ข้ามไปเนื้อหา

รัฐธรรมนูญนิยม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ระบอบรัฐธรรมนูญ)

รัฐธรรมนูญนิยม (Constitutionalism) เป็นแนวคิดที่ต้องการวางหลักเกณฑ์ในการมองรัฐธรรมนูญให้มีความเป็นกฎหมายสูงสุด และคุ้มครองสิทธิของประชาชนโดยแท้จริง แนวคิดนี้ยังกล่าวว่าหากรัฐใดมีรัฐธรรมนูญ แต่ไม่กล่าวถึงโครงสร้างแห่งหลักประกันสิทธิของประชาชนในรัฐ รัฐธรรมนูญนั้นก็เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่สมบูรณ์ หรือไม่เป็นรัฐธรรมนูญ แนวคิดรัฐธรรมนูญนั้นมีมากมายแตกต่างกันแตกหากเชื่อในเรื่องของการมีกฎหมายสูงสุดอันเป็นหลักประกันสิทธิของประชาชนเหมือนกันก็ย่อมเรียกว่า รัฐธรรมนูญนิยม

วัตถุประสงค์ของกระแสแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยมนี้เน้นการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างรัฐในฐานะผู้ปกครองซึ่งมีอำนาจสูงสุดกับประชาชนผู้อยู่ใต้ปกครอง [1] โดยรัฐจะต้องให้การรับรองและคุ้มครองซึ่งสิทธิเสรีภาพของผู้ใต้ปกครองและประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมในการปกครองหรือในการใช้อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ ทั้งนี้จะต้องมีการสร้างระบบควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจและมีการปรับปรุงโครงสร้างทางการเมืองให้มีเสถียรภาพเพื่อจะได้บรรลุวัตถุประสงค์ของแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยมที่มีแนวคิดในการสร้างมาตรการขึ้นมาเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญฉบับเก่านั่นเอง [2]

ความหมาย

[แก้]

