ข้ามไปเนื้อหา

วาลา (มิดเดิลเอิร์ธ)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก วาลาร์)

วาลาร์ (อังกฤษ: Valar) เป็นชื่อเรียกชนชั้นสูงในชนเผ่า ไอนัวร์ (Ainur) ในจินตนิยายของ เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน มีกล่าวถึงอยู่มากในตำนานเรื่องซิลมาริลลิออน ชนเผ่าไอนัวร์เป็นชนเผ่าที่ถือกำเนิดมาจากพระเจ้าสูงสุดในโลกอาร์ดา คือมหาเทพอิลูวาทาร์ เป็นพวกที่ช่วยมหาเทพสร้างพิภพต่างๆ และตระเตรียมสถานที่ให้พร้อมสำหรับเหล่าบุตรแห่งอิลูวาทาร์ กล่าวคือเป็นผู้ช่วยสร้างโลกอาร์ดานั่นเอง ชาวมนุษย์มักเรียกเหล่าไอนัวร์ว่า "เทพ"

คำว่า "วาลาร์" เป็นคำภาษาเอลฟ์ หมายถึง "พลังอำนาจแห่งพิภพ" รูปคำ วาลาร์ (Valar) เป็นพหูพจน์ คำเอกพจน์คือ วาลา (Vala)

พระนามของปวงเทพ

[แก้]

ต่อไปนี้เป็นพระนามของคณะเทพวาลาร์ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในหมู่เอลฟ์และมนุษย์ สำหรับพระนามในภาษาอื่นอาจมีที่เรียกแตกต่างออกไป เช่นเทพีเอลเบเร็ธในภาษาซินดาริน (หมายถึงเทพีวาร์ดา) หรือเทพมาฮัลในภาษาคนแคระ (หมายถึงเทพอาวเล เทพผู้สร้างคนแคระ) เป็นต้น

เทพวาลาร์

[แก้]
  • มานเว เทพแห่งนภา ผู้ครองห้วงหาวนภากาศ เป็นเทพบดีผู้เป็นใหญ่ ปกครองอาณาจักรอาร์ดาในพระนามของอิลูวาทาร์
  • อุลโม เทพแห่งสมุทร ผู้อารักขาสายน้ำทั้งหลาย
  • อาวเล เทพวิศวกรรม เทพผู้สร้าง เจ้าแห่งงานฝีมือ
  • โอโรเม เทพแห่งพงไพร
  • นาโม หรืออีกนามหนึ่งว่า มานดอส ตามชื่อที่พำนักของพระองค์ เป็นเทพแห่งความตายและความยุติธรรม หนึ่งในเทพเฟอันทูริผู้ครองจิตวิญญาณ
  • เอียร์โม หรืออีกนามหนึ่งว่า ลอริเอน ตามชื่อที่พำนักของพระองค์ เป็นเทพแห่งความฝัน หนึ่งในเทพเฟอันทูริผู้ครองจิตวิญญาณ
  • ทุลคัส เทพแห่งความแข็งแกร่งผู้มักสรวลเป็นนิจ

เทพีวาลิแอร์

[แก้]
  • วาร์ดา เทพีแห่งดวงดาว ผู้อารักขาแสงสว่างทั้งปวง เป็นชายาของมานเว เป็นที่รักใคร่ของเหล่าเอลฟ์ มักเรียกขานนางว่า เอเลนทาริ หรือ เอลเบเร็ธ กิลโธนิเอล
  • ยาวันนา เทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ พระแม่เจ้าธรณี (แปลจาก เคเมนทาริ) ผู้อารักขาพฤกษ์พันธุ์และสรรพชีวิต เป็นชายาของเทพอาวเล
  • นิเอนนา เทพีแห่งความเมตตาและความเศร้าโศก เป็นภคินีของเทพเฟอันทูริทั้งสอง
  • เอสเต เทพีแห่งการผ่อนพัก เป็นชายาของเทพเอียร์โม
  • ไวเร เทพีแห่งการถักทอ เป็นชายาของเทพนาโม
  • วานา เทพีแห่งความเยาว์นิรันดร์ เป็นขนิษฐาของเทพียาวันนา และเป็นชายาของเทพโอโรเม
  • เนสซา เทพีแห่งความรื่นเริง เป็นชายาของเทพทุลคัส


ดูเพิ่ม

[แก้]