วิกิพีเดีย:บทความแนะนำ/พ.ศ. 2568
มกราคม
1 มกราคม พ.ศ. 2568
253 มาทิลเด (ในภาพ) เป็นดาวเคราะห์น้อยในแถบดาวเคราะห์น้อยหลัก ค้นพบโดยโยฮัน พาลีซา ใน พ.ศ. 2428 ใช้เวลาโคจรรอบดวงอาทิตย์จำนวน 4 ปี และโคจรรอบตัวเองด้วยอัตราที่ช้าผิดปกติ คือใช้เวลา 17.4 วัน ในการโคจรรอบตัวเองครบ 1 รอบ
เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2540 ยานเนียร์ชูเมกเกอร์ได้สำรวจดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ระหว่างทางที่จะเดินทางไปยังดาวเคราะห์น้อยอีรอส และได้ถ่ายภาพของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ไว้ซึ่งแสดงให้เห็นถึงหลุมอุกกาบาตจำนวนมากบนพื้นผิว ปัจจุบัน 253 มาทิลเด เป็นดาวเคราะห์น้อยประเภท C ดวงแรกที่มียานอวกาศไปสำรวจ และก่อนหน้าการเดินทางไปยัง 21 ลูเทเชีย ดาวเคราะห์น้อยมาทิลเดจะเป็นดาวเคราะห์น้อยดวงใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการสำรวจในปัจจุบัน
เมื่อ พ.ศ. 2423 โยฮัน พาลีซา กรรมการของหอดูดาวนาวีออสเตรีย ได้รับมอบหมายให้ไปเป็นผู้ช่วยในหอดูดาวเวียนนาที่เพิ่งเปิดใหม่ พาลีซาได้ใช้กล้องโทรทรรศน์หักเหแสงขนาด 27 นิ้ว (690 มม.) ซึ่งเป็นกล้องที่ใหญ่ที่สุดในโลกในขณะนั้น และกล้องขนาด 12 นิ้ว (300 มม.) ในการค้นพบดาวเคราะห์น้อยจำนวน 94 ดวง โดยก่อนหน้านี้เขาได้ค้นพบดาวเคราะห์น้อยมาแล้ว 27 ดวง
15 มกราคม พ.ศ. 2568
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาเป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของรัฐ ได้รับการยกฐานะขึ้นจากวิทยาเขตของสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล โดยชื่อ "ราชมงคล" นั้น ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2533 พร้อมทั้งพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญ "พระมหาพิชัยมงกุฎ" และ "พระราชลัญจกร" ประจำพระองค์ ให้เป็นตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาเป็นศูนย์กลางการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในภาคเหนือของประเทศไทย โดยมีการเรียนการสอน 5 ระดับ คือ ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ระดับปริญญาตรี ระดับปริญญาโท และระดับปริญญาเอก
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยระยะแรก พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในช่วงเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคมเป็นประจำทุกปี ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้องคมนตรีเป็นผู้แทนพระองค์