รัฐธรรมนูญนิยม มีหลายความหมาย โดยส่วนใหญ่แล้วมักหมายถึงกลุ่มของแนวความคิด ทัศนคติ และรูปแบบพฤติกรรมที่สาธยายเกี่ยวกับหลักการที่การใช้อำนาจของรัฐมาจากกฎหมายสูงสุดและถูกจำกัดอำนาจด้วยกฎหมายสูงสุด [3] รัฐธรรมนูญนิยม นิยาม รัฐธรรมนูญนิยม หรือ ระบอบรัฐธรรมนูญ (Constitutionalism) หมายถึง ความเชื่อทางปรัชญาความคิดที่นิยมหลักการปกครองรัฐด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ เป็นแนวความคิดที่มุ่งหมายจะใช้รัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร (written constitution) เป็นหลักในการกำหนดรูปแบบ กลไก และสถาบันทางการเมืองการปกครองต่างๆ ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานของการบริหารงานภาครัฐในฐานะที่เป็นกฎหมายสูงสุด (อมร จันทรสมบูรณ์, 2537: 9; Alexander, 1999: 16; Bellamy, 2007: 4-5; Sartori, 1962: 3) ที่มา แนวคิดนี้เริ่มก่อตัวขึ้นครั้งแรกในประเทศตะวันตก ในราวคริสต์ศตวรรษที่ 17 เพื่อต่อต้าน คัดค้านรูปแบบการเมืองการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (absolutism) ของประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปขณะนั้น จนมาปรากฏชัดเจนขึ้นหลังจากการประชุมเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1787 (McIlwain, 1977: 17) ซึ่งทำให้แนวคิดเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรนั้นปรากฏชัดเจนขึ้นเป็นครั้งแรก ดังนั้น แนวคิดเรื่องลัทธิรัฐธรรมนูญนิยมนี้เมื่อเกิดขึ้นในขั้นต้น จึงไม่ได้มีความหมายกลางๆ แต่อย่างใด หากแต่มีความหมายที่โน้มเอียงไปในด้านการจำกัดอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในขณะนั้น และเน้นหนักในการพยายามสร้างสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของพลเมืองภายในรัฐ โดยเรียกร้องให้มีการนำสิ่งที่เรียกว่า “รัฐธรรมนูญ” มาใช้เป็นหลักในการวางกรอบของประเด็นดังกล่าว จากลักษณะข้างต้นจึงทำให้ลัทธิรัฐธรรมนูญนิยมในประเทศตะวันตกนั้นได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยไปในที่สุด หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ สำหรับประเทศตะวันตกแล้ว หากจะมีรัฐธรรมนูญก็ควรจะต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยนั่นเอง (Bellamy, 2007: 93) ท่ามกลางกระแสเสรีประชาธิปไตยซึ่งยังคงเป็นกระแสหลักของประเทศส่วนใหญ่ในตะวันตก จึงได้ทำให้คำว่าลัทธิรัฐธรรมนูญนิยมในปัจจุบันกลับกลายเป็นสิ่งที่มีความหมายกลางๆ ที่มองรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือทางกฎหมายอย่างหนึ่ง ที่จะนำมาใช้วางโครงสร้างสถาบันทางการเมืองการปกครอง กำหนดแหล่งที่มาของอำนาจ การเข้าสู่อำนาจ และการใช้อำนาจของผู้ปกครองในทุกๆ ระบอบการปกครอง (McIlwain, 1977) โดยมิได้จำกัดอยู่แต่เพียงระบอบประชาธิปไตยอีกต่อไป ดังจะเห็นได้จากในปัจจุบันนี้รัฐสมัยใหม่ “ทุกรัฐ” ในโลกนี้ไม่ว่าจะเป็นประเทศเสรีประชาธิปไตยหรือไม่ ต่างก็ล้วนแล้วแต่ยึดรูปแบบการปกครองของระบอบรัฐธรรมนูญนิยม (constitutionalism) ทั้งสิ้น กล่าวคือ ทุกๆ รัฐต่างก็มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการจัดวางอำนาจและโครงสร้างทางการเมืองของประเทศนั้นๆ (เสน่ห์, 2540: 17) โดยปัจจุบัน (พ.ศ. 2556) ประเทศที่สหประชาชาติให้การรับรองนั้นมีทั้งสิ้น 196 ประเทศ (แต่เป็นสมาชิกสหประชาชาติเพียง 193 ประเทศ) ในขณะที่รัฐธรรมนูญที่เป็นทางการที่ใช้อยู่ในปัจจุบันในโลกนี้มีทั้งสิ้นกว่า 203 ฉบับ ทั้งนี้เพราะในรัฐโพ้นทะเลบางแห่งอย่างเช่น หมู่เกาะบริติช เวอร์จิน (British Virgin Islands or BVI) ของอังกฤษ หรือ เกาะกรีนแลนด์ของเดนมาร์กนั้นต่างก็เป็นรัฐที่มีรัฐธรรมนูญเป็นของตนเองในฐานะเป็นดินแดนที่มีการปกครองตนเอง แม้ว่าอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดน (absolute territorial sovereignty) นั้นจะเป็นของประเทศเจ้าเอกราชก็ตาม ตัวอย่างการนำไปใช้ในประเทศไทย ประเทศไทยเองก็รับเอาลัทธิรัฐธรรมนูญนิยมนี้เข้ามาใช้อย่างเป็นทางการภายหลังจากการเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 และการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับแรกของคณะราษฎร แม้ว่าขบวนการในการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นจะสามารถสร้างระบอบรัฐธรรมนูญขึ้นในประเทศไทยได้ แต่ผลจากการที่การเปลี่ยนแปลงการปกครองเกิดจากการต่อสู้กันเฉพาะภายในกลุ่มชนชั้นนำบางส่วนของไทย ประกอบกับประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ถึงขนาดที่มีคนเข้าใจว่า “รัฐธรรมนูญ” เป็นชื่อของลูกชายนายทหารผู้นำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา (ปรีดี, 2543) ทั้งนี้ก็เพราะประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ได้มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือต่อสู้บนพื้นฐานของความเข้าใจในสิทธิเสรีภาพและการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ อันจะเป็นเครื่องมือในการสร้างความเสมอภาคเท่าเทียมและเป็นตัวแทนอำนาจอธิปไตยของปวงชน ดังเช่นที่ประชาชนชาติตะวันตกได้ต่อสู้ด้วยความยากลำเค็ญเพื่อก่อร่างสร้างระบอบรัฐธรรมนูญในประเทศของพวกเขา ดังนั้น ระบอบรัฐธรรมนูญของไทยที่เกิดขึ้นภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 จึงสามารถก่อรูปได้ก็แต่เพียงหลักการในการจำกัดอำนาจผู้ปกครอง คือ พระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และทำให้แหล่งที่มาของอำนาจต้องอ้างอิงกับประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยได้ตามหลักการทุกประการ แต่จากการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการต่อสู้มากนักจึงทำให้พวกเขาไม่สามารถเชื่อมโยงจิตสำนึกให้เข้ากับรัฐธรรมนูญได้ แม้จะมีบทบัญญัติถึงหน้าที่ในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญไว้ในรัฐธรรมนูญก็ตาม จุดนี้เองที่ทำให้ประชาชนไม่ให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญ และทำให้รัฐธรรมนูญขาดความศักดิ์สิทธิ์ กฎหมายรัฐธรรมนูญไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 จึงกลายเป็นผลลัพธ์และการรอมชอมจากการต่อสู้ของกลุ่มชนชั้นนำทางการเมืองกลุ่มต่างๆ ของไทย ซึ่งสามารถถูกฉีกทิ้งและร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาแทนในภายหลังได้อย่างง่ายดาย (เสน่ห์, 2540: 31-35) อย่างไรก็ดี หลังจากเหตุการณ์การเรียกร้องให้มีการใช้รัฐธรรมนูญในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2516 ของขบวนการนิสิตนักศึกษาไทย ได้แสดงให้เห็นถึงจุดเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยเฉพาะในแง่ของกฎหมายรัฐธรรมนูญ ปรากฏการณ์นี้สะท้อนว่า คนส่วนหนึ่งของสังคมได้เริ่มตระหนักรู้และเข้าใจความสำคัญของรัฐธรรมนูญในฐานะที่เป็นตัวแทนอำนาจอธิปไตยสูงสุดของปวงชน และเป็นเครื่องมือที่จะนำไปใช้จำกัดอำนาจของผู้ปกครองจากการใช้อำนาจอันมิชอบ (abuse of power) ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถมีเสรีภาพและความเสมอภาคเท่าเทียมที่ถูกรับรองไว้ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญได้อย่างถ้วนหน้า ซึ่งเป็นแก่นของระบอบรัฐธรรมนูญนั่นเอง (เสน่ห์, 2540: 316) จากเหตุการณ์ดังกล่าวนี้เองที่ทำให้ลัทธิรัฐธรรมนูญนิยมเริ่มเข้ามามีบทบาทในการเมืองไทย ในฐานะที่เป็นแนวคิดที่จะสร้างกลไกทางกฎหมายรัฐธรรมนูญที่มีลักษณะเป็นประชาธิปไตย คือ จำกัดอำนาจผู้ปกครอง และสร้างเสรีภาพให้แก่พลเมืองให้มากที่สุด จึงทำให้แนวคิดนี้เติบโตออกไปจากเดิมมาก แม้ช่วงเวลาหลังจากการเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับยุคที่รัฐธรรมนูญมีลักษณะที่เป็นประชาธิปไตยเพียงครึ่งใบก็ตาม และด้วยกระแสลัทธิรัฐธรรมนูญนิยมที่เติบโตขึ้นจึงทำให้ท้ายที่สุดในปี พ.ศ. 2540 ประเทศไทยก็สามารถประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ได้ชื่อว่าประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการยกร่าง และจัดทำรัฐธรรมนูญมากที่สุดฉบับหนึ่ง ซึ่งถึงแม้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจะสามารถนำมาบังคับใช้ได้แค่เพียง 9 ปีก่อนจะเกิดการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2549 แต่จะเห็นได้ว่าการฉีกรัฐธรรมนูญของคณะทหารในครั้งนี้แตกต่างจากครั้งก่อนๆ เพราะครั้งนี้ได้เกิดกระแสต่อต้านคณะรัฐประหารที่ทำลายรัฐธรรมนูญเป็นอย่างมาก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการที่ดีของประเทศไทยที่ประชาชนเริ่มผูกโยงความสำคัญของตัวรัฐธรรมนูญเข้ากับการมีอยู่ของสิทธิและเสรีภาพของตนที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากกว่าเพียงแค่ตัวอักษรที่จารึกไว้ในกระดาษ หากแต่เป็นเจตนารมณ์ของตัวรัฐธรรมนูญที่คอยปกป้องสิทธิ เสรีภาพของประชาชนอันเป็นปัจจัยพื้นฐานของรัฐธรรมนูญทุกรัฐธรรมนูญในระบอบรัฐธรรมนูญ (every constitutionalism’s constitution) นั้นพึงมี [4]

