ลัทธิซินิก
ลัทธิซินิก (อังกฤษ: Cynicism; กรีกโบราณ: κυνισμός) เป็นสำนักคิดทางปรัชญากรีกโบราณที่มีต้นกำเนิดในสมัยคลาสสิกและสืบเนื่องมาจนถึงสมัยเฮลเลนิสต์และสมัยจักรวรรดิโรมัน ลัทธิซินิกเชื่อว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่มีเหตุผล จุดหมายของชีวิตและหนทางสู่ความสุขคือการบรรลุคุณธรรมในวิถีที่สอดคล้องกับธรรมชาติ โดยทำตามวิจารณญาณตามธรรมชาติของตนเอง และใช้ชีวิตเรียบง่าย เป็นอิสระจากข้อจำกัดทางสังคมโดยไม่แยแสผู้ใด ผู้ถือลัทธิซินิก (กรีกโบราณ: Κυνικός; ละติน: Cynicus) ปฏิเสธความปรารถนาตามแบบแผนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นความมั่งคั่ง อำนาจ เกียรติยศ การยอมรับนับถือจากสังคม การดำเนินชีวิตตามกรอบ และสมบัติทางโลก ทั้งยังเย้ยหยันสิ่งเหล่านี้อย่างเปิดเผยในที่สาธารณะ
นักปรัชญาคนแรกที่ริเริ่มแนวคิดเหล่านี้คืออันติสเทแนส ซึ่งเคยเป็นศิษย์ของโสกราตีสในช่วงปลายทศวรรษ 400 ก่อนคริสต์ศักราช ตามมาด้วยไดออจินีส ซึ่งอาศัยหลับนอนอยู่ในโอ่งดินเผาริมถนนในเอเธนส์[1] ไดออจินีสผลักดันแนวคิดของลัทธิซินิกจนสุดโต่งผ่านพฤติกรรมแหวกขนบอันเป็นที่เลื่องลือในที่สาธารณะ จนกลายเป็นที่จดจำในฐานะนักปรัชญาต้นแบบลัทธิซินิก หลังจากนั้นก็มีกราแตสแห่งทีบส์ ซึ่งสละทรัพย์สมบัติมหาศาลเพื่อมาใช้ชีวิตอย่างคนยากไร้ตามปรัชญาซินิกในเอเธนส์
ลัทธิซินิกค่อย ๆ เสื่อมความนิยมลงหลังจากศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสต์ศักราช[2] แต่กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งพร้อมกับการขึ้นสู่อำนาจของจักรวรรดิโรมันในคริสต์ศตวรรษที่ 1 มีผู้ถือลัทธิซินิกขอทานและเทศนาอยู่ทั่วไปตามหัวเมืองต่าง ๆ ในจักรวรรดิ แนวคิดทางพรตนิยมและวาทศิลป์ที่คล้ายคลึงกันนี้ยังปรากฏอยู่ในศาสนาคริสต์ยุคแรก เมื่อถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 มุมมองทางลบของปรัชญาซินิกได้ถูกเน้นย้ำและขยายความจนกลายเป็นความเข้าใจในสมัยใหม่ว่าลัทธินี้หมายถึงความเชื่อที่ว่าการกระทำของมนุษย์ไม่อาจมาจากความจริงใจหรือเจตนาดีอย่างแท้จริง
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Laërtius & Hicks 1925, VI:23; Jerome, Adversus Jovinianum, 2.14.
- ↑ Dudley 1937, p. 117
บรรณานุกรม
[แก้]- Dudley, R. (1937), A History of Cynicism from Diogenes to the 6th Century A.D., Cambridge University Press