ระดับนาฏศิลป์ชั้นต้น รับผู้สำเร็จการศึกษาในชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เข้าศึกษาตามหลักสูตร 3 ปี ได้รับประกาศนียบัตรนาฏศิลป์ชั้นต้น
  • ระดับนาฏศิลป์ชั้นกลาง รับนักเรียนต่อเนื่องจากระดับนาฏศิลป์ชั้นต้นปีที่ 3 และนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.3) เข้าศึกษาตามหลักสูตร 3 ปี ได้รับประกาศนียบัตรนาฏศิลป์ชั้นกลาง
  • ระดับนาฏศิลป์ชั้นสูง รับนักเรียนต่อเนื่องจากระดับนาฏศิลป์ชั้นกลางเข้าศึกษาต่อ 2 ปี ได้รับประกาศนียบัตรนาฏศิลป์ชั้นสูง หรือเทียบเท่าอนุปริญญา

ในปีการศึกษา 2519 ได้ขยายการศึกษาจนถึงระดับปริญญาตรี โดยสมทบกับสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ในปัจจุบัน) ในคณะนาฏศิลป์และดุริยางค์ รับศึกษาที่สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยนาฏศิลปในระดับนาฏศิลป์ชั้นสูง เข้าศึกษาต่ออีก 2 ปี ได้รับปริญญาศึกษาศาสตรบัณฑิต (ศษ.บ.) ต่อมาในปีการศึกษา 2541 กรมศิลปากรได้จัดตั้ง "สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์" ขึ้น โดยจัดการศึกษาในระดับปริญญาตรีด้านช่างศิลป์ นาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ ทั้งไทยและสากล รับนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาในระดับนาฏศิลป์ชั้นสูง เข้าศึกษาต่ออีก 2 ปี ในคณะศิลปนาฏดุริยางค์ และคณะศิลปศึกษา​ ปัจจุบัน​วิทยาลัยนาฏศิลป​ เป็น​หน่วยงานในสังกัดสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์​ กระทรวงวัฒนธรรม

สาธุ โข สิปฺปกํ นาม อปิ ยาทิสกีทิสํ

ขึ้นชื่อว่าศิลปะแม้เช่นใดเช่นหนึ่ง ก็ยังประโยชน์ให้สำเร็จได้

— สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานในโอกาสครบรอบ 60 ปี วิทยาลัยนาฏศิลป เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2537, left

วิทยาลัยนาฏศิลป 12 แห่ง

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]

ประวัติวิทยาลัย เก็บถาวร 2017-10-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]