ความหมายของรัฐธรรมนูญที่ได้รับการยอมรับของโลก เป็นความหมายที่ เดวิด เฟลล์แมน เมธีด้านรัฐศาสตร์และรัฐธรรมนูญแห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน ได้อธิบายไว้ว่า

...รัฐธรรมนูญนิยมนั้นหมายถึงการบรรยายแนวคิดที่มีความสลับซับซ้อนอันฝังตัวลึกอยู่ในของประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ ว่าด้วยการควบคุมข้าราชการผู้ใช้อำนาจรัฐให้อยู่ในขอบเขตที่จำกัดโดยกฎหมายที่สูงกว่าอำนาจนั้น ลัทธิรัฐธรรมนูญนิยมได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะดำรงไว้ซึ่งหลักนิติธรรมและต่อต้านการใช้ดุลพินิจวินิจฉัยหรือดุลพินิจตัดสินใจ (judgment or mere fiat) ตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจทางปกครองนั้น ... ซึ่งอาจกล่าวได้ว่ามาตรฐานในการทดสอบความเป็นรัฐธรรมนูญนิยมนั้นก็คือแนวคิดการจำกัดอำนาจรัฐไว้ด้วยกฎหมายที่อำนาจสูงกว่านั่นเอง ไม่ว่าจะมีรัฐบาลในรูปแบบใดก็ตาม...[5]

ด้าน ศ.ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์ ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อธิบายความหมายของคำว่ารัฐธรรมนูญนิยมไว้ว่า

รัฐธรรมนูญนิยมมีความหมายถึงการที่ผู้ปกครองประเทศและประชาชนในประเทศต่างมี ข้อผูกพันในแบบสัญญาประชาคมและมีกติกาสูงสุดเพื่อใช้ในการปกครองประเทศ กติกาสูงสุดนี้จะเป็นตัวกำหนดที่มาของอำนาจ ขอบเขตของอำนาจ และการใช้อำนาจของผู้ปกครอง หากผู้ปกครองผู้ใดกระทำการผิดหลักข้อตกลงของสัญญาประชาคม เช่นละเมิดสิทธิของประชาชนหรือทรัพย์สินของประชาชน ก็จะต้องได้รับการลงโทษ กติกาสูงสุดนี้ได้แก่รัฐธรรมนูญนั่นเอง[6]

แนวคิดพื้นฐานของทฤษฎีรัฐธรรมนูญนิยม

[แก้]
  1. ทฤษฎีสัญญาประชาคม
  2. หลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ
  3. หลักการแบ่งแยกการใช้อำนาจอธิปไตย
  4. หลักนิติรัฐ

หลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญของแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยม

[แก้]
  1. รัฐธรรมนูญนั้นต้องเป็นกฎหมายสูงสุด
  2. รัฐธรรมนูญนิยมนั้น ต้องวางอยู่ภายใต้พื้นฐานแห่งหลักนิติรัฐ และ หลักนิติธรรม
  3. รัฐธรรมนูญนั้นต้องวางโครงสร้างของการใช้อำนาจของรัฐ
  4. รัฐธรรมนูญนั้นต้องมีหลักเกณฑ์ในจำกัดอำนาจของผู้ใช้อำนาจรัฐ
  5. รัฐธรรมนูญต้องมีหลักการแบ่งแยกการใช้อำนาจ
  6. รัฐธรรมนูญต้องมีหลักการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานให้กับประชาชน

อ้างอิง

[แก้]
  1. บวรศักดิ์ อุวรรโณ. รวมคำบรรยายเนติฯภาคหนึ่ง สมัยที่ 54 การบรรยายครั้งที่ 3. (กรุงเทพฯ : สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา, 2544) หน้า 59.
  2. ผศ.ดร. เกรียงไกร เจริญธนาวัฒน์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. http://www.pub-law.net/Publaw/view.asp?PublawIDs=409
  3. Don E. Fehrenbacher, Constitutions and Constitutionalism in the Slaveholding South (University of Georgia Press, 1989) at p. 1. ISBN 978-0820311197 (bracketed numbers added)
  4. เอกสารอ้างอิง เสน่ห์ จามริก. 2540. การเมืองไทยกับพัฒนาการรัฐธรรมนูญ. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำรา
 สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. อมร จันทรสมบูรณ์. 2537. คอนสติติวชั่นแนลลิสม์ (Constitutionalism): ทางออกของประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สถาบันนโยบายศึกษา. McIlwain, Charles Howard. 1977. Constitutionalism, ancient and modern. London: Cornell University Press. Sartori, Giovanni. 1997. Comparative constitutional engineering. New York: New York University Press. Alexander, Larry. 1998. Constitutionalism: philosophical foundations. Cambridge: Cambridge University Press. Bellamy, Richard. 1996. Constitutionalism, democracy and sovereignty: American and 
 European perspectives. London: Gower House. Bellamy, Richard. 2007. Political constitutionalism: a republican defense of the constitutionality of democracy. London: Gower House.
  5. Philip P. Wiener, ed., "Dictionary of the History of Ideas: Studies of Selected Pivotal Ideas", (David Fellman, "Constitutionalism"), vol 1, p. 485, 491-92 (1973-74)
  6. ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. http://www.pub-law.net/Publaw/view.asp?PublawIDs=589